9 มี.ค. 2559 องค์กรและเครือข่ายภาคประชาชน ด้านทรัพยากรธรรมชาติ สุขภาพและการพัฒนาที่ยั่งยืน 46 รายชื่อ ร่วมออกแถลงการณ์ “คัดค้านคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 9/2559” เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ซึ่งลงโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เมื่อวันที่ 7 มี.ค.ที่ผ่านมา และประกาศในราชกิจจานุเบกษา (คลิกอ่าน) มีผลบังคับใช้ในวันต่อมา
ประกาศดังกล่าวอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคสี่ ของมาตรา 47 แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ว่า
“ในกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อประโยชน์ในการดำเนินโครงการหรือกิจการด้านการคมนาคมขนส่ง การชลประทาน การป้องกันสาธารณภัย โรงพยาบาล หรือที่อยู่อาศัย ในระหว่างที่รอผลการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ตามวรรคหนึ่ง ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโครงการหรือกิจการนั้น อาจเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติให้ดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งเอกชนผู้รับดำเนินการตามโครงการหรือกิจการไปพลางก่อนได้ แต่จะลงนามผูกพันในสัญญาหรือให้สิทธิกับเอกชนผู้รับดำเนินการตามโครงการหรือกิจการไม่ได้”
โดย พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 มาตรา 47 เดิมระบุว่า
“ในกรณีที่โครงการหรือกิจการซึ่งต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามมาตรา 46 เป็นโครงการ หรือกิจการของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจหรือโครงการร่วมกับเอกชน ซึ่งต้องเสนอขอรับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ตามระเบียบปฏิบัติของทางราชการ ให้ส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโครงการหรือกิจการนั้น จัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ในระยะทำการศึกษาความเหมาะสมของโครงการเสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เพื่อเสนอขอความเห็นประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี
ในการพิจารณาให้ความเห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่เสนอตามวรรคหนึ่งคณะรัฐมนตรีอาจขอให้ บุคคลหรือสถาบันใด ซึ่งเป็นผู้ชำนาญการหรือเชี่ยวชาญเกี่ยวกับการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมทำการศึกษาและเสนอความเห็น เพื่อประกอบการพิจารณาด้วยก็ได้
สำหรับโครงการหรือกิจการของส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจตามมาตรา 46 ซึ่งไม่จำต้องเสนอขอรับความเห็นชอบ จากคณะรัฐมนตรีตามวรรคหนึ่ง ให้ส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโครงการ หรือกิจการนั้น จัดทำรายงาน การวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพื่อเสนอขอความเห็นชอบก่อนที่จะดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ในมาตรา 48 และมาตรา 49″
46 องค์กรและเครือข่ายภาคประชาชน มีข้อวิเคราะห์ถึงคำสั่งที่ 9/2559 2 ข้อ คือ 1.คำสั่ง ที่ 9/2559 เป็นการส่งสัญญาณทางนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งเน้นเป้าหมายเร่งรัดการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ โดยเฉพาะเรื่อง การคมนาคม เช่น ท่าเรือ ระบบรถไฟ ทางด่วน ฯลฯ ชลประทาน เช่น เขื่อนขนาดใหญ่ ซึ่งมักประสบปัญหาการทำลายนิเวศ สิ่งแวดล้อม สุขภาพของชุมชนท้องถิ่นตลอดมา
การเร่งรัดดังกล่าวเป็นการลดความสำคัญด้านการดูแลคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน การดำเนินการให้ได้มาซึ่งเอกชนผู้รับดำเนินการตามโครงการ โดยที่มาตรการป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมยังมิได้รับความเห็นชอบ เป็นการสร้างบรรทัดฐานที่บกพร่องในการละเว้นการปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายที่ปกป้องผลประโยชน์ของสาธารณะ
สาระสำคัญและผลของคำสั่งนี้จึงไม่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ภายใต้กรอบของสหประชาชาติ ที่ประเทศไทยได้แสดงความผูกพันทางการเมืองในทางปฏิบัติ ไม่สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ซึ่งมุ่งเน้นการสร้างความสมดุลระหว่างการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
2.โครงการหรือกิจการเข้าข่าย คำสั่งที่ 9/2559 เป็นโครงการของหน่วยงานของรัฐ จึงเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่อาจมีผลกระทบอย่างกว้างขวางและรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และคุณภาพชีวิต
แม้ว่าจะยังให้มีการทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมต่อไป แต่จะสร้างผลกระทบและความเชื่อมั่นต่อความเป็นอิสระในการจัดทำและพิจารณาของอีไอเอ และจะยิ่งทำให้โครงการที่ดำเนินการตามคำสั่งดังกล่าว มีปัญหาความขัดแย้ง ความไม่เชื่อถือยอมรับจากประชาชนและชุมชนในพื้นที่โครงการรวมทั้งจากสาธารณะ แม้ว่าจะเป็นโครงการที่มีประโยชน์ต่อสังคมก็ตาม
สำหรับข้อเรียกร้อง มี 4 ข้อ คือ 1.ให้ยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 9/2559 เพื่อป้องกันและระงับมิให้เกิดปัญหาความขัดแย้งเพิ่มขึ้นในสังคมไทย และมิให้เป็นคำสั่งที่ขัดแย้งกับแนวนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาที่ยั่งยืน
2.รัฐบาลควรเร่งผลักดันการปฏิรูปโครงสร้างและระบบการทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อยกระดับธรรมาภิบาล สร้างความเชื่อถือและเชื่อมั่นของประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้องรวมทั้งมิให้เกิดความล่าช้าเกินควร ข้อเสนอในการปฏิรูปโครงสร้างและระบบอีไอเอ ได้มีการจัดทำและเสนอไว้แล้วนับตั้งแต่มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ปี 2555 ข้อเสนอของคณะทำงานเตรียมการปฏิรูปเพื่อคืนความสุขให้คนในชาติ (สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม) และข้อเสนอของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)
3.เพิ่มเติมเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญ ในหมวดสิทธิและเสรีภาพ (ด้านสิทธิชุมชน) และในหมวดการปฏิรูป เพื่อให้มีบทบัญญัติที่นำไปสู่การปฏิรูปโครงสร้างและระบบการทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และการนำการประเมินสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment: SEA) มาใช้ดำเนินการ
และ 4.ให้มีการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 ทั้งฉบับเพื่อเป็นเครื่องมือทางกฎหมายที่สนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยมีการจัดทำข้อเสนอแนะการยกร่างปรับปรุงกฎหมายดังกล่าวไว้แล้วโดยคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย