10 เดือน ภายใต้ประกาศกฎอัยการศึก ที่เริ่มต้นเมื่อ 20 พ.ค. 2557 หรือก่อนรัฐประหาร 2 วัน และยังไม่รู้จุดสิ้นสุด นอกจากควบคุมการเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อมุ่งหน้าสู่ความปรองดอง ยังถูกใช้เพื่อสยบความเห็นแย่งของประชาชนในหลายพื้นที่ต่อโครงการพัฒนาของรัฐและกิจการของเอกชน นำมาซึ่งการละเมิดสิทธิมนุษยชน สิทธิในการดำเนินชีวิต ตัดตอนขบวนการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจของคนในพื้นที่
เมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2558 ตัวแทนชาวบ้าน 8 พื้นที่ ในภาคอีสานได้ลุกขึ้นมานำเสนอปัญหาของพวกเขาใน ‘เวทีวิชาการ “อีสานกลางกรุง” ลมหายใจผู้คนท่ามกลางการพัฒนา’ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในสถานการณ์ปัจจุบันที่พวกเขาไม่สามารถเคลื่อนไหวให้เกิดการแก้ปัญหาในพื้นที่ของตัวเองได้ นั่นคือข้อพิสูจน์คำพูดที่ว่าภายใต้กฎอัยการศึก “คนไม่ได้ทำผิด ไม่ต้องกลัว” เพราะคำถามคือ “พวกเขาผิดอะไร”
00000
“ปี 2549 ได้มีการนัดประชุมกันของคณะกรรมการสิทธิ์อีกครั้งหนึ่งและเชิญเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมา ไม่ว่าจะเป็นกรมป่าไม้ กรมอุทยาน ส.ป.ก. ก็ได้มีแนวทางเห็นชอบร่วมกันว่าจะจัดที่ตรงไหนให้ชาวบ้านในส่วนแปลงที่หมดอายุสัญญาเช่า แต่เผอิญว่าวันนั้นเป็นวันที่ 19 ก.ย.2549 ประชุมกันเสร็จตอนบ่าย กลางคืนมาท่านสนธิก็ทำการรัฐประหาร ความหวังของคนโนนดินแดงก็เลยดับหายไป”
“มีการดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่อยมา จากรัฐบาลอภิสิทธิ์ ก็มาเป็นคุณยิ่งลักษณ์ แต่ว่าพอมาถึงวันที่ 22 พ.ค.2557 ก็มีการรัฐประหาร คือก่อนหน้านั้นชาวบ้านเก้าบาตรเองยังสามารถที่จะทำกินในพื้นที่ได้ เพราะว่ามีการพูดคุยเจรจาต่อรองกัน แต่หลังจากรัฐประหารแล้วก็มีคำสั่งที่ 64 และ 66 ออกมา เจ้าหน้าที่ได้อ้างคำสั่งดังกล่าวเข้ามาปฏิบัติการ”
“เขาก็กดดันชาวบ้านอย่างหนักขึ้น โดยเข้ามาทุกวัน การเข้ามาจะมีกำลังเจ้าหน้าที่อยู่ 4 ฝ่าย 1.ฝ่ายทหาร 2.ฝ่ายของจังหวัด ฝ่ายปกครอง 3.ตำรวจ 4.เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ กรมอุทยาน เข้าพื้นที่ทุกวัน ครั้งละ 40-50 นาย หลังจากนั้นก็มีแกนนำถูกเชิญตัวไปปรับทัศนคติที่ค่ายสมเด็จเจ้าพระยา จ.บุรีรัมย์ ถูกเชิญไปทั้งหมด 11 คน”
“ชาวบ้านไปถอนมันออกมาถึงจุดที่เจ้าหน้าที่ตั้งด่าน ถูกลากขึ้นไปบนรถปิคอัพแล้วก็ปิดประตู แล้วก็คุยกันบอกว่าให้ไปรื้อบ้านออกมาซะ เมียก็ยังสาว ลูกก็ยังเล็ก ไม่รู้นะว่าจะเป็นยังไง ก็คิดเอาเองแล้วกัน สุดท้ายนายคนนั้นก็จำใจต้องไปรื้อบ้านตัวเองออกมา”
