เหลือง-แดง การต่อสู้ที่ไม่ใช่เฉพาะชนชั้นนำอีกต่อไป ผาสุก พงษ์ไพจิตร

เหลือง-แดง การต่อสู้ที่ไม่ใช่เฉพาะชนชั้นนำอีกต่อไป ผาสุก พงษ์ไพจิตร

เสวนา ทบทวนขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในประเทศไทย (ตอนที่ 1) ผาสุก พงษ์ไพจิตร : เหลือง-แดง การต่อสู้ที่ไม่ใช่เฉพาะชนชั้นนำอีกต่อไป
 
ผาสุก พงษ์ไพจิตร ศาสตราจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวปาฐกถาหัวข้อ "หนึ่งทศวรรษ วิถีชีวิต วิถีสู้: ขบวนการประชาชนร่วมสมัย" ในการเสวนาเรื่อง "ทบทวนขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในประเทศไทย" ซึ่งจัดโดยกลุ่มจับตาขบวนการประชาสังคมไทย ร่วมกับศูนย์ติดตามประชาธิปไตยไทย คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักข่าวประชาธรรมและประชาไท ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 17 กันยายน ที่ผ่านมา
 
ที่ ผ่านมา ได้มีการประเมินขบวนการทางสังคมของไทยในช่วงทศวรรษ 2530-2540 ต้นๆ ไว้บ้างแล้ว จะไม่พูดมากนัก อาจจะสรุปให้ฟังในส่วนแรก ในส่วนที่สอง จะพูดถึงกระบวนการเกิดขบวนการทางสังคมเสื้อเหลืองและเสื้อแดง โดยพยายามจะอธิบายให้มุมมองด้านความหักเหทางการเมือง ส่วนที่สาม จะพูดถึงนัยของปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยในเวลานี้กับการเมืองของไทย ที่อาจมีขึ้นต่อไปในอนาคต
 
ขบวน การเสื้อเหลืองและขบวนการเสื้อแดงเป็นสงครามความคิดและสงครามแย่งชิงมวลชน ปรากฏการณ์นี้จึงแตกต่างจากขบวนการทางสังคมเมื่อทศวรรษ 2530 และต้นทศวรรษ 2540 ในการอภิปรายถึงขบวนการทางสังคมในช่วงก่อนปี 2540 นักวิเคราะห์ได้มีข้อเสนอบางประการเกี่ยวกับขบวนการทางสังคมในสมัยนั้น โดยเรียกขบวนการสมัยนั้นว่าขบวนการทางสังคมใหม่ ในความหมายที่ว่า ขบวนการทางสังคมในบริบทของการเมืองภาคประชาชนตอนนั้นมีการจัดตั้งยึดโยงเป็น เครือข่ายแบบหลวมๆ ที่ใช้ปัญหาความล้มเหลวของรัฐเป็นตัวขับเคลื่อน และขบวนการดังกล่าวไม่ได้มีเป้าหมายที่จะแข่งขันเข้าเป็นรัฐบาล เป็นขบวนการที่ทำงานอยู่ข้างนอกระบบการเมืองอย่างเป็นทางการ ขบวนการทางสังคมดังกล่าวนี้มีองค์กรพัฒนาเอกชนเป็นหัวขบวนที่สำคัญ ที่ร่วมคิดร่วมสร้างยุทธศาสตร์และสร้างความมั่นใจให้กับขบวนการ เพราะฉะนั้น บางครั้งเมื่อพูดถึงขบวนการสมัยนั้น จึงมีการสลับไปมาระหว่างขบวนการภาคประชาชนและขบวนการเอ็นจีโอประหนึ่งเป็น เนื้อเดียวกัน
 
