เสวนา"ฝ่าวิกฤตของแพง"จวก ต้นเหตุปรับขึ้นค่าน้ำมัน-พลังงาน ขึ้นค่าแรง 300บ.กระทบสินค้าแพง พบคนจ่ายตลาดน้อยลง-ซื้อกระดูกต้มแทนเนื้อ
วันนี้ (18 มี.ค.) ที่พรรคประชาธิปัตย์ ได้จัดงานเสวนา"ฝ่าวิกฤติ “ข้าวของแพง” มีตัวแทนจากหลายภาคส่วนเข้าร่วม เช่น ศ.ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดร.ฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสมาคมผู้ค้าปลีกไทย อ.ชัยวัฒน์ แสงชัย ที่ปรึกษาสมาคมตลาดสดไทย / นางพิไล สุโชติก เจ้าของร้านพิไล อาหารตามสั่ง นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ในฐานะรัฐมนตรีเงากระทรวงพาณิชย์ พรรคประชาธิปัตย์ และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
ศ.ดร.พรายพล เสนอให้รัฐบาลมีมาตรการดูแลราคาสินค้าแต่ละชนิดที่มีความแตกต่างกัน เพราะโครงสร้างของแต่ละอย่างไม่เหมือนกัน ที่ผ่านมารัฐบาลมีแต่การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ซึ่งควรเข้าไปดูแลต้นทุนตั้งแต่ราคาหน้าฟาร์มไปจนถึงราคาขายปลีก ให้มีสัดส่วนที่เหมาะสม ซึ่งส่วนตัวเห็นว่า มีความเป็นไปได้ที่ราคาสินค้าแพงขึ้นแน่นอน รวมถึงราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น ก็จะส่งผลต่อราคาสินค้าด้วย โดยขณะนี้ราคาน้ำมันในตลาดโลกอยู่ที่ประมาณ 120 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ซึ่งเกือบสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่เคยขึ้นถึง 140 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และเชื่อว่าหากปัญหาในตะวันออกกลางยังไม่ยุติ ราคาจะพุ่งไปถึง 150 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
นายชัยวัฒน์ แสงชัย ที่ปรึกษาสมาคมตลาดสดไทย ระบุว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่มองว่าสินค้าอาหารมีราคาสูงขึ้น ทั้งไข่ไก่ เนื้อไก่ และบางคนต้องหันไปซื้อสินค้าอื่นที่พอทดแทนกันได้ เช่น เลือกซื้อกระดูกหมูแทนเนื้อหมู เป็นต้น ซึ่งหากผู้บริโภคต้องการบริโภคสินค้าราคาถูก ขอแนะนำให้ไปซื้อที่ตลาดขนาดใหญ่ เพราะผู้ค้าในตลาดเหล่านี้จะได้รับสินค้าในราคาถูกมาขาย
"ที่ผ่านมาทางสมาคมได้พยายามประสานกับกระทรวงพาณิชย์ที่ให้ลดราคาขายสินค้าลง แต่พ่อค้าแม่ค้าก็ต้องขายตามราคาที่ได้รับมา จึงอยากขอให้รัฐบาลตรวจสอบดูว่าราคาสินค้าที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นนั้นไปอยู่ที่ใคร และค่าการตลาดของสินค้าแต่ละชนิดควรจะเป็นเท่าไร"นายชัยวัฒน์ กล่าว
นางพิไล สุโชติก เจ้าของร้านพิไล ตัวแทนแม่ค้าขายอาหารสำเร็จรูป ยอมรับว่าขณะนี้ต้นทุนอาหารมีราคาสูงขึ้นมาก เช่น ไข่ไก่ จากราคา 85 บาท เป็น 105 บาท มะขามเปียกราคากิโลกรัมละ 180 บาท จึงต้องปรับขึ้นค่าอาหาร และทำให้ลูกค้าน้อยลงมาก ซึ่งประเด็นที่กระทรวงพาณิย์ให้ขายอาหารในราคาควบคุมนั้น คิดว่าจะทำต้องลดปริมาณอาหารลง เช่น จากที่เคยใช้ไข่เบอร์ 2 ต้องเปลี่ยนเป็นเบอร์ 4 และต้องหาซื้อสินค้าเฮ้าส์แบรนด์ในห้างขายปลีกมาใช้ เพราะราคาถูกกว่ายี่ห้ออื่นๆ
ส่วน"โครงการธงฟ้า"ที่รัฐบาลผลักดันนั้น ก็ไม่สามารถช่วยเหลืออะไรได้มาก เพราะสถานที่จัดงานอยู่ไกลและจำกัดจำนวนซื้อ ดังนั้นหากรัฐบาลจะจัดงาน ต้องขยายให้ทั่วถึงทุกพื้นที่และจัดอย่างสม่ำเสมอก็จะช่วยประชาชนได้
นายฉัตรชัย ผู้อำนวยการสมาคมผู้ค้าปลีกไทย เห็นว่า การแก้ไขปัญหาราคาสินค้า รัฐบาลต้องรวมการทำงานของกระทรวงเกษตร กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงพาณิชย์ไว้ด้วยกัน เพราะเท่าที่เคยคลุกคลีทำงานกับหน่วยงานเหล่านี้ พบว่าหากให้กระทรวงพาณิชย์ทำงานเพียงหน่วยงานเดียว จะไม่สามารถควบคุมดูแลการผลิตให้ครอบคลุมได้ นอกจากนี้ ยังเห็นว่า รัฐบาลไม่ควรกำหนดราคาสินค้าควบคุมมากถึง 47 รายการ แต่ควรปล่อยให้ราคาสินค้าบางชนิดขึ้นลงตามกลไกตลาด มิฉะนั้น อาจเกิดสินค้าขาดตลาดได้ ส่วนนโยบายการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิต โดยเฉพาะในธุรกิจเอสเอ็มอี
