การที่ตัวแทนหลากหลายชาติพันธุ์ในภาคเหนือร่วมกันออกแถลงการณ์ให้ผู้เกี่ยวข้องเร่งติดตามหานายพอละจี รักจงเจริญ หรือ บิลลี่ ผู้นำชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี นั้นมีความหมายไม่น้อย โดยผู้ที่มาร่วมเรียกร้องเป็นชาติพันธุ์ทั้งที่ต้องถูกอพยพย้ายออกจากป่าและทั้งที่กำลังพยายามยืนยันที่จะอยู่กับผืนป่าตามวิถีชีวิตของพวกเขาทั้งสิ้น
พวกเขามาเรียกร้องให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเร่งตามหา บิลลี่ ผู้นำชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยที่หายตัวอย่างไร้ร่องรอยไปในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ให้ตำรวจได้คุ้มครองครอบครัวบิลลี่ ซึ่งเหลือแต่ผู้หญิงและเด็กเล็ก และขอให้มีคำสั่งย้ายหัวหน้าอุทยานแก่งกระจานออกจากพื้นที่เพื่อลดความหวาดกลัวของชาวบ้าน เพราะอะไร ?
จี หรือ จิรัฐ มั่นสุขเจริญวงค์ ปกาเกอญอจาก ต.แม่วิน อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ รู้จักกับบิลลี่เพราะขนข้าวไปช่วยเหลือกะเหรี่ยงบางกลอยตั้งแต่ปีแรกที่ถูกอพยพมาบ้านโป่งลึก เพราะรู้สึกเห็นใจที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายรัฐ ไม่ต่างจากบ้านของเธอที่ถูกเตรียมประกาศเขตอุทยานเช่นกันแต่ต้องชะลอไว้ เพราะชาวบ้านยืนยันสิทธิการอยู่ในเขตป่า
“ในฐานะที่เป็นชนเผ่าปาเกอญอ เป็นคนที่อยู่ในป่าเหมือนกัน และที่โดนผลกระทบจากนโยบายรัฐเหมือนกัน ที่บ้านหนูก็จะโดนเรื่องการจะประกาศเขตอุทยานเหมือนกัน แต่ว่าชาวบ้านเมื่อปี 2540 ชาวบ้านได้ออกมาเรียกร้องสิทธิกับเครือข่ายปาเกอญอหรือเครือข่ายที่อยู่ในป่าเหมือนกันหลายฝ่าย ก็เลยทำให้ทางหน่วยงานได้ชะลอการประกาศเขตอุทยานไปก่อน แต่เราก็ยังต้องทำข้อมูลการจัดการป่า แบ่งเขตพื้นที่การรักษาเพื่อยืนยันการอยู่กับป่าของเราค่ะ แต่ที่บางกลอยก็จะหนักกว่ามาก เพราะว่าเขาตั้งเป็นเขตอุทยานไปแล้ว ทั้งบ้านเรือนไม่มี พื้นที่ทำกินไม่มี ที่เขาอพยพลงมา ถ้าหนูไปอยู่ก็ไม่รู้จะทำมาหากินอะไร หนูเจอกับบิลลี่ หลายครั้ง ก็ได้คุยกันเขาลำบากกว่าเราเยอะ และพื้นที่ก็มีปาเกอญอน้อยด้วย ทำให้การเรียกร้องจะยากในออกไปเรียกร้องสิทธิเรื่องคนอยู่กับป่า หนูเคยไปที่หมู่บ้านบางกลอย ได้คุยกับแม่บ้าน หลายๆคน พันธุ์พืช พืชท้องถิ่น หายไป ความเป็นปกาเกอญอของเขาถูกกีดกันหมดเลย หนูรู้สึก….รู้สึกเศร้าเสียใจกับเรื่องนี้ อยู่นิ่งไม่ได้ เพราะเห็นลูกเขา เห็นครอบครัวเขา มันไม่ได้แล้ว อยากให้พี่น้องชนเผ่า ออกมาเรียกร้อง น่าจะมีอะไรสักอย่างที่จะจัดการกับสิ่งเหล่านี้”
