ชุมชนคลองไทรพัฒนา-สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้เปิด ‘อนุสรณ์สถานนักต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชน’ รำลึก 4 ศพเซ่นการต่อสู้เพื่อสิทธิในที่ดินทำกิน พร้อมจัดเวทีสาธารณะหาทางออกแก้ปัญหาการจัดสรรที่ดินอย่างเป็นธรรม เปิดข้อมูลที่ดินสุราษฏร์ธานี พบนายทุน 10 ตระกูลถือครองที่ดิน ส.ป.ก.อื้อ ขณะที่ตัวแทนชาวบ้านแฉ ส.ป.ก.เตรียมขับไล่ชาวบ้านออกนอกพื้นที่ ขณะที่อดีต กสม.ระบุรัฐจัดสรรและปฏิรูปที่ดินล้มเหลว เอื้อเฉพาะนายทุน
เมื่อวันที่ 28-29 ก.ย. 2558 ชุมชนคลองไทรพัฒนา ต.ไทรทอง อ.ชัยบุรี จ.สุราษฏร์ธานี สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) จัดพิธีเปิด ‘อนุสรณ์สถานนักต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชน’ เพื่อรำลึกถึงการเสียชีวิตของเกษตรที่ร่วมต่อสู้เพื่อให้ได้สิทธิในที่ดินทำกินเป็นของตนเอง พร้อมทั้งจัดเวทีสาธารณะเพื่อร่วมกันถกปัญหาและหาทางออกต่อทิศทางการขับเคลื่อนเรื่องสิทธิทำกินในรูปแบบโฉนดชุมชนของประชาชนในพื้นที่
สุรพล สงฆ์รัก กรรมการบริหารสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ กล่าวถึงความหมายของอนุสรณ์สถานที่ได้จัดสร้างขึ้นว่า อนุสรณ์สถานที่เราจัดทำขึ้นนี้ก็เพื่อรำลึกถึงเกษตรกรที่เสียชีวิตจากการถูกลอบสังหารจำนวน 4 คน ได้แก่นายสมพร พัฒภูมิ เสียชีวิตเมื่อปี 2553 จากการถูกลอบยิงภายในหมู่บ้าน นางปราณี บุญรักษ์ และนางมณฑา ชูแก้ว เสียชีวิตเมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2555 โดยการถูกลอบยิงที่บริเวณสวนปาล์มในพื้นที่พิพาท และนายใช่ บุญทองเล็ก เสียชีวิตเมื่อวันที่ 11 ก.พ. 2558 ด้วยการถูกลอบยิงในพื้นที่หมู่บ้านเช่นเดียว
นอกจากการรำลึกถึงผู้เสียชีวิตทั้ง 4 คนแล้ว รูปแบบของอนุสรณ์สถานยังมีความหมายถึงการต่อสู้ของเกษตรกรที่ยังมีชีวิตอยู่ด้วย โดยลักษณะของขดลวดสปริงนั้น ได้ออกแบบมาเป็นวงกลม เพื่อให้เห็นถึงการยกระดับเป็นที่ละขั้นของเกษตรกร ด้วยประวัติศาสตร์การต่อสู้เป็นระยะเวลาที่ยาวนานมาก โดยรวมตัวกันเป็นเครือข่าย และในระหว่างการต่อสู้ได้ถูกข่มขู่คุกคามมีผู้เสียชีวิตหลายคน อนุสรณ์สถานครั้งนี้จึงเปรียบเสมือน ‘อนุสรณ์สถานมีชีวิต’ ที่รำลึกถึงจิตวิญญาณการต่อสู้ที่จะยังคงอยู่กับทุกคนที่ยังคงร่วมต่อสู้ในทุกวันนี้
