10 มี.ค.2559 เมื่อเวลาประมาณ 9.00 น. ชาวประมงพื้นบ้านในพื้นที่คลองน้อยและพื้นที่ชุ่มน้ำดอนหอยหลอด จ.สมุทรสงคราม ประมาณ 50 คน รวมตัวกันที่บริเวณหน้าสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 3 สาขาสมุทรสงคราม เพื่อยื่นหนังสือขอให้ระงับการขุดดอนหอยหลอดและทวงถามถึงการก่อสร้างท่าเทียบเรือในโครงการคลังแก๊สแอลพีจี ของบริษัท เอ็นเอสแก๊ส แอลพีจี จำกัดเพราะกังวลเรื่องสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตประมงพื้นบ้าน รวมทั้งพื้นที่ก่อสร้างอยู่ในเขตชุ่มน้ำซึ่งอาจจะขัดต่ออนุสัญญาแรมซ่า แต่บริษัทยังคงเดินหน้าใช้เครื่องจักรกลหนักเร่งก่อสร้าง จนทำให้ชาวบ้านรวมตัวกันออกมาคัดค้าน และขอร้องให้ตรวจสอบการก่อสร้างท่าเทียบเรือหลังมีการวางเสาเข็มในทะเลระยะทางยาวกว่า 300 เมตร ว่ามีการขออนุญาตหรือไม่ โดยเกรงการก่อสร้างจะรุกล้ำทะเล และกีดขวางเส้นทางเข้าออกเรือประมงพื้นบ้าน
ในระหว่างการยื่นหนังสือกลุ่มชาวประมงพื้นบ้านฯ ได้ใช้ผ้าขาวปิดปากและมัดมือตนเอง โดยมีนายพิชัย แสงชัย ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 3 สาขาสมุทรสงครามเป็นผู้รับมอบ พร้อมกล่าวเพียงสั้นๆ ว่า ขณะนี้ได้รับเรื่องไว้แล้วและจะเข้าไปดูข้อเท็จจริงทั้งหมด เพื่อดำเนินการตามกรอบกฎหมายต่อไป
จากนั้นกลุ่มชาวประมงพื้นบ้านฯ ได้เดินเท้าเปล่าไปรวมตัวหน้าศาลากลางจังหวัด เพื่ออ่านแถลงการณ์และยื่นหนังสือยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม ผ่านศูนย์ดำรงธรรมโดยมีนายอุดมเขต ราษฎร์นุ้ย ปลัดจังหวัดสมุทรสงครามเป็นผู้รับหนังสือดังกล่าว
นายสุรชัย เอี่ยมสวัสดิ์ หนึ่งในกลุ่มประมงพื้นบ้านฯ กล่าวว่า ที่เดินเท้าเปล่าเป็นการแสดงว่าชาวบ้านในพื้นที่ไม่เหลืออะไรแล้ว หากทรัพยากรธรรมชาติซึ่งเป็นแหล่งทำมาหากินของชาวบ้านยังถูกทำลาย ในอนาคตชาวบ้านจะไม่มีอะไรเหลือแม้แต่เสื้อผ้าที่สวมใส่ด้วย
“การแสดงจุดยืนครั้งนี้ไม่ได้เป็นการขัดขวางการพัฒนา พวกเราชาวบ้านเพียงอยากให้การพัฒนาตั้งอยู่บนพื้นฐานของชีวิตชุมชน อยู่บนฐานทรัพยากร และวัฒนธรรมที่เคารพต่อธรรมชาติ
เราต้องการเรียกร้องสิทธิในการทำมาหากินของชาวประมงพื้นบ้าน ซึ่งไม่มีแม่แต่ที่ดินเป็นของตัวเอง เรามีเพียงพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันเป็นพื้นที่สาธารณะที่ใช้ประโยชน์ร่วมกันมาแต่บรรพบุรุษ แต่วันนี้ “ชาวบ้านเหมือนถูกมัดมือ มัดเท้า ปิดปาก แล้วยืนมองการทำลายแหล่งทำมาหากิน ของชุมชนพังพินาศไปต่อหน้าต่อตา” การทำประมงพื้นบ้านคืออาชีพเดียวของเราที่จะดำรงชีวิต และส่งต่อสิ่งเหล่านี้ให้แก่ลูกหลาน