นวพล คีรีรักษ์สกุล ชนเผ่าปกาเกอะญอ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ เป็นอีกคนหนึ่งที่รู้จักบิลลี่เพราะร่วมแลกเปลี่ยนแนวทางที่จะยืนยันว่ากะเหรี่ยงบางกลอยได้อยู่ในพื้นที่ป่าต้นน้ำเพชร มาแต่ดั้งเดิม เขาบอกว่าบิลลี่พยายามทำข้อมูลเพื่อยืนยันสิทธิที่จะอยู่ตามวิถีชาติพันธุ์ดั้งเดิมไม่ต่างจากที่หลายชาติพันธุ์พยายามทำ
“ผมรู้จักเขาตอนเขามาเชียงใหม่ มาทำแผนที่ทำข้อมูลต่างๆ ที่จะต่อรองกับเจ้าหน้าที่ คุณบิลลี่ได้ออกมาต่อสู้ ตั้งแต่ที่เขาถูกไล่ออกจากพื้นที่มาโดยทำข้อมูลต่างที่ทำให้เกิดการเป็นจริง ทั้งเรื่องดินแดนเกิด ที่ทางราชการบอกว่าไม่ใช่ดินแดนเกิดเขา เขาก็พยายามพิสูจน์ เขาได้ประกาศกับสาธารณะตลอดว่าเขาอยู่ในป่า และได้ดูแลป่ามาโดยตลอด แต่ทำไปได้ระยะหนึ่ง ไปขัดกับอำนาจเดิม อำนาจรัฐ เจ้าหน้าที่อุทยานฯมองว่า ตรงข้ามกับสิ่งที่รัฐทำ”
นวพลบอกว่า เข้าใจในสิ่งที่รัฐดำเนินการดูแลรักษาป่าว่าทำตามกรอบกฎหมายต่างๆ แต่พวกเราปกาเกอะญอก็รักษาป่าตามความรู้ภูมิปัญญาดั้งเดิม แต่ว่าทางเจ้าหน้าที่ใช้กฎหมายบังคับให้เขาออกจากป่า
“คนภายนอกมองว่าเขาทำลายป่า จริงๆมันไม่ใช่อย่างนั้น ป่าอุดมสมบูรณ์เพราะพี่น้องกะเหรี่ยง อาศัยอยู่ในพื้นที่แห่งนั้น เรากลับไปเทียบดู พื้นที่ที่อุทยานประกาศ กับก่อนที่จะประกาศอุทยาน ก่อนที่จะประกาศเป็นเขตป่าสงวน ดูก่อนกับหลังว่าอันไหนสมบูรณ์กว่ากัน เรามั่นใจว่า การตั้งอุทยาน การตั้งป่าสงวน ไม่ได้ตอบสนองให้ป่าดีขึ้น แต่ว่าการทำให้คนดั้งเดิมอยู่อย่างสอดคลองกับป่าอยู่ได้คนอยู่ได้ ฉะนั้น เราพูดและประกาศมาตลอดว่า ลองไปเทียบดูนะครับ ไร่หมุนเวียนที่เราเคยทำ ที่เคยบอกว่าทำลายป่า และตอนนี้ไร่หมุนเวียนเหลือสักเท่าไร ดูได้ ในขณะเดียวกัน รัฐบาลหรือภาครับก็สงเสริมอาชีพใหม่ๆ อย่างเกษตรเชิงเดี่ยว ก็ทำลายป่ามากมาย ก็ไม่ได้ตีตราว่าคนเหล่านั้นทำลายป่า แต่ในขณะที่คนที่อยู่กับป่าทำการรักษาป่า กลับถูกตีตราว่าทำลายป่า ผมคิดว่าไม่เป็นธรรม”