“อีกส่วนหนึ่งคือกระแสมวลชนในพื้นที่ก็ถูกทหารเกลี้ยกล่อมว่าถ้าเกิดไม่มีบ้านเก้าบาตร ถ้าบ้านเก้าบาตรออกมาก็จะจัดที่ให้ได้แล้ว เดี๋ยวจะจัดที่ให้ แต่ว่าติดอยู่ที่บ้านเก้าบาตร ชาวบ้านกลุ่มอื่นๆ ก็เลยกดดันชาวบ้านเก้าบาตรอีกต่อหนึ่ง สุดท้ายเราเลยจำใจต้องออกมาในวันที่ 24 ก.ค. แต่หลังจากวันนั้นมาถึงวันนี้ 8 เดือนแล้ว คำพูดของทหาร คำพูดของเจ้าหน้าที่มันยังอยู่ในสายลม”
“เราก็ยังติดตามพูดคุยอยู่ตลอด แต่ว่าในส่วนของ กรอมน.เองก็ติดตามเราเหมือนกัน ไม่ว่าเราจะเคลื่อนไหวไปทางไหนก็จะมีคนคอยสอดส่องดูแล คือในส่วนตัวของผมเองอาจโดนหนักกว่าคนอื่นหน่อย วันดีคืนดีก็จะมีรถฮัมวี่วิ่งผ่านหน้าบ้าน วิ่งไป วิ่งมา หรือว่าอย่างกรณีถ้ามีการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองหรือเรื่องเกี่ยวกับทรัพยากรก็จะมีเจ้าหน้าที่ทหารเข้ามาที่บ้าน มาหาพ่อกับแม่ แล้วก็มาถามหาว่าผมอยู่ไหม คือมีทั้งพกอาวุธมา และมาแบบนิ่มนวลก็มี”
“ภายใต้กฎอัยการศึก มันยังไม่เห็นแสงที่ปลายอุโมงค์ ความหวาดกลัวมันเกาะกินลึกเข้าไปถึงข้างใน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะกลัวแบบนั้น ถ้ามันถึงที่สุดเราก็คงไม่กลัว คือถ้าเราสู้โอกาสรอดมันมี แต่ถ้าเราไม่สู้ก็มีแต่ตายกับตาย” ไพฑูรย์ สร้อยสด ตัวแทนบ้านเก้าบาตร อ.โนนดินแดง ซึ่งถูกอพยพกรณีป่าสงวนแห่งชาติดงใหญ่
1.กรณีอพยพชาวบ้านออกจากพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติดงใหญ่ จ.บุรีรัมย์
จากอดีตพื้นที่ที่รัฐส่งเสริมให้ชาวบ้านเข้าไปบุกเบิกทำกินในสมัย พคท. เมื่อสถานการณ์การต่อสู้คลี่คลาย รัฐก็อพยพชาวบ้านออก โดยจัดที่รองรับแค่เพียงส่วนเดียว ที่ดินที่ชาวบ้านบุกเบิกไว้อีกกว่า 2 หมื่นไร่ ในเวลาต่อมาได้มีการอนุญาตให้นายทุนเช่าปลูกป่ายูคาฯ โดยไม่สนใจชาวบ้านที่ไร้ที่ทำกิน เมื่อสัญญาเช่าของนายทุนหมดลงในปี 46 และ 52 ชาวบ้านจึงลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิ แต่ก็ไม่ได้รับความสนใจที่จะแก้ปัญหาให้อีก จึงนำมาสู่การเข้ายึดพื้นที่ของชาวบ้าน และเสนอโฉนดชุมชนเป็นทางออก ซึ่งข้อเสนอของชาวบ้านอยู่ในระหว่างการพิจารณาของรัฐบาลจากการเลือกตั้ง
คสช. ได้มีคำสั่ง ฉบับที่ 64/2557 และฉบับที่ 66/2557 ทำให้ทาง กอ.รมน. ภาค 2 ได้นำกำลังทหารนับพันนายเข้าไปในพื้นที่ ตั้งแต่วันที่ 28 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยเข้าไปกดดันให้ชาวบ้านเก็บผลผลิตและย้ายบ้านออกจากพื้นที่ภายใน 7 วัน ชาวบ้านไม่ต่ำกว่า 1,000 ครอบครัว ก็ต้องกลายเป็นคนไร้ที่อยู่ที่ทำกินอีกครั้ง บางส่วนต้องไปอาศัยอยู่กับญาติ บางส่วนต้องเช่าที่ทำเพิงพัก หรืออาศัยพักศาลาริมทาง ยังชีพด้วยหารับของมาขาย เช่าที่ทำสวนผัก หรือไปรับจ้างตามที่ต่างๆ ครอบครัวและชุมชนแตกสลาย ซ้ำยังถูกติดตามการเคลื่อนไหวอยู่เป็นระยะ
