เกษตรพันธสัญญา : ประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจกับความเป็นธรรมต่อเกษตรกร

เกษตรพันธสัญญา : ประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจกับความเป็นธรรมต่อเกษตรกร


เมื่อวันที่ 26 -27 มิถุนายน 2555 เครือข่ายเกษตรพันธสัญญาร่วมกับเครือข่ายนักวิชาการและองค์กรพัฒนาเอกชน จัดเวทีสัมมนาวิชาการประจำปี 2555 “เกษตรพันธสัญญา : ใครอิ่ม ใครอด” ณ ห้องประชุมจุมภฎ-พันธุทิพย์ ชั้น 4 อาคารประชาธิปก – รำไพพรรณี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ภายในงานสัมมนาได้มีเวทีเสวนาในประเด็นประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจกับความเป็นธรรมต่อเกษตรกร โดยมีตัวแทนบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (ซีพี) และนักวิชาการด้านการเกษตรภายใต้พันธสัญญาและด้านกฎหมาย เป็นผู้ร่วมเสวนา

คุณณรงค์ เจียมใจบรรจง ตัวแทนบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (ซีพี) ได้กล่าวว่า ภาคอุตสาหกรรมได้ส่งผลให้วิถีชีวิตของชุมชนในชนบทหายไป เนื่องจากมีการอพยพเข้ามาเป็นแรงงานในโรงงานของคนในชนบท ทำให้ในชนบทเหลือแต่คนแก่และเด็ก บริษัทซีพีจึงเห็นว่าจะทำอย่างไรให้ชุมชนกลับมาเข้มแข็งดังเดิม บริษัทจึงได้เริ่มทำเกษตรพันธสัญญาตั้งแต่ปี 2518 ในการส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงไก่กระทง ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างบริษัทในการดูแลพันธุ์สัตว์ อาหาร ยารักษาโรค ส่วนเกษตรกรให้ดูแลการผลิตตามคำแนะนำของบริษัท โดยรูปแบบของการทำเกษตรพันธสัญญามี 3 แบบ คือ

  1. การประกันรายได้ เหมาะกับเกษตรกรที่ยังไม่มีประสบการณ์ด้านการตลาด หรือเรียกว่าเป็นระบบจ้างเลี้ยง
  2. การประกันราคา เหมาะกับเกษตรกรที่ไม่ต้องการความเสี่ยงด้านราคาและตลาด โดยตกลงราคารับซื้อล่วงหน้าระหว่างบริษัทกับเกษตรกร
  3. การประกันตลาด เกษตรกรไม่อยากทำตลาดเอง ให้บริษัทมาเป็นคนรับซื้อตามความต้องการของบริษัท

คุณณรงค์ กล่าวต่อไปว่า บริษัทจำเป็นต้องควบคุมผู้ผลิตในระบบเกษตรพันธสัญญาให้ได้ทั้งหมด เพราะเกษตรพันธสัญญาเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่การผลิต ดังนั้น อาหารที่ผลิตออกมาถึงมือผู้บริโภค ต้องทำอย่างสะอาด ปลอดภัย พร้อมต่อการตรวจสอบทุกกระบวนการผลิต ซึ่งบริษัทจะเลือกที่จะทำเกษตรพันธสัญญา โดยมีการกำหนดกฎกติกามาตรฐาน เพื่อเป็นการคำนึงถึงประโยชน์ของผู้บริโภค ที่ต้องมีกระบวนการที่มีมาตรฐานและปลอดภัย บางรายตั้งข้อสังเกตว่าบริษัทซีพีผูกขาดสินค้า แต่บริษัทมีกระบวนการผลิตที่ดีมีคุณภาพ ซื่อสัตย์กับลูกค้า จึงทำให้ลูกค้ามั่นใจไม่เฉพาะในประเทศไทยแต่ไปได้ทั่วโลก

ในมุมมองนักวิชาการด้านเกษตรพันธสัญญากลับมองว่า เกษตรพันธสัญญาแม้จะมีข้อดีที่ทำให้เกษตรกรรู้ราคาขายล่วงหน้า และการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่าย แต่ก็มีข้อด้อย ที่ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมในส่วนของผลิต เนื่องจากเกษตรกรต้องใช้แรงงานของตัวเอง รวมถึงการกำหนดราคาผลผลิต ปัจจัยการผลิต ถูกผูกขาดโดยบริษัทธุรกิจการเกษตร

รศ.ดร.สมพร อัศวิลานนท์ สถาบันคลังสมองของชาติ กล่าวว่า การทำเกษตรพันธสัญญา มีประเด็นสำคัญ 2 ประเด็น คือ ใครต้องแบกความเสี่ยงด้านการผลิต และใครต้องแบกความเสี่ยงด้านการตลาด

ในช่วง 30 กว่าปีที่มีการทำเกษตรพันธสัญญา ภาครัฐไม่ได้ทำหน้าที่ในการเผยแพร่ข้อมูลในเรื่องดังกล่าวอย่างรอบด้าน และไม่ได้มีกระบวนการปกป้องคุ้มครอง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมอย่างแพร่หลาย ซึ่งภาครัฐเองต้องมีการพัฒนากลไกทางกฎหมายเข้ามาดูแลให้มากขึ้น ต้องมีการประกันความเสี่ยงในด้านการผลิตให้กับเกษตรกร และควรมีหน่วยงานที่ทำงานด้านกฎหมาย เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับเกษตรกรรายย่อย

ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับเกษตรพันธสัญญา 3 ประเด็น คือ 1) ทำไมเกษตรกรที่ทำเกษตรพันธสัญญายังลำบาก 2) ทำไมเกษตรกรที่ทำเกษตรพันธสัญญายังเป็นหนี้มหาศาล 3) ทำไมเกษตรกรยังออกมาประท้วงเรื่องราคาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ ในขณะที่การส่งออกภาคการเกษตรเติบโตเพิ่มขึ้น

