เปิดรายงานคู่ขนาน ‘สิทธิที่ดินป่าไม้-สุขภาพกลุ่มชาติพันธุ์’ องค์กรสิทธิฯ ไทยส่งถึงยูเอ็น

เปิดรายงานคู่ขนาน ‘สิทธิที่ดินป่าไม้-สุขภาพกลุ่มชาติพันธุ์’ องค์กรสิทธิฯ ไทยส่งถึงยูเอ็น

องค์กรสิทธิมนุษยชนในไทยจัดส่งรายงานคู่ขนานถึงคณะกรรมการ ESCR กรณีพื้นที่ดินป่าไม้ เรียกร้องสิทธิในที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ และการดูแลด้านสุขภาพของชนพื้นเมืองและชนชาติพันธุ์ในประเทศไทย เสนอเพิกถอนคำสั่ง คสช.ที่ 64/2557 และ 66/2557 หนุนแนวทางโฉนดชุมชน 

20152705181233.jpg

27 พ.ค. 2558 มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ศูนย์ปฏิบัติการร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาประชาชนบนพื้นที่สูง (ศปส.) และศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น ได้จัดส่งรายงานคู่ขนาน เกี่ยวกับสิทธิในที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติและการดูแลด้านสุขภาพของชนพื้นเมือง/ชนชาติพันธุ์ในประเทศไทย ถึงคณะกรรมการว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (United Nations Committee on Economic, Social and Cultural Rights) ในข้อ 1 สิทธิในที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ, ข้อ 11 – สิทธิที่จะมีมาตรฐานการครองชีพอย่างพอเพียง และข้อ 12 – สิทธิที่จะมีสุขภาพกายและสุขภาพจิต 

การนำเสนอรายงานคู่ขนานดังกล่าวสืบเนื่องจากที่ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (International Covenant on Economic, Social and Cultural Rights: ICESCR) โดยการภาคยานุวัติ (หมายเหตุ: การที่รัฐหนึ่งเข้าไปเป็นภาคีสนธิสัญญา ซึ่งรัฐอื่นๆ ได้วินิจฉัยตกลงก่อนแล้วและสนธิสัญญานั้นได้มีผลใช้บังคับก่อนแล้วด้วย) เมื่อวันที่ 5 ก.ย.2542 และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 5 ก.ย.2542 รัฐภาคีจะต้องเสนอรายงานภายในปีแรก นับจากวันที่กติกามีผลใช้บังคับ และทุกๆ 5 ปี หลังการส่งรายงานฉบับแรก หรือเมื่อได้รับการร้องขอจากคณะกรรมการสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม 

รัฐบาลไทยได้จัดส่งรายงานฉบับแรกหลังการให้สัตยาบันไปแล้วเป็นเวลา 16 ปี และได้กำหนดว่าจะมีการทบทวนรายงานและการพิจารณารายงานคู่ขนาน ณ นครเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ในวันที่ 4-5 มิ.ย.2558 โดยทางคณะกรรมการ ESCR จะรับฟ้งการรายงานความก้าวหน้าจากผู้แทนของประเทศไทย และพร้อมกันนั้นก็เปิดโอกาสให้องค์กรภาคประชาชนสังคมทั้งไทยและต่างประเทศหลายองค์กรจัดส่งรายงานคู่ขนาน (shadow report) และร่วมรับฟังการรายงานด้วย ณ นครเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ โดยมีการถ่ายทอดสดในระบบ Webcast ขององค์กรสหประชาชาติด้วย ในวันที่ 4 มิ.ย. เวลา 15.00 และในวันที่ 5 มิ.ย. เวลา 10.00. และ 15.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น

รายงานคู่ขนานขององค์กรสิทธิมนุษยชนดังกล่าว มีข้อมูลโดยสรุป ดังนี้

ประเด็น ข้อ 1 สิทธิในที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ เสนอให้เพิกถอนคำสั่ง คสช.ที่ 64/2557 และ 66/2557 ซึ่งให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ในการจับกุม ข่มขู่ ทำลายพืชผล ขับไล่ชุมชนในท้องถิ่นโดยพลการ ไม่มีการแจ้งให้ชุมชนที่ได้รับผลกระทบทราบล่วงหน้า ไม่มีการปรึกษาหารือกับหน่วยงานของพลเรือนในพื้นที่ และให้ทบทวนแผนปฏิบัติการป่าไม้ระยะ 10 ปีของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้โดยให้ประเมินผลกระทบต่อสิทธิของผู้อาศัยอยู่ในเขตป่า

รวมทั้งการพิจารณาแก้ไขกฎหมายพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า และกฎหมายป่าไม้และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆ ควรได้รับการทบทวนและแก้ไขอย่างเหมาะสม ชนพื้นเมืองที่พลัดถิ่นหรือถูกโยกย้ายโดยเป็นผลมาจากกฎหมายเหล่านี้ ควรได้รับการเยียวยา ทั้งการชดเชย หรือหากไม่สามารถทำได้ ให้จัดให้มี “ค่าชดเชยที่ยุติธรรม เป็นธรรมและเท่าเทียม” และสนับสนุนแนวทางโฉนดชุมชนตามข้อเสนอขององค์กรภาคประชาสังคมในการแก้ปัญหาที่ดินและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ

ประเด็น ข้อ 11 – สิทธิที่จะมีมาตรฐานการครองชีพอย่างพอเพียง รายงานฉบับดังกล่าวเสนอให้ยุติการโยกย้ายอย่างถาวรหรือชั่วคราวออกจากบ้านเรือนและ/หรือที่ดินที่ตนครอบครอง โดยขัดกับความประสงค์ของบุคคล ครอบครัว และ/หรือชุมชน ทั้งนี้โดยไม่มีการจัดให้มี และไม่สามารถเข้าถึงการคุ้มครองตามกฎหมายหรืออื่นๆ อย่างเหมาะสม รัฐบาลไทยจึงต้องพิจารณาที่จะโยกย้ายชุมชนเหล่านี้กลับไปสู่ที่ดินอันเป็นข้อพิพาท จากนั้นให้ใช้แนวทางการมีส่วนร่วมกับชุมชน และหาทางฟื้นฟูสิทธิที่จะมีมาตรฐานการครองชีพอย่างพอเพียง 

รวมทั้งกำหนดค่าชดเชยให้กับชุมชนที่ถูกไล่รื้อและปฏิบัติตามมาตรการเพื่อการฟื้นฟู ทั้งนี้เพื่อดูแลให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินอย่างเพียงพอ สามารถเข้าถึงสิทธิอย่างอื่น ไม่ว่าจะเป็นการดูแลด้านสุขภาพและการเรียนหนังสือของบุตรหลานโดยทันที

อีกทั้งผลักดันให้รัฐบาลไทยควรยอมรับสถานภาพชนพื้นเมืองของ “ชาวไทยภูเขา” ในภาคเหนือและ “ชาวเล” ตามแนวชายฝั่งทะเลในภาคใต้ และ “ชนเผ่า” อื่นๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออกและภาคตะวันตก โดยกฎหมายป่าไม้และที่ดินควรยอมรับอย่างเป็นทางการต่อสิทธิแบบกลุ่มของชนพื้นเมืองที่มีต่อที่ดิน อาณาเขตและทรัพยากรของตนเอง ทั้งนี้เป็นไปตามปฏิญญาว่าด้วยสิทธิชนพื้นเมืองแห่งสหประชาชาติ (United Nations Declaration on the Rights of Indigenous Peoples) 

ประเด็น ข้อ 12 – สิทธิที่จะมีสุขภาพกายและสุขภาพจิต รายงานฉบับนี้ได้เสนอให้รัฐบาลไทยจะต้องอนุมัติจัดสรรงบประมาณรายหัวตามสิทธิขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขสำหรับบุคคลผู้มีปัญหาสถานะและสิทธิ กลุ่มที่มีบัตรประจำตัวประชาชนขึ้นต้นด้วยเลข 0 ประเภททะเบียนราษฎร์ ทร.38 ก โดยตัวเลขหลักที่ 6 และ 7 เป็นเลข 8, 9 (0-XXXX-89XXX-XX-X) ตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 16 เม.ย. 2558 และ มติครม.20 เม.ย. 2558 โดยทันที โดยจัดสรรงบประมาณเพียงพอจัดสรรโดยทันที 

รวมทั้งรัฐบาลไทยต้องพิจารณาเพิ่มนักเรียนที่กำลังเรียนอยู่ในประเทศไทยซึ่งกำลังได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานด้านการศึกษาจากกระทรวงศึกษาธิการอยู่ระหว่างการจัดทำทะเบียนและกำหนดเลขประจำตัว 13 หลักจำนวน 76,540 คน เพิ่มเข้าสู่ “กองทุนให้สิทธิ (คืนสิทธิ) ขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขสำหรับบุคคลผู้มีปัญหาสถานะและสิทธิ” ตามมติครม. 23 มี.ค. 2553 และให้มีการจัดสรรงบประมาณรายหัวอย่างเหมาะสม 

โดยเพิ่มเติมข้อเสนอให้จัดตั้ง “กองทุนควบคุมโรคชายแดน” ภายใต้กระทรวงสาธารณสุข เพื่อแก้ปัญหาสิทธิขั้นพื้นฐานและการเข้าถึงบริการสุขภาพให้แก่ผู้อพยพเข้าเมืองและพลเมืองไทยที่อยู่ระหว่างการพิสูจน์สัญชาติ และไม่ได้อยู่ภายใต้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและไม่ได้ริบสิทธิขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขตามมติครม.23 มี.ค. 2553 

สุดท้ายเพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาสิทธิขั้นพื้นฐานด้านสุขภาพที่ยั่งยืน เกิดความเท่าเทียมและเป็นธรรมสำหรับพลเมืองไทยที่อยู่ระหว่างการพิสูจน์สัญชาติ รัฐบาลไทยต้องทบทวนและแก้ไขมาตรา 5 ของพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 เพื่อตอบสนองความต้องการของพลเมืองไทยที่อยู่ระหว่างการพิสูจน์สัญชาติ โดยบุคคลเหล่านี้ควรมีสิทธิได้รับบริการดูแลด้านสุขภาพและหลักประกันสุขภาพโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ

รายงานฉบับภาษาอังกฤษ ดาวน์โหลดได้ที่
http://tbinternet.ohchr.org/_layouts/TreatyBodyExternal/Countries.aspx?CountryCode=THA&Lang=EN 
 

รายงานฉบับภาษาไทย ดาวน์โหลดได้ที่
https://voicefromthais.files.wordpress.com/2015/05/submisssion-to-icescr-land-rights-_thailand_05-may-2015-final-thai-print2.pdf

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