เรียนรู้ให้สนุก ด้วยการ์ตูน “ประวัติศาสตร์ไทยในมิติคณิตศาสตร์”

เรียนรู้ให้สนุก ด้วยการ์ตูน “ประวัติศาสตร์ไทยในมิติคณิตศาสตร์”

คณะวิทย์ฯ มช.ส่งเสริมการเรียนรู้ให้สนุก
ด้วยการ์ตูน "ประวัติศาสตร์ไทยในมิติคณิตศาสตร์"


อาจารย์ ดร.อติชาต เกตตะพันธุ์ อาจารย์ประจำภาควิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้จัดทำหนังสือการ์ตูน "ประวัติศาสตร์ไทยในมิติคณิตศาสตร์" ได้กล่าวถึงการจัดทำหนังสือฯ ว่า หนังสือการ์ตูน "ประวัติศาสตร์ไทยในมิติคณิตศาสตร์" เป็นหนังสือที่จัดทำภายใต้โครงการวิจัยและพัฒนาเครือข่ายหนุนเสริมการเรียนรู้รายวิชาประวัติศาสตร์ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6 สถานศึกษาในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีรองศาสตราจารย์สมโชติ อ๋องสกุล คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

   สำหรับแรงจูงใจในการจัดทำการ์ตูนเล่มนี้ อาจารย์ ดร.อติชาต กล่าวว่า หนังสือเล่มนี้ได้ถูกเผยแพร่อย่างเป็นทางการครั้งแรกในเดือนมกราคม 2555 โดยแรงจูงใจสำคัญในการจัดทำมาจากการที่ครูสอนประวัติศาสตร์ระดับประถมศึกษาพบปัญหานักเรียนไม่ค่อยเข้าใจและไม่ค่อยสนใจเนื้อหาประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวกับคณิตศาสตร์ คณะผู้จัดทำจึงได้จัดทำการ์ตูนเล่มนี้ขึ้นเพื่อให้สามารถเรียนรู้ได้ทั้งสาระและความเพลิดเพลินไปพร้อมกัน โดยสามารถใช้ประกอบการเรียนการสอนในรายวิชาประวัติศาสตร์ระดับประถมศึกษาในโรงเรียน นอกจากนี้ ยังเหมาะกับการสอนเสริมให้กับนักเรียนในระดับมัธยมศึกษาและระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งในขณะที่จัดทำหนังสือพบว่ามีบุคคลทั่วไปสนใจอยากศึกษาเรื่องราวที่นำเสนอเป็นจำนวนมาก  โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องราวเกี่ยวกับปฏิทินจันทรคติไทย ปฏิทินล้านนา และมาตรวัดในล้านนา ซึ่งไม่ค่อยมีการนำเสนอในรูปแบบของการ์ตูนที่อ่านเข้าใจง่าย จึงคิดว่าหนังสือการ์ตูนเล่มนี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านในวงกว้าง
    เนื้อหาที่ได้เรียนรู้จากหนังสือเล่มนี้ อาทิ ในปีจันทรคติไทย มีการนับวันอย่างไร เดือนหนึ่งมีกี่วัน มีข้างขึ้นกี่วัน มีข้างแรมกี่วัน  เราจะคำนวณจำนวนวันในแต่ละปีในปีของปฏิทินจันทรคติไทยได้อย่างไร โดยไม่ต้องท่องจำ  ทำไมในปฏิทินจันทรคติไทยถึงต้องมีการเติมเดือน 8 สองหน  เราจะมีวิธีการเทียบศักราชที่ต่างกัน เช่น พุทธศักราช คริสต์ศักราช จุลศักราช มหาศักราช และรัตนโกสินทร์ศกอย่างไร  มารู้จักกับการเทียบหน่วยมาตราวัดในล้านนา เช่น 8 เส้นผม เป็น 1 ไข่เหา  และ 8 ไข่เหา เป็น 1 ตัวเหา เป็นต้น

    หนังสือการ์ตูนเล่มนี้สามารถใช้ประกอบในการเรียนการสอนทั้งในและนอกชั้นเรียนสำหรับครูในรายวิชาประวัติศาสตร์และคณิตศาสตร์ และยังเหมาะกับผู้ที่สนใจทุกท่าน โดยอนุญาตให้ครูผู้สอนดาวน์โหลดไฟล์ไปใช้ได้ หากต้องการนำไปจัดพิมพ์เผยแพร่จำนวนมาก ทั้งการพิมพ์แจกฟรี รวมถึงการพิมพ์เพื่อจัดจำหน่าย กรุณาติดต่อผู้เขียนเพื่อขออนุญาตก่อนจะนำไปใช้ โดยติดต่อได้ที่ อาจารย์ ดร.อติชาต เกตตะพันธุ์ โทร. 053-943327 ต่อ 127 อีเมล์kettapun@chiangmai.ac.th หรือดูรายละเอียดเพิ่มเติม ดาวน์โหลดหนังสือการ์ตูน "ประวัติศาสตร์ไทยในมิติคณิตศาสตร์" ได้ที่ www.atichart.com


 
นานาทัศนะจากผู้อ่านหนังสือการ์ตูน"ประวัติศาสตร์ไทยในมิติคณิตศาสตร์"
(นักศึกษารายวิชาคณิตศาสตร์ในชีวิตประจำวัน (206100) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)
 
    "มีการสร้างเนื้อหาและตัวละครให้น่าสนใจ ไม่น่าเบื่อ และยังมีความรู้ทางคณิตศาสตร์ เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจได้ง่ายขึ้น มีการใช้ภาษาพูดง่ายๆพร้อมอธิบายสูตรและความรู้เกี่ยวกับศัพท์ที่ใช้ในหนังสือทำให้เข้าใจเนื้อเรื่องได้ง่าย"
(รัตติพร ใจบรรทัด คณะมนุษยศาสตร์)
 
    “เป็นการ์ตูนที่ทำให้เข้าใจเรื่องปฏิทินไทย และปฏิทินสากลมากขึ้น เนื้อหาที่เหมือนจะเข้าใจยาก พอนำมาทำเป็นการ์ตูนก็อ่านเข้าใจง่ายขึ้น จำได้มากขึ้น"
(สิตานันท์ สุยะลังกา คณะการสื่อสารมวลชน)
 
    "ประทับใจเรื่องการนับปีในทางสุริยคติ จันทรคติ และการนับปฏิทินล้านนา ซึ่งส่วนใหญ่พ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่จะมีความรู้เรื่องปฏิทินล้านนา แต่เราไม่รู้เราจะสงสัยว่า พ่อแม่นับกันอย่างไร เมื่อได้อ่านการ์ตูนเล่มนี้จึงสามารถนับได้ง่าย"
(ผกามาศ จันทร์ต๊ะ คณะวิจิตรศิลป์)

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