ระบบการศึกษาไทยที่เน้นความรู้ทางวิชาการ มากกว่าการปฏิบัติจริง ทำให้ทักษะการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ รวมถึงการประยุกต์ใช้ความรู้ที่มีของเด็กและเยาวชน ไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร
ในวันเสาร์ที่ 17 มกราคม 2558 ที่จะถึงนี้ องค์กรเครือข่ายเยาวชนสืบสานภูมิปัญญา โครงการพัฒนารูปแบบสถาบันการจัดการเรียนรู้ด้านเด็กเยาวชนบนฐานชุมชน ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) ศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกันจัด เวทีการศึกษาบนฐานชุมชน ตอน คนมีราก ณ โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา เลขที่ ๓๕ ถนนรัตนโกสินทร์ ตำบลวัดเกตุ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เวลา ๐๘.๐๐-๑๕.๓๐ น.
มองย้อนไปตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ระบบการศึกษาของไทย มักให้ความสำคัญกับหลักการความรู้ทางวิชาการ มากกว่าความรู้จากการปฏิบัติจริงและความรู้จากชุมชนท้องถิ่นเข้ามาประยุกต์ใช้ในการศึกษา ทำให้ผู้เรียนขาดมิติความสัมพันธ์ที่เกี่ยวร้อยกับรากฐานของตนเอง ส่งผลให้การสร้างสรรค์เยาวชนคนรุ่นใหม่ ที่มีบทบาทในการพัฒนาชุมชนและสังคม ไม่เกิดความยั่งยืนอย่างแท้จริง จากการวิเคราะห์ผลการประเมินคุณภาพภายนอกของ สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(สมศ.)ทั้งสามรอบ ตั้งแต่ปี 2544-2557 พบว่า ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นกลุ่มที่น่าเป็นห่วงที่สุด คือ มีกลุ่มโรงเรียนที่ผ่านการประเมิน รอบ 2 แต่รอบสามไม่ผ่านการประเมิน จำนวน 9,418 แห่ง สาเหตุเกิดจากปัญหาด้านบุคลากร วิธีการเรียนการสอนที่เน้นท่องจำ ทำให้ผู้เรียนขาดทักษะการคิดวิเคราะห์ ขาดการแสวงหาความรู้ ขาดการเรียนรู้ที่จะประยุกต์ใช้สิ่งต่างๆมาแก้ไขปัญหา ซึ่งนับวันคุณค่าความเป็นชุมชนท้องถิ่น ที่เป็นตัวยึดเหนี่ยวจิตใจคนในชุมชนไว้ด้วยกัน กลับลดน้อยลงไปตามยุคสมัยที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
ซึ่งนิยามของ “คนมีราก” คือ เป็นผู้ที่รู้จักตนเอง รู้รากเหง้า สัมพันธ์ใกล้ชิดกับสิ่งรอบตัวอย่างลึกซึ้ง มีความภาคภูมิใจในอัตลักษณ์ของตนและวิถีชุมชนตนเอง เพื่อให้เด็กและเยาวชนรุ่นใหม่ มีภูมิคุ้มกันในการดำเนินชีวิตอย่างเท่าทันการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย สามารถกำหนดอนาคตตนเอง และมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนและสังคมอย่างเต็มศักยภาพ ผ่านประวัติศาสตร์ชุมชน ฐานทรัพยากรธรรมชาติ วิถีการทำมาหากิน ประเพณีพิธีกรรม ด้วยกระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลาย ทั้งการฟัง การฝึกอบรม การร่วมทำกิจกรรม การลงมือทำ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ รวมถึงการสรุปบทเรียนร่วมกัน จนสามารถนำความรู้ใหม่มาสร้างความเข้มแข็งให้ตนเอง ชุมชน และสังคมได้เป็นอย่างดี
