การอบรมนักข่าวพลเมืองเครือข่ายพลเมืองรอบหนองหาร จังหวัดสกลนคร จัดขึ้นระหว่างวันที่ 7-9 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา หลังการอบรม แม้ผู้เข้าร่วมต้องแยก
ย้ายไปเรียน ไปทำงาน แต่พวกเขายังคงติดต่อ พูดคุย และเตรียมลงพื้นที่ถ่ายภาพหนองหาร เขียนบทเพื่อที่จะสื่อสารเรื่องราวของหนองหารสู่สังคม สัญญาใจที่พวกเขาให้ไว้คือ ภายในเดือนมีนาคมนี้ ต้องมีงานนักข่าวพลเมืองจากหนองหาร สกลนคร ออกอากาศ
น้องอ๊าท นายสิทธิชัย แสงวงศ์
เรียนชั้นม.3 โรงเรียนท่าศาลาราษฎร์วิทยาเป็นลูกหลานคนบ้านจอมแจ้ง ต.บ้านแป้น อ.โพนนาแก้ว จ.สกลนคร ชุมชนริมฝั่งหนองหาร อยู่ฝั่งตรงข้ามกับอำเภอเมือง
น้องอ๊าทเล่าว่า มาอบรมนักข่าวพลเมือง เพราะได้รับการประสานจากพี่ๆนักศึกษา และอาจารย์ราชภัฏสกลนคร ซึ่งตนอยากสื่อสารประเด็นสิ่งแวดล้อมหนองหารเปลี่ยนแปลง เสื่อมโทรมไปมาก และชาวบ้านก็ไม่มีกรรมสิทธิในที่ดินของตน
เมื่อปีที่แล้ว พี่ๆและอาจารย์ สาขาพัฒนาชุมชนได้เข้าไปจัดกิจกรรมที่โรงเรียน โดยเป็นศูนย์สามวัย มีกิจกรรมให้ผู้เฒ่าผู้แก่มาเล่าเรื่องหนองหารในอดีต ที่อุดมสมบูรณ์ สะอาด ลงอาบน้ำได้ และให้คนแต่ละวัยเล่าถึงภาพหนองหารในอดีตและปัจจุบัน เพื่อร่วมสะท้อนปัญหาของหนองหารในด้านต่างๆ และร่วมกันหาแนวทางแก้ไขร่วมกัน
จากการได้ฟังผู้เฒ่าผู้แก่ทำให้อ๊าทสนใจประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมหนองหารที่เปลี่ยนแปลงไปมาก โดยเฉพาะประเด็นเรื่องน้ำเน่า เขาอยากสื่อสารไปถึงคนต้นน้ำ ชุมชนเมือง โรงงาน โรงพยาบาล และชุมชนรอบหนองหารที่ปล่อยน้ำเสีย เพราะส่งผลต่อชุมชนปลายน้ำของเขาที่ต้องอยู่กับน้ำเน่า หาปลาไม่ได้ และยังมีการทำประตูน้ำกั้นไม่ให้น้ำในหนองหารระบาย
“น้ำกะเลยเน่าครับพี่” อ๊าทพูดเสียงดัง
“ครั้งสุดท้ายที่ผมโดดลงเล่นน้ำในหนองหารคือตอนเรียนอยู่ ป.2 ป. 3 ตอนนี้ ลงไม่ได้แล้ว คัน น้ำเน่า สนุน (วัชพืชน้ำ)ก็เยอะ” อ๊าทกล่าว
อ๊าททำนักข่าวพลเมืองอยู่ในกลุ่มเรื่อง หนองหาร ยามนี้ เล่าเรื่องผ่านวิถีคนหาปลา การทำปลาแดก
พ่อแม่ของอ๊าท หาปลา ทำประมงเป็นอาชีพหลัก ทำปลาแดกมาตั้งแต่อดีต แต่ปัจจุบันทำประมงเพียงเพื่อไว้กินเท่านั้น เพราะปลามีน้อย
“ตื่นเช้ามา ครอบครัวผมก็หันหน้าลงหนองหารแล้วครับ ฮ่าๆๆๆ แต่เดี่ยวนี้ปลามันน้อย ประมาณ สองปีที่ผ่านมา พ่อผมเลิกทำประมงเป็นอาชีพหลัก และเปลี่ยนมาค้าหมูครับ”
อ๊าทเล่าให้ฟังอีกว่า ตอนนี้ที่ชุมชนของเขาได้กันพื้นที่หน้าน้ำ จากฝั่ง 300 คูณ 300 เมตรเป็นเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลา ห้ามจับปลา เป็นสิ่งที่ชุมชนเขาเริ่มทำเพื่อช่วยกันดูแลหนองหาร
แต่อ๊าทก็ต้องเจอกับสิ่งที่เขาเป็นปัญหาให้เขาต้องหาทางออกคือ สิทธิที่ทำกินของพ่อแม่ ในความต้องการดูแลทรัพยากรหนองหาร แต่อ๊าทยังไม่แน่ใจว่า วันใด
ที่ดิน 15 ไร่ ของพ่อแม่จะถูกยึด
