26 มีนาคม 2555
รายงานผลการสอบสวนข้อเท็จจริงกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ที่มีพ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันตชัย อธิบดีกรมราชฑัณ เป็นประธาน กรณี การทำสัญญาเปิดให้บริการโครงการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ๓ จี ระบบ HSPA
ของบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน)
คณะกรรมการฯ ได้ร่วมกันพิจารณาข้อเท็จจริงโดยการตรวจสอบพยานเอกสารและสอบสวนพยานบุคคล ที่เกี่ยวข้องกับ กสท ในการดำเนินงานตามโครงการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ๓G ระบบ HSPA คณะกรรมการฯ ได้มีความเห็นร่วมกันว่า การพิจารณาในรายละเอียดของโครงการดังกล่าวจะต้องยึดหลักการดำเนินการเพื่อ ให้ถูกต้องตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ และคำนึงถึงผลประโยชน์ของรัฐ กสท และประชาชนผู้ใช้บริการ จึงได้กำหนดขอบเขตการพิจารณาโดยครอบคลุมประเด็นที่สำคัญ ได้แก่ ขั้นตอนการดำเนินการ การพิจารณาตัดสินใจของผู้ที่เกี่ยวข้อง เนื้อหาและเงื่อนไข ของโครงการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ๓G ระบบ HSPA รวมทั้ง กฎหมาย กฎ ระเบียบ ที่จะต้องปฏิบัติซึ่งมีความเห็นสรุปได้ดังนี้
๑. เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกระบวนการดำเนินงาน ในการทำสัญญาเปิดให้บริการโครงการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ๓ จี ระบบ HSPA ระหว่าง กสท กับ กลุ่มบริษัท ทรูฯ อาจกล่าวได้ว่ามีการเตรียมการวางแผนและดำเนินการโดยผู้เกี่ยวข้องอย่างมีนัยสำคัญ เริ่มตั้งแต่หลังจากที่ได้มีการเปลี่ยนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ร้อยตรีหญิงระนองรักษ์ สุวรรณฉวี) เป็น นายจุติ ไกรฤกษ์ ได้มอบนโยบาย เรื่อง การเข้าซื้อกิจการ CDMA ในส่วนกลาง จากบริษัท ฮัทชิสันฯ โดยให้ กสท ทำการเจรจาต่อรองราคาเข้าซื้อกิจการฯ ภายในวงเงินไม่เกิน ๔,๐๐๐ ล้านบาท และหากเกินกว่านี้ไม่ให้ซื้อ (จากเดิมที่กำหนดวงเงิน ๗,๕๐๐ ล้านบาท และคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติไปแล้ว เมื่อวันที่ ๗ เมษายน ๒๕๕๓) ซึ่งส่งผลทำให้การเจรจาเข้าซื้อกิจการฯ กับบริษัท ฮัทชิสันฯ ไม่ประสบผลสำเร็จ โดย กสท ได้รับแจ้งปฏิเสธข้อเสนอการเข้าซื้อกิจการจากบริษัท ฮัทชิสันฯ เมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ และหลังจากนั้น ในวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ บริษัท ทรูฯ ได้มีหนังสือแจ้ง กสท ว่าอยู่ระหว่างการเจรจากับกลุ่มบริษัท ฮัทชิสันฯ และประสงค์จะจัดทำสัญญาฉบับใหม่เพื่อดำเนินธุรกิจในรูปแบบใหม่
จากข้อเท็จจริงดังกล่าว จึงมีความเป็นไปได้ว่า การกำหนดนโยบายการต่อรองราคาดังกล่าว มีวัตถุประสงค์หรือมีความมุ่งหมายที่จะทำให้ กสท ไม่สามารถเข้าซื้อกิจการ CDMA ในส่วนกลาง จากบริษัท ฮัทชิสันฯ ได้ เพื่อเปิดโอกาสและรวบรัดให้กลุ่มบริษัท ทรูฯ เข้าควบรวมกิจการและดำเนินการเพื่อให้บริการในรูปแบบใหม่ตามโครงการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ๓ จี ระบบ HSPA ในขณะที่การดำเนินโครงการใหญ่ๆ ที่มีวงเงินเกิน ๑๐,๐๐๐ ล้านบาท จะต้องใช้เวลาในการพิจารณาอย่างรอบคอบโดยคำนึงถึงความเหมาะสม ความคุ้มค่าและผลตอบแทนที่จะได้รับ ซึ่งชี้ให้เห็นว่าผู้ที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ได้มีการร่วมมือกัน ทั้งในเรื่องข้อมูล การวางแผน แนวการดำเนินการ มาก่อนหน้านี้แล้ว และเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มบริษัท ทรูฯ
๒. ในการนำเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณา เมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๕๓ดังกล่าวข้างต้น มีข้อสังเกตที่ควรพิจารณาดังนี้
๑) ประเด็นแนวทางการดำเนินธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ กสท ได้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบนั้น เป็นการนำเสนอหลักการโดยสรุปเกี่ยวกับรูปแบบและโครงสร้างทางธุรกิจในลักษณะของการให้บริการโครงข่าย (Network Provider) และด้านการตลาดและการขาย (Service Provider หรือ Reseller) โดยไม่ได้แจ้งให้ทราบว่า กสท จะเป็นพันธมิตรกับกลุ่มบริษัท ทรูฯ ซึ่งในเวลาต่อมาวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๕๔ ได้มีการลงนามในสัญญากับกลุ่มบริษัท ทรูฯ รวม ๖ ฉบับ และเป็นวันที่ บริษัท ทรูฯ ได้เข้าซื้อกิจการจากกลุ่มบริษัท ฮัทชิสันฯ การดำเนินการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ที่ต้องการปกปิดข้อเท็จจริงเพื่อให้การลงนามในสัญญากับกลุ่มบริษัท ทรูฯ จึงมีเหตุอันเป็นที่สงสัย ได้ว่าบรรลุเป้าหมายและเป็นไปตามระยะเวลาที่กำหนด
๒) ประเด็นการยกเลิกสัญญาที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจ CDMA ในส่วนกลาง สืบเนื่องจากที่ผ่านมาการทำสัญญาของ กสท เพื่อให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ CDMA ในส่วนกลาง ซึ่งประกอบด้วย สัญญาทำการตลาดบริการวิทยุคมนาคมระบบเซลลูล่า Digital AMPS ๘๐๐ Band ระหว่าง บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) กับ บริษัท ฮัทชิสัน ซีเอที ไวส์เลส มัลติมีเดีย จำกัด และสัญญาเช่าและว่าจ้างให้ปรับปรุง เปลี่ยนซ่อมแซม บำรุงรักษา และดูแลจัดการเครื่องและอุปกรณ์วิทยุคมนาคมระบบเซลลูล่า Digital AMPS ๘๐๐ Band A ระหว่าง บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) กับ บริษัท บีเอฟเคที (ประเทศไทย) จำกัด โดย กสท ได้ทำการยกเลิกสัญญาทั้ง ๒ ฉบับ ดังกล่าวโดยมิได้ดำเนินการให้ถูกต้องตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้วินิจฉัย เรื่องเสร็จที่ ๖๖๓/๒๕๕๑
คณะกรรมการเห็นว่า ก่อนที่ กสท จะมีการยกเลิกสัญญาทั้ง ๒ ฉบับดังกล่าว กสท จะต้องการดำเนินการให้เป็นไปตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๕๓ และให้ได้ข้อสรุป ในเรื่องภาระหนี้สิน คดีข้อพิพาท การถือหุ้นระหว่าง กสท กับบริษัท ฮัทชิสันฯ รวมทั้งภาระข้อผูกพันตามสัญญา และให้เกิดความรอบคอบ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของรัฐและประชาชนผู้ใช้บริการ แต่ กสท มิได้ดำเนินการในเรื่องดังกล่าวให้ได้ข้อสรุปก่อนยกเลิกสัญญา จึงอาจทำให้เข้าใจได้ว่ามีวัตถุประสงค์เพื่อปกปิดข้อมูลในเรื่องดังกล่าว โดย กสท จากการทำสัญญาทั้ง ๒ ฉบับเดิม และเพื่อต้องการรวบรัดเวลาและขั้นตอนการดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
๓. ในกรณีที่ กสท มีการเสนอ เรื่อง ขอยกเลิกโครงการเข้าซื้อกิจการ CDMA ในส่วนกลาง โดยการเข้าซื้อทรัพย์สิน และรับทราบแนวทางการดำเนินธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่รูปแบบใหม่ ว่า กระทรวงฯ ได้รับหนังสือจาก กสท เมื่อวันศุกร์ที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๕๓ เพื่อพิจารณานำเสนอคณะรัฐมนตรี จากการสอบสวนปากคำผู้เกี่ยวข้องแล้ว ได้ให้ถ้อยคำแตกต่างกันในสาระสำคัญ ดังนี้
