เดิมพันทรัพยากรชาติ! กสทช.ดึงเอกชนทำสัตยาบรรณ ป้องกันฮั้วประมูลราคา 3G
27เม.ย.2555- สุทธิพล ทวีชัยการ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านกฎหมาย ในฐานะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) เปิดเผยว่า การจัดประมูลคลื่นความถี่ 3G ที่จะมีขึ้นในช่วงปลายไตรมาสสามของปีนี้ มีความสำคัญต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมโทรคมนาคม เศรษฐกิจของชาติ และที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นยังเป็นการเดิมพันด้วยทรัพยากรของประเทศชาติและผลประโยชน์ของสาธารณะอีกด้วย ดังนั้นบทบาทของบอร์ดกทค. จึงจำเป็นต้องหาทุกวิถีทางเพื่อทำให้การประมูลครั้งนี้มีความโปร่งใสและเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย โดยเฉพาะกับประเด็นที่สังคมและประชาชนให้ความสนใจเป็นอย่างมาก ก็คือ ประเด็นการฮั้วราคาประมูล เพราะหากฮั้วราคาประมูลกันจริงๆ อาจทำให้การแข่งขันลดลง ส่งผลต่อรายได้ของรัฐที่จะได้รับจากการประมูล
ซึ่งการประชุมคณะอนุกรรมการเตรียมความพร้อมสำหรับการบริหารคลื่นความถี่ย่าน 2.1 GHz เพื่อรองรับเทคโนโลยี IMT-2000 หรือ IMT Advanced เมื่อวันที่ 24 เมษายน2555 ได้เชิญผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่นที่ทั้งค่ายเล็ก กลาง และใหญ่ เข้าร่วมประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้ประกอบการในเรื่องขนาดของคลื่นความถี่ที่จะให้อนุญาต และจำนวนใบอนุญาตที่เหมาะสมกับสภาพตลาดโทรคมนาคมและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป ตลอดจนประเด็นอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ซึ่งตนได้จุดประกายแนวคิดเกี่ยวกับการลงสัตยาบันของผู้ประกอบการเพื่อยืนยันว่าจะทำให้การประมูล3G เป็นไปด้วยความโปร่งใส ไม่ฮั้วราคาประมูล ซึ่งผู้ประกอบการทั้งรายเล็ก กลาง และใหญ่ ต่างก็ขานรับแนวคิดนี้ โดย กทค.จะหารือเพื่อกำหนดวันทำพิธีลงสัตยาบันร่วมกัน ซึ่งการทำสัตยาบันดังกล่าวจะเป็นเหมือนสัญญาประชาคมที่ผู้ประกอบการแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันว่าจะเข้าประมูล 3G ด้วยความสุจริต ไม่ฮั้วราคากัน และจะช่วยสนับสนุนทำให้การประมูล 3G สามารถขับเคลื่อนไปได้
“ไม่ว่าจะนำวิธีการใดๆมาใช้ในการประมูลคลื่นความถี่ 3G ก็มิอาจห้ามการฮั้วประมูลได้ เพียงแต่จากการศึกษาข้อมูลในหลายๆมิติ พบว่าวิธีการแบ่งซอยคลื่นเป็น 5 MHz จำนวน 9 สล็อต เป็นวิธีการที่หลายประเทศใช้แล้วได้ผลและยืนยันว่าทำให้การประมูลคลื่นความถี่เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรม รวมทั้งทำให้ผู้ประกอบการรายเล็กสามารถเข้ามาแข่งขันได้ ฉะนั้นนอกเหนือจากการที่จะต้องเลือกวิธีการประมูลที่เหมาะสมแล้ว ยังมีประเด็นที่ควรจะต้องให้ความสำคัญคือจะใช้มาตรการใดมาป้องปรามการฮั้ว ซึ่งมาตรการป้องกันการฮั้วที่กำหนดไว้ในประกาศกทช.เรื่องหลักเกณฑ์ในการประมูลคลื่นความถี่ 3Gเดิม ยังไม่เข้มข้นเพียงพอ จึงจำเป็นต้องปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น” นายสุทธิพล กล่าว
ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าว ต้องอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 ซึ่งขณะนี้กำลังศึกษามาตรการป้องกันการฮั้วประมูลที่ใช้ได้ผลในหลายประเทศเพื่อนำมากำหนดไว้ในประกาศ กสทช.เรื่องหลักเกณฑ์ในการประมูลคลื่นความถี่ 3G ที่กำลังยกร่างอยู่ ส่วนการจัดให้มีการลงสัตยาบันร่วมกันระหว่างผู้ประกอบกิจการนั้นก็เป็นมาตรการเสริมจากมาตรการทางกฎหมาย เพื่อขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการ และให้สังคมช่วยกันตรวจสอบผู้ประกอบการใดที่ไม่ปฎิบัติตามสิ่งที่ให้สัตยาบันไว้ อันเป็นเรื่องของการใช้ Social Sanction เข้ามาเสริมมาตรการการบังคับใช้กฎหมายเพื่อเป็นการป้องกันการฮั้วอีกชั้นหนึ่ง