อุทยานแห่งชาติไทรทอง อ้างคำสั่ง คสช.เร่งชาวบ้านหนองบัวระเหว ออกจากพื้นที่

อุทยานแห่งชาติไทรทอง อ้างคำสั่ง คสช.เร่งชาวบ้านหนองบัวระเหว ออกจากพื้นที่

20160704212245.jpg

รายงานโดย: ศรายุทธ ฤทธิพิณ
สำนักข่าวปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน

7 เม.ย. 2559 หัวหน้าอุทยานแห่งชาติไทรทอง อาศัยอำนาจคำสั่ง คสช.ที่ 64/2557 ให้ชาวบ้านผู้ถือครองพื้นที่จำนวน 6 ชุมชน ใน ต.วังตะเฆ่ และ ต.ห้วยแย้ อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ ออกจากพื้นที่ภายใน 30 เม.ย. 2559 ด้านผู้เดือดร้อน เร่งขอให้ผู้มีอำนาจตัดสินใจสูงสุดออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ยุติการดำเนินการใด ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อความสุขของประชาชนโดยด่วน

สืบเนื่องจาก หนังสือ ทส.0917.513 ลงวันที่ 1 เม.ย. 2559 เรื่องขอความร่วมมือราษฎรที่บุกรุก ยึดถือ ครอบครอง หรือขยายพื้นที่ในเขตอุทยานแห่งชาติไทรทอง คืนพื้นที่ให้แก่ทางราชการ ลงนามโดยนายวรพล ดีปราสัย หัวหน้าอุทยานแห่งชาติไทรทอง ต.วังตะเฆ่ อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ 

หนังสือดังกล่าวระบุว่า อุทยานแห่งชาติไทรทองร่วมกับสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 7 (นครราชสีมา) กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดชัยภูมิ คณะทำงานตามแผนปฏิบัติการทวงคืนผืนป่า และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ดำเนินงานตรวจสอบการใช้ประโยชน์พื้นที่ในอุทยานแห่งชาติไทรทอง ทุกกรณีเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงขอความร่วมมือและได้ประชาสัมพันธ์และแจ้งให้ราษฎรที่ได้บุกรุก ยึดถือครอบครองพื้นที่โดยไม่ถูกต้องหรือที่ได้มีการขยายพื้นที่ทำกินออกจากแปลงที่ได้รับรองสิทธิ์ โดยตั้งใจ หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็ดี หากมีความประสงค์จะส่งคืนพื้นที่ให้แก่ทางราชการ ขอให้ยื่นเรื่องผ่านผู้นำท้องถิ่น หรือยื่นได้ที่ทำการอุทยานแห่งชาติไทรทอง

หนังสือดังกล่าวระบุด้วยว่า ให้ยื่นภายในวันที่ 30 เม.ย. 2559 และจะไม่ถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย แต่หากยังดื้อดึง และทางราชการได้ทำการตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นผู้ไม่มีสิทธิ์ถือครองในพื้นที่ตรงนั้น ทางราชการจำเป็นต้องดำเนินการทางกฎหมายอย่างเคร่งครัด ต่อไป

สำนักข่าวปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน ลงพื้นที่สอบถามในกรณีดังกล่าว พบข้อมูลว่าชุมชนถือครองการใช้ประโยชน์ในที่ดินทำกินสืบทอดมามาอย่างยาวนานนับแต่บรรพบุรุษ ก่อนจะมีการประกาศอุทยานแห่งชาติไทรทองทับที่ดินทำกินที่อยู่อาศัยชาวบ้าน อีกทั้งผู้เดือดร้อนไม่ยอมรับผลการลงสำรวจตรวจสอบสิทธิ์ ตาม มติ ครม.30 มิ.ย. 2541 เพราะแนวปฏิบัติมุ่งผูกขาดอำนาจการจัดการทรัพยากรป่าไม้ไว้ที่หน่วยงานรัฐเพียงส่วนเดียว รวมทั้งทัศนะในการมองปัญหาว่าการลดลงของพื้นที่ป่าไม้ในประเทศเกิดจากการบุกรุกของชาวบ้าน ส่งผลให้ชาวบ้านไม่มีความชอบธรรมที่จะอยู่กับป่า หรือไม่มีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรป่าไม้