ใน ครั้งนั้น ขบวนการทางสังคมเป็นการรวมตัวกลุ่มของราษฎร เพื่อแสดงความคับข้องใจ เสนอข้อเรียกร้องและต่อรองให้รัฐบาลเข้ามาแก้ปัญหาต่างๆ ซึ่งเกิดจากการทำงานของรัฐบาล การเรียกร้องต่อรองนี้ประสบความสำเร็จในช่วงต้น เช่น การล้มโครงการ คจก. ที่กองทัพเป็นผู้ดำเนินการได้สำเร็จในต้นทศวรรษ 1990 แต่ต่อมา แม้องค์กรพัฒนาเอกชน จะทำงานหนักในการก่อร่างกระบวนการประชาชน แต่ไม่สำเร็จเป็นชิ้นเป็นอัน เพราะเมื่อฟากรัฐบาลตระหนักถึงพลังอำนาจของประชาชนจำนวนมาก ก็ไม่ต้องการให้ขบวนการดังกล่าวเข้มแข็งขึ้น จึงหาช่องทางแบ่งแยกและปกครอง รวมทั้งซื้อหรือสร้างพันธมิตรให้เอ็นจีโอบางส่วนเข้าเป็นพวก จึงเกิดกระบวนการกลืนกลายส่วนหัวของขบวนการทางสังคมในสมัยนั้น นำไปสู่สิ่งที่เรียกว่าความอ่อนแอ ไม่อยากเรียกว่าความล้มเหลว เพราะความอ่อนแอของขบวนการทางสังคมในสมัยนั้นยังมีสาเหตุอีกส่วนคือความไม่ ลงรอยกันระหว่างองค์กรพัฒนาเอกชนกับชาวบ้านว่าควรจะมีวิถีชีวิตอย่างไร ขณะที่ชาวบ้านส่วนใหญ่อาจไม่ได้ปฏิเสธโลกาภิวัตน์ ระบบตลาด แต่ต้องการเติบโตไปกับโลกาภิวัตน์ ขณะที่เอ็นจีโอจำนวนหนึ่งอาจจะมีโลกของตัวเองที่แตกต่างและไม่ปลื้มที่ ประชาชนจำนวนมากเข้ากันได้กับพรรคการเมืองบางพรรคเหมือนปลาได้น้ำ
 
อย่าง ไรก็ตาม ดิฉันไม่อยากพูดเหมือนอย่างที่นักวิเคราะห์บางท่านบอกว่า ขบวนการสมัยนั้นเป็นความล้มเหลว เพราะได้เปิดพื้นที่ทางการเมืองให้กับราษฎรภายใต้กรอบของระบอบรัฐสภา ประชาธิปไตย จนเรียกขานกันว่ายุคนั้นเป็นยุคของการเมืองภาคประชาชน แต่จุดอ่อนของขบวนการดังกล่าวเกิดความชัดเจนขึ้นเมื่อมีความหักเหทางการ เมืองเกิดขึ้น
 
ภาวะ หักเหทางการเมืองซึ่งก่อให้เกิดขบวนการทางสังคมเสื้อเหลืองและเสื้อแดงที่ ได้ฉีกแนวออกไปจากการเมืองภาคประชาชนของทศวรรษ 2530 โดยเสนอว่าขบวนการทางสังคมเสื้อเหลืองและเสื้อแดงเป็นผลจากการหักเหที่สำคัญ ทางการเมือง ที่เกิดขึ้นเมื่อผู้ที่มีความคับข้องใจเริ่มแสวงหาทางออกผ่านกระบวนการเลือก ตั้ง แทนการเดินขบวนประท้วงแบบเดิมๆ จึงเปลี่ยนนี้เกิดขึ้นระหว่างปี 2543 และปี 2548 ซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะพูดถึงบุคคลสำคัญในกระบวนการนี้ คือ คุณทักษิณ ชินวัตร แต่ก่อนอื่น ต้องเกริ่นเล็กน้อยว่าเมืองไทยมีระบบการเมืองแบบรัฐสภาประชาธิปไตยสลับกับ การรัฐประหารมาโดยตลอดหลายทศวรรษ แต่รัฐสภาเป็นเพียงสมาคมของผู้มั่งมี คนธรรมดาทั่วไปก็ไม่ได้รู้สึกรู้สาว่าได้รับประโยชน์จากระบอบดังกล่าวเท่าใด นัก แต่เหตุการณ์สองสถานได้เปลี่ยนสภาพดังกล่าว
 
ประการ ที่หนึ่ง ปลายทศวรรษ 2530 การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นและการปฏิรูปที่โยงกัน ได้เพิ่มจำนวนของการเลือกตั้ง ก่อนหน้านี้การเลือกตั้งทั่วไปเกิดขึ้นเป็นครั้งคราวเท่านั้น แต่หลังการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ชาวบ้านจะเลือกตั้งปีละ 4-5 ครั้ง เลือกกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายกเทศบาล สมาชิก อบต. วุฒิสมาชิก และ ส.ส. สำหรับ ส.ส. อาจอยู่ห่างไกลจากชาวบ้าน แต่ผู้แทนในระดับองค์กรส่วนท้องถิ่นต่างๆ ที่ได้รับเลือกตั้งมาอยู่ใกล้ชิด กระบวนการเรียนรู้จึงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ชาวบ้านได้บทเรียนว่าการออกเสียงเลือกตั้งบุคคลสำคัญที่จะดำเนินนโยบายต่างๆ แทนการแต่งตั้งอย่างในอดีตเป็นอำนาจและเครื่องมือที่จะนำทรัพยากรของประเทศ ที่พวกเขามีส่วนก่อให้เกิดทรัพยากรเหล่านั้น ทั้งในรูปของภาษีมูลค่าเพิ่มและการทำงานต่างๆ ทำให้เขาสามารถปรับปรุงชีวิตของตนเองและลูกหลานได้ดีกว่าเดิม
 
