เครือข่ายปฏิรูปน้ำระบุอ้างแล้งผุดโครงการใหญ่ ให้ยกเลิกคำสั่ง 9/2559

เครือข่ายปฏิรูปน้ำระบุอ้างแล้งผุดโครงการใหญ่ ให้ยกเลิกคำสั่ง 9/2559

เครือข่ายปฏิรูปน้ำภาคเหนือ ออกแถลงการณ์ ยกเลิกคำสั่ง 9/2559 ระบุอ้างสถานการณ์น้ำท่วมน้ำแล้งในการผลักดันโครงการจัดการน้ำขนาดใหญ่ซึ่งไม่ได้เป็นแนวทางการแก้ปัญหาอย่างถูกวิธีและยั่งยืน

16  มี.ค. 59 (วันนี้) เครือข่ายปฏิรูปน้ำ จากลุ่มน้ำต่างๆในเขตพื้นที่ภาคเหนือ ร่วมประชุม ณ เครือข่ายเกษตรกรภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่  มีตัวแทนจากเครือข่ายลุ่มน้ำต่างๆ อาทิเช่น ลุ่มน้ำยม ลุ่มน้ำแม่แจ่ม-แม่ปิง  ลุ่มน้ำคลองชมพู เข้าร่วมแลกเปลี่ยนสถานการณ์ต่างๆภายในพื้นที่ รวมไปถึงในตอนท้ายมีการออกแถลงการณ์เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำภาคเหนือ เรื่องยกเลิกคำสั่ง 9/2559 อีกด้วย

นาย เชาว์ เย็นฉ่ำ ประธานเครือข่ายอนุรักษ์ลุ่มน้ำชมพู กล่าวว่า หลังจากกองพลทหารราบที่ 4 ค่ายสมเด็จพระนเรศวรฯจังหวัดพิษณุโลก มีการจัดการประชุมแก้ไขปัญหาโครงการก่อสร้างเขื่อนคลองชมพู และมีแผนว่าจะจัดเวทีแสดงความคิดเห็นครั้งต่อไปในวันที่ 10 มีนาคม 59 ในเบื้องต้นทางชาวบ้านชมพูยืนยันว่าจะไม่เข้าร่วมเนื่องจากไม่มีการทำหนังสือที่เป็นทางการมายังกลุ่มตน ทั้งที่เป็นพื้นที่ต้นน้ำและชาวบ้านจากสองหมู่บ้านในเขตต้นน้ำได้รับผลกระทบโดยตรง

โดยเบื้องต้นมีข้อเสนอจากทางเครือข่ายลุ่มน้ำคลองชมพูอาจมีการยกเวทีให้คณะกรรมการสิทธิฯ เป็นผู้จัดเวทีประชาคมให้ทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมในการแสดงความคิดเห็น สำหรับสาเหตุที่ประชาชนในพื้นที่ไม่ต้องการเขื่อนคลองชมพูนั้น เกรงว่าจะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สัตว์ป่า และพันธ์ไม้หายาก โดยเฉพาะจระเข้ที่ใกล้สูญพันธ์ และระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์บริเวณลุ่มน้ำอาจมีการเปลี่ยนแปลงหากมีการสร้างเขื่อนจริง

นาย สมมิ่ง เหมืองร้อง ประธานคณะกรรมการคัดค้านเขื่อนแก่งเสือเต้น กล่าวว่า พื้นที่แก่งเสือเต้นที่ผ่านมาหลังจากมีการพยายามจะสร้างเขื่อนแล้ว โดยใช้วิธีการทั้งการเปลี่ยนชื่อจากโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นมาเป็นเขื่อนยมบน ยมล่าง หรือแม้กระทั่งโครงการเตาปูน ทั้งจากการให้เหตุผลอื่นๆเข้ามาเก็บข้อมูลในพื้นที่หลายครั้งรวมไปถึงมีการแอบประชุมลับจากหน่วยงานราชการอยู่เป็นระยะ แต่ในขณะเดียวกันในทางพื้นที่เองก็ยังคงดำเนินงานในการอนุรักษ์ต้นน้ำและป่าสักทองเอาไว้ในรูปแบบกิจกรรมต่างๆอยู่ทั้งจากคนในพื้นที่เองและการเข้ามาดูงานจากหน่วยงานข้างนอก