ด้วยความที่เจ้าหน้าที่ผูกขาดอำนาจการจัดการป่าอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด โดยขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนที่อาศัยหรือทำกินอยู่ในพื้นที่มาก่อน ได้สร้างความขัดแย้งเรื้อรังมาจนกระทั่งปัจจุบัน และจากการลงพื้นที่สอบถามชาวบ้านในพื้นที่ดังกล่าว ได้ความว่าชาวบ้านถูกเจ้าหน้าที่หลอกให้เซ็นเอกสารยินยอมออกจากพื้นที่ โดยรู้เท่าไม่ถึงการ 

ยกตัวอย่างกรณี สุดี เนาว์โอโล ชาวบ้านซับหวาย ม.7 ต.ห้วยแย้ อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ เล่าว่า เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2557 เจ้าหน้าที่เข้ามาในพื้นที่ แจ้งว่า ขอยึดคืนผืนป่า ตามพื้นที่ล่อแหลม พื้นที่ลาดชัน โดยบอกว่าจะนำพื้นที่ไปฟื้นฟูป่า ครั้งนั้นตนเองเห็นดีด้วยจึงคืนให้ 3 ไร่ เจ้าหน้าที่จึงให้ไปเดินตามแปลง และไล่ยิงพิกัดตามหลังไปเรื่อย ๆ พร้อมกับถ่ายรูป และฝังหลักไว้ จากนั้นเจ้าหน้าที่บอกด้วยว่า พื้นที่ส่วนที่เหลือให้สามารถทำกินได้ต่อไป และบอกอีกว่าจะมอบใบประกาศดีเด่นในการคืนพื้นที่ให้

สุดี บอกอีกว่า ต่อมาประมาณหนึ่งเดือนครึ่ง เจ้าหน้าที่ป่าไม้ ทหาร เข้ามาเป็นครั้งที่ 2 ขอคืนพื้นที่อีก โดยบอกว่าทางผู้ใหญ่ให้มาเพื่อขอความร่วมมือในการคืนพื้นที่ หากตนไม่ยอมให้ความร่วมมือ จะมีหมายศาลเข้ามาจับกุม ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่กำชับอีกว่าหากมีเจ้านาย หัวหน้า หรือผู้ใหญ่เข้ามาสอบถามให้บอกว่าตนยินยอมเซ็นเอกสารด้วยความเต็มใจ ไม่ได้ถูกเจ้าหน้าที่บังคับ 

แต่ครั้งนี้นางสุดีบอกว่าไม่ยอมคืนให้ เพราะถ้าคืนให้ก็จะไม่มีที่ทำกิน อีกทั้งเป็นพื้นที่ที่ได้รับการสืบทอดมาจากพ่อแม่มาอย่างต่อเนื่อง จึงเกิดความหวงแหน แต่เจ้าหน้าที่ไม่ยอมเพราะบอกว่าทำกินมานานแล้ว ไม่ให้เข้ามาทำกินอีก ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์และกลัวจะถูกจับกุม และถูกดำเนินคดีตามกฎหมายจึงยอมเซ็นให้พื้นที่ไปบางส่วน

กรณีสุดี ล่าสุดเมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2559 เจ้าหน้าที่ป่าไม้ พร้อมกับทหาร เข้ามาเป็นครั้งที่ 3 โดยเข้ามาหาถึงที่บ้าน อ้างว่าได้คำสั่งให้ทุกคนรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง พืชผลอาสินออกไปให้หมดภายในวันที่ 31 มี.ค.นี้ หากใครไม่ยอมออกจากพื้นที่ก็จะบังคับให้ลงออกไปให้หมดทุกคน พร้อมเอาเอกสารที่มีรายชื่อของคนในชุมชนมาให้ดูว่าทุกคนยินยอมออกจากพื้นที่หมดแล้ว เหลือแต่ตนคนเดียว จากนั้นก็ถูกบังคับให้เซ็นเอกสารยินยอมออกจากพื้นที่ 

ส่งผลให้ในปัจจุบันนางสุดี กลายเป็นคนไร้ที่ทำกิน ต้องไปหาทำงานรับจ้างตามที่ต่าง ๆ ขณะเดียวกันตามที่ชาวบ้านถูกเจ้าหน้าที่เข้ามาดำเนินการข่มขู่ บังคับ หลายครั้ง จึงได้รวมกลุ่มกันเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม เพื่อให้ผู้มีอำนาจตัดสินใจมาร่วมแก้ไขปัญหาผลกระทบให้อย่างถูกต้อง