๑) กระบวนการนำเสนอเรื่องของ กสท มายัง ทก. เพื่อพิจารณานำเสนอคณะรัฐมนตรีลงนามถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ไม่ตรงตามสายงานที่รับผิดชอบ กล่าวคือ หนังสือดังกล่าวจะต้องได้รับการพิจารณาจากสำนักประสานงานรัฐวิสาหกิจ แต่กลับไปนำเสนอเรื่องให้สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ ซึ่งไม่มีหน้าที่รับผิดชอบงานในส่วนนี้ แสดงเจตนามีการวางแผนไว้ล่วงหน้าเพื่อกำหนดตัวผู้รับผิดชอบที่จะดำเนินการในเรื่องนี้ และเป็นการนำเสนอเรื่อง โดยไม่ผ่านผู้บังคับบัญชาตามสายงานที่มีหน้าที่ในสายงาน สำนักประสานงานรัฐวิสาหกิจ และ ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ตามลำดับชั้น กล่าวคือ เจ้าหน้าที่ในสายงานสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ ซึ่งไม่มีหน้าที่รับผิดชอบในเรื่องดังกล่าวได้จัดทำร่างหนังสือ ส่งให้ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ และนำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารโดยตรงเพื่อลงนามไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี แสดงถึงเจตนาว่ามีการวางแผนไว้ล่วงหน้าเพื่อกำหนดตัวผู้รับผิดชอบที่จะดำเนินการในเรื่องนี้
๒) มีการสั่งการให้เจ้าหน้าที่ธุรการทำหลักฐานเท็จ โดยออกเลขหนังสือไว้ล่วงหน้า ในวันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๓ ก่อนที่จะมีการรับเรื่องจาก กสท และไม่ได้มีการจัดทำหนังสือดังกล่าวขึ้นจริง
๓) มีการออกเลขหนังสือที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ลงนามเพื่อเสนอสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีไว้ล่วงหน้าก่อนที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารจะลงนามจริง
๔) มีการสั่งการให้เจ้าหน้าที่ของ กสท ซึ่งไม่มีหน้าที่ทางธุรการ มาทำหน้าที่ทางธุรการโดยเป็นผู้รับ-ส่งหนังสือในส่วนราชการของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และประสานงานกับสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี
๕) เลขาธิการคณะรัฐมนตรีมีหนังสือขอความเห็นไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงการคลัง และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยที่อ้างว่าได้รับแจ้งจาก กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร แล้ว โดยที่ข้อเท็จจริง กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ยังไม่ได้มีหนังสือถึงสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีแต่อย่างใด
๖) กระบวนการนำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี ตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรี พ.ศ. ๒๕๔๘ และระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรี พ.ศ.๒๕๔๘ ข้อ ๗ ที่ระบุว่า ให้หน่วยงานของรัฐที่เสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรี ส่งเรื่องไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี พร้อมเอกสาร ตามวิธีการ จำนวนและระยะเวลาที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีกำหนด โดยจะกำหนดให้ส่งทางอิเล็กทรอนิกส์หรือวิธีการทางเทคโนโลยีอื่นก็ได้ และหากมิได้มีการระบุว่าเป็นเรื่องเร่งด่วน ถือว่าเป็นการเสนอเรื่องทั่วไป ที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้กำหนดแนวทางการปฏิบัติให้หน่วยงานส่งเรื่องให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีก่อนล่วงหน้าไม่น้อยกว่า ๒ สัปดาห์ซึ่งจากข้อเท็จจริงที่ปรากฎ การนำเสนอเรื่องดังกล่าวนี้ไม่เป็นการเร่งด่วนตามระเบียบและหลักเกณฑ์วิธีการเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรี แต่ได้มีการดำเนินการอย่างเร่งรีบและสร้างหลักฐานเพื่อให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา
สรุป จากพฤติการณ์ของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลของ กสท กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ดังกล่าวข้างต้น แสดงให้เห็นว่าในการดำเนินการเสนอเรื่องของ กสท ถึง กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เพื่อให้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารลงนามเสนอคณะรัฐมนตรี เป็นการกระทำที่มีการวางแผนร่วมกันโดยกำหนดบุคคลที่จะดำเนินการและวิธีการสร้างความชอบธรรมในการเสนอเรื่อง โดยทำหลักฐานเท็จและดำเนินการไม่เป็นไปตามข้อเท็จจริงตลอดจนการดำเนินการมีลักษณะเร่งรีบ ซึ่งไม่เข้าข่ายเป็นกรณีเรื่องเร่งด่วนตามระเบียบ และหลักเกณฑ์วิธีการเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรี โดยประสงค์ให้คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในเรื่องดังกล่าวนี้ อันเป็นการกระทำที่เข้าข่ายผิดระเบียบและกฎหมายของทางราชการ
๔. จากผลการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๕๓ ได้มีมติอนุมัติให้ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๗ เมษายน ๒๕๕๓ (เรื่อง โครงการเข้าซื้อกิจการ CDMA ในส่วนกลาง โดยการเข้าซื้อทรัพย์สิน) ตามที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเสนอและให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และ กสท ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ให้เป็นไป ตามข้อกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป โดยให้รับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้
• ความเห็นสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
(๑) พิจารณารูปแบบการดำเนินธุรกิจใหม่ให้ชัดเจนว่าจะเข้าข่ายต้องดำเนินการตามขั้นตอนพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. ๒๕๓๕ หรือไม่ โดย ทก. ควรหารือกับกระทรวงการคลังในประเด็นดังกล่าว เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปด้วยความรอบคอบและถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป
(๒) กรณีรูปแบบการดำเนินธุรกิจที่เสนอ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) จะเป็นผู้ให้บริการขายส่ง โดยบริษัทเอกชนจะเป็นผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบเสมือน (Mobile Virtual Network Operator : MVNO) นั้น ทก.ควรหารือกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ตรวจสอบในประเด็นความสอดคล้องกับข้อกฎหมายตามพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ มาตรา ๔๖ เพื่อประกอบการพิจารณาดำเนินการให้เกิดความรอบคอบด้วย
• ความเห็นสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา แจ้งว่า การดำเนินการยกเลิกสัญญาที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจ CDMA ในส่วนกลาง ได้แก่ การยกเลิกสัญญาทั้ง ๒ ฉบับ จะต้องพิจารณาจากข้อตกลงที่กำหนดไว้ในแต่ละสัญญาว่า คู่สัญญาแต่ละฝ่ายมีสิทธิบอกเลิกสัญญากรณีใดและภายใต้เงื่อนไขใดบ้างเป็นสำคัญ ทั้งนี้ ในการพิจารณายกเลิกสัญญาฯ หน่วยงานเจ้าของโครงการสมควรพิจารณาถึงผลประโยชน์และความเสียหายของรัฐ และรายงานรัฐมนตรีผู้กำกับดูแลเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไปด้วย และต้องพิจารณาสัญญาแต่ละฉบับเป็นรายฉบับว่าสัญญาฉบับใดดำเนินการถูกต้องหรือไม่ถูกต้องตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานฯ พ.ศ. ๒๕๓๕
เมื่อพิจารณาตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๕๓ พบว่า ก่อนที่ กสท จะมีการลงนามในสัญญาฯ กับกลุ่มบริษัท ทรูฯ กสท จำเป็นต้องรับความเห็นของทั้ง ๒ หน่วยงานไปดำเนินการและจะต้องนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติก่อนดำเนินโครงการ กล่าวคือจะต้องมีความชัดเจนในประเด็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานฯ พ.ศ. ๒๕๓๕ และพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ รวมทั้ง ข้อบังคับ กฏระเบียบ หรือประกาศของ กสทช. ที่เกี่ยวข้อง