การทำเกษตรพันธสัญญา ช่วยเพิ่มปริมาณทางการเกษตรได้จริง เห็นได้จากผลผลผลิตทั้งไก่ ผัก และปลา มีแนวโน้มของจำนวนผลผลิตที่เพิ่มขึ้นทุกปี แต่การพัฒนาคุณภาพสินค้านั้น จากการลงพื้นที่เห็นว่าเกษตรกรยังขาดการบริหารจัดการที่ดี เกษตรพันธสัญญาที่เป็นการทำระบบการเกษตรแบบเชิงเดี่ยวยังเป็นปัจจัยในการทำลายระบบเกษตรที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น ความหลากหลายทางชีวภาพที่เป็นองค์รวมของชีวิตในชุมชน การทำเกษตรพันธสัญญา ยังทำให้เกษตรกรไร้ญาติขาดมิตร เพราะเวลาของเกษตรพันธสัญญาเกือบทั้งหมดต้องไปอยู่ในไร่ ในฟาร์ม เพื่อให้ได้สินค้าตรงตามเกณฑ์ที่บริษัทกำหนด และแม้เกษตรกรต้องการที่จะรวมกลุ่มกัน เพื่อปรึกษาหารือก็เป็นไปได้ยาก เนื่องจากมีกลไกบางอย่างที่ลดอำนาจการรวมกลุ่มของเกษตรกร

เกษตรกรที่ทำเกษตรพันธสัญญาจำนวนมากอยู่ในภาวะจำยอม และต้องทนทำเกษตรพันธสัญญาต่อไป ด้วยการหมุนหนี้ ขยายธุรกิจด้วยความหวังที่จะมาลดหนี้ที่เกิดขึ้น ส่วนเกษตรกรรายใหม่ที่กำลังจะเข้ามา ก็ไม่มีกระบวนการให้ข้อมูลอย่างรอบด้านจากหน่วยงานของภาครัฐ โดยเฉพาะประเด็นเกษตรพันธสัญญาก็ได้เข้าไปเป็นหนึ่งในนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แล้ว

ดังนั้น จึงต้องการให้สังคมตั้งคำถามในแง่ผลกระทบ การผูกขาด ความเสี่ยง คุณภาพของอาหาร ระบบการกระจายอาหาร การเข้าถึงอาหาร จากการทำเกษตรพันธสัญญา โดยเอางานวิจัยมาเป็นเครื่องมือในการคลี่คลายองค์ความรู้เรื่องเกษตรพันธสัญญา เพื่อให้เกษตรกรได้มีอิสระในการตัดสินใจในการทำการเกษตรได้อย่างเต็มที่

นักวิชาการด้านกฎหมาย อาจารย์ไพสิฐ พาณิชย์กุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มองว่าการเกษตรภายใต้ระบบเกษตรพันธสัญญาอยู่ภายใต้ธุรกิจอุตสาหกรรมและอาหารที่มีทั้งทุนไทยและต่างชาติเข้ามาลงในระบบเกษตรพันธสัญญามากขึ้น ในโลกของการแข่งขัน ความก้าวหน้าทางธุรกิจเป็นสิ่งที่ต้องทำให้ตัวเองอยู่รอด แต่ในการทำเกษตรพันธสัญญาในอเมริกาและยุโรป พบว่าภาครัฐเข้ามามีบทบาทในกลไกการตลาด เพื่อให้กลไกตลาดควบคู่กับความเป็นธรรม

ดังนั้น ข้อเสนอต่อเรื่องเกษตรพันธสัญญาในไทย คือ

  1. กฎหมายของภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรมีน้อยมา และเนื้อหาก็จะเน้นการควบคุมมากกว่าสร้างความเป็นธรรม อีกทั้งกฎหมายในประเทศไทยยังไม่มีประสิทธิภาพ ดังนั้น จึงต้องมีกฎหมายเข้ามารองรับดูแลการทำเกษตรพันธสัญญา
  2. บริษัทต้องเลือกว่าจะสร้างความก้าวหน้าให้กับองค์กรโดยผลักภาระความเสี่ยงทั้งหมดให้กับเกษตรกรหรือจะรายงานผลการทำงานให้บริษัทลงมาช่วยดูแลเกษตรกร เพื่อมาช่วยกระจายความเสี่ยงทางการขาดทุนได้อย่างไร
  3. ในมุมของเกษตรกร ต้องมีพื้นที่ในการพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำเกษตรพันธสัญญาร่วมกัน เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและร่วมกันคิดถึงแนวทางในการสร้างความเป็นธรรมให้ระบบดังกล่าวมากขึ้น

แม้ว่าการทำเกษตรพันธสัญญาภายใต้ธุรกิจการเกษตรและบรรษัทข้ามชาติ จะทำรายได้เข้าสู่ประเทศจำนวนมหาศาล แต่เกษตรกรซึ่งเป็นผู้ผลิตกลับมีฐานะทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตต่ำลง มีภาระหนี้สินจำนวนมาก อาจกล่าวได้ว่า ยิ่งรายได้มวลรวมประชาชาติ (GDP) ของประชาติมากขึ้นเท่าใด หนี้สินของเกษตรกรภายใต้เกษตรพันธสัญญาก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น หากภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ร่วมมือกันเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้เกษตรกรภายใต้ระบบเกษตรพันธสัญญา เกษตรกรก็คงต้องจำยอมตกอยู่ในพันธะแห่งความไม่เป็นธรรมต่อไป

โดย ทีมนักสื่อสารเกษตรพันธสัญญา

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