อนุฯ กสม.ลงพื้นที่โคกยาว ตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนเส้นตายไล่รื้อ 6 มี.ค.นี้

อนุฯ กสม.ลงพื้นที่โคกยาว ตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนเส้นตายไล่รื้อ 6 มี.ค.นี้

ชุมชนโคกยาวใกล้เส้นตายไล่รื้อ 6 มี.ค.นี้ รองประธานอนุกรรมการด้านที่ดินและป่า กสม.ร่วมลงพื้นที่ ชี้การที่เจ้าหน้าที่สนธิกำลังเข้ามาสั่งการให้ออกจากพื้นที่ถือเป็นการละเมิดสิทธิฯ ร้ายแรง ด้วยชุมชนอยู่มาก่อน ด้านชาวบ้าน ยันไม่ออก เตรียมรับมือแผนทวงคืนผืนป่า ชี้พัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนคือการคืนความสุขให้ประชาชนอย่างแท้จริง

20152602011152.jpg

วันที่ 24 ก.พ. 2558 ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ ในฐานะรองประธานอนุกรรมการด้านที่ดินและป่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) พร้อมด้วย พรพนา ก๊วยเจริญ อนุกรรมการสิทธิ์ฯ และดวงสมร หมอกแก้ว ผู้ช่วยเลขาฯอนุกรรมการสิทธิ์ฯ ลงพื้นที่ชุมชนโคกยาว ต.ทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ เพื่อรับฟังและตรวจสอบข้อเท็จจริง พร้อมร่วมแลกเปลี่ยน หาแนวทางสู่การแก้ไขปัญหาให้เกิดความเป็นธรรม หลังชุมชนถูกกำหนดเส้นตายไล่รื้อ 6 มี.ค.นี้

20152602011315.jpg

ดร.เพิ่มศักดิ์ ระบุว่า ผลกระทบในกรณีป่าไม้ ที่ดินทำกิน ที่มีนโยบายทวงคืนผืนป่า โดยมีเป้าหมายและจัดการป่าอย่างเข้มข้น นโยบายดังกล่าวก่อให้เกิดส่งผลกระทบต่อประชาชนไปทั่วภูมิภาค ด้วยว่ามีชาวบ้านส่วนมากที่ใช้ประโยชน์ทำกินในพื้นที่มาก่อน รวมทั้งในสถานการณ์ที่คับขันของชุมชนโคกยาว ล่าสุดเมื่อ 6 ก.พ. 2558 การที่เจ้าหน้าที่สนธิกำลังทั้งทหาร ป่าไม้ ตำรวจ เข้ามาปิดประกาศให้อพยพออกจากพื้นที่ ตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 64 เป็นการสร้างความไม่ปกติสุขในการดำเนินชีวิตให้กับชาวบ้าน ไม่ใช่เป็นการคืนความสุขอย่างแท้จริง แต่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างยิ่งในฐานะที่ชุมชนอยู่มาก่อน

ทั้งที่ในพื้นที่พิพาทได้มีนโยบายข้อเสนอในที่ประชุมให้ชะลอและยุติการดำเนินการใดๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตอันปกติสุขของประชาชน แต่ในทางปฏิบัติกลับสวนทางกัน ถือเป็นการละเมิดสิทธิชุมชนด้วย ฉะนั้นภาครัฐควรทำให้เห็นความสำคัญในการมีส่วนร่วมของการจัดการทรัพยากร ธรรมชาติอย่างยั่งยืนโดยชุมชนด้วย

รองประธานอนุกรรมการ กล่าวอีกว่า ความขัดแย้งกรณีที่ดินป่าไม้ สาเหตุมาจากการแสวงหาผลประโยชน์โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมาย เช่น การอนุญาตให้เอกชนเช่าทำประโยชน์ในเขตป่าและที่ดินของรัฐ ทำให้ชาวบ้านเกิดความรู้สึกต่อต้านความไม่เป็นธรรม แม้ชุมชนจะมีหลักฐานพร้อมข้อเท็จจริงในสิทธิการใช้ประโยชน์ในที่ดินทำกินมาก่อนการประกาศเขตป่าฯ  แต่ขาดโอกาสที่จะเข้าพบ และอธิบายข้อมูลให้กับผู้มีอำนาจสั่งการให้เกิดความเข้าใจอย่างแท้จริง สิ่งที่เกิดขึ้นจึงเป็นปัญหาเรื้อรังมาตลอด 

ฉะนั้นเจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะผู้มีอำนาจสั่งการควรเปิดใจรับฟังข้อมูลข้อเท็จจริง  ให้เกิดการมีส่วนร่วมตัดสินใจกันหลายฝ่าย ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐตัดสินเพียงฝ่ายเดียว  ไม่เช่นนั้นชาวบ้านจะถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้บุกรุกมาโดยตลอด ขณะเดียวกันภาครัฐกลับไม่เคยเข้าใจว่าชาวบ้านไม่ได้รับความเป็นธรรมอย่างไรบ้าง ปัญหาที่เกิดขึ้นจึงทำให้ส่งผลกระทบโดยงตรงต่อชุมชน ตลอดจนครอบครัว และญาติพี่น้อง ทั้งในเรื่องชีวิตและทรัพย์สิน ถูกละเมิดสิทธิชุมชน ถูกละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เพียงฝ่ายเดียวมาโดยตลอด

