อะไร อย่างไร? | อ่าน ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม

อะไร อย่างไร? | อ่าน ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม

หมายเหตุ – รายงานของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. …. ที่คณะกรรมาธิการฯ เสียงข้างมากได้ศึกษาและสรุปส่งไปยังที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภา ได้นัดประชุมสภานัดพิเศษ เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ในวาระที่ 2 และ 3 ในวันที่ 31 ตุลาคมนี้

ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมืองการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. ….

มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. …."

มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา 3 ให้บรรดาการกระทำทั้งหลายทั้งสิ้นของบุคคลหรือประชาชนที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมือง ความขัดแย้งทางการเมือง หรือที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำความผิดโดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 รวมทั้งองค์กรหรือหน่วยงานที่ดำเนินการในเรื่องดังกล่าวสืบเนื่องต่อมาที่เกิดขึ้นระหว่าง พ.ศ.2547 ถึงวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ.2556 ไม่ว่าผู้กระทำจะได้กระทำในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมายก็ให้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง

การกระทำตามวรรคหนึ่ง ไม่รวมถึงการกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

มาตรา 4 เมื่อพระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับแล้ว ถ้าผู้ที่กระทำการตามมาตรา 3 ยังมิได้ถูกฟ้องต่อศาลหรืออยู่ในระหว่างการสอบสวน ให้พนักงานสอบสวนผู้ซึ่งมีอำนาจสอบสวนหรือพนักงานอัยการระงับการสอบสวนหรือการฟ้องร้อง หากถูกฟ้องต่อศาลแล้วให้พนักงานอัยการหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องระงับการฟ้อง ถ้าผู้นั้นอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีไม่ว่าจำเลยร้องขอหรือศาลเห็นเอง ให้ศาลพิพากษายกฟ้องหรือมีคำสั่งจำหน่ายคดี ในกรณีที่ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษบุคคลใดก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ ให้ถือว่าบุคคลนั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิด ในกรณีที่บุคคลใดอยู่ระหว่างการรับโทษ ให้ลงโทษนั้นสิ้นสุดลงและปล่อยตัวให้ผู้นั้น ทั้งนี้ ให้ทุกองค์กรหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติต่อกระทำการตามมาตรา 3 ให้เป็นไปตามหลักนิติธรรมตามรัฐธรรมนูญโดยเคร่งครัดต่อไป

มาตรา 5 การนิรโทษกรรมตามพระราชบัญญัตินี้ ไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่ผู้ได้รับการนิรโทษกรรมในอันที่จะเรียกร้องสิทธิ หรือประโยชน์ใดๆ อันเกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง หรือการแสดงออกทางการเมือง

มาตรา 6 การดำเนินการใดๆ ตามพระราชบัญญัตินี้ ไม่เป็นการตัดสินใจของบุคคลซึ่งไม่ใช่องค์กรหรือหน่วยงานของรัฐในการเรียกร้องค่าเสียหายในทางแพ่ง จากการกระทำของบุคคลใดซึ่งพ้นจากความรับผิดชอบตามพระราชบัญญัตินี้ และทำให้ตนต้องได้รับความเสียหาย

มาตรา 7 ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

ที่มา: มติชน

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