เลื่อนพิพากษาฎีกาคดีแพ่งคลิตี้‬ ไป 21 มิ.ย.เหตุนัดจำเลย 1 ไม่ได้-จำเลย 2 ไม่จ่ายค่าธรรมเนียม

เลื่อนพิพากษาฎีกาคดีแพ่งคลิตี้‬ ไป 21 มิ.ย.เหตุนัดจำเลย 1 ไม่ได้-จำเลย 2 ไม่จ่ายค่าธรรมเนียม

20162604145147.jpg

ที่มาภาพ: มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม – EnLAW

26 เม.ย. 2559 เวลา 09.45 น. ศาลจังหวัดกาญจนบุรี นัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกาคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 106/2546 หมายเลขแดงที่ 1565/2549 ระหว่างนายกำธร ศรีสุวรรณมาลา ที่ 1 กับพวกรวม 8 คนเป็นโจทก์ ยื่นฟ้องบริษัทตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำเลยที่ 1 และนายคงศักดิ์ กลีบบัว ประธานกรรมการบริษัทฯ จำเลยที่ 2 ฐานความผิดละเมิด พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 กรณีประกอบกิจการโรงแต่งแร่ตะกั่วจนก่อให้เกิดมลพิษปนเปื้อนลงในลำห้วยคลิตี้ 

คดีดังกล่าวยื่นฟ้อง เมื่อวันที่ 30 ม.ค. 2546 ฟ้องเรียกค่าเสียหาย เป็นเงินจำนวน 119,036,400 บาท ต่อมาศาลกาญจนบุรีตัดสินให้ 4,260,000 บาท  และเมื่อเดือน ต.ค. – พ.ย. 2549 โจทก์ทั้ง 2 และจำเลยทั้ง 2 ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาล ซึ่งศาลพิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยทั้ง 2 ร่วมกันใช้เงินแก่โจทก์รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 29,551,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีจากต้นเงินดังกล่าว นับแต่นันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

สรุปข่าวซึ่งจัดทำโดยศาลจังหวัดกาญจนบุรี ระบุว่า เมื่อถึงกำหนดนัดคู่ความมาศาล ศาลได้ตรวจสำนวนแล้วมีคำสั่งให้เลื่อนการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาไปนัดพร้อมและฟังคำพิพากษาศาลฎีกา ในวันอังคารที่ 21 มิ.ย. 2559 เวลา 09.00 น. โดยเหตุที่เลื่อนเนื่องจาก

1. ส่งหมายนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยที่ 1 และทนายจำเลยที่ 1 ไม่ได้ ส่วนจำเลยที่ 2 ทนายรับหมายนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกาแทน ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งให้โจทก์ทั้ง 8 ตรวจสอบที่อยู่ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 แล้วแถลงศาลภายใน 3 วันเพื่อดำเนินการส่งหมายให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 

2. ศาลฎีกามีคำสั่งให้จำเลยที่ 2 ชำระค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาให้ครบถ้วนเสียก่อน จึงจะอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาได้

ขณะที่สำนักข่าวสิ่งแวดล้อมรายงานบทสัมภาษณ์ของทนายความ ระบุว่า นายสมชาย อามีน ประธานสภาทนายความจังหวัดกาญจนบุรี ในฐานะทนายความโจทก์ กล่าวว่า สาเหตุที่ศาลไม่สามารถอ่านคำพิพากษาได้ เนื่องจากมีปัญหาใน 2 ประเด็น ได้แก่ 1.การส่งหมายให้จำเลยที่ 1 เนื่องจากบริษัทเลิกกิจการไปแล้วจึงไม่สามารถส่งหมายได้ ขณะที่ทนายจำเลยก็ปฏิเสธว่าไม่ได้รับหมาย 2.จำเลยทั้ง 2 แยกกันยื่นฎีกาคนละฉบับ ซึ่งศาลพบว่าจำเลยที่ 1 วางเงินค่าธรรมเนียมแล้ว 2 แสนบาท ส่วนจำเลยที่ 2 ยังไม่ได้วางเงิน

“ศาลจะอ่านคำพิพากษาได้ก็ต่อเมื่อจำเลยที่ 2 มาวางเงินแล้ว ศาลจึงสั่งให้โจทก์ไปตรวจสอบที่อยู่ของจำเลยที่ 1 มาแถลงต่อศาลใน 3 วัน และให้จำเลยที่ 2 มาวางเงินในวันที่ 21 มิ.ย.นี้ พร้อมรับฟังคำพิพากษาในวันเดัยวกัน แต่ถ้าไม่มา ศาลจังหวัดจะส่งสำนวนกลับไปยังศาลฎีกาที่กรุงเทพฯ อีกครั้ง เพื่อให้มีคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใด”นายสมชาย กล่าว

นายสมชาย กล่าวอีกว่า ส่วนตัวเชื่อว่าจำเลยที่ 2 จะไม่มาวางเงิน ซึ่งแนวทางก็คือศาลฎีกาคงจะจำหน่ายฎีกาของจำเลยที่ 2 ออกไป ซึ่งแม้ว่าจะไม่มีผลกระทบต่อคำพิพากษา แต่ก็ทำให้กระบวนการล่าช้าออกไป

นายสุรพงษ์ กองจันทึก ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนา กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 13 ปี ตั้งแต่ชาวบ้านตัดสินใจยื่นฟ้องจนถึงมีคำพิพากษาศาลฎีกา ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนมาโดยตลอด และแม้ว่าโจทก์ทั้ง 8 รายจะยังมีชีวิตอยู่ แต่ชาวบ้านอีกหลายรายกลับเสียชีวิตไปแล้ว นั่นจึงเป็นความยุติธรรมที่ล่าช้า