สำหรับประเด็นการทำสัญญายกเลิกสัญญาทำการตลาดบริการวิทยุคมนาคมระบบเซลลูล่า Digital AMPS ๘๐๐ Band A โดยปรับเปลี่ยนจากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ CDMA ไปเป็นการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ HSPA และการทำสัญญาว่าจ้างให้บริษัท ฮัทชิสันฯ ดูแลผู้ใช้บริการวิทยุคมนาคมระบบเซลลูล่า CDMA เป็นการยกเลิกการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ CDMA ของ กสท นั้น ตามประกาศ กทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีอนุญาตประกิจการโทรคมนาคมแบบที่สามข้อ ๗.๔ กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตสามารถให้บริการโทรคมนาคมได้ตามระยะเวลาที่ กทช. อนุญาตให้ประกอบกิจการโทรคมนาคม
และหากประสงค์จะเลิกการประกอบกิจการดังกล่าวก่อนวันที่ใบอนุญาตสิ้นอายุจะต้องแจ้งให้ กทช. ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าหนึ่งปี โดยจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ กทช. กำหนดก่อนเลิกกิจการ และข้อ ๕ ของเงื่อนไขในการอนุญาตใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สาม กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตที่ประสงค์จะเลิกกิจการระหว่างอายุใบอนุญาต ต้องแจ้งให้ กทช. ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า ๑ ปี และต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ กทช. กำหนดก่อนเลิกกิจการ เพื่อเป็นการปกป้องผลประโยชน์สาธารณะในอันที่จะได้รับบริการโทรคมนาคมอย่างต่อเนื่อง และข้อ ๕ วรรคสี่ ของเงื่อนไขเดียวกันกำหนดให้การเปลี่ยนแปลงแผนธุรกิจอันมีผลให้การดำเนินการประกอบกิจการโทรคมนาคมของผู้รับใบอนุญาต เปลี่ยนแปลงไปจากแผนการลงทุน และแผนการให้บริการที่ กทช. ให้ความเห็นชอบอย่างมีนัยสำคัญ จะต้องเสนอ กทช. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนเริ่มดำเนินการ ซึ่งถือได้ว่าเป็นการดำเนินการที่ไม่เป็นไปตามกฎ ระเบียบ ที่ กทช. กำหนด
๕. เมื่อพิจารณาในรายละเอียดการดำเนินการโทรศัพท์เคลื่อนที่รูปแบบใหม่ระบบ HSPA ที่ กสท นำเสนอมายัง กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เพื่อพิจารณานำเสนอคณะรัฐมนตรี (ตามหนังสือบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ที่ กสท ผก.(คผ.)/๑๗๗ ลงวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๕๔) กสท ได้นำเสนอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร พิจารณา ดังนี้
๑) เห็นชอบให้ยกเลิกโครงการขยายโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ CDMA ในส่วนภูมิภาค โดยขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี เพื่อยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๕๓
๒) เห็นชอบให้ดำเนินโครงการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รูปแบบใหม่ของ กสท วงเงินลงทุน ๑๒,๙๑๑ ล้านบาท จากเงินรายได้ของ กสท โดยขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี และโปรดนำเสนอเรื่องต่อ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อพิจารณาให้ความเห็น
๓) เห็นชอบวงเงินงบประมาณตามสัญญาเช่าการเงิน ๒๑๖,๕๕๗ ล้านบาท เพื่อสร้างรายได้จากการให้เช่าเสาและอุปกรณ์ตลอดอายุโครงการ ๒๘๐,๑๒๕ ล้านบาท และนำเสนอ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยงบลงทุนรัฐวิสาหกิจ ปี ๒๕๕๐ ข้อ ๑๑ เพื่อทราบถือเป็นการนำเสนอเพื่อหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตาม กฎ ระเบียบ ที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
