อ่านถ้อยแถลงแสดงวิสัยทัศน์ ‘พล.อ.ประยุทธ์’ นายกไทย ในเวที COP21

อ่านถ้อยแถลงแสดงวิสัยทัศน์ ‘พล.อ.ประยุทธ์’ นายกไทย ในเวที COP21

1 ธ.ค.2558 ติดตาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ร่วมประชุมระดับสูงของประมุขรัฐและหัวหน้ารัฐบาล ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 21 (COP21) และการประชุมรัฐภาคีพิธีสารเกียวโต สมัยที่ 11 (CMP11) ระหว่างวันที่ ระหว่างวันที่ 29 พฤศจิกายน – 2 ธันวาคม 2558 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

ทั้งนี้ ผู้นำกว่า 150 ประเทศทั่วโลก เข้าร่วมพิธีการเปิดประชุม COP21 เมื่อวันที่ 30 พ.ย.2558 โดยผู้นำแต่ละประเทศได้ผลัดกันขึ้นแถลงถ้อยคำแสดงวิสัยทัศน์ ประมาณคนละ 3 นาที

20150112190547.jpg

คลิกเพื่อชมคลิป http://unfccc6.meta-fusion.com/cop21/events/2015-11-30-14-45-leaders-event/his-excellency-mr-prayut-chan-o-cha-prime-minister-of-thailand

ไทยเผยแผนมุ่งใช้พลังงานทดแทน – พร้อมเชื่อม G77 แก้โลกร้อน

เมื่อเวลาประมาณ 20.00 น.ตามเวลาท้องถิ่น ซึ่งช้ากว่าประเทศไทย 6 ชั่วโมง พล.อ.ประยุทธ์  ในฐานะนายกรัฐมนตรีไทย ร่วมกล่าวถ้อยแถลงในการประชุมฯ ณ ห้อง Plénière Seine ศูนย์การประชุม Parc des Expositions Paris du Bourget  

ถ้อยแถลง มีดังนี้

ในนามประเทศไทยนายกรัฐมนตรีแสดงความเสียใจอย่างยิ่งต่อครอบครัวของผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ความรุนแรงในกรุงปารีสเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน โดยให้กำลังใจกับทุกประเทศที่เผชิญเหตุรุนแรง และแสดงความเป็นหนึ่งเดียวที่จะร่วมประณามการกระทำอันไร้มนุษยธรรมเช่นนี้

การประชุมครั้งนี้ นายกรัฐมนตรีมาร่วมเพื่อแสดงเจตนารมณ์อันแน่วแน่ของประเทศไทยที่จะมีส่วนร่วมผลักดันให้การเจรจาความตกลงด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศฉบับใหม่บรรลุผลสัมฤทธิ์ อย่างเป็นรูปธรรมและยังยืน 

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะก่อให้เกิดภัยพิบัติ ภาวะโลกร้อน ทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น กระทบต่อประเทศหมู่เกาะ และประเทศที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่มากนัก อีกทั้งจะทำให้เกิดภัยแล้งและการขาดน้ำขึ้น ทั้งน้ำเพื่อการเกษตรและน้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภค ซึ่งจะส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหารและรายได้ของเกษตรกร กระทบต่อแหล่งอาหารของโลก ตลอดจนทำให้เกิดความขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติ เกิดความยากจน ความขัดแย้ง จนอาจเป็นสาเหตุของการทำสงครามแย่งน้ำต่อไปได้ ซึ่งก็จะเป็นการเพิ่มภาระให้กับประเทศกำลังพัฒนาที่รายได้ส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับผลิตผลทางการเกษตรที่ราคาตกต่ำอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน

ดังนั้นจึงต้องพัฒนาให้เกิดอุตสาหกรรมสีเขียวในประเทศที่กำลังพัฒนา เพื่อส่งเสริมรายได้ และลดผลกระทบจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปพร้อมๆ กันด้วย 

นายกรัฐมนตรี ระบุว่า อยากให้ทุกกลุ่มประเทศคำนึงถึงเรื่องนี้เป็นกรณีพิเศษ เพื่อให้เกิดการลดก๊าซเรือนกระจกและพัฒนาประเทศอย่างสมดุล

ทรัพยากรธรรมชาติเป็นสมบัติของโลกและมวลมนุษยชาติ ไม่ใช่ของประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น ประชาคมโลกมีหน้าที่รับผิดชอบร่วมกันในการดูแลรักษาไม่ให้หมดสิ้นไป โดยเฉพาะความพยายามจำกัดอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 หรือ 2 องศา โดยยึดหลักความเป็นธรรม ความรับผิดชอบร่วมกันในระดับการพัฒนาที่แตกต่าง โดยต้องคำนึงถึงศักยภาพของแต่ละประเทศด้วย

