เสวนามีเดียอินไซด์เอ้าท์: ทบทวนภารกิจไทยพีบีเอส-ทีวีสาธารณะ (ภาค 2)

เสวนามีเดียอินไซด์เอ้าท์: ทบทวนภารกิจไทยพีบีเอส-ทีวีสาธารณะ (ภาค 2)

4 ก.พ. 2559 มีเดียอินไซด์เอ้าท์ จัดเวทีมีเดียคาเฟ่-สื่อสนทนา “ทบทวนภารกิจไทยพีบีเอส-ทีวีสาธารณะ (ภาค 2)” โดยมีวิทยากรประกอบด้วย หทัยรัตน์ พหลทัพ พนักงานไทยพีบีเอสที่ยื่นจดหมายตั้งคำถามเรื่องคุณสมบัติผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) ผศ.ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ อดีตกรรมการนโยบายด้านสื่อสารมวลชน ส.ส.ท. และอานนท์ มีศรี ประธานสภาผู้ชมและผู้ฟังรายการไทยพีบีเอส ดำเนินรายการโดย เพ็ญนภา หงส์ทอง

จากกรณีคณะกรรมการนโยบาย ส.ส.ท. ชุดปัจจุบัน ซึ่งมีณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ เป็นประธานมีมติ 2 ใน 3 ให้ กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ อดีตผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นผู้อำนวยการ ส.ส.ท.คนใหม่ และได้เริ่มงานแล้วในวันที่ 1 ก.พ. ที่ผ่านมา ท่ามกลางการตั้งคำถามของพนักงานว่าคุณสมบัติของ ผอ.คนใหม่ อาจไม่ตรงกับที่กฎหมายกำหนดว่าต้องมีประสบการณ์เชี่ยวชาญงานสื่อสารมวลชน

20160402222316.jpg 

ผศ.ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ อดีตกรรมการนโยบายฯ ซึ่งพ้นจากตำแหน่งไปเมื่อปี 2555 กล่าวถึงกรณีที่เกิดขึ้นว่า กฎหมายมีการกำหนดคุณสมบัติผู้อำนวยการ ส.ส.ท.ว่าต้องเป็นผู้มีประสบการณ์ในกิจการวิทยุกระจายเสียง โทรทัศน์ หรือสื่อสารมวลชน แต่ก็มีคำแถลงจากกรรมการนโยบายชุดปัจจุบันว่าภูมิทัศน์สื่อเปลี่ยนแปลงไปแล้ว คนมาทำหน้าที่ไม่จำเป็นต้องเชี่ยวชาญด้านสื่อ แม้เคารพต่อการตัดสินใจดังกล่าวของคณะกรรมการนโยบายฯ แต่ก็เป็นห่วงเพราะการตีความขยายขอบเขตของกฎหมายดังกล่าวจะถูกยึดถือปฏิบัติต่อไปในอนาคต

“การตีความกฎหมายแบบนี้จะถูกยึดถือปฏิบัติ ไม่ได้อคติกับบุคคลและยังยอมรับการบริหารองค์กรด้วย แต่มันได้สร้างคำอธิบายใหม่ ต่อไปนี้คนที่จะมาเป็น ผอ.คือคนที่ประสบความสำเร็จในการใช้สื่อรณรงค์กับสังคม” เอื้อจิตกล่าว

ต่อคำถามว่า คนที่ประสบความสำเร็จในการทำรณรงค์ สสส.กับการบริหารสื่อสาธารณะอย่างไทยพีบีเอสไปกันได้ไหม เอื้อจิตกล่าวว่า ไม่อยากตัดสินว่าหนึ่งบวกหนึ่งเท่ากับสองเสมอไป ไม่รู้จะตอบโดยตัดสินไปล่วงหน้าได้อย่างไร ถึงเวลานี้อาจเป็นสิ่งใหม่ที่ต้องเรียนรู้และให้กำลังใจกันแล้ว 

“ชื่นชมพนักงานที่มีข้อสงสัยแล้วสื่อสาร ตอนประธานกรรมการนโยบายบอกว่าจะตอบหรือไม่ตอบก็ได้ ดิฉันตอบว่าไม่ได้ เพราะมีจริยธรรมองค์กรที่บอกว่าต้องตรวจสอบได้ ทุกคนปรารถนาดีต่อองค์กร แต่เมื่อถึงจุดที่กรรมการนโยบายเลือกแล้ว พนักงานหรือคนไม่ได้รับเรื่องจะดำเนินการอย่างไรต่อก็เป็นสิทธิ แต่สิ่งหนึ่งที่ควรคำนึงถึง คือเราต้องไม่ทำอะไรที่เกิดผลเสียต่อองค์กร ถ้าทำอะไรที่ยืดเยื้อยาวนานก็จะส่งผลต่อทัศนคติต่อตัวองค์กร” เอื้อจิตกล่าว