ทำไมพวกเราต้องเป็นฝ่ายยอมเสียสละทะเลที่เป็นเหมือนชีวิตของ ที่คนยากจนอย่างเราใช้หาอยู่หากิน และร่วมกันรักษามาอย่างยากลำบาก ให้กับผลประโยชน์ของเพียงกลุ่มเดียว” ส่วนหนึ่งของแถลงการณ์ชาวประมงพื้นบ้านในชุมชนคลองน้อยและพื้นที่ชุ่มน้ำดอนหอยหลอด ‘หยุดทำลายพื้นที่ชุ่มน้ำดอนหอยหลอด’
สำหรับข้อเรียกร้องของกลุ่มประมงพื้นบ้านฯ ประกอบด้วย 1.ให้ระงับการก่อสร้างท่าเทียบเรือในพื้นที่ชุ่มน้ำดอนหอยหลอด ซึ่งกำลังทำลายระบบนิเวศของพื้นที่ชุ่มน้ำดอนหอยหลอดอย่างรุนแรง ตามมติในเวทีรับฟังความเห็นของประชาชน เมื่อวันที่ 18 ม.ค. 2559 ที่จัดขึ้นโดย มณฑลทหารบกที่ 16 ในฐานะตัวแทน คสช. ให้ ชะลอการก่อสร้างไว้ก่อนเพื่อตรวจสอบความถูกต้อง และศึกษาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับ พื้นที่อย่างชัดเจน
2.ขอให้สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสมุทรสงคราม หยุดการดำเนินการขุดร่องน้ำใหม่ และชี้แจงระเบียบขั้นตอนที่ใช้ในการอนุญาตขุดร่องน้ำในพื้นที่ชุ่มน้ำดอนหอยหลอด ซึ่งอยู่ในอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ ตลอดจนดำเนินการจัดเวทีประชาคมกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในพื้นที่ชุ่มน้ำดอนหอยหลอด และจัดให้มีการศึกษาผลกระทบอย่างรอบด้าน เนื่องจากเป็นพื้นที่อ่อนไหว และเป็นพื้นที่สาธารณะที่ชุมชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน โครงการหรือกิจกรรมที่อาจมีผลกระทบในการเปลี่ยนแปลงกระแสไหล และเปลี่ยนการกัดเซาะใหม่ รวมถึงผลกระทบถึงดอนสามขา ซึ่งเป็นดอนที่สำคัญของพื้นที่ชุ่มน้ำดอนหอยหลอดอีกด้วย
และ 3.ขอให้มีการระงับการก่อสร้างถนนสายใหม่ โดยบริษัท เอ็นเอสแก๊ส แอลพีจี จำกัดที่บุกรุกลำน้ำสาธารณะ ที่ชาวบ้านใช้ในการสัญจร ตลอดจนกีดขวางทางน้ำ ตลอดจนตรวจสอบการทำถนนในพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติ จะต้องมีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดประเภทและขนาดของโครงการหรือกิจการซึ่งต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบ สิ่งแวดล้อม และหลักเกณฑ์ วิธีการ ระเบียบปฏิบัติและแนวทางการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม
นักวิจัยหวั่นทำลายแหล่งสัตว์น้ำและรายได้ของคนในชุมชน
ศิริวัฒน์ คันธารส นักวิจัยและหนึ่งทีมวิจัยร่วมโครงการจัดเก็บข้อมูลทรัพยากรธรรมชาติ ระบบนิเวศและวิถีชีวิตประชาชน บริเวณพื้นที่ชุ่มน้้าชายฝั่งทะเล (พื้นที่ชุ่มน้้าดอนหอยหลอด) จ.สมุทรสงคราม กล่าวว่า พื้นที่ดังกล่าวมีความสำคัญมาก จากการวิจัยพบว่ามูลค่าทางเศรษฐกิจในพื้นที่ชุ่มน้ำดอนหอยหลอดสูงมาก โดยเฉพาะตัวบริเวณที่กำลังก่อสร้างท่าเทียบเรือกับตรงที่จะขุดดอนหอยหลอดเป็นพื้นที่ที่สำคัญมาก
เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ชาวบ้านใช้ประโยชน์ร่วมกันและไม่ได้ถูกจับจอง เป็นแหล่งเพราะพันธุ์สัตว์น้ำโดยธรรมชาติที่สำคัญมาก ต่างจากพื้นที่ที่ออกไปในทะเลจะมีการทำคอกหอย แต่พื้นที่ตรงนี้ชาวบ้านจะมาหาหอยแบบเก็บมือหรือใช้เครืองมือเล็กๆ ทำมาหากิน พื้นที่นี้ยังเป็นพื้นที่ที่ถูกคุ้มครอง
ศิริวัฒน์ กล่าวต่อว่า จุดตรงหัวท่าเรือใหม่ที่กำลังสร้างชื่อว่าดอนสามขา และเป็นดอนสาธารณะดอนเดียวในพื้นที่ดอนหอยหลอดที่คนไปใช้ประโยชน์ร่วม เป็นแหล่งเกิดหอยตัวเล็กๆ ก่อนที่มันจะกระจายไปทั่วดอนหอยหลอด การที่หอย และสัตว์น้ำมาเกิดตรงนี้เนื่องจากระบบน้ำ ระบบลม และดินมันเหมาะสม จึงมีความสำคัญและเป็นแหล่งเศรษฐกิจและรายได้หลักของคนในชุมชน การทำลายพื้นที่ดังกล่าวจึงเป็นปัญหา นอกจากตัวคลังเก็บแก๊สที่จะกระทบเรื่องอย่างอื่น แค่พูดเรื่องของดอนหอยหลอดเรื่องเดียวก็ไม่สมควรที่จะมาก่อสร้างเลย
ยังไม่นับเรื่องการขวางทางน้ำ เพราะในพื้นที่บางจะเกร็งซึ่งเป็นพื้นที่ใกล้เคียง มีท่าเรืออยู่ท่าหนึ่งซึ่งถูกสร้างคร่อมลำน้ำเดิมของชาวบ้าน ขณะนี้ลำน้ำดังกล่าวตันแล้ว ทำให้ไม่สามารถใช้สัญจรได้ ชาวประมงที่จะขับเรือออกพื้นที่ดังกล่าวต้องอ้อม โดยเฉพาะเรือเล็กที่จะลำบากมากเพราะต้องรอช่วงลมสงบถึงจะขับอ้อมได้ นอกจากนั้นเคยมีคนไปดำน้ำบริเวณท่าเรือดังกล่าวก็พบว่ามีคราบน้ำมัน ชาวบ้านเรียกว่า “โคลนมันเน่า” เนื่องจากการที่มันเป็นท่าเรือเมื่อมีเรือมาจอดก็มีเศษน้ำมัน น้ำล้างเรือ ทำให้เกิดผลกระทบกับพื้นที่
ดังนั้นจึงเกิดความกังวลว่าหากพื้นที่ที่จะสร้างท่าเรือใหม่นี้คราบของเสียที่เกิดจากเรือมันจะกระทบต่อพื้นที่ดอนสามขาและพื้นที่ดอนหอยแครง อีกทั้งตัวเรือที่มาจอดก็จะเกิดการกัดเซาะชายฝั่งเนื่องจากคลื่นสูงขึ้นอีกด้วย
ภาพ: จุดก่อสร้างท่าเรือและขุดคลองใหม่บริเวณปากแม่น้ำแม่กลอง
แถลงการณ์ ‘หยุดทำลายพื้นที่ชุ่มน้ำดอนหอยหลอด’
ที่มาภาพ: เฟซบุ๊ก Siriwat Kantaros
เรียบเรียงจาก: มติชนออนไลน์ และ ประชาไท