สุรพล กล่าวด้วยว่า บนขดลวดสปริงที่ประกอบไปด้วยดวงดาว 3 ดวง ดาวสีแดงหมายถึงเลือดเนื้อชีวิตที่ต้องสูญเสียไปจากการต่อสู้ในสิทธิที่ดินทำกิน ดาวสีเหลืองหมายถึงคุณธรรมที่ทุกการต่อสู้เรียกร้องจะต้องประกอบไปด้วยคุณธรรม และดาวสีเขียวหมายถึงภาคเกษตรกรและความอุดมสมบูรณ์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจากเสร็จสิ้นพิธีเปิดอนุสรณ์สถาน มีการจัดเวทีสาธารณะเพื่อร่วมถกปัญหาและหาทางออกต่อทิศทางการขับเคลื่อนเรื่องสิทธิทำกินในรูปแบบโฉนดชุมชนของประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ โดยมีตัวแทนนักต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชนจากภาคต่างๆ อาทิ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) สมัชชาคนจนเขื่อนปากมูล สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) สหกรณ์การเกษตรโฉนดชุมชนป่าซาง เครือข่ายปฏิรูปสังคมและการเมือง เครือข่ายการจัดการทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมอันดามัน กลุ่มอนุรักษ์เขาเหล่าใหญ่-ผาจันไดตำบลดงมะไฟ และตัวแทนภาครัฐและเอกชนที่มีส่วนเกี่ยวข้องต่อการจัดการสิทธิที่ดินทำกินของเกษตรกรเข้าร่วมเสวนาในครั้งนี้ด้วย
ประทีป ระฆังทอง ตัวแทนชาวบ้านชุมชนคลองไทร กล่าวว่า เราได้เริ่มเข้ามาอยู่ในพื้นที่นี้เมื่อปี 2551 โดยมีชาวบ้านอาศัยอยู่ในพื้นที่นี้ 69 ครัวเรือน และได้จัดสรรพื้นที่เพื่อการเกษตรกรรมที่ยั่งยืนโดยได้แบ่งพื้นที่ออกเป็นแปลงเกษตรกรรม แปลงปลูกธัญพืชและพืชหมุนเวียนตามแบบแนวทางเกษตรอินทรีย์ พื้นที่สาธารณะประโยชน์ พื้นที่ปลูกป่า พื้นที่ทำปศุสัตว์ พื้นที่สร้างที่อยู่อาศัย นอกจากนี้เรายังได้รับการผ่อนผันจากคณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหาของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.) ให้ทำกินในที่ดินดังกล่าว
อย่างไรก็ตามยังมีบริษัทเอกชนเข้ามาใช้ประโยชน์จากที่ดินดังกล่าวนี้ด้วย โดยบริษัทเอกชนได้บุกรุกพื้นที่ในเขตป่าไม้โดยไม่ได้ขอสัมปทานจำนวน 1,952 ไร่ ต่อมาในปี 2537 ได้มีการประกาศให้พื้นที่บุกรุกดังกล่าวเป็นเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ต่อมาปีพ.ศ. 2546 ได้มีการชุมนุมโดยเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเพื่อคนจนภาคใต้และเรียกร้องให้มีการตรวจสอบพื้นนี้ ทำให้สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ได้เป็นโจทย์ยื่นฟ้องบริษัทเอกชน ให้ออกนอกพื้นที่ ที่ได้บุกรุกจนปัจจุบันชนะคดีและคดีถึงที่สุดแล้ว
แต่ ส.ป.ก.ก็ยังไม่มีการบังคับให้เอกชนออกนอกพื้นที่ รวมทั้งยังไม่มีการจัดสรรที่ดินให้กับเกษตรกร แต่กลับมีคำสั่ง เมื่อวันที่ 6 ก.ค.2558 ให้บริษัทเอกชน บริวาร และชาวบ้านคลองไทรพัฒนาออกนอกพื้นที่ โดยให้เหตุผลว่าชาวบ้านเป็นผู้บุกรุกที่ดินของส.ป.ก.