00000
“วันที่บริษัทขนอุปกรณ์ มีรถกรงขัง ทหาร ตำรวจ จำนวนมาก ชาวบ้านตกใจ ไม่อยากแม้แต่ออกจากบ้าน”
“ทำไมพวกผมถึงต่อสู้ ทำไมต้องต่อต้าน มันใกล้เกินไปครับ แค่กิโลเมตรกว่าๆ อย่าง สผ.ผมก็เคยถามหลายครั้งว่าผลกระทบ หรือการวิจัยผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ลงมาดูในพื้นที่ไหม หรือมีการพิจารณากันอย่างไรในการวิจัยผลกระทบสิ่งแวดล้อมใช้มาตรการอะไร ใช้อะไรเป็นมาตรฐาน ทั้งๆ ที่รัศมีระหว่างหลุมเจาะกับชุมชนมันอยู่ห่างกันแค่กิโลเมตรกว่าๆ คือ 1,300 เมตร ในรัศมี 5 กิโลเมตรที่จะได้รับผลกระทบ ตำบนดูนสาดทั้งตำบล มี 11 หมู่บ้าน ได้รับผลกระทบหมด”
“เดี๋ยวนี้ชาวบ้านไม่มีสิทธิอะไรเลย ทุกอย่างที่เกิดขึ้นอยู่ในพื้นที่ ความชอบธรรมมันไม่มี ความเห็นอกเห็นใจ หรือการก่อสร้างที่เป็นไปในรูปธรรมที่ว่าให้ประชาชนมีความสุข ผมคิดว่ามันคงไม่มีหรอกครับในตอนนี้” ปกรณ์ สระแก้วตูม ชาวบ้านนามูล-ดูนสาด
2.ชาวบ้านนามูล-ดูนสาด กรณีการขุดเจาะสำรวจปิโตรเลียม แปลง 27/43 หลุม DM-5
ชาวบ้านนามูล จ.ขอนแก่น อยู่ห่างจากหลุมเจาะ DM-5 เพียง 2 กม. รวมตัวกันคัดค้านการสำรวจขุดเจาะปิโตรเลียมของบริษัท อพิโก้ ในช่วงปลายปี 2557 เนื่องจากกังวลถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น และไม่เคยรับรู้มาก่อนถึงกระบวนการจัดทำ EIA ต่อมา มีความพยายามจัดเวทีชี้แจงโครงการฯ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และ กอ.รมน.จ.ขอนแก่น แต่ชาวบ้านปฏิเสธที่จะเข้าร่วม ทำให้มีการข่มขู่ว่าจะใช้ ‘กฎอัยการศึก’ เข้าจัดการ และมีเจ้าหน้าที่คอยติดตามความเคลื่อนไหวของชาวบ้านอยู่ตลอดเวลา
การคัดค้านของชาวบ้านทำให้บริษัทไม่สามารถขนอุปกรณ์ขุดเจาะเข้าหลุมเจาะได้ จึงนำไปสู่การสนธิกำลังของเจ้าหน้าที่รัฐเข้าคุ้มครองการขนย้ายอุปกรณ์จนสำเร็จ ภายใต้การอำนวยความสะดวกของเจ้าหน้าที่รัฐและกฎหมายพิเศษ บริษัทได้เดินหน้าขุดเจาะสำรวจปิโตรเลียม แม้ว่ากระบวนการให้อนุญาตจะยังเป็นที่กังขาของชุมชน การกำหนดมาตรการชดเชยเยียวยายังไม่ชัดเจน และกรณีพิพาทยังอยู่ในการพิจารณาของศาลปกครองจังหวัดขอนแก่น
00000