โดยมีกลุ่มเป้าหมายของการจัดงานครั้งนี้ ได้แก่ หน่วยงานด้านการศึกษาในพื้นที่, นักวิชาการด้านการศึกษา, องค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านเด็กและเยาวชน, องค์กรสนับสนุนโครงการ/กิจกรรม, เครือข่ายสมัชชาปฏิรูปการศึกษา, นักเรียน นิสิต นักศึกษา, สื่อมวลชน, เพื่อนอาเซียน การจัดเวทีครั้งนี้จึงเป็นการขยายผลแนวคิด และรูปธรรมการจัดการศึกษาบนฐานชุมชนต่อสาธารณะ และแลกเปลี่ยนบทเรียนการสืบทอดภูมิปัญญาของกลุ่มชุมชนท้องถิ่นในอาเซียน เป็นการนำเสนอแนวคิด รูปธรรมการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลายของการศึกษาบนฐานชุมชน และขยายผลไปสู่เครือข่ายการทำงานด้านเด็กและเยาวชน ทั้งในระดับประเทศและระดับอาเซียน
กำหนดการเวที การศึกษาบนฐานชุมชน ตอน คนมีราก
วันเสาร์ที่ ๑๗ มกราคม ๒๕๕๘ ณ โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา จ.เชียงใหม่
เวลา |
รายการ |
---|---|
๐๘.๐๐-๐๙.๐๐ |
ลงทะเบียนและเดินชมนิทรรศการห้องเรียนชุมชน
รับประทานอาหารว่าง |
๐๙.๐๐-๐๙.๑๕ |
ชมวีดีทัศน์ เรื่อง การศึกษาบนฐานชุมชน ตอน คนมีราก |
๐๙.๑๕-๐๙.๓๐ |
กล่าวเปิดงานเวทีการศึกษาบนฐานชุมชน ตอน คนมีราก โดยคุณเพ็ญพรรณ จิตตะเสนีย์ ผู้อำนวยการสำนักสุขภาวะเด็กเยาวชนและครอบครัว สสส. |
๐๙.๓๐-๐๙.๔๕ |
ชี้แจงวัตถุประสงค์และความเป็นมาของการจัดเวที การศึกษาบนฐานชุมชน ตอน คนมีราก โดย คุณชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ผู้จัดการโครงการพัฒนารูปแบบสถาบันการจัดการเรียนรู้ด้านเด็กเยาวชนบนฐานชุมชน และประธานมูลนิธิสืบสานล้านนา |
๐๙.๔๕-๑๐.๐๐ |
ชมละครเด็ก เรื่องสืบสาน โดย กลุ่มรักษ์เขาชะเมา จ.ระยอง |
๑๐.๐๐-๑๑.๐๐ |
เด็กสืบสานเล่าเรื่อง “การศึกษาบนฐานชุมชน” โดยตัวแทนจาก
ดำเนินรายการโดย คุณคิด แก้วคำชาติ |
๑๑.๐๐-๑๒.๐๐ |
สะท้อนมุมมองการศึกษาบนฐานชุมชน และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดย ผู้ทรงคุณวุฒิ *
และเปิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ดำเนินรายการโดย คุณคิด แก้วคำชาติ |
๑๒.๐๐-๑๓.๐๐ |
พักทานอาหารกลางวัน /การแสดงสืบสานวัฒนธรรม ๔ ภาค |
๑๓.๐๐-๑๔.๐๐ |
เพื่อนอาเซี่ยนนำเสนอประสบการณ์การจัดการศึกษาบนฐานชุมชน(มีล่ามแปลไทย)
ดำเนินรายการโดย คุณสาวิตรี พูลสุขโข |
๑๔.๐๐-๑๕.๐๐ |
การแลกเปลี่ยนมุมมองการขับเคลื่อนการศึกษาบนฐานชุมชนร่วมมือกับภาคีเครือข่าย โดย ผู้ทรงคุณวุฒิ *
**เปิดเวทีแลกเปลี่ยน ดำเนินรายการโดย คุณสาวิตรี พูลสุขโข |
๑๕.๐๐-๑๕.๑๕ |
เครือข่ายเยาวชนสืบสานภูมิปัญญา แถลงการณ์ ขับเคลื่อนการศึกษาบนฐานชุมชนเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ปิดเวทีด้วยกลองสะบัดชัย |