เอื้อจิตกล่าวถึงประเด็นการตีความคุณสมบัติของผู้บริหารตามกฎหมายว่า ต้องถามว่าตีความทั่วไป หรือตีความเพื่อให้ได้คุณหมอมา เหมือนตัดรองเท้าเพื่อให้เข้ากับเท้า ตอนนี้อาจดีแต่จะมีผลในระยะยาว สิ่งหนึ่งที่ได้ประกาศในพื้นที่สาธารณะของตัวเองคือเมื่อกรรมการนโยบายได้ตัดสินใจไปแล้ว ต้องรับผิดชอบในอนาคตด้วย ตอนนี้ยังมีบุญเก่าอยู่ แต่ไม่รู้กรรมเก่าจะมาเมื่อไร 

เอื้อจิตยังกล่าวถึงในส่วนกรรมการนโยบายว่า  คำอธิบายไม่ควรเป็นคำอธิบายที่ทำให้ข้อกำหนดในกฎหมายอ่อนกว่าที่กฎหมายเป็น การตอบอย่างนี้เกาไม่ถูกที่คัน ควรตอบตำถามว่าเลือก 1 จากอีก 4 ผู้สมัครซึ่งล้วนเป็นคนในวงการสื่อเพราะอะไร ควรแสดงความกล้าของตนเองแล้วอธิบายว่าทำไมจึงตัดสินเช่นนั้นให้พนักงานรับรู้ ในเมื่ออำนาจเป็นของท่านอยู่แล้ว เช่น เรามีเครื่องไม้เครื่องมือ ทักษะข่าวแล้ว ขาดยุทธศาสตร์สังคม ให้สังคมรู้สึกสื่อสาธารณะเป็นของเขา

“เมื่อท่านบอกว่าท่านมีอำนาจในการแต่งตั้งและถอดถอน ท่านก็ต้องตอบพนักงานว่า คาดหวังอะไร จะเติมเต็มทักษะเรื่องสื่ออย่างไร พนักงานจะได้รู้สึกว่าร่วมลงเรือลำเดียวกัน อย่าลอยตัว ตัดสินแล้วปิดม่าน ไม่ได้อยู่สูงส่งนะกรรมการนโยบาย” เอื้อจิตกล่าวและว่ากรรมการนโยบายต้องอยู่กับผู้อำนวยการคนใหม่ และอยู่กับพนักงาน

เอื้อจิตกล่าวด้วยว่า การชี้แจงอาจไม่ต้องประกาศกับสื่อเพราะตอนนี้องค์กรบอบช้ำแล้ว แต่ต้องสื่อสารกับพนักงาน สื่อสารภายในองค์กร ชี้แจงแบบเปิดรับฟัง หากพนักงานไม่พอใจก็มีสิทธิที่จะส่งคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความ

ต่อคำถามว่าถึง ‘ภารกิจขับเคลื่อนสังคม’ กับการเป็น ‘สื่อสาธารณะ’ เอื้อจิตกล่าวว่า สื่อสาธารณะต้องขับเคลื่อนสังคมอยู่แล้ว แต่ภารกิจในความเป็นสื่อมีภารกิจอีกมากมาย ขณะเดียวกันสื่อสาธารณะก็มีมาตรฐานสากลอยู่ เช่น ความถูกต้องเที่ยงตรงและเชื่อใจได้

อย่างไรก็ตาม คำพูดไม่สำคัญเท่าการทำงานต่อไปนี้ ถามว่าที่ผ่านมาไม่เคยมีกรรมการนโยบายที่จะใช้สื่อลงไปทำงานในชุมชนเหรอ เชื่อว่าคนทำงานก็เคยเจอ อย่างเดียวที่อย่าทำคืออย่ามองมันเป็นเครื่องมือ

เผอิญการขับเคลื่อนสังคมเป็นคำในเชิงบวก แต่มักถูกตีความว่ามีเป้าหมายแล้วเอาสื่อไปใช้เป็นเครื่องมือ ซึ่งอันที่จริงสื่อสาธารณะมีมิติทั้งการสื่อสารข้อมูล ข้อเท็จจริง ความคิดเห็น ความงาม รวมทั้งสุนทรียะ และโดยตัวมันมีพันธะกิจขับเคลื่อนสังคมอยู่แล้ว โดยมีหัวใจสำคัญสองสิ่งคือ ไม่รับใช้รัฐบาล และไม่กลัวเรื่องธุรกิจ 

“อย่าคิดว่าตรงนี้คือเครื่องมือเพื่อขับเคลื่อนประเด็นของใคร” เอื้อจิตกล่าว

หทัยรัตน์ พหลทัพ พนักงานไทยพีบีเอส กล่าวว่า ในฐานะพนักงานคนหนึ่งที่เคลื่อนไหว ยังรู้สึกว่าคำตอบต่อหลักเกณฑ์ทีเขียนในกฎหมายยังไม่ชัดเจน ยังมีคำถามอีกมากที่จะต้องทบทวนร่วมกัน เพราะไทยพีบีเอสก็อายุเข้าปีที่ 9 แล้ว คราวนี้ถือเป็นการสร้างบรรทัดฐานใหม่ของไทยพีบีเอสหรือไม่ เราจะเดินไปอย่างนี้จริงๆ หรือไม่ 