“เราอยากไปช่วยพี่น้องที่นาดูล-มูนสาด แต่ก็ไม่สามารถไปช่วยได้ เพราะทหาร ทหารคอยติดตามพวกเรา ติดตามขบวนการเคลื่อนไหวของไทบ้าน ทำให้ขบวนการของเราเคลื่อนไหวไม่ได้ ช่วยกันไม่ได้ ต้องอยู่ตัวใครตัวมัน เอาตัวรอดเอง ทำให้พวกเรารู้สึกว่าบ้านเมืองตอนนี้คล้ายกับว่ามันมีคนมาข่มเหงไทบ้าน เครือข่ายของเราเดือดร้อนก็ช่วยกันไม่ได้” ระเบียง แข็งขัน กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมห้วยเสือเต้นและโคกหินขาว
3.กรณีกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมห้วยเสือเต้นและโคกหินขาว อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น
การคัดค้านการก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมแป้งมันสำปะหลังในบริเวณพื้นที่ชุมน้ำห้วยเสือเต้นของ “กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมห้วยเสือเต้นและโคกหินขาว” ในปี 2554 – 2555 จนถึงขั้นยื่นฟ้องต่อศาลปกครองจังหวัดขอนแก่น ต่อมาศาลปกครองได้มีคำพิพากษาให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการ ทำให้โครงการฯ หยุดชะงักไป แม้จะมีการยื่นอุทธรณ์ และคดียังอยู่ในการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด แต่ก็ถือได้ว่าเป็นชัยชนะขั้นหนึ่งของชุมชนในการลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิของตนเอง
ต่อมา ในการจัดทำผังเมืองรวมจังหวัดขอนแก่น กลุ่มอนุรักษ์ฯ ได้มีข้อเสนอให้พื้นที่รอบบริเวณพื้นที่ชุ่มน้ำห้วยเสือเต้นเป็นพื้นที่ใช้ประโยชน์เพื่อการเกษตรและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่แล้ว หลังการไปติดตามความคืบหน้าในการจัดทำผังเมืองรวม กลุ่มอนุรักษ์ฯ ก็ถูกฝ่ายความมั่นคงติดตามความเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา
00000
“บางครั้งชาวบ้านนั่งคุยกัน ตั้งประเด็นว่า ที่เขาปฏิวัติรัฐประหารกันนี้เพื่อการขนแร่หรือ เพื่อให้ทำเหมืองต่อไปหรือ ชาวบ้านยังถกเถียงกันอยู่”
“ไม่ว่าเราจะประชุมกัน ไม่ว่าเราจะตั้งวงคุยกัน ไม่ว่าเราจะทำอะไร ไม่ว่าเราจะขับเคลื่อนอะไรในหมู่บ้าน ไม่ว่าเราจะเดินรณรงค์อะไร ไม่ได้สักอย่าง แม้กระทั่งตั้งวงกินข้าว 8 คน ก็ไม่ได้ นี่คือออกจากปากของทหารเองที่ไปประจำการที่นั่น”
“มันรู้สึกว่าสิทธิความเป็นคน สิทธิของความเป็นชาวบ้านมันไม่มีเหลือแล้วหรือ ทั้งๆ ที่การเคลื่อนไหวแต่ละครั้ง การประชุมแต่ละครั้งของชาวบ้านมันเป็นเรื่องของสิทธิชุมชน เป็นเรื่องเกี่ยวกับปากท้อง เป็นเรื่องที่เราสู้กันมานานแล้ว ทำไมทหารต้องคุกคามเราขนาดนี้” พรทิพย์ หงษ์ชัย กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด
4.ปัญหาข้อพิพาทกรณีเหมืองแร่เมืองแร่ทองคำวังสะพุง ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย
ชุมชนรอบเหมืองแร่ทองคำ 6 หมู่บ้าน ต้องได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองและการถลุงแร่ ตั้งแต่ปี 2545 ชาวบ้านต้องเผชิญกับฝุ่น เสียงดัง รถบรรทุกขนาดใหญ่ และโลหะหนักที่ปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมจนสะสมในร่างกาย “กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด” จึงลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิที่จะดำเนินชีวิตในสิ่งแวดล้อมที่ดีและปลอดภัย แต่ไม่มีหน่วยงานใดให้คำตอบกับชุมชนได้ จนทำให้ในปี 2556 ชาวบ้านสร้างกำแพงขึ้นปิดกั้นถนนที่เหมืองใช้ร่วมกับชุมชน ส่งผลให้เหมืองแร่ไม่สามารถดำเนินการและขนแร่ออกนอกพื้นที่ได้ และนำมาสู่การฟ้องคดีชาวบ้านทั้งทางแพ่งและอาญา ตลอดจนถึงการใช้กองกำลังเข้าทำร้ายชาวบ้านโดยกลุ่มชายฉกรรจ์หลายร้อยคนเมื่อวันที่ 15 พ.ค.2557
หลังกองกำลังทหารเข้ามาในหมู่บ้านด้วยเหตุผลในการรักษาความสงบและปลอดภัยให้ชุมชน ชาวบ้านกลับได้รับแรงกดดันจากปัญหาต่างๆ จนรู้สึกไม่มีทางออก ในที่สุด คณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่ทหารตั้งขึ้นก็กดดันให้ชาวบ้านเปิดทางให้บริษัทขนแร่ออกจากเหมืองแลกกับการถอนฟ้องคดี โดยชาวบ้านจำเป็นต้องรับข้อเสนอดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคงเดินหน้าดำเนินโครงการต่อ แต่ติดปัญหาหมดอายุการอนุญาตใช้พื้นที่ป่าไม้ บริษัทจึงพยายามนำเรื่องขอใช้พื้นที่เข้า อบต. แต่เนื่องจากปัญหาความเดือดร้อนยังคงอยู่ทำให้ไปไม่คืบหน้า เป็นเหตุให้ประธานสภา อบต.ซึ่งเป็นสมาชิกกลุ่มคนรักบ้านเกิด ถูกบริษัทฟ้องละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ มาตรา 157 อยู่ในขณะนี้
00000
“พอมามีรัฐประหาร เจ้าหน้าที่ป่าไม้เขาก็อ้างว่ามีคำสั่งของ คสช.ฉบับที่ 64 และ 66 เข้าตรวจยึดใช้กำลังเจ้าหน้าที่โดยไม่ฟังชาวบ้าน ให้เจ้าหน้าที่ทหารเป็นผู้รักษาความปลอดภัย เข้าไปแล้วก็ไปข่มขู่ให้ชาวบ้านเซ็นเอกสารยินยอมยกพื้นที่ให้คืนกับอุทยานแห่งชาติตาดโตนเพื่อทำเป็นแปลงปลูกป่า ถ้าใครยอมเซ็นเอกสารตัวนั้นจะไม่ดำเนินคดี แต่ชาวบ้านเห็นปืนของทหารก็กลัว ไม่อยากมีปัญหากับเจ้าหน้าที่ บางคนก็เซ็น บางคนก็ไม่เซ็น”
“ในปัจจุบันทหารและเจ้าหน้าที่ของรัฐลืมไปแล้วว่าเคยสัญญากับชาวบ้านไว้ว่าจะให้สิทธิในที่ทำกินของชาวบ้าน และที่อาศัย แต่กลับใช้อำนาจจับกุมชาวบ้านเพื่อดำเนินคดี เพื่อให้ความชอบธรรมกับตัวเองว่าจะทำแปลงปลูกป่า” วิชัย เจิมปรุ