20152602011248.jpg

ดร.เพิ่มศักดิ์ ให้ความเห็นอีกว่า การที่ชาวบ้านได้เดินทางไปยื่นหนังสือถึง 8 หน่วยงาน หลังจากเจ้าหน้าที่สนธิกำลังเข้ามาปิดประกาศไล่รื้อ โดยเรียกร้องให้พิจารณายกเลิกคำสั่งดังกล่าว และให้พิจารณารองรับแผนการจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนโดยชุมชนนั้น ตามที่ได้ลงมารับฟังข้อเท็จจริงโดยชุมชนโคกยาว มีแผนที่จะจัดการทรัพยากรคืนผืนป่า พัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนมาก่อนหน้านี้  ดังนั้นรัฐบาลควรต้องนำมาทบทวน  โดยสิ่งสำคัญอย่างแรกคือมุมมองและทัศนคติของเจ้าหน้าที่รัฐที่มีต่อประชาชนว่าชาวบ้านไม่ได้บุกรุก หากแต่เป็นผู้บุกเบิกที่ดินทำกิน ด้วยการปลูกพืชผักท้องถิ่นในรูปแบบเกษตรอินทรีย์ ไม่ทำลายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สิ่งนี้เป็นการแสดงให้สังคมเข้าใจว่าพืชเศรษฐกิจ เช่น ไม้ยูคาฯ ที่เจ้าหน้าที่นำเข้ามาปลูก นอกจากผลกระทบจากความเสื่อมโทรมของหน้าดิน และอพยพชาวบ้านออกจากพื้นที่มานับจากปี 2528 มีความต่างกันอย่างไรบ้าง

“สำหรับการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ ในพื้นที่ให้รวบรวมหลักฐาน ทำฐานข้อมูล เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงต่อผู้มีอำนาจโดยตรง  โดยคณะกรรมการสิทธิฯ จะร่วมสรุปปัญหาและทำหนังสือถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมข้อเสนอจากการตรวจสอบข้อเท็จจริงในพื้นที่ให้เข้าใจถึงปัญหาและผลกระทบ รวมทั้งกระบวนการดำเนินการต่างๆ ที่เคยมีการตรวจสอบมาแล้ว โดยจะให้ทุกภาคส่วนมาร่วมกันแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม ถูกต้อง ก่อนครบกำหนดไล่รื้อภายในวันที่ 6 มี.ค.นี้” ดร.เพิ่มศักดิ์ กล่าว

20152602011346.jpg

ด้านนายเด่น คำแหล้ ชาวบ้านชุมชนโคกยาว บอกว่า หลังจากวันที่ 6 ก.พ. 2558  เจ้าหน้าที่สนธิกองกำลังทหาร ตำรวจ ป่าไม้ จำนวนประมาณ 100 นาย เข้ามาปิดป้ายหนังสือประกาศ โดยคำสั่งที่ ทส.1621.4/2404 ลงวันที่ 26 ม.ค.2558 เรื่อง สั่งให้ผู้ถือครองพื้นที่ออกจากป่าสงวนแห่งชาติ หรืองดเว้นการกระทำใดๆ หรือรื้อถอน หรือแก้ไข ทำประการอื่นใดแก่สิ่งที่เป็นอันตราย หรือสิ่งที่ทำให้เสื่อมสภาพในเขตป่าสงวนแห่งชาติ และให้รื้อถอนสิ่งปลุกสร้าง พืชผลอาสินทั้งหมดออกจากป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับแต่มีคำสั่ง ทั้งนี้ผู้เดือดร้อนมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่ง ภายใน 15  วัน นับแต่วันได้รับคำสั่ง ทางชุมชนได้เดินทางยื่นหนังสือทั้ง 8 หน่วยงาน เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริง รวมทั้งขอให้ยกเลิกหนังสือคำสั่งบังคับให้ออกจากพื้นที่ และขอให้พิจารณารับรองแผนการจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนโดยชุมชนโคกยาว

อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ที่สร้างความทุกข์ใจแบบนี้เกิดขึ้นหลายครั้ง แม้จะเดินทางไปยื่นหนังสือเพื่อร้องเรียนมาทุกครั้ง ก็ไม่เคยเป็นที่ยุติ เจ้าหน้าที่มักฉวยโอกาส หาจังหวะเข้ามาพยายามให้ออกจากพื้นที่อยู่เสมอ ที่ผ่านมาก็ไม่มีจิตใจจะทำอะไรกันแล้ว ลูกหลานก็เกรงกลัว และกังวล ห่วงเหมือนกันว่าบ้านตัวเองจะถูกทหารเข้ามาไล่รื้อโดยเฉพาะช่วงหลัง 6 ก.พ.ที่ผ่านมา  แน่นอนว่าสิ่งที่เกิดขึ้น พี่น้องของเราย่อมหวาดผวา กลัว แต่เป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้ เพราะความไม่ปลอดภัยในการดำเนินชีวิตได้ตามเข้ามาประชิดอีกระลอก ด้วยในวันที่ 6 มี.ค.นี้ ครบกำหนดไล่รื้อ 

ชาวบ้านชุมชนโคกยาว กล่าวว่า คนในชุมชนยืนยันชัดเจนว่าไม่ยอมออกไปไหน จะอยู่บนพื้นดินทำกินเดิมที่สืบทอดมายาแต่บรรพบุรุษ  แต่ด้วยสภาพพื้นที่แวดล้อมไปด้วยป่า ตั้งอยู่บนเชิงเขา ที่มืดสนิท ไฟฟ้าไม่มี ยามดึกแม้จะเกิดเสียงอะไรดังขึ้นก็ตาม จะก่อให้เกิดความกังวลใจ หวาดผวา ขึ้นมาได้เสมอ เพราะในช่วงสถานการณ์แบบนี้พวกเราจึงช่วยกันเฝ้าระวังภัยกันตลอดเวลา กลัวเจ้าหน้าที่จะจู่โจมเข้ามาคุกคาม ข่มขู่ หรือปฏิบัติการรื้อถอนช่วงกลางคืน 

นายเด่น บอกถึงแผนการรับมือว่า  ชุมชนมีแนวทางจัดการที่ดินในพื้นที่นำร่องในรูปแบบโฉนดชุมชน เนื้อที่ประมาณ 830 ไร่ ที่ชุมชนมีความพยายามเสนอแนวทางการปฏิรูปที่ดินโดยชุมชน มาก่อนหน้านั้น กล่าวคือ ชุมชนขอเป็นผู้ดำเนินการวางแผนการจัดการทั้งในเรื่องการจำแนกพื้นที่การใช้ประโยชน์ที่ดิน การพัฒนาระบบการผลิตที่ยั่งยืน โดยการเลือกรูปแบบการผลิตที่สอดคล้องกับ ภูมิปัญญาท้องถิ่น และระบบภูมินิเวศ รวมทั้งการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้สมดุล คือ สมาชิกจะใช้ที่ดินเพื่อทำการเกษตรกรรมและที่อยู่อาศัยเท่านั้น  ห้ามนำที่ดินไปทำธุรกิจอุตสาหกรรม ไม่มีกิจกรรมที่ทำลายสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ และมีข้อตกลงร่วมกันว่า สมาชิกมีหน้าที่ที่จะต้องช่วยกันปรับรูปแบบการผลิตให้พัฒนาไปสู่การเกษตรกรรมอินทรีย์แบบยั่งยืน เพื่อการสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารและที่อยู่อาศัยของชุมชน เป็นต้น 

20152602011409.jpg

แต่ทั้งนี้ ข้อพิพาทในพื้นที่ยังมีปัญหามาโดยตลอด แม้จะมีกระบวนการแก้ไขปัญหามาหลายครั้ง แต่ในภาคปฏิบัติหน่วยงานภาครัฐยังไม่สามารถดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม ถึงที่สุดผลกระทบกลับหนักหน่วงขึ้นกว่าเดิม โดยเฉพาะหลังการปิดประกาศไล่รื้อครั้งแรกเมื่อวันที่ 25 ส.ค.57 และมีเหตุการณ์แบบนี้หลายครั้ง โดยล่าสุดกำลังเจ้าหน้าที่ยกกำลังขึ้นมากว่าร้อยนาย เมื่อวันที่ 6 ก.พ.ทำให้การดำเนินชีวิตขาดความสุข เกิดความหวั่นเกรงภัยจะถูกเจ้าหน้าที่เข้ามาไล่รื้อ การทำมาหากินขาดช่วง การเตรียมการคืนผืนป่า เพื่อพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนก็ติดขัด 

“หากรัฐบาลมองตามเงื่อนไขที่ระบุว่า การดำเนินการใดๆ ต้องไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ยากไร้ ผู้ที่มีรายได้น้อย และผู้ไร้ที่ดินทำกิน ซึ่งได้อาศัยอยู่ในพื้นที่เดิมมาก่อน จะถือว่าเป็นความโชคดีของชาวบ้าน ผืนดินอันน้อยนิดที่ทำเพียงการเกษตรจะได้มีความมั่นคง และแน่นอนว่า นั่นคือการคืนความสุขให้ประชาชน” นายเด่น กล่าวทิ้งท้าย

รายงานโดย: ศรายุทธ ฤทธิพิณ
สำนักข่าวเครือข่ายปฎิรูปที่ดินภาคอีสาน

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