เชิญร่วมลงชื่อในแถลงการณ์คัดค้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์ ฉบับที่ ๑

เชิญร่วมลงชื่อในแถลงการณ์คัดค้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์ ฉบับที่ ๑

เชิญร่วมลงชื่อในแถลงการณ์คัดค้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์ ฉบับที่ ๑
แถลงการณ์คัดค้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์ ฉบับที่ ๑
โดย กลุ่มอดีตนักศึกษาที่เคยทำกิจกรรมร่วมกับคณะกรรมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสภาพแวดล้อม ๑๖ สถาบัน (กคอทส.)
๑๗ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๕  (แก้ไขเพิ่มเติมรายชื่อแนบท้าย ๑๘.๐๐ น.)
…………………………………………………………..
จากกรณีที่รัฐบาลมีมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๕๕ อนุมัติให้ดำเนินโครงการสร้างเขื่อนแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์ เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้ง โดยจะใช้งบประมาณก่อสร้างทั้งสิ้น ๑๓,๒๘๐ ล้านบาท ใช้ระยะเวลาก่อสร้างถึง ๘ ปี โดยผูกพันงบประมาณถึงปีงบประมาณ ๒๕๖๒
 
ทั้งนี้ จากการติดตามปัญหาเรื่องเขื่อนแม่วงก์มาตลอดระยะเวลาหลายสิบปี “กลุ่มอดีตนักศึกษาที่เคยทำกิจกรรมร่วมกับคณะกรรมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสภาพแวดล้อม ๑๖ สถาบัน (กคอทส.)” อันเกิดจากการรวมตัวของประชาชนหลากหลายสาขาอาชีพที่เคยทำกิจกรรมด้านอนุรักษ์ธรรมชาติในช่วงที่ศึกษาระดับอุดมศึกษา ในนาม คณะกรรมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสภาพแวดล้อม ๑๖ สถาบัน (คอทส.) และกลุ่มชมรม ชุมชุม กิจกรรมนักศึกษาอื่นๆ ในอีกหลายมหาวิทยาลัย  มีความเห็นร่วมกันว่ามติ ครม. ดังกล่าวเป็นการตัดสินใจที่เร่งด่วน และขาดความรัดกุมเกินไป โดยอาศัยสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ เมื่อปลายปี พ.ศ.๒๕๕๔ ที่ผ่านมาเป็นข้ออ้างในการดำเนินการโครงการดังกล่าวอย่างเลื่อนลอย และขาดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากภาคสังคมประชาชน นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญจากสาขาต่างๆ ทำให้การพิจารณาถึงผลได้ผลเสีย และผลกระทบในด้านต่าง ๆ ถูกละเลยมองข้ามไปอย่างเร่งรีบโดยเจตนาเคลือบแฝงบางประการ
 
กคอทส. มีความเห็นว่าโครงการนี้จะก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรง ต่อความสมดุลทางระบบนิเวศน์ การสูญพันธุ์ของสัตว์ป่าหายาก การสูญเสียผืนป่าธรรมชาติที่เหลืออยู่น้อยเต็มที โดยเฉพาะป่าสักทองธรรมชาติหลายหมื่นต้น
 
ดังนั้น จึงมีข้อเสนอต่อสาธารณชนและรัฐบาลดังนี้
๑. ยกเลิกมติครม. วันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๕๕
ให้รัฐบาลยกเลิกมติ ครม. วันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๕๕ ที่อนุมัติให้ดำเนินโครงการสร้างเขื่อนแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์ รัฐบาลควรพิจารณาความเห็นของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๕ ที่มีมติไม่เห็นชอบในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ของโครงการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ พร้อมเสนอให้กรมชลประทานกลับไปศึกษาเพิ่มเติมในเรื่องการบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบ มากกว่าที่จะเสนอให้มีการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่เป็นทางเลือกเดียวเท่านั้น
 
๒. ในกรณีการแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งนั้น รัฐจะต้องสร้างกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างเป็นรูปธรรมและจริงใจ เลิกความคิดการแก้ปัญหาแบบไร้ทางเลือกให้แก่คนในสังคม
หลายปีที่ผ่านมาโครงการเขื่อนขนาดใหญ่ ถูกตั้งข้อกังขาจากสังคมมาโดยตลอดว่าจะแก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งได้จริงและคุ้มค่ากับทรัพยากรธรรมชาติที่สูญเสียไปหรือไม่ รวมทั้งการดำเนินโครงการเม็กกะโปรเจ็คของรัฐในหลายโครงการ โดยไม่รับฟังความคิดเห็นจากประชาชน ได้สร้างปัญหาความขัดแย้งแตกแยกทางความคิดของคนในสังคมมาโดยตลอด นั่นชี้ให้เห็นว่าสังคมไทยขาดกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชนที่มีประสิทธิภาพ ในการจัดการกับปัญหาความไม่ลงรอยทางความคิดเหล่านี้ได้ ในบรรยากาศที่รัฐบาลและทุกภาคส่วนปรารถนาบรรยากาศการปรองดอง
 
กคอทส. จึงมีความปรารถนาจะเห็นนโยบายการแก้ปัญหาเรื่องการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาล ที่เกิดประโยชน์กับประชาชน โดยผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วนอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมศึกษารับฟังผลกระทบอย่างรอบด้านก่อนอนุมัติดำเนินโครงการจัดสร้าง
 
ทั้งนี้ กคอทส. จะดำเนินการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและจัดกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจเรื่องโครงการเขื่อนแม่วงก์และการแก้ปัญหาน้ำท่วมอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนมากที่สุด
 
ขอแสดงความนับถือ
กลุ่มอดีตนักศึกษาที่เคยทำกิจกรรมร่วมกับคณะกรรมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสภาพแวดล้อม ๑๖ สถาบัน (กคอทส.)

สามารถลงชื่อคัดค้านได้ที่ลิงก์  https://docs.google.com/spreadsheet/embeddedform?formkey=dFRiXzJmRExPY2lENU5UM2NiRUZKWUE6MQ

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