5.กรณีอุทยานแห่งชาติตาดโตนทับที่อยู่อาศัยและที่ทำกินของชาวบ้านนาคำน้อย ต.ห้วยต้อน อ.เมือง จ.ชัยภูมิ
ปี 2523 มีการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติตาดโตนทับซ้อนที่อยู่อาศัยและที่ทำกินของราษฎร 6 หมู่บ้าน แต่ไม่เคยมีการเพิกถอนเขตอุทยานฯ หากแต่ผ่อนผันให้ชาวบ้านอยู่อาศัยและทำกินตลอดมา มีบางช่วงเวลาที่เจ้าหน้าที่อุทยานฯ เข้าไปจับกุมและดำเนินคดีชาวบ้าน แต่ส่วนใหญ่ยังคงได้รับการผ่อนผัน และเข้าทำกินได้โดยไม่ถึงกับเดือดร้อน
เวลานี้ ภายใต้ยุทธการทวงคืนผืนป่า ชาวบ้านถูกยึดที่ดินไปแล้วกว่า 40 ราย และจะยังมีผู้เดือดร้อนไร้ที่ทำกิน รวมถึงถูกดำเนินคดีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
00000
“ช่วงระยะนี้มีพวกกรรมาธิการลงไปในพื้นที่ ที่บอกว่าเขื่อนโป่งขุนเพชรไม่มีคนคัดค้านแล้ว สร้างได้เลย แต่ไม่มีใครมาดูกลุ่มพวกผม เพราะกลุ่มพวกผมอยู่ในนั้นไม่มีคนเห็น เลยบอกผู้ใหญ่บ้านว่าพวกผมไม่เอาเขื่อน แต่มีแค่ 28 ครอบครัวที่ไม่เอาเขื่อนกัน”
“หลังประกาศกฎอัยการศึกกลุ่มพวกผมก็ค้านอยู่ตลอด เขามาบอกให้เอาป้าย (ป้ายคัดค้านเขื่อน) ลง เดี๋ยวจะโดนจับ ผมก็ไม่ยอม” วิไล งามใจ ชาวบ้านกรณีปัญหาเขื่อนโป่งขุนเพชร
6.กรณีปัญหาเขื่อนโป่งขุนเพชร ต.โคกสะอาด อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ
เขื่อนโป่งขุนเพชร เป็นโครงการในความรับผิดชอบของกรมชลประทานที่มีประกาศก่อสร้างในปี พ.ศ.2532 สร้างกั้นลำเชียงทาอันเป็นสาขาใหญ่ของแม่น้ำชี บริเวณบ้านกระจวน ต.โคกสะอาด อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ อย่างไรก็ตามด้วยความคลุมเครือในด้านการชดเชยค่าความเสียหายจากการก่อสร้างเขื่อน กลุ่มประชาชนในพื้นที่และสมัชชาคนจนได้รวมตัวกันเพื่อเรียกร้องให้มีการยกเลิกการก่อสร้างเขื่อนดังกล่าวในปี พ.ศ. 2539 ต่อมา ครม.สมัยนายบรรหาร ศิลปะอาชา ได้มีมติให้ชะลอโครงการ แต่โครงการดังกล่าวก็ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงเรื่องการเดินหน้าอยู่เป็นระยะ
ล่าสุดเมื่อมีการเสนอแผนฟื้นเขื่อนโป่งขุนเพชรอีกครั้ง ตามนโยบายของรัฐบาล-คสช.ที่จะเร่งหาแนวทางสร้างแหล่งเก็บกักน้ำขนาดใหญ่ใน 25 ลุ่มน้ำหลักทั่วประเทศเพื่อมาช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมภัยแล้งในระยะยาว
00000
“เราประชุม ทหารก็ไปสอดส่อง บอกว่ากลัวว่าจะมีนักการเมืองหนุนหลังอยู่” นิมิต หาระพันธ์ กลุ่มชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร-พนมไพร
7.เครือข่ายลุ่มน้ำชี จ.ร้อยเอ็ด
