แนวร่วมกู้ชีพชาวสวนยางออกแถลงการณ์เรียกร้องราคายาง กก.ละ 60 บาท ขู่จัดชุมนุมใหญ่ พร้อมร่วมเคลื่อนกับแกนนำชาวสวนยางภาคใต้ที่จังหวัดตรัง 12 ม.ค.นี้ ด้านเวทีชาวสวนยางเมืองคอนเริ่มแล้วส่อยืดเยื้อ จนท.ตรึงกำลังเข้ม
แนวร่วมกู้ชีพสวนยางใต้ ร้องราคายาง ก.ก.ละ 60
10 ม.ค. 2559 สุนทร รักษ์รงค์ ผู้ประสานงานแนวร่วมกู้ชีพชาวสวนยาง และนายกสมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้ เผยแพร่แถลงการณ์แนวร่วมกู้ชีพชาวสวนยาง เรื่องการแก้ไขปัญหาราคาตกต่ำ หลังการประชุมคณะกรรมการแนวร่วมกู้ชีพชาวสวนยาง ที่สหกรณ์การเกษตรท่าแซะ ต.ท่าเคย อ.ท่าฉาง จ.สุราษฎร์ธานี วันนี้ (10 ม.ค.)
การประชุมมีมติ 1.เรียกร้องให้รัฐบาลเร่งดำเนินการโครงการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางอย่างเร่งด่วน 2.ให้รัฐบาลยุติการขายยางพาราในสต๊อค 3.6 แสนตัน โดยประกาศเป็น Dead Stock และใช้มาตรา 44 เพื่อบังคับให้นำยางล็อตดังกล่าวมาใช้ในประเทศ 3.กลไกการยางแห่งประเทศไทยต้องขับเคลื่อนโดยเกษตรกรชาวสวนยางมีส่วนร่วมมากที่สุด
“ให้การยางแห่งประเทศไทยขับเคลื่อนโดยเกษตรกรมีส่วนร่วมมากที่สุด เพื่อให้ พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย เป็นเครื่องมือและกลไกในการปฏิรูปยางพาราทั้งระบบ โดยให้มีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (บอร์ดการยาง) ทันทีเมื่อเปิดประชุมคณะรัฐมนตรี และสรรหาผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทยโดยเร็วที่สุด” แถลงการณ์ระบุ
4.เรียกร้องราคายางพาราที่กิโลกรัมละ 60 บาท หากรัฐบาลทำไม่ได้ พร้อมชุมนุมใหญ่ โดยที่ประชุมมีมติสนับสนุนและเข้าร่วมกิจกรรมกับทุกเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยาง และสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางทั่วประเทศในการต่อสู้เพื่อเกษตรกรชาวสวนยาง และเข้าร่วมประชุมแกนนำเกษตรกรชาวสวนยางภาคใต้ที่จังหวัดตรัง ในวันที่ 12 ม.ค.นี้
5.ให้ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทบทวนการทำงานของ นายอำนวย ปะติเส ที่ปรึกษารัฐมนตรีฯ และ นางจินตนา ชัยยวรรณการ ผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ เพราะไม่มีความสามารถ และสร้างความแตกแยกให้กับเกษตรกรชาวสวนยาง
เวทีชาวสวนยางเมืองคอนเริ่มแล้วส่อยืดเยื้อ จนท.ตรึงกำลังเข้ม
มติชนรายงานความเคลื่อนไหวเกษตรกรสวนยางที่ จ.นครศรีธรรมราชว่า วันนี้ (10 ม.ค.) ตั้งแต่ช่วงเช้า กลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางรายย่อยได้ทยอยเดินทางมาเตรียมความพร้อมบริเวณสนามหน้าศาลาประชาคม อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช โดยมีการตั้งเต็นท์ทั้งสองฝั่งสนาม นำรถกระบะติดตั้งเครื่องเสียงทำเป็นเวทีปราศรัย โดยหันหลังให้ที่ว่าการอำเภอทุ่งสง มีการขึ้นป้ายไวนิลรอบเวที ท่ามกลางการรักษาความสงบเรียบร้อยของเจ้าหน้าที่ ทหาร ฝ่ายปกครอง และตำรวจ ทั้งในและนอกเครื่องแบบ
มนัส บุญพัฒน์ เกษตรกรชาวสวนยางรายย่อย เปิดเผยว่า ขณะนี้ชาวสวนยางกำลังทยอยเดินทางมา เนื่องจากบางพื้นที่อยู่ห่างไกลจาก อ.ทุ่งสง อย่างไรก็ตามไม่ได้กำหนดว่าจะต้องมีจำนวนผู้ร่วมงานจำนวนเท่าไหร่ เพราะไม่ได้จัดตั้ง แต่มาเพราะความเดือดร้อน มาเพื่อบอกกล่าวและร่วมกันแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ส่วนข้อเรียกร้องวันนี้เราจะสรุปกันในเย็นวันนี้น่าจะมี 3-4 ข้อ