ด้านไพโรจน์ วงงาน ชาวบ้าน ต.วังตะเฆ่ อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ บอกว่า ภายหลังรัฐบาลมีนโยบายทวงคืนผืนป่า ทำให้ผู้ที่ทำกินในพื้นที่อุทยานแห่งชาติไทรทอง กว่า 6 หมู่บ้าน ใน ต.วังตะเฆ่ และ ต.ห้วยแย้ ได้รับผลกระทบหนักขึ้น อาทิ ห้ามไม่ให้เข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ และเข้ายึดพื้นที่ ทั้งถูกบังคับให้เซ็นยินยอมออกจากพื้นที่ ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นนำมาสู่ความเดือดร้อนต่อชาวบ้านจำนวนมาก 

ไพโรจน์ กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาได้เข้ายื่นหนังสือต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น เมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2559 เข้ายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี โดยนายพันธ์ศักดิ์ เจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานปลัดนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับหนังสือ ในวันเดียวกันเดินทางไปยื่นหนังสือต่อที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ 

ต่อมาในวันที่ 9 มี.ค. 2559 เดินทางเข้าพบนายฐากร สัตศตพร ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์เขต 7 นครราชสีมา และเดินทางต่อไปยังศาลากลางจังหวัดชัยภูมิ เพื่อเข้ายื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัด โดย พันโทวสุธา ฤกษ์จำนงค์ นายทหารปฏิบัติการ รับมอบหมายจากหัวหน้าศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดชัยภูมิ เป็นตัวแทนมารับหนังสือ

ไพโรจน์ บอกอีกว่า ล่าสุด เมื่อวันนี้ 14 มี.ค.59 เข้ายื่นที่กองบัญชาการกองทัพภาคสองที่ 2 (ค่ายสุรนารี นครราชสีมา) โดย พ.ต.วรินทร แสงวิลัย (นายทหารปฏิบัติการศูนย์ประชาสัมพันธ์รับเรื่องร้องทุกข์ เป็นตัวแทนรับมอบหนังสือ สาระสำคัญของการเข้ายื่นหนังสือต่อหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อให้เร่งพิจารณาแก้ไขปัญหา ให้เกิดความเป็นธรรม โดยมีข้อเสนอเพื่อให้ผู้มีอำนาจพิจารณา ดังนี้ 1. ให้ยกเลิกแผนการทวงคืนผืนป่าในพื้นที่พิพาทอุทยานแห่งชาติไทรทอง ต.ห้วยแย้ ต.วังตะเฆ่ อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ 

2. ให้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างชาวบ้านผู้เดือดร้อน กับผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการถือครองทำประโยชน์ที่ดิน โดยมีสัดส่วนของราษฎรที่เดือดร้อนในจำนวนที่เท่ากัน ทั้งนี้ ไม่ให้มีการดำเนินการตามนัยมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 30 มิ.ย. 2541 และ 3.ในระหว่างกระบวนการแก้ไขปัญหา ให้ยุติการดำเนินการใด ๆ ที่ส่งผลกระทบและสร้างความเดือดร้อนต่อราษฎรในพื้นที่ และผ่อนผันให้สามารถทำประโยชน์ตามปกติสุข

“ท้ายที่สุด กลับมีหนังสือคำสั่งให้ออกจากพื้นที่ ภายในวันที่ 30 เม.ย. 2559 นี้ โดยนำ มติ ครม.30 มิ.ย. 2541 มาใช้ ซึ่งไม่เป็นที่ยอมรับ เพราะถูกผูกขาดอำนาจโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายเดียว ไม่มีประชาชนตัดสินใจในการมีส่วนร่วมแต่อย่างใด” ไพโรจน์ กล่าว

ไพโรจน์กล่าวด้วยว่า หากดำเนินการขับไล่ตามหนังสือคำสั่งดังกล่าว จะทำให้ชาวบ้านกว่า 800 ครอบครัว ไร้ที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย เพราะอุทยานฯ ไม่มีนโยบายในการจัดสรรที่ให้แก่ประชาชน ดังนั้น เพื่อการดำเนินชีวิตอันปกติสุขของผู้เดือดร้อน จึงอยากขอให้ผู้มีอำนาจตัดสินใจสูงสุด เร่งพิจารณาออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ยุติ การดำเนินการใดๆ ที่ส่งผลต่อความสุขของประชาชน ตามหนังสือที่ชาวบ้านยื่นเรียกร้องโดยด่วน 

20160704212317.jpg

20160704212331.jpg

20160704212348.jpg

20160704212400.jpg

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