จากสถานการณ์ปัญหาทางระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมด้านดิน น้ำ ป่า ซึ่งยังหาทางออกไม่ได้ในการแก้ไขปัญหาทั้งน้ำท่วม และน้ำแล้ง โดยเฉพาะโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ อย่างโครงการโขง ชี มูล ที่สร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำชีแล้วสร้างปัญหาต่อระบบนิเวศกุดและลำห้วย แสดงให้เห็นว่า การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำโดยรัฐไม่เป็นไปตามเจตจำนงของชุมชน ไม่ยึดหลักการและข้อมูลของชุมชนเป็นตัวตั้ง ชุมชนจึงร่วมกันหาแนวทางที่ดีที่สุดในการจัดการทรัพยากรน้ำ
ชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่างจึงได้จัดกิจกรรม “เดินเพื่อสายน้ำ” ขึ้น เพื่อศึกษาเส้นทางเดินน้ำและระบบนิเวศของลำห้วย และนำไปสู่การร่วมหาทางออกในการแก้ไขปัญหาการจัดการทรัพยากรน้ำ โดยผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะเดินลัดเลาะตามเส้นทางน้ำใช้เวลา 2 วัน แต่กิจกรรมในวันที่ 2 กลับต้องเปลี่ยนเป็นการนั่งรถ 1 คัน ไปสำรวจเส้นทางน้ำต่อ และไม่สามารถชูป้ายผ้ากับธงสัญลักษณ์ได้ เนื่องจากเจ้าหน้าที่อ้างว่า บ้านเมืองอยู่ในสถานการณ์ไม่ปกติ อีกทั้ง ไม่ได้ทำหนังสือขออนุญาตจัดกิจกรรมจากทางจังหวัด
00000
“ทหารเข้าไปในพื้นที่ ขอเข้าไปร่วมประชุมกับชาวบ้าน” เปรมกมล แสงบันลือฤทธิ์
8.กรณีสวนป่าภูคี ป่าสงวนแห่งชาติภูแลนคาไล่ที่ชาวบ้าน ต.ท่ามะไฟหวาน จ.ชัยภูมิ
กรณีชาวบ้านท่ามะไฟหวาน มีการประกาศให้พื้นที่เป็นป่าสงวนแห่งชาติภูแลนคาเมื่อปี 2512 แต่ชาวบ้านยังคงทำมาหากิน ทำการเกษตรได้ตามปกติ จนกระทั่งจังหวัดชัยภูมิมีประกาศออกเมื่อวันที่ 25 ส.ค.2557 ให้ชาวบ้านที่ถือครองพื้นที่อยู่ในบริเวณป่าภูคีทางด้านทิศเหนือของป่าสงวนแห่งชาติภูแลนคาออกจากพื้นที่ภายใน 30 วัน โดยอ้างคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 64/2557
00000
กระบวนการทำงานของภาครัฐที่แข็งกร้าวขึ้น ทั้งการติดตาม การข่มขู่ การเรียกรายงานตัว การกำหนดให้ต้องขออนุญาตหากจะทำกิจกรรมใดๆ การห้ามชู้ป้ายแสดงสัญลักษณ์ ฯลฯ ล้วนเป็นการละเมิดสิทธ์ขั้นพื้นฐานของประชาชน โดยไม่มีมาตรการรองรับความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อชุมชน
สถานการณ์เช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะใน 8 พื้นที่ หรือเพียงในภาคอีสาน แต่กระจายตัวไปในแทบทุกพื้นที่ของประเทศ และเป็นสิ่งที่ยืนยันอีกครั้ง อีกครั้ง และอีกครั้งว่า “การรัฐประหาร ไม่ใช่เพียงกระทบสิทธิพลเมือง สิทธิทางการเมืองเท่านั้น สิทธิชุมชนก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน”