เอ็นจีโอโต้ “โต้ง” เขื่อนแก่งเสือเต้นไม่ได้แก้น้ำท่วม-น้ำแล้ง

เอ็นจีโอโต้ “โต้ง” เขื่อนแก่งเสือเต้นไม่ได้แก้น้ำท่วม-น้ำแล้ง

เอ็นจีโอคัดค้านรัฐบาลปลุกเขื่อนแก่งเสือเต้น ระบุ 16 ปีมีผลการศึกษาทั้งไทย-เทศ ชี้ชัดไม่คุ้มทุน แก้น้ำท่วม-แล้งไม่ได้ ยังสร้างทุกข์ท้องถิ่น ทำลายป่าสักทองผืนสุดท้าย เสนอทางเลือกจัดการน้ำใหม่

กรณีที่นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่ารัฐบาลจะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นเพื่อป้องกันน้ำท่วมและน้ำแล้ง โดยเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วน เนื่องจากแม่น้ำยมไม่มีเขื่อนกักเก็บน้ำ ทำให้บริหารจัดการน้ำไม่ได้ และพร้อมจะเผชิญหน้ากับเอ็นจีโอที่คัดค้าน สำหรับแผนบริหารจัดการน้ำระยะสั้นของรัฐบาลคือนำน้ำเข้าพื้นที่เกษตรกรรม ระยะยาวจะสร้างเขื่อนรอบนิคมอุตสาหกรรมและทำทางระบายน้ำ   

นายประสิทธิพร กาฬอ่อนศรี  ตัวแทนกลุ่มราษฎรรักษ์ป่า ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ถูกระบุว่าจะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เปิดเผยกับศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศราว่า เขื่อนแก่งเสือเต้น ต้องอาศัยระยะเวลาก่อสร้าง 4-6 ปี และจะจุน้ำได้เพียง 1,175 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) อีกทั้งต้องเก็บน้ำไว้ในเขื่อน 50 เปอร์เซ็นต์ หมายความว่าสามารถเยียวยาน้ำท่วมเพียง 600 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับปริมาณน้ำกว่า 20,000 ล้าน ลบ.ม.   

“16 ปีที่ผ่านมา มีรายงานการศึกษาจากหลายองค์กรทั้งไทยและต่างประเทศระบุว่าเขื่อนแก่งเสือเต้นไม่คุ้มทุนทางเศรษฐกิจ แก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งไม่ได้จริง เขื่อนอาจพังจากรอยเลื่อนแผ่นดินไหว และยังสร้างผลกระทบต่อชุมชนและระบบนิเวศน์ป่าสักทองผืนสุดท้ายในประเทศไทยที่ต้องถูกทำลายลงด้วย”

นายประสิทธิพร กล่าวต่อว่า 1.จากการศึกษาของกรมทรัพยากรธรณี ชี้ชัดว่าบริเวณที่จะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ตั้งอยู่แนวรอยเลื่อนแพร่ ซึ่งเป็นรอยเลื่อนเปลือกโลกที่ยังมีการเคลื่อนตัวอยู่ตลอดเวลา 2.องค์การอาหารและการเกษตรโลก ชี้ว่าแก่งเสือเต้นสามารถเยียวยาน้ำท่วมได้เพียง 8 เปอร์เซ็นต์ 3. สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ชี้ว่าการสร้างเขื่อนนี้ไม่คุ้มทุน 4.สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย  ระบุว่าหากสร้างแก่งเสือเต้นจะกระทบระบบนิเวศน์อุทยานแห่งชาติแม่ยมเป็นอย่างมาก และชุมชนอย่างมาก 5. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่าพื้นที่สร้างเขื่อนเป็นแหล่งป่าสักทองธรรมชาติผืนเดียวที่เหลืออยู่ ควรเก็บรักษาไว้ 

ทั้งนี้กลุ่มราษฎรักษ์ป่า มีข้อเสนอรัฐบาลว่า 1.ให้มีการฟื้นฟูป่าต้นน้ำ ปลูกป่าเสริม และการจัดการป่าโดยประชาชนมีส่วนร่วม 2.ให้สนับสนุนการจัดการน้ำโดยชุมชน เป็นส่วนหนึ่งในแผนแม่บทการจัดการน้ำแห่งชาติ  3.ให้มีแผนการกักเก็บน้ำตามลำน้ำสาขา ซึ่งกรณีของลุ่มน้ำยมมีลำน้ำสาขาถึง 77 สาขา สามารถสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดกลางประมาณ 50 ล้าน ลบ.ม. โดยใช้งบประมาณอ่างละไม่เกิน 200-300 ล้านบาท รวมทั้งพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กเฉลี่ยแล้วหมู่บ้านละประมาณ 3 ล้านบาทเท่านั้น 4.ให้มีแผนการกักเก็บน้ำ หนึ่งตำบลหนึ่งแหล่งกักเก็บน้ำ ในกรณีลุ่มน้ำยมมีอ 96 ตำบล ใช้งบไม่เกินแหล่งละ 5-10 ล้านบาท

5.ให้มีการขุดลอกตะกอนแม่น้ำ  ทำทางเบี่ยงน้ำสร้างเครือข่ายทางน้ำเพื่อกระจายน้ำไปยังนอกเขตชุมชน 6.ให้มีการฟื้นฟูที่ราบลุ่มแม่น้ำยม ขุดลอกคูคลองที่เชื่อมระหว่างแม่น้ำกับหนองบึง ยกถนนให้สูงขึ้น หรือเจาะถนนไม่ให้กีดขวางทางน้ำ การสร้างบ้านเรือนให้อย่างน้อยชั้นล่างสุดต้องสูงกว่าระดับน้ำท่วมสูงสุด แนะนำให้เกษตรกรการปลูกพืชอายุสั้น

7.ให้มีการเพิ่มประสิทธิภาพระบบชลประทาน ซึ่งปัจจุบันลุ่มแม่น้ำยมมีระบบชลประทานขนาดใหญ่และขนาดกลาง 24 แห่ง ขนาดเล็ก 220 แห่ง บ่อน้ำตื้น 240 บ่อ และระบบสูบน้ำด้วยพลังไฟฟ้า 26 แห่ง รวมพื้นที่ชลประทาน 1,117,465 ไร่ แต่ระบบชลประทานมีประสิทธิภาพเพียง 35%  ส่วนระบบสูบน้ำด้วยพลังไฟฟ้ามีประสิทธิภาพ 57%  เทียบกับระบบชลประทานทั่วโลกที่มีประสิทธิภาพ 64% 8.ให้มีการพัฒนาระบบประปา และ 9.ให้มีการสนับสนุนให้เกิดฝายต้นน้ำ ฝายทดน้ำ ฝายกักเก็บน้ำ บ่อ หรือ สระน้ำในไร่นา

ที่มา: ศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศรา

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