ในช่วง ๑๐ ปีที่ผ่านมาเราคงได้รับฟังและคุ้นเคยกับคำใหม่ๆ หลายคำ และดูเหมือนว่ามันเข้ามาใกล้ตัวเราทุกขณะ เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โลกร้อน ภัยพิบัติทางธรรมชาติ รวมทั้งคำว่า“เศรษฐกิจสีเขียว” เป็นคำที่เวทีสัมมนาแลกเปลี่ยนหลายเวทีหยิบยกมาถกเถียงกัน ไม่ว่าจะเป็นเวทีระดับโลกและระดับประเทศ ในหมู่นักวิชาการ นักเคลื่อนไหว คำว่า “เศรษฐกิจสีเขียว” ก็คงไม่พ้นถูกส่งต่อสู่ชุมชน แกนนำชุมชน จะกล่าวอ้างถกเถียงกันในเวทีระดับพื้นที่ ระดับชุมชน พร้อมกับแผนงานโครงการแนวปฏิบัติทั้งของหน่วยงานรัฐ NGOs ภาคประชาสังคม พร้อมกับแกนนำท่องคำว่า เศรษฐกิจสีเขียว อธิบายเชื่อมโยงกับกิจกรรมเดิมๆ ของชุมชน และรวบรัดสรุปเป็นแนวทางการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นที่ว่า “ชุมชนดำเนินชีวิตบนพื้นฐานเศรษฐกิจสีเขียว เป็นวัฒนธรรมชีวิตของชุมชนชนบทไทย” รัฐบาลก็ขานรับ ไม่แตกต่างกับคำว่า “การพัฒนาที่ยั่งยืน” คำสุดหรูเมื่อ ๒๐ ปีที่ผ่านมา ถูกพูดคุยแลกเปลี่ยนจนถูกนำไปปรับใช้ในทุกหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน เกิดนโยบายแผนงาน เช่น การส่งเสริมการปลูกข้าวโพดอย่างยั่งยืน แผนการสร้างความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน การพัฒนาเหมืองแร่ โรงโม่หินอย่างยั่งยืน การตัดป่าแบบยั่งยืน การจัดการลุ่มน้ำอย่างยั่งยืน มีทั้งโครงการขนาดเล็กขนาดใหญ่ ทั้งที่แผนงาน เนื้อหา และกิจกรรมเป็นเรื่องเดิม ในที่สุดคำว่า “การพัฒนาที่ยั่งยืน” ก็เป็นวาทกรรมที่ชาวบ้าน รัฐ บรรษัทเอกชน ภาคอุตสาหกรรมใช้เพื่อทำลายความยั่งยืนของคนของโลก จนเป็นสาเหตุให้เกิดภัยพิบัติธรรมชาติ แล้ง ร้อน น้ำท่วม โคลนถล่มอย่างยั่งยืนอย่างต่อเนื่องกันมาในช่วง ๕ ปี รวมทั้งเกิดความขัดแย้งระหว่างทุนกับชุมชน
ความหมายของเศรษฐกิจสีเขียวคงจะถูกเป็นเครื่องมือของทุนเพื่อแสวงหาผลประโยชน์จากทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ของชุมชนไทย บนความหมายและนิยามเศรษฐกิจสีเขียวทั้งที่ความหมายและคำจำกัดความที่คลุมเครือ แต่ที่สำคัญภาคอุตสาหกรรมได้ฉกฉวยและช่วงชิงคำนี้เป็นเครื่องมือตักตวงผลประโยชน์กับทรัพยากรธรรมชาติ
เศรษฐกิจสีเขียว ความเข้าใจคนละอย่างสู่การปฏิบัติที่แตกต่าง กำลังเป็นหายนะของโลกบนฐานคิดเศรษฐกิจสีเขียว ความเข้าใจพื้นฐานทั่วไปกับความหมายของคำนี้คงเป็นด้านที่เป็นไปด้วยความหวังที่จะนำพาโลกนี้หลุดพ้นความขัดแย้ง การแย่งชิงทรัพยากร หลีกหนีความยากจนอดอยาก มีความอุดมสมบูรณ์ของข้าวปลาอาหารที่เพียงพอสำหรับครอบครัวชุมชน บรรษัทขนาดใหญ่ลดกำไรจากการลงทุน ทำลายธรรมชาติน้อยที่สุด คำนึงถึงเจ้าของทรัพยากรตัวจริง เจ้าของป่า น้ำ ภูเขา ทะเล ฯลฯ อยู่ร่วมกันระหว่างทุน ชุมชน มีชีวิตที่ปลอดภัยไร้สารพิษ มีการแบ่งปันทรัพยากรดิน น้ำ ป่า ทะเล อย่างเท่าเทียมเป็นธรรม นี่คือความหวังและความฝันที่เราอยากเห็น แต่ทั้งหมดคือความหมายที่คนจนผู้ยากไร้คาดและหวังให้เป็นเช่นนั้น
ความจริงที่โหดร้ายของเศรษฐกิจสีเขียว มันมิใช่ความฝันที่งดงามดังที่เราคาดหวัง เหรียญอีกข้าง เศรษฐกิจสีเขียวคือซาตานในคราบผู้ดีที่จะแย่งชิง ข้าวปลา ที่นา น้ำ จากปากท้องผู้ยากไร้ที่กระจายอยู่ในภาคเกษตรกรรมที่เป็นเกษตรกรรายย่อย ผ่านแนวคิดสุดหรู อาหารต้องมั่นคงเลี้ยงประชากรโลกได้ พลังงานต้องเพียงพอ มีแนวทางหลายแนวทางโดยเฉพาะความคึกคักในการรวบรวมที่ดินของบรรษัทข้ามชาติที่จะลงทุนทำการเกษตรขนาดใหญ่ เพื่อเป็นอาหารสัตว์ รวมทั้งการขุดเจาะหาแหล่งพลังงานเพื่อตอบสนองความต้องการของประเทศพัฒนา การพัฒนาเทคโนโลยีทางการเกษตรที่เพิ่มผลผลิต ทนแล้ง ทนน้ำท่วม เช่น การสังเคราะห์ชีวภาพ, การตัดต่อยีนส์ที่ยังไม่รู้ว่าอนาคตจะเกิดอะไรขึ้น แปลงเกษตรกรรมขนาดใหญ่ การปลูกพืชพลังงานเพื่อลดคาร์บอน เป็นการทำลายระบบเกษตรกรรมรายย่อยและความหลากหลายของพันธุกรรม เน้นการผลิตที่เข้มข้น เทคโนโลยีขั้นสูง ใช้พื้นที่ขนาดใหญ่ คำถามที่มีคำตอบ”แต่ที่แน่ชัด แนวคิดนี้ไม่มีอะไรสีเขียวนัก ภายใต้วาทกรรมการพัฒนาที่ยั่งยืนและการบรรเทาความยากจน แนวคิดเศรษฐกิจสีเขียว ที่ว่า คือโครงการของทุนนิยมที่มีเป้าหมายเปิดทุกพื้นที่และมิติของชีวิตให้แก่เงิน(โฟกัส ออน เทรด ฉบับที่ 160 มิถุนายน 2555 ฉบับพิเศษว่าด้วยการประชุมสหประชาชาติริโอ+20) นี่คือคำตอบเกษตรกรรายย่อยที่ดำเนินชีวิตผลิตพืชเศรษฐกิจ ข้าว พืชไร่ขนาดเล็กเป็นรายได้ดำรงชีวิตที่พึ่งพิงธรรมชาติ จะสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้บนความชอบธรรมบนฐานเศรษฐกิจสีเขียว ที่กลุ่มทุนขนาดใหญ่วางแผนยึดครองที่ดินที่เป็นปัจจัยการผลิตของคนจน