(๑) พระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. ๒๕๓๕ โดยมีเหตุผลประกอบดังนี้
๑.๑ กสท ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ประเภทบริษัทจำกัดมหาชน ที่มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจโดยมีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้น ๑๐๐ % และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ และอยู่ในความหมายรัฐวิสาหกิจที่อยู่ในบังคับแห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. ๒๕๓๕
๑.๒ การให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ HSPA เป็นการร่วมดำเนินการให้บริการโดยใช้คลื่นความถี่ที่ กสท ได้รับอนุญาตจากกรมไปรษณีย์โทรเลขมาให้บริการ จึงเป็นการใช้ทรัพยากรสื่อสารของชาติ เพื่อให้บริการเชิงพาณิชย์ และเกี่ยวข้องกับประโยชน์สาธารณะ อีกทั้งเป็นการดำเนินการที่ต่อเนื่องจากการให้บริการ CDMA เดิม อันถือได้ว่า การดำเนินการในลักษณะดังกล่าว เท่ากับเป็นการให้เอกชนได้รับสิทธิในการใช้คลื่นความถี่ของ กสท จึงอยู่ในความหมายของร่วมงานหรือดำเนินการที่อยู่ในบังคับแห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. ๒๕๓๕ ประกอบกับ เมื่อได้พิจารณาในภาพรวมของการให้บริการ โดยพิจารณาเทียบเคียงกับ คำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกาตามเรื่องเสร็จที่ ๔๙๘/๒๕๔๖ เรื่อง การเช่าเครื่องและอุปกรณ์ระบบ CDMA ๒๐๐๐-๑X ในภูมิภาค และความเห็นของกระทรวงการคลัง เกี่ยวกับการปรับปรุงรูปแบบการให้บริการฯ (ตามหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ กค ๐๘๐๓/๒๒๖๙๒ ลงวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๕๐) แล้วเห็นว่า เป็นการดำเนินโครงการฯ ที่เข้าข่ายพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานฯ พ.ศ. ๒๕๓๕
๑.๓ เมื่อพิจารณาในรายละเอียดโครงการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รูปแบบใหม่ที่ กสท นำเสนอ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๕๔ เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ กสท ดำเนินการโครงการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รูปแบบใหม่ของ กสท วงเงินลงทุนทั้งสิ้น ๑๒,๙๑๑ ล้านบาท จากเงินรายได้ของ กสท นั้น ได้กำหนดเป้าหมายเพื่อจัดเตรียมโครงข่ายรองรับการดำเนินธุรกิจกับกลุ่มบริษัท ทรูฯ โดย ในปี ๒๕๕๔ กสท มีเป้าหมายที่จะจัดซื้อเสาโทรคมนาคมและรับบสื่อสัญญาณ จากบริษัท บีเอเคทีฯ จำนวน ๑.๔๒๓ สถานี และลงทุนจัดให้มีเสาและระบบสื่อสัญญาณตลอดอายุโครงการเพิ่มเติมไม่น้อยกว่า ๑๔,๒๓๐ สถานี และเมื่อพิจารณาประกอบกับเงื่อนไขสัญญาเช่าอุปกรณ์วิทยุคมนาคมระบบคมนาคมระบบ HSPA ระหว่าง กสท กับบริษัท บีเอฟเคทีฯ ได้ระบุ “ให้ กสท เป็นผู้สร้างหรือจัดหาเสาโทรคมนาคม และระบบสื่อสัญญาณ ในส่วนภูมิภาคทั้งหมด และในส่วนกลางเฉพาะส่วนที่เพิ่มขึ้นจากเสาโทรคมนาคมของบริษัทที่มีอยู่แล้ว ณ วันทำสัญญา หาก กสท ไม่สามารถดำเนินการดังกล่าวได้ บริษัทจะเป็นผู้สร้างหรือจัดหาเสาโทรคมนาคมใหม่ แต่ให้สิทธิ กสท ซื้อเสาดังกล่าวได้ภายใน ๑ ปี” จึงถือได้ว่าการดำเนินการตามโครงการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ๓G ระบบ HSPA ของ กสท กับกลุ่มบริษัท ทรูฯ เป็นร่วมดำเนินการกับกิจการภาครัฐซึ่งนอกจากจะใช้คลื่นความถี่แล้วมาใช้บริการแล้ว ยังที่ใช้โครงสร้างพื้นฐานด้านโครงข่ายและอุปกรณ์สื่อสัญญาณมาให้บริการ จึงเข้าข่ายพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานฯ พ.ศ. ๒๕๓๕
(๒) พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการ วิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ และกฎ ข้อบังคับ และประกาศของ กสทช.