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นหลังจากนี้ก็คือการบังคับคดี เนื่องจากบริษัทตะกั่วฯ ปิดกิจการไปแล้ว และประธานกรรมการฯ ก็เสียชีวิตไปแล้ว จึงต้องหาแนวทางการดำเนินการต่อไป

“คำพิพากษาศาลฎีกาที่จะเกิดขึ้น ถือเป็นบรรทัดฐานใหม่ให้กับคดีสิ่งแวดล้อมอื่นๆ เนื่องจากเป็นคดีแรกที่ฟ้องตาม พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม ต่อสู้กันถึง 3 ศาล และศาลได้วางแนวทางให้ผู้ก่อมลพิษต้องแสดงความรับผิดชอบ” นายสุรพงษ์ กล่าว

ด้านข้อมูลจาก มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม – EnLAW ในการแจ้งข่าวระบุถึงการพิพากษาคดีในครั้งนี้ว่า กว่า 13 ปี แห่งการต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมของชุมชนชาวคลิตี้ล่าง เพื่อพิสูจน์ว่าบริษัทเอกชนเจ้าของโรงแต่งแร่และกรรมการบริษัทต้องร่วมกันรับผิดในการทำให้สารตะกั่วจากโรงแต่งแร่รั่วไหลหรือแพร่กระจายสู่ห้วยคลิตี้เป็นเวลานานหลายปี จนทำให้ชาวบ้านป่วยด้วยโรคพิษตะกั่ว และสัตว์เลี้ยงตายจากสารตะกั่วที่รั่วไหลด้วยเช่นกัน โดยต้องชดใช้เยียวยาความเสียหายให้แก่ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบ

นอกจากนั้นชาวคลิตี้ล่างยังต้องการให้บริษัทเอกชนและกรรมการบริษัทร่วมกันแก้ไขและฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ โดยนำตะกั่วที่ตกค้างอยู่ในห้วยคลิตี้ออกไปให้หมด เพื่อให้ห้วยคลิตี้สะอาดปราศจากสารตะกั่ว โดยให้จำเลยทั้ง 2 เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายและให้กรมควบคุมมลพิษเป็นผู้ตรวจสอบและดูแลการแก้ไขฟื้นฟูห้วยคลิตี้ให้สะอาดปราศจากสารตะกั่วและสารเคมีต่างๆ ให้มีสภาพตามธรรมชาติดังเดิม

ทั้งนี้ โรงแต่งแร่ของบริษัท ตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัด ต้นกำเนิดของสารตะกั่วอันเป็นจุดเริ่มต้นของคดี ตั้งอยู่บริเวณต้นลำห้วยคลิตี้ เปิดทำการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2510 โรงงานแห่งนี้มีไว้เพื่อลอยแร่ตะกั่วที่ถูกขนส่งทางรถมาจากเหมืองบ่อหินงาม ปัจจุบันโรงแต่งแร่ปิดทำการตั้งแต่พ.ศ.2542 และเหมืองแร่ปิดถาวรในปีพ.ศ. 2544

ปัญหาสารตะกั่วปนเปื้อนน้ำในลำห้วยคลิตี้ เกิดจากการลักลอบปล่อยน้ำทิ้งจากบ่อกักเก็บตะกอนหางแร่ของโรงงานลงสู่ลำห้วย ก่อให้สารตะกั่วสะสมทำให้น้ำเปลี่ยนสี และมีกลิ่นเหม็นเป็นระยะทางถึง 20 กิโลเมตร จากโรงแต่งแร่ 

คดีที่เกี่ยวข้องอื่นๆ :

1. คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 หมายเลขแดงที่ 2604/2554 

ระหว่าง
โจทก์ นายยะเสอะ  นาสวนสุวรรณ ที่ 1 กับพวกรวม 151 คน   
จำเลย บริษัท ตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ 1 กับพวกรวม 7 คน            

พิพากษาให้จำเลยทั้งเจ็ดชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์รวมเป็นจำนวน  36,050,000 บาท  ขณะนี้คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา

2. คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด หมายเลขแดงที่ อ. 734/2555

ระหว่าง  
ผู้ฟ้องคดี นายยะเสอะ  นาสวนสุวรรณ ที่ 1 กับพวกรวม 22 คน                                     
ผู้ถูกฟ้องคดี กรมควบคุมมลพิษ

พิพากษาว่ากรมควบคุมมลพิษปฏิบัติหน้าที่ในการฟื้นฟูหรือระงับการปนเปื้อนของสารตะกั่วในลำห้วยคลิตี้ล่าช้าเกินควร ให้กรมควบคุมมลพิษกำหนดแผนงาน วิธีการ และดำเนินการฟื้นฟู ตรวจและวิเคราะห์ตัวอย่างน้ำ ดิน พืชผัก และสัตว์น้ำในลำห้วยคลิตี้ ให้ครอบคลุมทุกฤดูกาลอย่างน้อยฤดูกาลละ 1 ครั้ง จนกว่าจะพบว่าสารตะกั่วในตัวอย่างนั้นไม่เกินเกณฑ์มาตรฐาน เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 1 ปี และให้ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งยี่สิบสองคนคนละ 177,199.45 บาท (รวมเป็นจำนวน 3,898,390.1 บาท) ให้ดำเนินการภายใน 90 วันนับแต่วันที่คดีถึงที่สุด  

ข้อมูลเพิ่มเติม: 
คำพิพากษาและสรุปคดี http://enlawfoundation.org/newweb/?page_id=860
ความเป็นมาและความเคลื่อนไหว http://enlawfoundation.org/newweb/?cat=106
Timeline ความเป็นมาและการฟ้องคดี http://www.thia.in.th/welcome/article_read/107

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