“การตั้งเวทีในวันนี้ตรงตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ 3 ประการก่อนหน้านี้ ซึ่งประกอบด้วย 1) ร่วมกันออกมาแสดงความเดือดร้อน เพื่อขอคำยืนยันในการแก้ไขปัญหาจากรัฐบาล 2) ประสานงานชาวสวนยางในทุกจังหวัด ทุกภาค ทุกองค์กร ที่เดือดร้อนถ้วนหน้า 3) ร่วมแสดงตนของผู้เดือดร้อนในวันที่ 10 ม.ค. 59 เท่านี้เราก็สามารถทำงานตรงตามเป้า สิ่งหนึ่งที่พวกเราต้องการคือข้อเรียกร้องที่จะให้รัฐบาลช่วยเหลืออย่างจริงจังเสียที เวทีนี้ต้องการสะท้อนให้เห็นว่าชาวสวนยางรายย่อยเดือดร้อนอย่างหนัก การบอกกล่าวว่าราคายางพาราขึ้นทุกครั้งที่มีข้อเรียกร้อง อยากบอกว่านั่นเป็นราคายางแผ่นรมควัน มิใช่ยางแผ่นดิบ เศษยาง หรือน้ำยางสด” หนึ่งในเกษตรกรชาวสวนยางกล่าว
เรืองยศ เพ็งสกุล ประธานวิสาหกิจชุมชนคนกรีดยางและชาวสวนยางรายย่อยถ้ำพรรณรา ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชน 17 กลุ่มโรงงาน กล่าวว่า เรามาเพื่อเรียกร้องความช่วยเหลือจากรัฐบาล วันนี้เราจะสรุปข้อเรียกร้องและยื่นข้อเสนอต่อผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ซึ่งจะมีกี่ข้อนั้นค่อยว่ากันอีกครั้ง ข้อเสนอในครั้งนี้หากผู้ช่วยฯ ไม่สามารถช่วยเหลือได้ ก็ไม่ยื่น เพราะท่านมาเพื่อรับเรื่องแต่ไม่แก้ปัญหาแต่อย่างใด เมื่อยื่นไม่ได้ก็ไม่ยื่นจะรอการจนกว่าจะมีคำตอบให้การช่วยเหลือ จะนั่งจะนอนกันจนกว่าจะได้คำตอบ ไม่อยากให้เหมือนครั้งที่ผ่านมา
เครือข่ายสวนยางภาคใต้ยันเปิดเวที 12 ม.ค.ขู่หากรัฐบาลยังเฉยพร้อมยกระดับ
ผู้จัดการรายงานว่า วันนี้ (10 ม.ค.) ประทบ สุขสนาน ประธานเครือข่ายชาวสวนยางภาคใต้ พร้อมด้วย ไพรัช เจ้ยชุม ประธานเครือข่ายชาวสวนยางจังหวัดพัทลุง รองประธานชุมนุมชาวสวนยางแห่งประเทศไทย และถนอมเกียรติ ยิ่งฉ้วน เลขานุการเครือข่ายชาวสวนยางภาคใต้ ร่วมกันยืนยันการเปิดเวทีประชุมพิจารณาข้อเรียกร้องของตัวแทนเกษตรกรชาวสวนยางในภาคใต้ ว่าจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนในวันอังคารที่ 12 ม.ค.นี้ ณ สำนักงานการยางแห่งประเทศไทย สำนักงานตรัง (สกย.ตรัง)
ทั้งนี้ เพื่อพิจารณาปัญหาข้อเรียกร้องร่วมกัน จำนวน 4 หัวข้อ ประกอบด้วย 1.ให้เปิดเผยเนื้อหาสัญญาซื้อขายยาง จำนวน 2 แสนตัน ที่การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ทำกับบริษัท ไซโนแคม จำกัด ประเทศจีน 2.ให้มีการแต่งตั้งบอร์ดการยางแห่งประเทศไทยโดยด่วน
3.ให้เร่งรัดการจ่ายเงินชดเชยชาวสวนยางตามโครงการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง อัตราไร่ละ 1,500 บาท รายละไม่เกิน 15 ไร่ โดยเร็วที่สุด เพราะล่าสุด ทั่วประเทศจ่ายไปได้แค่ประมาณ 2,000 รายเท่านั้น เหลืออีกว่า 90% ยังไม่ได้จ่าย ซึ่งไม่สามารถช่วยบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกรได้
และ 4.เรียกร้องให้รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มารับฟังปัญหาข้อเรียกร้องของเกษตรกร หรือเปิดเวทีรับฟังปัญหาหาทางออกด้วยตัวเอง ไม่ใช่ส่งตัวแทนตระเวนรับข้อเรียกร้องจากแต่ละกลุ่ม แล้วรอรับฟังรายงานเสนอ