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทุกพื้นที่ในประเทศไทย การขยายตัวของพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน ปลูกยางพารา การกว้านซื้อที่แปลงขนาดใหญ่ โดยทุนภายในประเทศและกลุ่มทุนข้ามชาติ ชาวนาภาคเหนือตอนล่างภาคกลางที่มีความสัมพันธ์ระหว่างผู้เช่า (เถ้าแก่ดั้งเดิม) กับกลุ่มผู้เช่านา (ชาวนา) ที่มีความสัมพันธ์ลักษณะเครือญาติช่วยเหลือกัน เถ้าแก่ขายที่ให้ทุนขนาดใหญ่ ชาวนาผู้เช่านาจำเป็นต้องหาที่เช่าใหม่และแพงขึ้น มีระเบียบกติกามากขึ้น สัดส่วนการถือครองที่ดินที่ไม่เป็นธรรมของประชากรประเทศไทยโดยจากข้อมูลการถือครองที่ดินในประเทศไทยคนส่วนน้อยประมาณ 10% ของประชากรถือครองที่ดินรวมกันถึง 90% ของพื้นที่ในทางตรงกันข้ามคนส่วนใหญ่ในประเทศประมาณ 90% ของประชากร ถือครองที่ดินรวมกันเพียง 10% ของพื้นที่ เป็นความเสี่ยงสูงมาก ที่ดินจะถูกเปลี่ยนมือให้ทุนข้ามชาติลงทุนในเกษตรอุตสาหกรรม
การใช้เศรษฐกิจสีเขียวเพื่อลดคาร์บอน เช่น การอพยพคนออกจากป่า การเริ่มเตรียมการโครงการ REDD ของประเทศไทย รวมทั้งการอพยพคนออกจากพื้นที่เพื่อทำเกษตรอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ถั่วเหลืองในแถบลาตินอเมริกา พื้นที่ปลูกอ้อยในเขมร การลงทุนด้านพลังงานในพม่าและลาว หรือแม้แต่การเปิดประชาคมอาเซียน ล้วนแล้วแต่การตั้งอยู่บนฐานการสร้างช่องทางกลไก กฎระเบียบ วาทกรรมของประเทศพัฒนา เพื่อกอบโกยผลประโยชน์จากทรัพยากรของประเทศด้อยพัฒนา เพื่อตอบสนองความอยากและการแข่งขันเพื่อจะเป็นผู้นำโลก เหรียญอีกข้างของเศรษฐกิจสีเขียวที่ประเทศไทย ประเทศกำลังพัฒนาจะเข้าสู่การแย่งชิงอำนาจของประเทศพัฒนาที่จะช่วงชิงจังหวะการนำ ถ้าประเทศไทย รัฐบาล คนในสังคมไทยยังเพิกเฉยก็คงไม่ต่างกับเกษตรกรรมรายย่อยที่เป็นลูกไล่บริษัทผูกขาดทางการเกษตร พื้นที่อันอุดมสมบูรณ์ ทุ่งที่ราบที่เหมาะสมกับการทำเกษตรเพื่อดำรงชีวิตของชุมชนชนบท คงเป็นเพียงแหล่งผลิตวัตถุดิบพืชอาหารสัตว์ พืชพลังงาน เพื่อส่งออก และก็ทิ้งซากสารเคมี ความเสื่อมโทรมของพื้นดินเป็นมรดกให้คนรุ่นต่อไป ถ้าเรายังคิดไม่เห็นอนาคตของลูกหลาน สายพานทุนเสรี ทุนข้ามชาติจะเข้ามาย่ำยีวิถีชีวิตชุมชน
นี่คือภาพเศรษฐกิจสีเขียวที่ประเทศพัฒนาแล้ว สร้างช่องทางและโอกาส และที่สำคัญเราต้องทบทวนการพัฒนาตอบสนองใคร การสำรวจดวงดาว สำรวจจักรวาล การเปลี่ยนแปลงโลก การใช้เทคโนโลยีล้ำยุค แล้วคน เด็ก ผู้หญิง ผู้ด้อยโอกาส ยังยากจน อดอยาก โลกยังมีภัยพิบัติ ยังแย่งชิงเงิน อำนาจ โดยขาดมุมมองเพี่ออนาคต มันคงมิใช่คำตอบ แนวคิดเศรษฐกิจสีเขียว ที่คนยากจนอยากเห็น