“ศุกร์ที่ผ่านมาเราได้ยื่นหนังสือถามกรรมการนโยบายอีกรอบว่าจะให้พนักงานได้ฟังคำชี้แจงหรือเปล่า เราพยายามผลักดันให้เกิดทาวน์ฮอลล์ เป็นวัฒนธรรมภายในของไทยพีบีเอส ที่จะมีการสื่อสารกันภายใน เพราะคนมีคำถามกันมาก เราคิดว่าเป็นประโยชน์ขององค์กรและเป็นประโยชน์สาธารณะด้วย เราควรเปิดเวทีแบบอารยชนเพื่อมาชี้แจงกันให้เข้าใจ” หทัยรัตน์ กล่าว

หทัยรัตน์ กล่าวด้วยว่า ไทยพีบีเอสถูกช็อคมา 2 รอบ รอบแรกจากคำสั่งเร่งด่วนให้ปลดผู้อำนวยการและคณะ  คำอธิบายของกรรมการนโยบายไม่สามารถสร้างความเข้าใจได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ คำถามแรกยังอยู่ แล้วคำถามที่สองก็ตามมา ทำให้เกิดความไม่สบายใจของพนักงาน สำหรับผู้อำนวยการคนใหม่ที่เข้ามา ความคาดหวังคือจะนำพาองค์กรให้มีความแข็งแรง ผสานกำลังพนักงานให้เดินหน้าไปได้ ในสภาวะของความเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์สื่อ

“เราทำหน้าที่เสนอข้อเท็จจริง แต่เราไม่มีหน้าที่ในการบอกว่าอันนี้ขาวหรือดำ เป็นตัวแสดงในการขับเคลื่อนอะไร ไม่เหมือนการณรงค์ การทำงานในวิชาชีพสื่อมวลชน 13 ปีอาจรู้น้อยไปในเรื่องขับเคลื่อนสังคม อันนี้เป็นเรื่องใหม่ของสื่อหรือเปล่า ยังไม่แน่ใจ” หทัยรัตน์ กล่าว

ต่อคำถามว่าคนอาจมองว่าไทยพีบีเอสต่อไปจะเป็นสสส.ภาคสื่อ หทัยรัตน์ กล่าวว่า เป็นเสียงวิจารณ์ที่ควรรับฟัง แต่ในฐานะคนทำงานนั้น บอกตัวเองเป็นสื่อมวลชน ไม่ใช่สื่อรณรงค์หรือสื่อเอ็นจีโอ แต่เป็นสื่อที่ทำข่าวให้คนเข้าถึงได้

“เมื่อยังไม่พอใจ ก็จะถามต่อไปเรื่อยๆ” หทัยรัตน์ กล่าว และบอกด้วยว่ายังคาดหวังให้มีการเปิดทาวน์ฮอลล์เพื่อที่ผู้บริหารจะได้ชี้แจงโดยตรงกับพนักงาน

อานนท์ มีศรี ประธานสภาผู้ชมและผู้ฟังรายการไทยพีบีเอส กล่าวว่า ไทยพีบีเอสมีองค์ประกอบที่แตกต่างจากช่องอื่นคือ มีสภาผู้ชมผู้ฟัง และประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ทั้งการติชม การผลิต และการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย แต่เรื่องการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง ทีวีสาธารณะอยู่ท่ามกลางสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงตลอด

อานนท์ กล่าวว่า โดยส่วนตัวยอมรับการตัดสินใจของทุกฝ่าย แมวสีอะไรก็ได้ ถ้าจับหนูได้ และอยากให้ใช้โอกาสนี้มาสร้างความเข้าใจร่วมและหลอมการทำงานไปด้วยกัน

 

 

 

ทบทวนภารกิจไทยพีบีเอส เวทีมีเดียอินไซด์เอาท์

Posted by Hathai Phahol on Wednesday, February 3, 2016

 

ทดลองออกอากาศสด..”ทบทวนภารกิจไทยพีบีเอส” เวทีมีเดียอินไซด์เอาท์ เทป 2

Posted by Hathai Phahol on Thursday, February 4, 2016

 

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง: 

ส่องไทยพีบีเอส ทบทวนภารกิจทีวีสาธารณะ

มีเดียคาเฟ่-สื่อสนทนา หัวข้อ “สู่อนาคตทศวรรษใหม่ของไทยพีบีเอส… ทบทวนภารกิจทีวีสาธารณะ” (ภาค 1)

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