อีก เหตุการณ์ที่อธิบายว่าเหตุใดการเมืองไทยว่าด้วยการเลือกตั้งในระดับประเทศ จึงมีความสำคัญขึ้นโยงกับเส้นทางการเมืองของทักษิณ ผู้ซึ่งดิฉันคิดว่าได้หักเหทิศทางของการเมืองไทยดั้งเดิม โดยทำสัญญากับประชาชนผู้ออกเสียงเลือกตั้งโดยตรง ทั้งนี้ ออกตัวว่า ดิฉันไม่ใช่ผู้ที่นิยมคุณทักษิณและไม่ได้คิดว่าคุณทักษิณเป็นทางออกของ ประเทศไทย แต่ในการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมา หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องวิเคราะห์บทบาทของคนนี้ ขณะเดียวกันแต่ไม่อยากให้เข้าใจผิดว่า วิเคราะห์การเมืองแบบเฉพาะตัวบุคคล หรือ personalize politics
 
ภาวะ สำคัญที่ทำให้เกิดการหักเหทางการเมืองมีหลายองค์ประกอบ ทั้งวิกฤตเศรษฐกิจ 2540 และที่ปรากฏการณ์ที่ชนชั้นนำแตกขั้วและเคลื่อนไหวเพื่อระดมผู้สนับสนุนแบ่ง เป็นฟากฝ่าย แต่จะเข้าใจวิกฤตการณ์การเมืองปัจจุบันได้ถ่องแท้ ต้องเข้าใจว่า ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยนั้นยังไม่เคยมีการเปลี่ยนแปลงที่นำโดยมวลชนเลย มีนักวิเคราะห์ที่บอกว่า ขบวนการเสื้อแดงในขณะนี้อาจจะเป็นขบวนการมวลชนที่กว้างขวางมากที่สุดที่ สังคมไทยเคยมีมา อาจจะต้องรอดูกันต่อไปว่า ขบวนการนี้จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอะไรที่สำคัญหรือไม่
 
ใน ประวัติศาสตร์การเมืองไทยไม่มีการเปลี่ยนแปลงที่นำโดยขบวนการมวลชน เราไม่เคยมีขบวนการกู้ชาติจากเจ้าอาณานิคม เหมือนที่ประเทศเพื่อนบ้านของเรามีทั้งอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์และพม่า ล้วนมีขบวนการกู้ชาติที่นำเอาคนทั้งประเทศเข้ามามีประสบการณ์ในขบวนการทาง การเมืองและสำเร็จในการขับไล่เจ้าอาณานิคมออกไป แต่เราไม่มี เราไม่เคยทำสงคราม ซึ่งดิสเครดิตชนชั้นนำของเราอย่างถึงรากถึงโคน เช่น กรณีญี่ปุ่นเมื่อแพ้สงครามโลกครั้งที่สอง
 
การ ปฎิวัติล้มระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชในปี 2475 มีผู้สนับสนุนเป็นจำนวนมากก็จริง แต่ไม่ได้ระดมมวลชนอย่างกว้างขวางเช่นที่เกิดขึ้นในรัสเซียหรือจีน สำหรับขบวนการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เมื่อทศวรรษ 2500 และ 2510 ขยายใหญ่กว่าเหตุการณ์ 2475 แต่ก็จำกัดฐานที่มั่นอยู่ที่เขาทึบและป่าลึก อาจเข้ามาอยู่ในเมืองบ้างประปราย แต่ไม่สามารถเคลื่อนขบวน หากเปรียบเทียบกับสิ่งที่เกิดขึ้นในจีนหรือรัสเซีย ขบถชาวนาในอดีต ขบวนการเกษตรกรและกรรมกรในช่วงสมัยใหม่ก็จำกัดวงอยู่เฉพาะกลุ่ม ดังนั้น ระบบการเมืองไทยร่วมสมัยจึงลักษณะเป็นคณาธิปไตย หรือ Oligarchy การปกครองโดยคณะบุคคลจำนวนน้อยจำนวนหนึ่งซึ่งไม่เคยถูกท้าทายจากมวลชนอย่าง ถึงรากถึงโคน ดึงดูดส่วนหัวของกลุ่มอำนาจใหญ่ๆ เข้าเป็นพวกอยู่เสมอ โดยก่อร่างสร้างสายสัมพันธ์ร้อยรัดกันเข้าไว้ภายในผ่านระบบเครือข่าย ระบบอุปถัมภ์ และการทำธุรกิจหรือการแบ่งผลประโยชน์ต่างตอบแทนกัน
 