มาตรา ๔๖ ของพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ กำหนดให้ผู้ได้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการโทรคมนาคมต้องประกอบกิจการด้วยตนเอง จะมอบการบริหารจัดการทั้งหมด หรือยินยอมให้บุคคลอื่นเป็นผู้มีอำนาจประกอบกิจการแทนมิได้ ซึ่งในเรื่องดังกล่าว แม้ว่า กสท จะไม่มีการระบุในสัญญาฯ ว่าจะโอนคลื่นความถี่หรืออำนาจในการบริหารจัดการให้กับบริษัท ทรูฯ ก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาในรายละเอียดของโครงการ ที่ กสท เสนอ แล้วเห็นว่า กสท ไม่ได้มีอำนาจในการบริหารจัดการโครงข่ายทั้งหมดเพื่อให้บริการในลักษณะการขายส่งบริการ แต่ให้สิทธิประโยชน์กับบริษัท ทรูฯ เป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รูปแบบใหม่ HSPA ในลักษณะผู้ให้บริการขายส่งประมาณร้อยละ ๘๐ ซึ่งอาจขัดกับหลักการของบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว และอาจเข้าข่ายการผูกขาดและขัดกับข้อกำหนดตามประกาศของ กทช. เรื่อง การประกอบกิจการโทรคมนาคม ประเภทการขายส่งบริการและบริการขายต่อบริการ ข้อ ๖ ที่มุ่งส่งเสริม ให้มีผู้ประกอบการหลายรายเพื่อเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันที่เป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ และมีการกีดกันระหว่างผู้ประกอบการ
มาตรา ๘๔ ของพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ได้ให้ความคุ้มครองตามอายุสัญญาสัมปทานเดิม ซึ่งเมื่อสิ้นสุดอายุสัญญาสัมปทานจะต้องคืนคลื่นความถี่ให้แก่ กสทช. เพื่อนำไปจัดสรรใหม่โดยคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะต่อไป การที่ กสท เสนอได้มีการกำหนดเงื่อนไขให้มีการต่ออายุสัญญาสัมปทานเดิมระหว่าง กสท และบริษัท ทรูฯ ออกไปอีก ๕ ปี (สัญญาเดิมหมดอายุในปี ๒๕๕๖) เพื่อโอนถ่ายลูกค้าจากระบบ ๒G ไปยัง ๓G จึงถือเป็นการกระทำโดยไม่มีอำนาจ ซึ่งขัดต่อบทบัญญัติข้างต้น อีกทั้งยังถือเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มบริษัท ทรูฯ ที่อาจส่งผลเสียหายต่อ กสท ทั้งในแง่ของฐานลูกค้าและรายได้ของ กสท และขัดต่อบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวข้างต้น
(๓) แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการเสนอโครงการของรัฐวิสาหกิจ ตามพระราชบัญญัติพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๒๑ และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ๒๕๕๐
เมื่อพิจารณาขั้นตอนในการปฏิบัติตามบทบัญญัติ ตามมาตรา ๑๒ (๒) และมาตรา ๑๓ ของพระราชบัญญัติพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๒๑ และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ๒๕๕๐ ข้อ ๕ กสท จะต้องนำเสนอโครงการให้กระทรวงฯ พิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนนำเสนอสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อพิจารณาให้ความเห็นประกอบการพิจารณาอนุมัติของคณะรัฐมนตรี จากนั้น เมื่อคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้ดำเนินโครงการแล้ว กสท จึงเสนอขออนุมัติงบลงทุนเพื่อดำเนินโครงการฯ และจัดซื้อจัดจ้างต่อไป แต่จากข้อเท็จจริงดังกล่าว กสท ได้ละเลย โดยได้ลงนามในสัญญากับกลุ่มบริษัท ทรูฯ โดยมิได้นำเสนอตามขั้นตอนต่อกระทรวงเจ้าสังกัด หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและคณะรัฐมนตรี ตามลำดับ จึงถือได้ว่าเป็นการดำเนินการที่จงใจไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดของกฎหมายและเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มบริษัท ทรูฯ และผู้เกี่ยวข้อง
กรณีที่ กสท เสนอขอความเห็นชอบกรอบวงเงินงบประมาณตามสัญญาเช่าทางการเงิน จำนวนเงิน ๒๑๖,๕๕๗ ล้านบาท ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ๒๕๕๐ ข้อ ๑๑ นั้น เมื่อพิจารณาตามข้อกำหนดของระเบียบดังกล่าว กำหนดว่า“ในกรณีฉุกเฉินที่รัฐวิสาหกิจได้มีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องจัดหาสินทรัพย์ถาวรหลักมาเปลี่ยนแทนสินทรัพย์เดิมในทันที เพื่อมิให้การดำเนินงานต้องหยุดชะงักและเกิดผลเสียหายแก่กิจการ ให้รัฐวิสาหกิจนั้นโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการของรัฐวิสาหกิจดำเนินการไปก่อนได้แล้วรายงานให้คณะกรรมการฯ ทราบโดยมิช้า” ซึ่งข้อกำหนดดังกล่าว เป็นกรณีที่ให้หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ จัดหาสินทรัพย์อุปกรณ์อย่างเร่งด่วนฉับพลันเพื่อไม่ให้การดำเนินงานต้องหยุดชะงักและเกิดผลเสียหายแก้กิจการ แต่ในข้อเท็จจริงระบบ CDMA เดิมของ กสท ยังสามารถให้บริการได้อย่างปกติและยังมีอายุการใช้งาน ดังนั้น การเช่าทรัพย์สินมาให้บริการ ไม่ถือเป็นการลงทุนจัดหาทรัพย์สินถาวรมาดำเนินการแทนระบบเดิม จึงเป็นกรณีที่ไม่เข้าข่ายที่จะดำเนินการได้ตามระเบียบข้อ ๑๑ ซึ่งในทางปฏิบัติ กสท สามารถเสนอขออนุมัติงบลงทุนเป็นรายปี ต่อ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตามขั้นตอนของกฎหมาย ต่อไป
ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความชัดเจนในทางปฏิบัติเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จึงได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการการปฏิบัติเกี่ยวกับงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ๒๕๕๕ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๕๕ เป็นต้นไป ดังนี้
ข้อ ๔ คำจำกัดความภายใต้หลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ๒๕๕๕ มีดังนี้
(
๔.๑) งบลงทุน หมายถึง รายการลงทุนจัดหาสินทรัพย์ถาวรหลักเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ๒๕๕๐ ข้อ ๔ โดยให้รวมถึงรายจ่ายที่เป็นสัญญาเช่าการเงินตามลักษณะของสัญญาเช่าระยะยาวของมาตรฐานการบัญชี
(๔.๖) งบลงทุนฉุกเฉิน หมายถึง การลงทุนเพื่อจัดหาสินทรัพย์ถาวรหลักมาเปลี่ยนสินทรัพย์เดิมทันที เนื่องจากเหตุการณ์ฉุกเฉินที่มีผลกระทบร้ายแรง ทำให้การดำเนินกิจการตามภารกิจหลักของรัฐวิสาหกิจต้องหยุดชะงักหรือเกิดความเสียหายอย่างรุนแรง (ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ๒๕๕๐ ข้อ ๑๑) โดยเป็นการลงทุนเพิ่มเติมจากกรอบการลงทุนที่ได้รับอนุมัติไว้แล้วในปีงบประมาณนั้น