พระครูบุญชยากร เจ้าอาวาสวัดไชยศรี บ้านสาวะถี กล่าวว่า บ้านสาวะถีเป็นหมู่บ้านเก่าแก่ของจังหวัดขอนแก่น ต้นกำเนิดของหมอลำขอนแก่น เป็นแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมของอีสาน เดิมสาวะถีเป็นชื่อเมืองในสมัยพุทธกาล เชื่อกันว่าเป็นเมืองแห่งคนดี มีความเหนียวแน่นทางพระพุทธศาสนา
"บ้านเมืองที่ดี วัดที่ดี ที่มีพระสงฆ์จะเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ดีของสังคม เป็นที่สักการะบูชาของประชาชน เป็นที่ภูมิใจของประชาชนและหมู่บ้าน การศึกษาสมัยใหม่หรือยุคโลกาภิวัฒน์ทำให้วันรุ่นในชุมชนเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ไม่สนใจชุมชนที่ตัวเองอยู่ ไม่สนใจแหล่งวัฒนธรรมในชุมชนของตัวเอง" พระครูบุญชยากรกล่าว
ในการที่จะทำให้ชุมชนเป็นแหล่งเรียนรู้ พระครูบุญชยากร เล่าว่า ชุมชนต้องหวงแหนวัฒนธรรม จารีตประเพณีของชุมชนตนเอง การที่ผู้คนหวงแหน แสดงว่าเขามีความภูมิใจ พระครูจึงเริ่มศึกษาเรียนรู้ และพบว่าบ้านสาวะถีมีประเพณี วัฒนธรรมที่มีคุณค่า มีสิมโบราณที่ชาวบ้านกราบไหว้ และสิมยังมีภาพจิตรกรรมฮูปแต้มสินไซ จึงนำคุณค่าเหล่านี้มาปรึกษาหารือกับชุมชน โรงเรียน และตกลงกันว่าจะทำโครงการ สร้างกระบวนการเรียนรู้ ให้คนในชุมชนได้ศึกษาวัฒนธรรมจากสิมโบราณ ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน เป็นความร่วมมือของวัด ชุมชน และโรงเรียน เยาวชนรุ่นใหม่ที่เป็นลูกหลานชาวบ้านสาวะถีก็ได้เรียนรู้ได้ทำกิจกรรมในการศึกษาเรื่องสินไซ จากภาพจิตรกรรมผนังสิม
"การที่ชุมชนจะสร้างแหล่งเรียนรู้ในชุมชน สิ่งสำคัญคือ ผู้คนในชุมชนต้องเรียนรู้และเข้าใจอย่างแท้จริง เมื่อเข้าใจก็จะเห็นคุณค่า เกิดความภูมิใจ หวงแหน ช่วยกันรักษาและพัฒนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน"
รายงานโดย รัชนี สงค์นอก นักเรียนโรงเรียนสาวะถีพิทยาสรรค์