เปิดตัวเว็บ “ประชามติ” ฟังความเห็นประชาชน ก่อนปล่อยผ่านรัฐธรรมนูญ

เปิดตัวเว็บ “ประชามติ” ฟังความเห็นประชาชน ก่อนปล่อยผ่านรัฐธรรมนูญ

หลังจากการเปิดตัวผ่านหน้าจอออนไลน์ในเว็บไซต์ประชามติ หรือ prachamati.org ไปเมื่อเวลา 18.00 น.ของวันจันทร์ที่ 4 พ.ค. 2558 สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล สำนักข่าวไทยพับลิก้า เว็บไซต์ประชาไท และโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) จัดงานเปิดตัวเว็บไซต์ Prachamati.org ที่ร้านบราวน์ชูการ์ เดอะ แจ๊ส บูทีค ใกล้แยกผ่านฟ้า ถ.พระสุเมรุ เมื่อวันที่ 8 พ.ค.ที่ผ่านมา

20151005141542.jpg

จอน อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยการ iLaw กล่าวว่า แนวคิดในการทำเว็บนี้เริ่มจากอยากให้ประชาชนมีพื้นที่อิสระ แสดงความเห็นร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะมีผลระยะยาวต่อประชาชนทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม และการออกแบบรัฐธรรมนูญทำได้ยาก การที่จะให้ประชาชนเป็นผู้กำหนดว่ารัฐธรรมนูญจะผ่านหรือไม่จึงมีความสำคัญ

จอน กล่าวต่อว่า เว็บประชามติเริ่มต้นด้วยความคิดว่า ถ้าเขาไม่ทำประชามติ เราจะทำประชามติในเว็บนี้ อย่างไรก็ตาม ตอนนี้อาจยังไม่ถึงจุดนั้น เพราะเราต้องการฟังความเห็นประชาชนก่อนว่าต้องการทำประชามติหรือไม่ จริงๆ แล้วนี่เป็นคำถามที่ไม่ง่าย หลายฝ่ายบอกให้ทำประชามติ แต่ก็มีคำถามว่าประชามติจะทำในเงื่อนไขอะไรบ้าง เราจึงเปิดให้ทุกคนมีส่วนร่วม

จอน กล่าวว่า เว็บประชามติจะเปิดให้โหวตและแสดงความเห็นในประเด็นต่างๆ จากร่างรัฐธรรมนูญ โดยในการโหวตนั้น มีการออกแบบซอฟต์แวร์ให้ไม่แสดงว่าใครโหวตอะไร แม้แต่ผู้ดูแลระบบก็ไม่รู้ ส่วนการแสดงความเห็นนั้น ต้องกำหนดให้แสดงตัว โดยล็อกอินด้วยเฟซบุ๊ก เพื่อความน่าเชื่อถือของผู้แสดงความเห็น 

ทั้งนี้ ผลของการโหวตในแต่ละประเด็นจะเปิดเผยเมื่อครบ 5,000 โหวต เพื่อไม่ให้เป็นการชักจูง แต่หากมีคนโหวตไม่ครบ จะเปิดเผยเมื่อครบเดือน

ด้านสฤณี อาชวานันทกุล  ผู้ร่วมก่อตั้งและคณะบรรณาธิการ สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า  กล่าวว่า การทำเว็บไซต์ประชามติเป็นความร่วมมือของสื่อทางเลือกหลายๆ แห่ง เพื่อใช้ช่องทางและเครื่องมือใหม่ๆ ในการทำข่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงเพื่อรวบรวมความเห็นของประชาชนในอินเทอร์เน็ตต่อเรื่องรัฐธรรมนูญ ซึ่งถือเป็นประเด็นใหญ่ที่มีผลกระทบต่อประชาชน ให้เป็นกิจจะลักษณะมากขึ้น ซึ่งสื่อสามารถนำไปใช้อ้างอิงในฐานะผลสำรวจหนึ่งได้ด้วย

ส่วนช่วงการแสดงความคิดเห็นในหัวข้อ “รัฐธรรมนูญใหม่ใครตัดสิน?” มีผู้ร่วมแสดงความเห็นอย่างหลากหลาย อาทิ

วิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าฝ่ายกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ แสดงความเห็นว่า ร่างรัฐธรรมนูญ 2558 ระบุว่าในการแก้ไข รัฐธรรมนูญต้องทำประชามติ แล้วถามว่าแล้วตัวรัฐธรรมนูญ 2558 เอง ไม่ทำประชามติหรือ พร้อมชี้ว่า ขนาดรัฐธรรมนูญ 2550 ก็ยังมีการทำประชามติ   

วิรัตน์ กล่าวด้วยว่า สังคมไทยต้องพร้อมเดินหน้าไปด้วยกัน หากเราอยากจะเดินหน้าไปด้วยกัน ต้องทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2558 รายประเด็น หากประเด็นไหนไม่ผ่าน ก็ให้ ครม. คสช. ใช้มาตรา 46 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 แก้ไขรายประเด็นไป โดยมองว่า เรื่องที่ดีอยู่แล้วคือ การแก้ปัญหาประชานิยม ส่วนประเด็นที่คิดว่าควรแก้คือ ประเด็นที่มาและอำนาจของสมาชิกวุฒิสภา
 
จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย กล่าวว่า หากไม่มีการแก้รัฐธรรมนูญในสาระสำคัญ เราจะเดินสู่สังคมที่มีความขัดแย้งมากกว่าเดิม กรณีมีข้อเสนอใช้ไปก่อนแล้ว 5 ปีค่อยมาแก้ทีหลังนั้นไม่เห็นด้วย เพราะไม่แน่ใจว่า ใน 5 ปีจะมีรัฐประหารอีกกี่ครั้งไม่รู้ ทางออกขณะนี้ หากเพียงขอให้กรรมาธิการยกร่างรีบแก้ไข คงไม่มีการแก้และ สปช.คงเห็นชอบร่าง

จาตุรนต์กล่าวว่า ถ้าจะให้เกิดการแก้รัฐธรรมนูญหรือเกิดรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย ต้องมีการลงประชามติ ยิ่งตัดสินใจเร็วจะทำให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม ช่วยให้รัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น เป็นเผด็จการน้อยลง เมื่อนั้นประชาชนจะแสดงความเห็นมากขึ้น เกิดการรับฟังและยอมแก้ไขมากขึ้น และช่วยให้บ้านเมืองหลีกเลี่ยงความขัดแย้งรุนแรงในอนาคตเนื่องจากรัฐธรรมนูญที่เป็นเผด็จการ

บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ กรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ขอแสดงในความเห็นในฐานะภาคประชาชน โดยขณะร่างหมวดแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ทำให้เห็นว่าการร่างรัฐธรรมนูญทำโดยคน 36 คนไม่ได้ เพราะคนทั้ง 36 คนไม่สามารถตัดสินแทนคนทั้งหมดได้ เนื่องจากเป็นเรื่องที่ใหญ่มาก ทั้งนี้ หากประชามติแล้ว คนไม่เห็นด้วยก็พร้อมจะยอมรับ 

ศ.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่กลายเป็นวิกฤตของสยามประเทศมาเกินหนึ่งร้อยปี ตั้งแต่ ร.ศ. 103 ต่อเนื่องมาถึงกบฏ ร.ศ.130 จนมีรัฐธรรมนูญฉบับแรกเมื่อเกิดการปฏิวัติ 2475 จนปัจจุบัน ปัญหาเรื่องรัฐธรรมนูญก็ยังไม่จบ อย่างไรก็ตาม ย้ำว่า รัฐประเทศชาติในสมัยใหม่ต้องการรัฐธรรมนูญ ประชาธิปไตย และการเลือกตั้ง ความพยายามที่จะหยุดยั้งหรือดึงถอยกลับไปก่อน 2475 เป็นความพยายามของกลุ่มคนที่น่าสงสาร เห็นใจและน่าสมเพช พร้อมยืนยันว่าในความเป็นประชาชนของสยามประเทศ เราจำเป็นต้องมี รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยของประชาชนโดยประชาชนเพื่อประชาชน

บารมี ชัยรัตน์ ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน กล่าวว่า การลงประชามติเป็นเรื่องของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ถ้าไม่ได้อยู่ในการปกครองระบอบประชาธิปไตยก็ไม่ควรลงประชามติ ส่วนตัวไม่เห็นด้วยว่าต้องมีการลงประชามติรัฐธรรมนูญเผด็จการ แต่เพื่อความรอมชอม เห็นว่านอกจากจะรับหรือไม่รับรัฐธรรมนูญแล้ว ต้องเลือกว่าถ้าไม่เอา จะเอารัฐธรรมนูญ 2540 จะไม่เปลืองงบร่างรัฐธรรมนูญใหม่ หรือลงประชามติใหม่
 
กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้ประสานงานกลุ่มเอฟทีเอ วอทช์ แสดงความเห็นว่า ส่วนตัวเชื่อมั่นและสนับสนุนประชามติมาตลอด แต่ต้องไม่ใช่แค่การโหวต โดยอยากเห็นประชามติที่มีคุณภาพ ซึ่งหมายถึงมีการถกแถลง โดยยกตัวอย่างสวิตเซอร์แลนด์ที่มีการลงประชามติเป็นระยะๆ โดยเปิดให้ทั้งฝ่ายที่สนับสนุนและคัดค้านให้ข้อมูลอย่างเต็มที่จากนั้นให้ประชาชนที่มีสิทธิออกเสียงได้เลือก ซึ่งคิดว่าจะหาไม่ได้จากรัฐไทย ดังนั้นจึงเห็นว่าฟอรั่มอย่างเว็บประชามติจะเป็นการช่วยรณรงค์ที่สำคัญ

20151005141713.jpg

ทั้งนี้ ในเว็บไซต์ประชามติ ได้แนะนำตัวเองไว้ดังนี้ 

เว็บไซต์ประชามติ หรือ www.prachamati.org เป็นการร่วมมือของสื่อทางเลือกและองค์กรภาคประชาสังคม อันประกอบด้วย สำนักข่าวประชาไท (Prachatai.com), สำนักข่าวไทยพับลิก้า (ThaiPublica.org), สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw.or.th) ที่ตระหนักถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ในกระบวนการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ในปี 2558 

หลังการรัฐประหารในปี 2557 วาระสำคัญคือการ “ปฏิรูปประเทศ” โดยเฉพาะการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 

ท่ามกลางกระแสความตื่นตัวของสังคมที่อยากร่วมรับรู้และเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญเพื่อการปฏิรูปประเทศครั้งนี้ รัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับปี 2557 กลับไม่ได้กำหนดช่องทางการมีส่วนร่วมของประชาชนโดยตรง เช่น การทำประชามติ เอาไว้ด้วย 

17 เมษายน 2558 คณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ ส่งร่างฉบับแรกให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) นำไปพิจารณา หลังการอภิปรายทั่วไปแล้วเสร็จ สภาปฏิรูปแห่งชาติยังมีเวลาอีก 30 วันในการยื่นญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติม และคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ ยังมีเวลาอีก 60 วัน ในการพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมตามที่ สปช. เสนอมา แม้ว่า คณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ และสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ จะมีที่มาจากการคัดเลือกโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แต่องค์กรทั้งหลายก็ประกาศเสมอมาว่าพร้อมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเพื่อนำไปจัดทำร่างรัฐธรรมนูญในครั้งนี้

ดังนั้น ช่วงเวลาระหว่าง 90 วันนี้ การส่งเสียงของประชาชนไปยังผู้มีอำนาจพิจารณาจึงเป็นเรื่องที่มีความหมายอย่างยิ่ง 

เว็บไซต์ประชามติ ขอเป็นพื้นที่รวบรวมความคิดเห็นที่หลากหลาย ต่อประเด็นต่างๆ ที่ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันในร่างรัฐรรมนูญ ฉบับปี 2558 

ที่เว็บไซต์ประชามติ 
ผู้ใช้สามารถลงคะแนนโหวต ว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยต่อประเด็นต่างๆ ในรัฐธรรมนูญแยกเป็นรายประเด็นได้
ผู้ใช้สามารถแสดงความคิดเห็น ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยต่อประเด็นต่างๆ ในรัฐธรรมนูญแยกเป็นรายประเด็นได้
ผู้ใช้สามารถแสดงความคิดเห็นแลกเปลี่ยนกับความคิดเห็นที่มีอยู่ก่อนแล้วได้
ผู้ใช้สามารถหาอ่านข้อมูลทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เพื่อประกอบการคิดและตัดสินใจด้วยตัวเอง
ผู้ใช้สามารถเสนอประเด็นที่อยากให้มีการทำประชามติได้

ไม่ว่าจะคิดเห็นแตกต่างกันอย่างไรก็ตาม 
ทุกเสียงมีความหมาย

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