ประทีป กล่าวด้วยว่า จากคำสั่งศาล คำว่า บริวารไม่ได้หมายถึง ชุมชนคลองไทร เพราะพวกเราอยู่ที่นี่ในฐานะเกษตรกร ที่ต้องการที่ดินทำกินเพื่อความมั่นคงทางด้านอาหารไม่ใช่ถือครองที่ดินเพื่อนำไปเป็นสินค้า เรามีการจัดสรรที่ดินทำกินที่เป็นระบบที่ใช้ประโยชน์ในรูปแบบโฉนดชุมชนไม่ใช่การเป็นเจ้าของแบบปัจเจก และเชื่อว่าจะเป็นต้นแบบในการจัดการที่ดินให้หลายพื้นที่ได้
“อยากวิงวอนให้ ส.ป.ก.ยกเลิกคำสั่งขับไล่ชาวบ้านออกนอกพื้นที่และเร่งจัดสรรที่ดินทำกินให้กับชาวบ้าน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในเรื่องการจัดสรรในที่ดินทำกินและสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นกับชาวบ้านอย่างแท้จริง” ประทีปกล่าว
ด้านบุญ แซ่จุง เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด จ.ตรัง กล่าวว่า ได้ติดตามการต่อสู้ของชาวบ้านคลองไทรพัฒนามาโดยตลอด เมื่อมีคำสั่งศาลออกมา รู้สึกดีใจแทนชาวบ้านที่จะได้รับรองสิทธิในที่ดินทำกิน ซึ่งมีการรับรองในมติคณะรัฐมนตรี และการประกาศใช้ออกมาชัดเจน ว่าชาวบ้านสามารถอยู่ในพื้นที่ได้ แต่เหตุการณ์ไม่เป็นเช่นนั้น เพราะ ส.ป.ก.กลับนิ่งเฉย หนำซ้ำยังมีคำสั่งขับไล่ชาวบ้านให้ออกจากพื้นที่ แสดงให้เห็นถึงความไม่จริงใจของ ส.ป.ก.ต่อการแก้ปัญหาที่ดินทำกินของชาวบ้าน
นอกจากนี้ ตัวแทนเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด จ.ตรัง กล่าวด้วยว่า จากการลงพื้นที่เก็บมูลพบว่า ใน จ.สุราษฏร์ธานี มีนายทุนถือครองที่ดิน อยู่ 10 บริษัท ใน 10 ตำบล โดยมีการครอบครองที่ดินเป็นแสนไร่ และในจำนวนนี้มีที่ดินที่เป็นของ ส.ป.ก.อยู่ด้วย ในทางกลับกัน ชาวบ้านที่ต่อสู้เพื่อที่ดินเพียงไม่กี่สิบไร่กลับต้องต่อสู้ด้วยเลือดเนื้อและชีวิต
บุญ แสดงความเห็นว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรพิจารณาตัวเองในการปฏิบัติหน้าที่ และควรปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การจัดสรรที่ดินตามแนวทางโฉนดชุมชน ซึ่งในมาตรา 30 ของ พ.ร.บ.ปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมได้ให้อำนาจ ส.ป.ก.สามารถจัดสรรที่ดินให้กับสถาบันเกษตรกรได้ ตรงนี้มีนัยยะเหมือนกันกับเรื่องโฉนดชุมชนที่มติคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้ใช้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยแนวทางการบริหารจัดการที่ดินตามแนวทางโฉนดชุมชน ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับชาวบ้านได้
ส่วน สถิตย์พงษ์ สุดชูเกียรติ ผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน กล่าวว่า กรณีที่ ส.ป.ก.มีการออกประกาศให้ชาวบ้านชุมชนคลองไทรออกจากพื้นที่ ถือเป็นมุมมองที่ไม่มีความเข้าใจในระบบการบริหารทรัพยากรที่ดิน เมื่อที่ดินเป็นของรัฐ ต้องรู้จักการแบ่งปัน ให้กับผู้ด้อยโอกาส ไม่ใช่การมองภาพไปในลักษณะของการเก็งกำไร เสมือนกับเป็นการเปิดโอกาสให้นายทุน มาแสวงหาผลประโยชน์ ที่มีการทำกันอย่างแพร่หลายเหมือนเช่นที่ผ่านมา