ขณะ ที่ภายใต้ระบบสมบูรณาญาสิทธิราช ชนชั้นนำได้แก่ ขุนนาง ข้าราชการได้พัฒนาขึ้นเมื่อต้นศตวรรษ 20 และได้ตกผลึกมีผลประโยชน์ร่วมกับรัฐศักดินาอย่างหนาแน่น ทศวรรษ 2470-2520 ชนชั้นนำฟากทหารพุ่งขึ้นสู่จุดสูงสุด ครั้นเมื่อเศรษฐกิจเฟื่องฟูสมัยพัฒนาหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ชนชั้นนำฝ่ายธุรกิจในเมืองก็ได้เข้าร่วมขบวนกับคณาธิปไตยกลุ่มนี้ ต่อมาเมื่อความมั่งคั่งและการคมนาคมสมัยใหม่กระจายสู่ต่างจังหวัดยึดโยงเขต รอบนอกเข้ากับกรุงเทพฯ นักธุรกิจชั้นนำระดับภูธรก็ได้ร่วมขบวนภายใต้กรอบของรัฐสภาประชาธิปไตย และเมื่อไม่นานมานี้เอง ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในกระบวนการตุลาการและส่วนอื่นๆ ของระบบข้าราชการก็ได้เข้าร่วมขบวน แม้ครอบครัวขุนนางและกลุ่มเงินเก่าจะมีบทบาทสูงในคณาธิปไตยนี้ แต่ไม่ได้เป็นกลุ่มปิด โดยความอยู่รอดของกลุ่มดังกล่าวโดยรวมส่วนหนึ่งเพราะมีความยืดหยุ่นสูง กลุ่มอำนาจใหม่ๆ จากภายนอกจะถูกดึงดูดเข้ามาร่วมขบวน ระบบรัฐสภาและการเมืองในระบอบการเลือกตั้งก็ไม่ได้ท้าทายคณาธิปไตยอย่างจริง จังจน กระทั่งเร็วๆ นี้ ทั้งนี้ ผู้เกี่ยวข้องกับระบอบใหม่ คือระบอบประชาธิปไตย ได้จำกัดวงของกลุ่มอื่นๆ นอกวงไว้ได้ เพราะพวกเขาได้ลงทุนสร้างระบบที่ต้องใช้เงินมากในการเลือกตั้ง ใครที่มีเงินไม่หนาพอก็ไม่อาจหาญจะร่วมขบวนในระบอบใหม่ได้
 
การ ก่อตั้งระบอบที่ต้องใช้เงินมหาศาลนี้ ไม่ใช่เพราะนักธุรกิจเข้ามา ในการเมืองสถานเดียว ก่อนหน้านั้น ถ้าอ่านงานของ อ.สมบัติ จันทรวงศ์ ได้พูดถึง "โรคร้อยเอ็ด" ที่มีการจัดองค์กร ใช้เงินมโหฬารเพื่อนำเอาผู้นำฝ่ายทหารเข้ามาสู่กระบวนการรัฐสภาประชาธิปไตย หลังจากนั้นโรคนี้ได้ระบาดและบานปลายออกกลายเป็นสิ่งที่เราต้องคิดว่าจะทำ อย่างไรกับมันในขณะนี้ อีกส่วนที่พบคือ ในระบบใหม่ ส.ส. ส่วนใหญ่เป็นเพศชาย มีพื้นเพเป็นเจ้าของธุรกิจ มาจากกลุ่มคนที่มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 3 ของประชากรทั้งประเทศ รัฐสภาจึงกลายเป็นสมาคมของคนรวม และกลายเป็นสถาบันหลักของเครือข่ายคณาธิปไตยที่ได้กล่าวถึงข้างต้น

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