นวพลบอกว่า บิลลี่เผชิญกับสิ่งเหล่านี้เหมือนกัน เขาออกมาบอกกับเราว่า คนเขาอยู่ที่บางกลอยโดนเผ่ายุ้งข้าว เผ่าไร่ ตั้งคดีให้พวกเขาหลายอย่างไม่ว่าจะเป็นผู้สะสมอาวุธสงครามซึ่งศาลก็ได้ตัดสินแล้วว่า อาวุธเหล่านั้นเป็นเพียงแค่อาวุธหากิน เช่นมีด จอบ อะไรต่างๆ พวกสารเสพติดก็ไม่ได้เป็นยาเสพติด แล้วก็เป็นคนฝั่งนู้นเข้ามา เขาก็พร้อมที่จะพิสูจน์ แต่รัฐไม่ยอมมาพิสูจน์หรืออะไร ที่เขามีส่วนในการต่อสู้ ทำให้ตัวเขาหาย ไปในลักษณะที่มีเงื่อนงำที่ไม่ชอบมาพากล เช่นถูกเจ้าหน้าที่จับกุม ไปสอบ แล้วก็ไปปล่อย”
ฆีลา กว้าน ชนเผ่าดาราอาง อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ก็ บอกว่า ไม่ยุติธรรมสำหรับชนเผ่าพื้นเมืองอย่างเราที่ถูกกระทำมาโดยตลอด อยากจะออกมาเรียกร้องสิทธิการเป็นมนุษย์ตามวิถีชีวิตวัฒนธรรมของเรา ที่บ้านของเธอ อ.ฝาง ยังไม่มีความรุนแรงถึงการอุ้มไป แต่จะเป็นปัญหาพื้นที่ทำกินที่ถูกอุทยานประกาศทับที่หรือถูกยึดไปเลย รู้สึกอย่างไรเป็นควงามไม่ยุติธรรมสำหรับคนคนหนึ่งที่ถูกกระทำ ทั้งที่มีวิถีชีวิตอยู่กับป่า
การต้องอพยพมาจากถิ่นฐานเดิม อยู่ในพื้นที่ที่ไม่คุ้นชินกับวิถีชีวิต ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ที่ไม่เพียงแต่ปกาเกอะญอเท่านั้นที่รู้สึกว่าบิลลี่และกะเหรี่ยงบางกลอยไม่ได้รับความเป็นธรรม แต่หมายถึงอีกหลายชาติพันธุ์ที่เผชิญปัญหาร่วม
บุญจันทร์ จันทร์หม้อตัวแทนเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมบอกว่า การออกมาเคลื่อนไหวของเครือข่ายชาติพันธุ์ครั้งนี้ เพราะเห็นว่าบิลลี่ก็เป็นแกนนำพี่น้องโป่งลึกบางกลอย ที่พยายามให้ข้อมูลเกี่ยวกับการอพยพออกจากพื้นที่ ถูกไล่ที่ ออกจากพื้นที่ เราสงสัยว่าเขาน่าจะถูกจับตัวไป เพราะเป็นแกนนำในการปกป้องผืนป่าที่อยู่ของเขา เขาไม่อยากออกมา และไปขัดแย้งกับอุทยานแก่งกระจานที่เขามีนโยบายเอาออกจากป่า และจัดสรรที่อยู่ใหม่ให้ แต่เมื่อลงมาไม่ได้เป็นไปตามนั้น ทางเราได้พยายามช่วยเหลือกันมาโดยตลอดเช่น ปกาเกอญอทางภาคเหนือนำข้าวนำอะไรไปช่วยเหลือ เวลาช่วยเหลือ เราก็ประสานกับบิลลี่ และก็มีการประชุมชนช่วยเหลือ แต่ก็กลับถูกมองว่าเป็นการปลุกระดม แต่จริงๆ เป็นการทำเพื่อความอยู่รอดของพี่น้องปกาเกอะญอด้วยกัน