เศรษฐกิจสีเขียวที่เป็นจริงจะเกิดขึ้นได้บนพื้นฐาน
1.การเปลี่ยนแปลงแนวคิด ความเชื่อของประเทศที่พัฒนาแล้ว เงิน อำนาจ เทคโนโลยีไม่สามารถนำพาให้พ้นหายนะได้ แนวทางของประเทศพัฒนาแล้วยังจะเป็นการเร่งความหายนะของโลกเร็ววัน
2. การคิดค้นรูปธรรมการปรับตัวของเกษตรกรรายย่อยเพื่อเป็นแนวคิดเศรษฐกิจสีเขียวที่ตอบปัญหาต่อการดำเนินชีวิตท่ามกลางภาวะวิกฤติอาหาร พลังงาน ภัยพิบัติทางธรรมชาติ
3. การแบ่งปันทรัพยากรธรรมชาติอย่างเท่าเทียมระหว่างเกษตรกรรายย่อยและภาคเกษตรอุตสาหกรรม โดยเฉพาะการกระจายการถือครองที่ดินให้เกษตรกรรายย่อยที่เป็นปัจจัยพื้นฐานในการผลิตเพื่อสร้างความมั่นคงให้ครอบครัวชุมชน
4.การผลิตอาหารเพื่อตอบสนองต่อครอบครัวชุมชนที่จะสามารถดำรงชีวิต เก็บอาหาร กระจายพันธุ์ในแปลงผลิตทางการเกษตร
5.ติดตามข้อมูล สร้างความหมายนิยามเศรษฐกิจสีเขียวที่เป็นการตอบสนองต่อความต้องการในการดำเนินชีวิตของชุมชนไทยผลักดันแนวคิดและรูปธรรมเศรษฐกิจสีเขียวให้เป็นกระแสของสังคม
6.การเรียกร้องให้ประเทศพัฒนาโดยเฉพาะประเทศที่ทุ่มทุนขนาดใหญ่รับผิดชอบพื้นที่การผลิตชดเชยการสูญเสียการทำลายธรรมชาติที่เกิดจากการสนับสนุนการลงทุนของบรรษัทขนาดใหญ่
7.การผนึกกำลังของภาคประชาชน ประชาสังคมในการรักษาแบบแผนการผลิต ฐานทรัพยากรธรรมชาติ (พันธุกรรม)ที่ดิน สร้างความมั่นคงให้ชุมชน สังคม รวมทั้งผลประโยชน์ร่วมของส่วนรวมของสังคม
นับแต่นี้เป็นต้นไปคำว่าเศรษฐกิจสีเขียวคงเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการดำรงชีวิตและไม่แตกต่างกับคำอื่นๆ เช่น การพัฒนาที่ยั่งยืน โลกร้อน แต่วันนี้ขบวนคนจน ผู้ด้อยโอกาส ผู้เป็นเจ้าของทรัพยากรจะช่วงชิงนิยาม และความหมายเศรษฐกิจสีเขียว เพื่อให้เกิดประโยชน์กับชีวิตของตนเองลูกหลานเกษตรกรในอนาคตรวมทั้งการอยู่รอดของโลก หรือเป็นเพียงเบี้ยบนกระดานเศรษฐกิจสีเขียวที่ภาครัฐ ภาคทุน กำหนดชีวิต จังหวะก้าวตามยะถาวิถี เราควรเรียกร้องให้สังคมเข้าใจเศรษฐกิจสีเขียวที่เหมือนกัน ชีวิตเรา โลกเราจะได้หลุดพ้นจากหายนะพร้อมกัน นี่คือสิ่งที่ท้าทายร่วมกันของสังคมไทย สังคมโลก
สาคร สงมา
มูลนิธิคนเพียงไพร