นาย สมเกียรติ มีธรรม ผู้อำนวยการสถาบันอ้อผะหญา กล่าวว่า สำหรับคำสั่ง ที่ 9/ 2559 ตนมีความกังวลเป็นอย่างมากเกี่ยวกับคำสั่งดังกล่าวที่อาจมีการส่งช่วงต่อผู้รับเหมาในการดำเนินโครงการต่างๆ ระหว่างที่มีการดำเนินการตรวจสอบผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมได้ทันทีโดยไม่ต้องรอให้มีการทำรายงานดังกล่าวแล้วเสร็จ ซึ่งแน่นอนว่าย่อมเกิดผลกระทบต่อชุมชนโดยเฉพาะเป็นการละเมิดสิทธิชุมชน และส่งผลต่อความไม่ปลอดภัยต่อแกนนำที่ออกมาเรียกร้องสิทธิชุมชนของตนมากขึ้น

20161603165101.jpg

                                           แถลงการณ์ เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำภาคเหนือ

                                                 เรื่อง “ยกเลิกคำสั่ง 9/2559”  

                 ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาภาครัฐมักมีการฉวยโอกาสอ้างสถานการณ์น้ำท่วมน้ำแล้งในการผลักดันโครงการจัดการน้ำขนาดใหญ่ซึ่งไม่ได้เป็นแนวทางการแก้ปัญหาอย่างถูกวิธีและยั่งยืน เนื่องจากขาดการมีส่วนร่วมและไม่ตรงกับความเป็นจริงทางสังคมและสิ่งแวดล้อมของพื้นที่นั้นๆ  ผลก็คือก่อให้เกิดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคม ระบบนิเวศลุ่มน้ำถูกทำลาย ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งรุนแรงและขยายตัวมากขึ้น สร้างความขัดแย้ง เกิดการคอร์รัปชั่น และสูญเสียงบประมาณอันเป็นภาษีของประชาชนโดยเปล่าประโยชน์

                ในกรณีคำสั่งคสช. 9/2559 เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำภาคเหนือ(คปน.) เห็นว่าเป็นการรวบลัดขั้นตอนการดำเนินโครงการและกิจการขนาดใหญ่ ซึ่งจะทำให้ 1) มีการผลักดันและเร่งรัดปัดฝุ่นเอาโครงการสร้างเขื่อนและผันน้ำเก่าที่เคยมีปัญหาและไม่มีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจมาดำเนินงาน 2) สร้างความขัดแย้งระหว่างชาวบ้าน ภาคเอกชน และหน่วยงานภาครัฐ รวมทั้งระหว่างประชาชนกันเองซึ่งสวนทางกับการปรองดอง 3) เกิดผลประโยชน์ทับซ้อน 4) สร้างความไม่ไว้วางใจต่อหน่วยงานรัฐเพราะแม้แต่หน่วยงานรัฐเองก็ตอบไม่ได้ว่าโครงการจัดการน้ำทั้ง 8 โครงการนั้นคืออะไรบ้าง  5) การจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA)ขาดคุณภาพมากขึ้น  6) ขัดกับรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 มาตรา 4 ว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและชุมชน  7) เกิดความเสี่ยงต่อการคุกคามชุมชนและผู้นำชุมชนมากขึ้น

                เพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าวข้างต้น เกิดการจัดการน้ำอย่างเป็นธรรม และคืนความสุขให้ประชาชนอย่างแท้จริง  เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำภาคเหนือ(คปน.) อันประกอบด้วย 1) คณะกรรมการคัดค้านเขื่อนแก่งเสือเต้น ยมบน-ยมล่าง จ.แพร่ 2) เครือข่ายชุมชนรักษ์ป่าลุ่มน้ำแม่แจ่มตอนบน จ.เชียงใหม่ 3) เครือข่ายคัดค้านเขื่อนแม่ขาน จ.เชียงใหม่ 4) เครือข่ายคัดค้านเขื่อนห้วยตั้ง จ.ลำพูน 5) เครือข่ายอนุรักษ์ลุ่มน้ำชมภู จ.พิษณุโลก 6) เครือข่ายคัดค้านโครงการเขื่อนโป่งอาง จ.เชียงใหม่ 7) เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบโครงการผันน้ำป๋าม จ.เชียงใหม่   จึงมีข้อเรียกร้อง ดังนี้

1.       ให้ยกเลิกคำสั่ง 9/2559 เพื่อให้มีการดำเนินงานโครงการต่างๆไปเป็นตามกระบวนการปกติ

2.       เร่งฟื้นฟูและรักษาแหล่งน้ำตามธรรมชาติอย่างบูรณาการ โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน

3.       ยุติการขุดลอกแม่น้ำ และการจัดการน้ำที่ก่อให้เกิดผลกระทบอื่นๆ

 

                                                                          เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำภาคเหนือ(คปน.)

                                                                                   วันที่ 16 มีนาคม 2559

 

 

 

 

 

 

 

 

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