“กรณีนี้ไม่ได้เกิดขึ้นที่แก่งกระจานที่เดียว ที่อื่นก็มี ความไม่เข้าใจกันการไม่หันหน้ามาช่วยเหลือ คือไม่ให้สิทธิคนที่อยู่ในป่า จริงๆแล้วป่าที่อุดมสมบูรณ์ทุกวันนี้เป็นเพราะคนที่อยู่มาก่อนแล้ว แต่อยู่แบบพอเพียง อยู่แบบ ตามวิถีชีวิตดังเดิม แต่ขณะเดียวกับ ความเจริญ อุสาหกรรมเข้าไป พอถูกทำลายหรือพืชเศษฐกิจเข้าไปก็จะโยนความผิดให้คนพื้นที่เดิม ผมว่าทางออกควรที่จะเป็นการจัดการร่วมระหว่างคนที่อยู่ในป่า เจ้าหน้าที่รัฐหรือคนที่ออกระเบียบ ควรจะหาทางร่วมกัน ถ้าจัดการโดยชุมชน เช่นแม่ท่า แม่ออน หินลานนอกหินลาดใน แต่ว่าไม่ต้องเหมือนกันหมด แต่ต้องให้มีชุมชนเขจ้ามามีส่วนร่วม โดยการเขาอยู่ในป่า ก็ให้ดูแลป่า รักษาป่าไปพร้อมกัน”
ศักดิ์ดา แสนมี่ ชนเผ่าลีซู เลขาธิการเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ทุกชนเผ่ามีประเด็นปัญหาคล้ายกันเพราะชุมชนส่วนใหญ่อยู่ในเขตป่าอนุรักษ์ของรัฐ ภาพร่วมของชุมชนกว่า80% ถูกตั้งอยู่ในเขตป่าก่อนที่จะถูกประกาศเป็นเขตป่าอนุรักษ์ แต่ว่าสถานการณ์จริง คือไม่มีกฎหมายคุ้มครอง คนที่อยู่ในป่า มีแต่กฎหมายคุ้มครองสัตว์ มีแต่กฎหมายที่ป้องการทรัพยากร แต่วิธีการแบบนี้ที่ผ่านมาขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน เรื่องที่มีปัญหาในการจัดการจริง ทรัพยากรยังถูกทำลาย ก็เป็นประเด็นที่เราจะต้องหาความร่วมมือ ว่าจะทำอย่างไรให้กับชุมชนที่อยู่ในเขตป่า สามารถจัดการทรัพยากรได้อย่างยั่งยืน ดูแลป้องกัน รักษา ร่วมถึงการใช้ประโยชน์จากป่าอย่างเหมาะสม สมดุล ต้องยอมรับว่าสังคมไทยในขณะนี้ คนที่อยู่ในเขตป่า มีเป็นสิบๆล้านคน จำเป็นที่จะต้องจัดการให้เขาได้อยู่อย่างยั่งยืนที่รัฐและองค์ต่างๆจะต้องเข้าไปสนับสนุน
“สิ่งที่เกิดขึ้นกับบิลลี่ และชาวบ้านบางกลอยเป็นภาพตัวสะท้อนว่า พี่น้องชนเผ่าที่อยู่ในเขตป่า ได้รับผลกระทบค่อนข้างจะมาก ทั้งคนหายไปโดยไม่รู้ว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไร เราก็ส่งกำลังใจให้เขาได้กลับสู้อ้อมกอดของลูกหลานเพราะเขามีลูกตั้ง 5 คน ที่รออยู่ สถานการณ์แบบนี้จะต้องมาแสดงตัวตนให้เห็นว่า เราต่างห่วงใย และอยากให้มีการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นธรรม แล้วก็หวังว่า กรณีแบบนี้จะไม่เกิดขึ้นอีกในสังคมไทย ในพื้นที่ที่พี่น้องอยู่ในเขตป่าตั้งมากมาย ทั้งภาคเหนือ ภาคตะวันตก ภาคใต้ เป็นปัญหาที่เรากังวล”