อ๊าทบอกว่ากรรมสิทธิที่กินสำคัญต่อเค้ามาก เพราะที่ดินของพ่อของแม่ก็เหมือนของเขา ในอนาคต ถึงเขาไม่มีงานทำ แต่เขาก็ยังมีที่ดิน มีหนองหารให้ทำมาหากิน
“ผมอยากทำเกษตรแนวใหม่ แบบพอเพียง ไม่ใช้สารเคมี เพราะถ้าใช้สารเคมี มันก็จะลงสู่หนองหาร ทำให้หนองหารเน่าเสีย เพราะการเกษตร ไม่ใช่แค่น้ำเสียจากโรงงาน จากโรงบาล แต่ชุมชนรอบหนองหารก็มีส่วนด้วย”
น้องเปิ้ล จันทนา ศรีวรสาร
เรียนปี 3 สาขาพัฒนาชุมชน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎสกลนคร เป็นหนึ่งในนักศึกษาที่ได้ลงพื้นที่เรียนรู้ปัญหาหนองหาร ได้รู้จักน้องอ๊าท พี่นาวา พี่มีดี และได้มาอบรมนักข่าวพลเมืองด้วยกัน น้องเปิ้ลบอกว่าแม้ตนไม่ใช่คนหนองหารแต่ก็อยากสื่อสารเรื่องราวของหนองหาร เพราะตนก็เป็นคนลุ่มน้ำสงคราม แม้จะไม่มีปัญหาเท่าหนองหาร แต่ตนเรียนด้านพัฒนาชุมชน เรียนจบไป ทำงานเป็นพัฒนากร เป็นนักพัฒนา การเรียนรู้ปัญหาของชุมชน ก็เพื่อให้เกิดความเขาใจละได้ช่วยชุมชนหาทางออกของปัญหาร่วมกัน แลหลังเรียนจบตนสามารถทำงานได้ทุกพื้นที่ แต่ที่อยากทำที่สุดคือกลับไปพัฒนาชุมชนของตนเอง
“เราเป็นนักพัฒนา กล้าที่จะเปลี่ยนแปลง และมีส่วนร่วมการแก้ไขปัญหากับชุมชน”
การทำกระบวนการศูนย์สามวัยที่อ๊าทพูดถึง ตนช่วยเก็บข้อมูล เขียนฟลิปชาร์ต ซึ่งเทอมนั้นเรียนด้านนโยบายสาธารณะ และข้อเสนอนโยบายจากภาคประชาชน กระบวนการที่ให้คนในชุมชนหนองหารมาให้ภาพหนองหาร มาสะท้อนปัญหา และหาทางออกร่วมกัน ผลคือ ได้ร่างนโยบายสาธารณะของชุมชนรอบหนองหาร
น้องเปิ้ลเล่าว่า สาเหตุที่ทำให้ราชภัฎสกลมีบทบาทในการขับเคลื่อนผลักดันแก้ไขปัญหาหนองหาร มาจาก การทำงานของ อ.ทศพล สมพงษ์ ที่ปัจจุบันได้ย้ายไปทำที่สถาบันพระปกเกล้า ปัญหาหลักๆคือเรียกร้องสิทธิที่ทำกิน และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดจาการสร้างประตูน้ำกั้นน้ำหนองหารที่จะไหลลงโขงผ่านลำน้ำก่ำ ซึ่งราชภัฎมีบทบาทในการรวบรวมข้อมูลวิชาการ จัดเวทีแลกเปลี่ยนเพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องร่วมหาทางออกร่วมกัน
เปิ้ลมาอบรมนักข่าวพลเมือง นำเสนอเรื่องหมูป่าที่เลี้ยงบนเกาะดอน อยู่กลุ่มกับพี่นาวา ซึ่งสะท้อนผลกระทบของการสร้างประตูน้ำ ทำให้น้ำหนองหารท่วมขัง สูงขึ้น เกาะดอนถูกน้ำกัดเซาะ เกาะเล็กจมหาย พื้นที่ธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ที่เป็นที่หากินของหมูป่าลดลง
สิ่งที่เปิ้ลได้เรียนรู้จากคนในชุมชนคือ เป้าหมายที่เขาสื่อสาร ไม่ใช่แค่เรียกร้องให้ทุกฝ่ายแก้ไขปัญหาให้ชาวบ้าน แต่อยากชาวบ้านมีสิทธิในการบริหารจัดการทรัพยากรของเขา ได้แสดงความคิดเห็น และถูกรับฟัง นำไปปรับใช้กับการทำงานของเจ้าหน้าที่