เนื่องจากที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่าข้อเรียกร้อง หรือข้อเสนอของเกษตรกรที่เสนอผ่านตัวแทนที่ไม่ใช่ระดับผู้บริหาร จะผิดเพี้ยนไม่ตรงจุดความต้องการของเกษตรกร จนนำสู่การแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุด ล่าช้า ไม่เป็นไปตามข้อเรียกร้อง ทำให้เกษตรกรยังได้รับความเดือดร้อน จึงมีการเปิดเวที หรือออกมาเรียกร้องซ้ำแล้วซ้ำเล่าไม่สิ้นสุด เนื่องจากปัญหาไม่ได้รับการแก้ไข และสุดท้ายมากล่าวหาว่า ชาวสวนมีข้อเรียกร้องไม่มีที่สิ้นสุด
พร้อมกันนั้น เครือข่ายชาวสวนยางภาคใต้ ยังติงนายกรัฐมนตรีที่ออกมาให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน กรณีปัญหาความเดือดร้อนของชาวสวนยาง โดยใช้คำพูดไม่เหมาะสม ทำให้ชาวสวนยางที่ได้ฟังแล้วเกิดความรู้สึกไม่สบายใจ และเสียความรู้สึกในตัวผู้นำประเทศเป็นอย่างมาก พร้อมขอร้องให้นายกรัฐมนตรีช่วยรับฟังปัญหา และให้กำลังใจชาวสวนยาง โดยอย่ามาซ้ำเติม ข่มขู่ และรีบแก้ปัญหา
รวมทั้งยังตำหนิรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรกรและสหกรณ์ ที่ออกมากล่าวว่า หากจะให้ช่วยเหลือเรื่องการประกันราคา รัฐบาลคงให้ได้แค่กิโลกรัมละ 35 บาทนั้น ขอให้ไปเปิดดูตัวเลขสภาวะเศรษฐกิจการยางของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งได้กำหนดต้นทุนการผลิตยางว่าอยู่ที่กิโลกรัมละ 49 บาท รัฐบาลก็สมควรจะตั้งประกันราคาที่ไม่ต่ำกว่านั้น เพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกร
นอกจากนั้น ตัวแทนเครือข่ายชาวสวนยางภาคใต้ยังระบุอีกว่า การเปิดเวทีเรียกร้องปัญหาราคายางตกต่ำในวันอังคารที่ 12 ม.ค.นี้ จะขอให้เป็นครั้งสุดท้าย โดยที่รัฐบาลต้องนำเอาข้อเสนอแนะไปดำเนินการแก้ไขให้แก่ชาวสวนยางอย่างจริงจัง และเร่งด่วน หากไม่รับฟังกันอีกก็พร้อมจะหารือกันในที่ประชุมดังกล่าว เพื่อกำหนดเงื่อนเวลาให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาหรือจะมีการเดินหน้ายกระดับการเรียกร้องอย่างไรหรือไม่ต่อไป
“ประยุทธ์” สั่ง 8 กระทรวงใช้งบช่วยรับซื้อยาง ส่งออเดอร์มาที่สำนักเลขาครม.
กรุงเทพธุรกิจ รายงานวันนี้ (10 ม.ค. 2559) ว่าเมื่อเวลา 13.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงถึงปัญหาราคายางพาราตกต่ำว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีความเป็นห่วงเรื่องปัญหายาง และได้ติดตามปัญหานี้มาอย่างต่อเนื่อง
เมื่อวันที่ 7 ม.ค.ที่ผ่านมามีการประชุมกันกับตัวแทนทุกฝ่ายที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งได้ข้อยุติที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องกันว่าเป็นแนวทางที่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างชัดเจน แม้อาจไม่ทำให้เป็นที่ถูกใจทั้งหมดได้ แต่ถือว่าช่วยทำให้ปัญหาทั้งหลายผ่อนจากหนักเป็นเบา
ข้อยุติในวันนั้นคือ ทุกส่วนที่เกี่ยวข้องกับการรับซื้อยางตกลงกันจะซื้อยางไม่ให้ราคาต่ำกว่าที่เป็นอยู่ ซึ่งปัจจุบันราคายางแผ่นดิบชั้น 3 อยู่ที่กิโลกรัมละ 34 บาท โดยจะยังไม่พูดถึงข้อกฎหมาย และจะยกระดับราคาให้สูงขึ้นเท่าที่ทำได้ในเวลาที่เหมาะสม ขณะเดียวกัน จากวันนี้ถึงวันที่ปิดกรีดยางคือ อีก 3 เดือน ประมาณการณ์กันว่าจะมียางออกสู่ตลาดประมาณ 8 แสนตัน ซึ่งกลุ่มที่ซื้อยางทุกส่วนยอมรับในกฎกติกาว่าจะแบ่งสันปันส่วนกันซื้อยางให้หมด ไม่ให้มียางตกค้าง