“ส.ป.ก.ต้องปรับเปลี่ยนมุมมองเสียใหม่ จากเดิมที่มองในเรื่องที่ดินเป็นเรื่องของการเก็งกำไร ต้องมามองเป็นการแบ่งปันโดยมองประชาชนที่ด้อยโอกาสเป็นพวกของตัวเอง ซึ่งในส่วนของภาคประชาชนทราบมาว่ามีการจัดการที่ดีโดยอยู่ในรูปแบบของสหกรณ์ที่มีการใช้ประโยชน์ที่ดินร่วมกันแบ่งสรรอย่างเท่าเทียม ซึ่งในส่วนของ ส.ป.ก.เองก็มีหน้าที่เพียงควบคุมดูแลหรือคัดเลือกคุณสมบัติแก่ผู้ที่เหมาะสมที่จะมาถือครองที่ดิน การคำนึงถึงข้อกฎหมายเป็นหลักไม่มีการยืดหยุ่นเหมือนเช่นที่ผ่านมาก็จะเป็นการปิดโอกาสแก่คนที่ไม่มีที่ดินทำกิน และเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน” สถิตพงษ์กล่าว
ด้านสุนี ไชยรส อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวว่า ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าภาครัฐในทุกยุคทุกสมัยมีความล้มเหลวเรื่องการจัดการที่ดิน โดยเฉพาะการจัดตั้งคณะอนุกรรมการนโยบายที่ดินจังหวัดเพื่อแก้ปัญหาที่ดินของเกษตรกร ก็ไม่สามารถจัดการปัญหาที่ดินให้กับชาวบ้านได้อย่างแท้จริง ต้องเข้าใจว่าชาวบ้านไม่ได้บุกรุกที่ดินของภาคเอกชนและไม่ได้บุกรุกที่รัฐ เจตนารมณ์หลักในการทำงานของ ส.ป.ก.คือการจัดหาที่ดินทำกินให้กับคนที่ด้อยโอกาส ดังนั้น ส.ป.ก.เองควรส่งเสริมสิทธิของชาวบ้าน ไม่ใช่ไปไล่ที่ให้ชาวบ้านออกไปเหมือนที่ ส.ป.ก.กำลังทำอยู่
อดีต กสม.กล่าวด้วยว่า กรณีของชุมชนคลองไทรพัฒนา ส.ป.ก.สามารถใช้อำนาจของตนเองในการแก้ปัญหาได้เลย เพราะชุมชนมีความพร้อมในหลายด้าน ทั้งในเรื่องของการรวมตัวกันอย่างเข้มแข็งภายในชุมชน การบริหารจัดการที่ดินในชุมชน การกำหนดกฎระเบียบในการใช้ที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมโดยไม่มีโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินไปให้ใคร ซึ่งจะเป็นการดีต่อการทำงานของ ส.ป.ก.ที่จะไม่กระทบต่อการทำงานของหน่วยงานอื่น
ส.ป.ก.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของรัฐ มักจะใช่คำกล่าวอ้างที่ว่า ที่ดินไม่เพียงพอต่อการจัดสรรให้กับประชาชน แต่ในความเป็นจริง ส.ป.ก.มีที่ดินอยู่ในมือจำนวนมาก แต่ที่ดินเหล่านั้นไม่ได้รับการจัดสรรลงมาสู่ชาวบ้าน กลับถูกให้นายทุนเช่า ซึ่งชาวบ้านต้องเรียกร้องและต่อสู้ด้วยตนเองจนเสียเลือดเสียเนื้อกว่าจะได้ที่ดินมาทำกิน ดังนั้นหน่วยงานรัฐควรที่จะมีแนวคิดในการปฏิรูปที่ดิน ที่สามารถเป็นประโยชน์ให้กับชาวบ้านที่ไม่เป็นประโยชน์กับนายทุนเหมือนเช่นปัจจุบัน
ขณะที่ อภิชัย เชียรศิริกุล ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสุราษฏร์ธานี กล่าวว่า การบริหารจัดการที่ดินของชาวบ้านชุมชนคลองไทร เข้าข่ายแนวนโยบายการจัดสรรที่ดินของ คณะอนุกรรมการนโยบายที่ดินจังหวัดสุราษฎร์ธานี (คทช.) ซึ่งมีหลักเกณฑ์การพิจารณาอยู่ 3 ข้อ คือ 1.ต้องมีการจัดที่ดินให้กับชาวบ้านที่ยากไร้ และไม่มีที่ดินทำกิน 2.ต้องทำให้ที่ดินที่จัดสรรเป็นกรรมสิทธิ์รวม และ 3.พัฒนาระบบสาธารณูปโภคในที่ดิน
“ถ้าเข้าข่าย เราก็จะจัดสรรให้ได้ จึงอยากให้ชุมชนไปยื่นเรื่องที่ผู้ว่าราชการจังหวัด ให้มีการจัดสรรที่ดิน แล้วผู้ว่าราชการจังหวัด จะพิจารณายื่นเรื่องให้ ส.ป.ก.กลางพิจารณา เพื่อประกาศให้ชาวบ้านมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินต่อไป” ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสุราษฏร์ธานีกล่าว