นัดไกล่เกลี่ยกรณีชาวบ้านในพื้นที่โครงการเหมืองแร่โปแตช อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร ถูกบริษัทเหมืองแร่ฟ้องร้องดำเนินคดี ไม่สามารถตกลงกันได้ เดินหน้าสู่กระบวนการสืบพยาน ชาวบ้านยันไม่ยอมรับเงื่อนไขเลิกต่อสู้เพื่อแลกกับคดีความ
10 เม.ย.62 เวลา 09.00 น. ชาวบ้านกลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาส ซึ่งคัดค้านการสำรวจแร่โปแตชในพื้นที่ อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร ประมาณ 100 คน เดินทางมาที่ศาลจังหวัดสว่างแดนดิน อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร ตามหมายนัดของศาล คดีดำเลขที่1133/2561
ตามคดีที่ บริษัท ไซน่า หมิงต๋า โปแตช คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ได้มอบหมายให้ทนายความ ฟ้องคดีแพ่งข้อหาละเมิด เรียกค่าเสียหาย นายกิจตกรณ์ น้อยตาแสง จำเลยที่ 1 กับพวกรวม 9 คน เป็นจำนวนเงิน 3,611,609.99 บาท
เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อช่วงวันที่ 9-14 พ.ค. 2561 บริษัท ไซน่า หมิงต๋าฯ ได้ขนถ่ายอุปกรณ์ขุดเจาะสำรวจโปแตชเข้าไปในบริเวณลำห้วยสีดอกกาว อยู่ในท้องที่บ้านน้อยหลักเมือง ต.วานรนิวาส เพื่อทำการสำรวจแร่โปแตช หลุมที่ 4 ในแปลงอาชญาบัตรพิเศษเนื้อที่รวมทั้งหมด 120,000 ไร่ กลุ่มชาวบ้านและประชาชนทั่วไปในอำเภอวานรนิวาสซึ่งไม่เห็นด้วยกับการทำเหมืองแร่ จึงได้ออกมารวมตัวกันคัดค้านการสำรวจแร่ของบริษัทและเรียกร้องให้นายอำเภอวานรนิวาสมีคำสั่งให้ยุติการสำรวจออกไปก่อน
จนเป็นเหตุให้มีการฟ้องร้องเป็นคดีแพ่งเพื่อเรียกค่าเสียหายดังกล่าว รวมทั้งคดีอาญาซึ่งเจ้าพนักงานอัยการได้พิจารณาแล้วมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ศาลได้นัดคู่ความทั้งสองฝ่ายเพื่อมาไกล่เกลี่ยยอมความกันก่อนตั้งแต่เมื่อวันที่ 9 เม.ย. 2562 จนถึงวันนี้ (10 เม.ย.62) เพราะศาลเห็นว่าเป็นเรื่องที่น่าจะไกลเกลี่ยหรือมีข้อยุติในทางที่ดี แต่ก็ไม่สามารถตกลงกันได้
นายสักกพล ไชยแสงราช ทนายความฝ่ายจำเลยทั้ง 9 คน กล่าวกับกลุ่มชาวบ้านว่า เงื่อนไขการเจรจาไกลเกลี่ยใน 2 วันนี้คือ 1.ให้ถอนฟ้องโดยไม่มีเงื่อนไข ซึ่งทางบริษัทไม่รับเงื่อนไขนี้ เพราะไม่แน่ใจว่าเมื่อถอนไปแล้วกลุ่มชาวบ้านและจำเลยทั้ง 9 คนนี้จะมาขัดขวางการขุดเจาะสำรวจของเขาอีกหรือไม่
กรณีที่ 2 คือบริษัทจะยอมถอนฟ้องแบบมีเงื่อนไขโดยกำหนดเงื่อนไขว่าห้ามไม่ให้ทั้ง 9 คนและชาวบ้านคนอื่นๆ เข้าไปขัดขวางการขุดเจาะสำรวจ พร้อมทั้งวางเงินมัดจำเพื่อเป็นหลักประกันจำนวน 1,500,000 บาทไว้ด้วย
นอกจากนี้ก็ให้อยู่ในกรอบของกฎหมายทั้งสองฝ่าย คือให้ฝ่ายบริษัทขุดเจาะสำรวจไปโดยที่ไม่กระทำการขัดต่อกฎหมายสิ่งแวดล้อม ก่อความรำคาญเสียงดัง หรือถ้าหากทำอะไรก่อความเสียหายต่อชาวบ้านก็สามารถแจ้งความร้องทุกข์หรือมีหนังสือต่อหน่วยงานที่เกี่ยงข้องให้ดำเนินการ ซึ่งฝ่ายเราก็ไม่ยอมรับเงื่อนไขนี้เช่นกัน
“เมื่อตกลงกันไม่ได้ฝ่ายเราและบริษัทไม่ยอมรับเงื่อนไข ขั้นตอนต่อไปก็คือการสืบพยาน ซึ่งในประเด็นที่จะสู้คดีนี้ทางผมไม่มีข้อกังวลใจใด ๆ ทั้งสิ้นเพราะว่าคดีละเมิดเราก็รู้อยู่แล้วว่าข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ของชาวบ้าน 9 คนนี้ ไม่เป็นเป็นการกระทำที่ละเมิดต่อบริษัท” ทนายสักกพลกล่าว
ด้านนางมะลิ แสนบุญศิริ แกนนำชาวบ้านกลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาส และเป็นหนึ่งในจำเลยที่ถูกฟ้องเก้าคน กล่าวว่า สิ่งที่เราทำเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เราต่อสู้เพื่อบ้านของเราและสิทธิของเรา ซึ่งไม่ยอมให้เหมืองแร่เกิดขึ้นในชุมชนของเรา วันนี้จึงเป็นการพิสูจน์ความเข้มแข็ง ความสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของกลุ่ม หากว่าเรายอมเขาแล้วเราจะไปบอกกับชาวบ้านที่ต่อสู้ด้วยกันมาว่าอย่างไร
“เราไม่ยอมรับเงื่อนไขที่จะมาบอกว่าให้เราเลิกต่อสู้เพื่อแลกกับคดีความ ซึ่งพวกเราทั้ง 9 คน พร้อมทั้งชาวบ้านในกลุ่ม ก็เตรียมพร้อมที่จะสู้คดีอยู่แล้ว และจะต่อสู้ให้ถึงที่สุด เพราะเราไม่ได้ทำผิดอะไร เราปกป้องบ้านของเราจากการรุกรานของนายทุนเหมือง” นางมะลิกล่าว
รายงานโดย: ศูนย์สื่อชุมชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ศสธ.)