เลื่อนไม่มีกำหนด! เสวนาผลกระทบโรงไฟฟ้าถ่านหินรัฐมอญ เหตุฝ่ายบ้านเมืองไม่ให้จัด

เลื่อนไม่มีกำหนด! เสวนาผลกระทบโรงไฟฟ้าถ่านหินรัฐมอญ เหตุฝ่ายบ้านเมืองไม่ให้จัด

5 ก.ย. 2558 เพจเฟซบุ๊ก TERRA โครงการฟื้นฟูนิเวศในภูมิภาคแม่น้ำโขง แจ้งข้อมูลการเลื่อนจัดงาน “ผลกระทบจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน ต่อชุมชนและทรัพยากรธรรมชาติในเขตพะลึน รัฐมอญ ประเทศเมียนมา” ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 6 ก.ย. 2558 เวลา 13.00 – 16.00 น. ณ วัดสุธรรมวดี ซ.บางกระดี่ 25 เขตบางขุนเทียน โดยมูลนิธิสิทธิมนุษยชนแห่งแดนมอญ (Human Rights Foundation of Mon Land – HURFOM) และมูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ (FER/TERRA)

20150509185825.jpg

“เนื่องด้วยฝ่ายบ้านเมืองไม่อนุญาตให้จัดการประชุม คณะผู้จัดการประชุมจึงจำเป็นต้องเลื่อนออกไปก่อนโดยไม่มีกำหนด และต้องขออภัยเป็นอย่างสูงมา ณ ที่นี้ด้วยครับ” ข้อความระบุเหตุผลที่เผยแพร่ในเพจ

งานดังกล่าวจัดขึ้น เพื่อเสริมสร้างการรับรู้ของชุมชนมอญในประเทศไทย และสังคมไทยโดยรวม ให้ได้ตระหนักถึงผลกระทบจากการลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน โดยบริษัทที่มาจากประเทศไทย ต่อชุมชนและทรัพยากรธรรมชาติในเขตพะลึน โดยมีพระและชาวบ้านจากในพื้นที่ผลกระทบเดินทางมาร่วมให้ข้อมูลสถานการณ์ในพื้นที่ และเผยแพร่ผลการศึกษาความอุดมสมบูรณ์ทางทรัพยากรธรรมชาติ และความมั่งคั่งของชุมชนในพะลึน โดยชุมชนท้องถิ่น 

คลิป: สุดทางหมากกับการตามหาทุเรียนที่หมูบ้านอันแตง

 

คลิป: สำรวจข้อมูลป่าชายเลนของนักวิจัยชุมชนหมู่บ้านนิเกรอะ 

ทั้งนี้ พื้นที่ในเขตพะลึน บริเวณหมู่บ้านอันแตง ถูกประกาศให้เป็นพื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 1,280 เมกะวัตต์ โดย บมจ.ทีทีซีแอล จากประเทศไทย (เดิมคือ บมจ.โตโย-ไทย คอร์ปเปอร์เรชั่น) ต้องใช้พื้นที่ประมาณ 937.5 ไร่ เพื่อสร้างทั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินและท่าเรือที่จะยื่นออกไปในทะเลยาว 5 กิโลเมตร พื้นที่ตั้งโรงไฟฟ้านี้เป็นแหล่งปลูกข้าวที่สำคัญมากที่สุดแห่งหนึ่งในพะลึน

บมจ.ทีทีซีแอล ได้ลงนามบันทึกข้อตกลง (MOA) กับกระทรวงพลังงานไฟฟ้าเพื่อสร้างโรงไฟฟ้าเมื่อ วันที่ 9 เมษายน 2558 ที่ผ่านมา โดยมีเป้าหมายจะเริ่มก่อสร้างในปี 2559 และผลิตไฟฟ้าได้ในปี 2562

ชาวบ้านในเขตพะลึนทราบแผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าแห่งนี้ เมื่อเดือน เม.ย.2557 โดยมีตัวแทนจาก บมจ.โตโย-ไทย คอร์ปเปอร์เรชั่น มาชี้แจงโครงการ ซึ่งชาวบ้านก็แสดงความเห็นคัดค้านไม่เห็นด้วยในการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินดังกล่าวมาโดยตลอด เนื่องจากเกรงว่าจะทำลายทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ทั้งในพื้นที่ภูเขา ทะเล ป่าชายเลน ทุ่งนา และชุมชน  

ล่าสุด เมื่อเช้าวันที่ 5 พ.ค. 2558 ที่ผ่านมา ชาวบ้านในเขตพะลึนและประชาชนในเมืองเยที่คัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกว่า 6,000 คน ได้ร่วมชุมนุมกันที่ลานหน้าวัดหมู่บ้านอังแตง เพื่อแสดงจุดยืนของประชาชนในพื้นที่ในการคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินจากประเทศไทย ถือได้ว่าการชุมนุมครั้งนี้เป็นการชุมนุมที่ใหญ่ที่สุดในรัฐมอญในหลายรอบปีที่ผ่านมา

สำหรับเขตพะลึน ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองเย เมืองท่าที่สำคัญทางตอนใต้ของรัฐมอญ ประเทศเมียนมา พื้นที่ซึ่งคาดว่าจะได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าถ่านหินอยู่ในพะลึนทางตะวันตก ประกอบด้วย 7 หมู่บ้าน คือ หมู่บ้านอังแตง หมู่บ้านนิเกรอะ หมู่บ้านเคาะเคลีย หมู่บ้านนินู่ หมู่บ้านซายแกรม หมู่บ้านบาลายแซม และหมู่บ้านเกาะเกรอย มีประชากรประมาณ 1,462 ครัวเรือน ส่วนใหญ่เป็นชุมชนมอญ มีวัดเป็นศูนย์กลางของชุมชนที่คอยดำรงรักษาความเชื่อทางศาสนาและประเพณีวัฒนธรรมชาติพันธุ์ 

ด้วยระบบนิเวศและทรัพยากรธรรมชาติที่ยังสมบูรณ์ ปราศจากมลพิษ ไม่ว่าจะเป็นแหล่งน้ำจากภูเขาพะลึน และน้ำฝนที่ยังไม่ได้รับผลกระทบจากหมอกควันมลพิษปนเปื้อน ยังคงปลอดภัยในการบริโภคสำหรับทั้งคนและสัตว์ อีกทั้งป่าชายเลนที่ยังคงมีต้นไม้ที่เริ่มหาได้ยากในพื้นที่ปากแม่น้ำอื่นๆ หาดเลนที่และท้องทะเลที่ยังคงสมบูรณ์ไปด้วยสัตว์และพืชน้ำ ส่งผลให้ชุมชนที่นี่ยังคงสามารถดำรงวิถีชีวิตที่พึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติได้จนถึงปัจจุบัน

อาชีพหลักของคนในเขตพะลึน คือ การทำสวนหมาก ซึ่งมีผลไม้หลายชนิดปลูกร่วมด้วย เช่น ทุเรียน มังคุด มะพร้าว ส้ม มะนาวยักษ์ ลูกเนียง จำปาดะ ขนุน ฯลฯ การทำนา การประมง รวมถึงการแปรรูปผลผลิตจากการทำประมงอย่างการทำปลาแห้งและกะปิ

จากการสำรวจรายได้โดยชุมชนในระหว่างเดือน ม.ค. – มี.ค. 2558 พบว่า ชาวบ้านมีรายได้รวมจากการขายหมากประมาณ 91,167,273 บาทต่อปี (จากจำนวนครอบครัวที่ปลูกหมาก 712 ครอบครัว) มีรายได้รวมจากการประมง (เฉพาะหมู่บ้านเคาะเคลียและหมู่บ้านนิเกรอะจำนวน 108 ครอบครัว) ประมาณ 71,900,000 บาทต่อปี และรายได้รวมจากการขายข้าวประมาณ 13,625,182 บาทต่อปี (จากจำนวนครอบครัวที่ทำนา 286 ครอบครัว) 

นอกจากนี้ยังมีอาชีพเสริมอื่นๆ ได้แก่ การขายผลไม้จากสวนหมาก การเก็บของป่าเช่น เห็ด หน่อไม้ พืชผักตามธรรมชาติ การหาปลาและสัตว์น้ำอื่นๆ ในเขตหาดเลนและป่าชายเลนเพื่อบริโภคและรายได้ การทำหลังคาโดยใช้ใบจากต้นจาก ในป่าชายเลน และการทำน้ำตาลจากต้นตาล เป็นต้น 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