นอกจากนี้ ในส่วนของ 16 มาตรการของรัฐบาลชุดนี้จะยังดำเนินต่อไป แล้วเรามั่นใจว่าทุกส่วนที่เกี่ยวข้องจะนำเรื่องนี้ไปชี้แจงให้เกษตรกรที่เกี่ยวข้องรับทราบ
พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า การยกราคาให้สูงตามที่มีการเรียกร้องกันนั้นยาก เพราะทุกคนทราบดีว่าราคายางโลกตก ปริมาณล้นตลาด จึงอยากให้คุยด้วยเหตุผล ไม่อยากเห็นการกดดันรัฐบาลแล้วทำผิดกฎหมาย เพราะปัจจุบันการชุมนุมกระทำไม่ได้ แต่รัฐบาลไม่อยากพูดเรื่องกฎหมายเพราะมันเป็นยาแรง เกษตรกรกำลังเดือดร้อนอยู่ จะบั่นทอนความรู้สึกเขา แต่เรียนไว้ว่าไม่อยากให้ทำเลย หากจะรวมกันประชุมเพื่อสรุปข้อมูลทั้งหลายแล้วรายงานมาให้เจ้าหน้าที่ภาครัฐเรายินดีรับฟัง แต่หากจะปิดถนน เดินขบวน มากทม. ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่แท้จริง
ทั้งนี้ สำหรับความคืบหน้าที่นายกฯ ได้ติดตามและฝากคือ เรื่องบอร์ดการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ที่ขณะนี้ยังไม่เสร็จ นายกฯ สั่งการเร่งรัดให้ส่วนที่เกี่ยวข้องให้เอาเข้าที่ประชุม ครม.ให้ได้ หากวันที่ 12 ม.ค.ไม่ทันก็นำเข้าสัปดาห์หน้า ซึ่งถ้าบอร์ดเรียบร้อยกลไกทั้งหลายจะเดินไปอย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ หลังจากตกลงกันแล้วเมื่อวันที่ 7 ม.ค.จะมีส่วนต่างๆ ไปไล่ตรวจสอบว่ามีผู้รับซื้อคนใดไม่ปฏิบัติตามกติกาหรือไม่ ถ้ามีจะติดต่อเป็นรายบุคคลเป็นการเตือน ถ้ายังประพฤติอยู่ต้องว่ากันด้วยกฎหมาย แต่จะยังไม่พูดถึงมาตรา 44 เพราะยังมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องควบคุมอยู่ คือ พ.ร.บ.ควบคุมยาง พ.ศ.2542 กับกฎหมายควบคุมสินค้า ทั้งนี้ เชื่อว่าอย่างน้อยมาตรการดังกล่าวจะไม่ทำให้ราคายางตกไปกว่านี้
พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า นายกฯ มีคำสั่งไปยังกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ คมนาคม มหาดไทย ศึกษาธิการ สาธารณสุข กลาโหม อุตสาหกรรม พาณิชย์ เกษตรและสหกรณ์ จากนั้นจะต้องรวบรวมความต้องการว่าจะช่วยรับซื้อยางในความรับผิดชอบของแต่ละกระทรวงอย่างไร ให้กับสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี แล้วส่งสำเนามาให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รวบรวมภายในเวลา 12.00 น.วันที่ 11 ม.ค.นี้ โดยนายกฯ ให้แต่ละกระทรวงใช้งบประมาณตัวเองในการรับซื้อ และมีความเป็นไปได้ว่าจะรายงานเข้าที่ประชุมครม.วันที่ 12 ม.ค.นี้เลย
ยืนยันว่ารัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ และวิงวอนว่าอย่าทำในลักษณะที่กดดันรัฐบาล เพราะการกดดันไม่สามารถแก้ปัญหาได้ หากคุยด้วยเหตุผลยอมรับว่าราคาไปแค่ไหนอย่างไร ทำอย่างไรไม่ให้ราคาทรุดไปกว่านี้
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีอะไรเป็นหลักประกันว่าราคาจะไม่ตกกว่านี้ พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า ความจริงใจ รัฐบาลเข้ามาแก้ปัญหาทุกเรื่อง เกษตรกรทุกกลุ่มรัฐบาลรับมาหมด อะไรที่เป็นปัญหาของเกษตรกรเราพยายามลงไปให้ถึงต้นตอจริงๆ รับฟังว่ามันทำได้แค่ไหน หากอุดหนุนแค่พึงพอใจชั่วคราวถือว่าไม่ถูกต้อง