นายกรัฐมนตรีเรียกร้องให้ทุกประเทศร่วมมือกัน ในกรอบเหนือ-ใต้ และใต้-ใต้ ทั้งในด้านเงินทุน การวิจัยและพัฒนา การถ่ายทอดเทคโนโลยี การสร้างความตระหนักรู้แก่ประชาชนในการดำเนินการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน 

สำหรับประเทศไทย มีการจัดทำแอคชั่นแพลนเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 20 ถึง 25 ภายในปี ค.ศ. 2030 มุ่งลดการใช้พลังงานจากฟอสซิล โดยใช้พลังงานทดแทนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น การใช้รถเครื่องยนต์เครื่องยนต์ไฮบริด เครื่องยนต์ไฟฟ้าให้มากยิ่งขึ้น การลดการขนส่งทางถนนโดยเพิ่มการขนส่งทางราง การเปลี่ยนขยะเป็นพลังงาน เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนในแผน PDP ของไทยให้มากขึ้น ขจัดการบุกรุกป่า รณรงค์ปลูกป่าอาเซียน ทำแผนการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ จัดทำ Roadmap การลดหมอกควันให้เหลือร้อยละ 0 

และที่สำคัญอย่างยิ่งคือการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่ทรงพระราชทานมากว่า 50 ปี ในรูปแบบ “ประชารัฐ” ด้วยความร่วมมือของภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม NGO และประชาชนอย่างจริงจัง ซึ่งเป็นหลักการสำคัญของไทย ที่เหมาะสมและสอดคล้องกับการดำเนินการให้บรรลุวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนปี 2030 ของสหประชาชาติ

ในฐานะประธานกลุ่ม G77 ในปี 2559 ประเทศไทยจะมุ่งมั่นอย่างเต็มความสามารถในการเป็น “สะพานเชื่อม” ระหว่างความแตกต่างทั้งภายในและภายนอกกลุ่ม เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่ออนาคตที่ยั่งยืนร่วมกันของโลกใบนี้ 

ทั้งนี้ ภายหลังกล่าวถ้อยแถลง นายกรัฐมนตรีได้เดินทางออกจากศูนย์ประชุมไปยังจัตุรัสแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส เพื่อวางดอกไม้ เป็นเครื่องหมายเชิงสัญญลักษณ์แสดงความเสียใจและระลึกถึงเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นที่กรุงปารีสเมื่อวันที่ 13 พ.ย.ที่ผ่านมา

‘บัน คีมูน’ เสนอ 4 ข้อแนวทางการเจรจาข้อตกลง 

greennewstv.com รายงานว่า นายบัน คีมูน เลขาธิการสหประชาชาติ (ยูเอ็น) กล่าวว่า การประชุม COP21จะเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญที่ทุกฝ่ายต้องให้ความร่วมมือในการแก้ปัญหา และเสนอให้ข้อตกลงใหม่ ซึ่งต้องมีเนื้อหาที่นำไปสู่เป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและคืนสภาพภูมิอากาศ

นายบัน คีมูน ยังได้เสนอแนวทางการเจรจาข้อตกลง 4 ข้อ ได้แก่1.ข้อตกลงต้องคงอยู่ยาวนาน มีวิสัยทัศน์ในระยะยาวเพื่อจำกัดอุณหภูมิไม่ให้เพิ่มสูงขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส และสามารถส่งสัญญาณชัดเจนว่าการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจที่ก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ ซึ่งเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

2.ข้อตกลงต้องสามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจโลก โดยที่ไม่ต้องมีการเจรจาเรื่องการลดการปล่อยก๊าซซ้ำแล้วซ้ำอีก สามารถสร้างความสมดุลระหว่างประเทศพัฒนาและกำลังพัฒนาในด้านขีดความสามารถในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

3. ข้อตกลงต้องคำนึงถึงกลุ่มคนยากจนและเปราะบาง มีมาตรการสนับสนุนการปรับตัวและบรรเทาผลกระทบในประเทศกำลังพัฒนา 4. ข้อตกลงต้องน่าเชื่อถือ มีมาตการดูแลเรื่องความโปร่งใส การติดตามและรายงานผลการดำเนินงาน

ทั้งนี้ นายบัน คีมูน ได้เรียกร้องให้ใช้มาตรการลดก๊าซในทุกภาคเศรษฐกิจอีกด้วย สอดคล้องกับถ้อยแถลงของ นายบารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ที่เรียกร้องให้มีการเจรจาข้อตกลงที่มีความหมาย และมีความตั้งใจในการร่วมมือกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงใจ

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