ตัวอย่าง ช่วงที่ฝนตกหนัก พี่มีดี อยู่บ้านบึงประชาราษฎ์ร์ ติดบ้านจอมแจ้งของน้องอ๊าท และบ้านท่าศาลาของพี่นาวา ใกล้ประตูน้ำก่ำ (สุรัสวดี) พบว่าฝนตกหนัก น้ำท่วมที่อยู่อาศัยของชาวบ้าน รีบโทรแจ้งเจ้าหน้าที่ประมง แต่ถูกปฏิเสธเพราะเจ้าหน้าที่อ้างว่าไม่ได้รับรายงานจากเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ พี่มีดีก็ชี้แจงว่า ผมนี้แหลอยู่ในพื้นที่ ทำไมผมรายงานไม่ได้
เปิ้ลเล่าว่า น้องอ๊าทบอกตนว่า สาเหตุที่ชาวบ้านอยากมีสิทธิที่ทำกิน ไม่ใช่แค่เพื่อผลประโยชน์ แต่คนเฒ่าคนแก่ เขาบุกเบิก ถางป่า ถางพงมา เขาก็อยากให้ที่ดินเป็นของลูกหลาน ไม่ใช่ให้รัฐมายึด การที่ไม่มีสิทธิ มันทำให้เขาขาดกำลังใจในการทำมาหากิน ลดทอนความรักความหวงแหนที่มีต่อหนองหาร ซึ่งมันเป็นสิ่งที่จะทำให้คนหนองหารลุกมาช่วยกันดูแลหนองหารด้วยกัน
นาวา วงศ์กาฬสินธุ์
อายุ 26 ปี เป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน บ้านท่าศาลา ต.บ้านแป้น อ.โพนนาแก้ว จ.สกลนคร เป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านมา 2 ปี แล้ว ก่อนหน้านี้ไปทำงานที่กรุงเทพเกือบ 5 ปี แล้วรู้ว่าอยู่กรุงเทพฯไม่เห็นได้อะไร คิดถึงสมัยเด็กที่เคยลงว่ายน้ำหาปลาในหนองหารกับพ่อ เลยกลับมาอยู่บ้าน ทำงานพัฒนาชุมชน เป็นผู้นำรุ่นสอง ที่ขับเคลื่อนการแก้ปัญหาหนองหาร โดยทำกิจกรรมรณรงค์ ร่วมกับราชภัฎ ซึ่งมีงบวิจัยในการการฟื้นฟูทรัพยากร และการพัฒนาชุมชน ตนจะทำกิจกรรมพายาวชน เด็กๆในชุมชน นักศึกษา มาเข้าค่าย ส่วนใหญ่จัดที่บ้านจอมแจ้ง หมู่บ้านของน้องอ๊าท
“สิ่งสำคัญคือ เราต้องสร้างความเข้าใจกับคนในชุมชน สื่อสารกับเขาผ่านกิจกรรมรณรงค์เน้นเรื่องประเพณี วัฒนธรรม การเข้าค่าย ผมเป็นคนให้ความรู้แก่เด็กๆ เพราะมีความรู้เกี่ยวกับเกาะดอนในหนองหาร และมีผู้เฒ่าผู้แก่มาให้ความรู้ด้านอื่นๆ เพื่อให้เยาวชนได้รับความรู้และเกิดสำนึกรักหนองหาร”
นาวาทำนักข่าวพลเมือง เรื่องหมูป่าที่เลี้ยงบนเกาะดอน เพื่อสะท้อนความเปลี่ยนแปลงและผลกระทบที่เกิดขึ้นกับหนองหาร หลังมีประตูกั้นน้ำ เป้าหลักในการสื่อสารคือ อยากให้ชาวบ้านมีปากเสียง มีส่วนร่วมในการจัดการ ดูแลหนองหารอย่างเป็นระบบร่วมกับส่วนอื่นๆ โดยเฉพาะกรมประมง
นาวาบอกว่า ไม่อยากเห็นภาพหนองหารในอนาคตเลยว่าจะแย่ขนาดไหน เพราะที่เห็นในปัจจุบันถือว่าสิ่งแวดล้อมถูกทำลายมาก แต่คนมองแค่ภายนอก อาจจะบอกว่ายังสวยอยู่ แต่ความจริงหนองหารเป็นแหล่งน้ำรับสารพิษ น้ำเสียจากเมือง โรงงานอุตสาหกรรม โรงพยาบาล และน้ำพุงที่ไหลผ่านโรงงานอุตสาหกรรมก็มาลงหนองหาร ชาวบ้านรอบหนองหารก็ทำเกษตรใช้สารพิษปริมาณมาก เพราะปลูก มะเขือเทศ พริก ข้าวโพด สารพิษก็ไหลลงหนองหาร แต่น้ำหนองหารถูกขังให้นิ่ง ไม่ได้ไหลลงน้ำโขงตามธรรมชาติ
“พวกเราเป็นคนเล็กๆ ที่ทำงานขับเคลื่อนการแก้ปัญหาในชุมชน จึงเร่งสื่อสารกับชุมชนให้รับรู้ปัญหา และผมอยากสื่อสารสังคมว่า หนองหารจะเป็นอย่างไร ถ้าคนมีแต่ใช้ประโยชน์ ไม่มีใครดูแล”
**************