ด้านนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ระบุว่า ผลสำรวจและวิเคราะห์ของทีมพาณิชย์เงาพบว่า ราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้นตามนโยบายของรัฐบาล จะส่งผลให้ประชาชนมีภาระค่าใช้จ่ายในส่วนของค่าเดินทางและค่าสินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเดือนละกว่า 2,000 บาท ซึ่งรัฐบาลควรต้องทบทวนนโยบายการปรับโครงสร้างราคาพลังงาน โดยอาจใช้ ปตท.หรือกองทุนน้ำมันเป็นกลไกลดภาระของประชาชน
"นอกจากนี้ ต้องมีการประสานงานระหว่างหน่อยงานที่เกี่ยวข้องในเรื่องการควบคุมราคาสินค้าทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นทุนการผลิตจนถึงราคาหน้าฟาร์มราคาขายปลีก อย่าเพียงแต่กดราคาสินค้าที่ปลายทาง เพราะจะเกิดภาวะขาดแคลน ซึ่งนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาลต้องเป็นผู้ควบคุมดูแลเอง ขณะที่การจัดงานธงฟ้า รัฐบาลควรใช้ อปท.เป็นเครื่องมืบกำหนดจุดการจัดงาน เพราะจะได้จัดงานในบริเวณที่ประชาชนในพื้นที่ส่วนใหญ่จับจ่ายสินค้าอยู่แล้ว"นายอภิรักษณ์ กล่าว
นายอภิรักษ์ ยังเชื่อว่า นโยบายการปรับค่าแรงขั้นต่ำ 40% ทุกจังหวัด จะยิ่งทำให้ราคาสินค้าสูงขึ้น เพราะจะกระทบกับโครงสร้างราคา ซึ่งการปรับขึ้นครั้งเดียว 40% ไม่เป็นผลดี พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ทำงานในบริษัทนั้น เคยปรับค่าจ้างพนักงานครั้งเดียวมากถึง 40% หรือไม่
ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า ราคาสินค้าค่าครองชีพเป็นเรื่องที่มีความสำคัญลำดับต้นๆ เพราะจะกระทบกับประชาชนโดยตรง แม้จะไม่สามารถแก้ไขได้แบบทันตา แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่ทำอะไรไม่ได้ ซึ่งหากจะแก้ปัญหานี้ ก่อนอื่นรัฐบาลต้องยอมรับก่อนว่ามีปัญหา ซึ่งตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมามีกองเชียร์ของรัฐบาลโจมตีว่าฝ่ายค้านสร้างกระแสของแพง ก็ขอถามกลับว่าหากของไม่แพงจริงแล้วเหตุใดนายกฯ ต้องเรียกประชุมแก้ปัญหาของแพง และอยากให้นายกฯ ประกาศว่าไม่มีปัญหาของแพง และรัฐบาลจะไม่แก้ปัญหานี้ แต่หากนายกฯ ยอมรับว่ามีของแพงจริง ก็ขอให้สั่งให้ลูกน้องของตนหยุดพูด แล้วมาช่วยกันแก้ปัญหา
"หลังจากยอมรับว่ามีปัญหา รัฐบาลต้องพยายามเข้าใจว่าปัญหาอยู่ที่ส่วนใด ทั้งนี้ ผมมองว่าปัญหาตอนนี้ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นเพราะนโยบายพลังงาน โดยก่อนหน้านี้รัฐบาลประกาศนโยบายปรับโครงสร้างราคาพลังงานว่าจะขึ้นราคาน้ำมัน 1 บาททุกเดือน ราคาสินค้าจึงสูงขึ้น เพราะเมื่อราคาน้ำมันสูงขึ้น ต้นทุนการขนส่งก็สูงขึ้น และสินค้าชนิดหนึ่งๆ ไม่ได้มีการขนส่งเพียงครั้งเดียว ราคาสินค้าจึงสูงขึ้นมาก ซึ่งรมว.พลังงานอ้างว่าราคาน้ำมันในประเทศต้องปรับขึ้นเพราะราคาตลาดโลกสูงกว่าสมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์ แต่ความจริงแล้วราคาน้ำมันเพิ่งสูงขึ้นในเดือนนี้เท่านั้น แต่เมื่อดูราคาเฉลี่ยแล้ว ในสมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์สูงกว่ารัฐบาลนี้มาก แต่ประชาธิปัตย์ยังสามารถรักษาระดับราคาขายในประเทศได้"นายอภิสิทธิ์ กล่าว
นายอภิสิทธิ ระบุว่า รัฐบาลต้องจริงใจในการแก้ปัญหา อย่างกรณีการขึ้นราคาก๊าซ รัฐบาลอ้างว่าต้องขึ้นเพราะ ปตท.ขาดทุนค่าก๊าซมาก ทั้งที่ความจริง ปตท.มีกำไรนับหมื่นล้านบาท ทั้งนี้ ตนเห็นว่าปัญหานี้เป็นเรื่องเร่งด่วนที่รัฐบาลควรเร่งแก้ไข ก่อนจะไปแก้ไขรัฐธรรมนูญ