อนาคตหนังสือพิมพ์… ต้องดิ้นก่อนอวสาน

อนาคตหนังสือพิมพ์… ต้องดิ้นก่อนอวสาน

โดย : ปกรณ์ พึ่งเนตร

อนาคตหนังสือพิมพ์จะถึงกาลอวสานหรือไม่ พบกับรายงานแวดวงสื่อมวลชนในสหรัฐอเมริกา กับความเป็นไปที่เกิดขึ้น

ท่ามกลางความนิยมของ "สื่อใหม่" และ "สื่อกลางเก่ากลางใหม่" นานาชนิด ตั้งแต่การรับข่าวสั้นผ่านโทรศัพท์มือถือ การหาข่าวออนไลน์อ่านฟรีทางอินเทอร์เน็ต ไปจนถึงการรับข่าวสารทาง "โซเชียลเน็ตเวิร์ค" ยอดฮิตอย่างทวิตเตอร์และเฟซบุ๊ค ทำให้อนาคตของ "สื่อโบราณ" อย่างหนังสือพิมพ์ที่มีต้นทุนสูงขึ้นทุกวันเพราะราคากระดาษส่ออาการน่าเป็นห่วง

นี่ยังไม่นับการรายงานข่าวอย่างบ้าระห่ำของสื่อโทรทัศน์ไทยที่มีคนอ่าน ข่าวให้ฟังตั้งแต่ตี 4 ตอนหัวรุ่ง มีรายการเล่าข่าวยามเช้าเหมือนกันทุกช่อง ไล่ไปจนถึงข่าวสาย ข่าวเที่ยง ข่าวเย็น ข่าวค่ำ กระทั่งดึกดื่นเที่ยงคืนก็ยังมีสรุปข่าวให้ได้อัพเดทกัน

ทั้งหลายทั้งปวงทำให้หลายคนพยากรณ์แบบ "ฟันธง" ว่า หนังสือพิมพ์กำลังใกล้ถึงกาลอวสาน!

ข้างฝ่ายคนทำหนังสือพิมพ์ รวมทั้งเจ้าของธุรกิจสิ่งพิมพ์เองก็พยายามเร่งปรับตัวด้วยการขยายฐานการผลิต สื่อสู่โลกออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทรนด์ปีนี้มุ่งไปที่ "อินเทอร์เน็ตทีวี" และ "ทีวีดาวเทียม" ขณะที่ตัว "นักข่าว" ก็ต้องหัดทวีตข้อความสั้น และโพสต์รูปหรือวิดีโอผ่านเฟซบุ๊ค

แม้ทั้งหมดจะเรียกได้ว่าเป็นการ "ปรับตัว" แต่ก็เป็นการปรับที่เสมือนยอมรับอยู่ในทีว่า อนาคตของหนังสือพิมพ์ริบหรี่เสียเหลือเกิน แนวโน้มเช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทย แต่เกิดขึ้นกับวงการสื่อทั่วโลก ไม่เว้นแม้กระทั่งอเมริกาที่มีหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ระดับเวิลด์ไวด์อยู่หลายฉบับ

หนำซ้ำสถานการณ์ของ "สื่อกระดาษ" ยังกระอักยิ่งกว่าไทยล่วงหน้ามาหลายปีแล้ว "จุดประกาย" เดินทางไปสำรวจวิกฤตการณ์หนังสือพิมพ์ถึงเมืองลุงแซม และได้พบแนวทางปรับตัวหนีตายแบบ "แจ่มๆ" ที่สรรหามาฝากกัน…

• ลาโรงแล้ว 166 ฉบับ

ในเว็บไซต์ sfnblog.com ที่รายงานเกี่ยวกับอนาคตของสื่อหนังสือพิมพ์ทั่วโลก มีข้อเขียนของ อีรินา ลิน (Erina Lin) รายงานเอาไว้เมื่อเดือน ก.ค.ปี 2553 ว่า นับตั้งแต่ปี 2551 (ค.ศ.2008) เป็นต้นมา มีหนังสือพิมพ์ในอเมริกาที่ต้องปิดตัวหรือหยุดพิมพ์ฉบับกระดาษไปแล้วมากกว่า 166 ฉบับ ทั้งๆ ที่สื่อหนังสือพิมพ์ในสหรัฐเคยคึกคักถึงขนาดว่า ทุกรัฐหรือทุกเมืองใหญ่จะต้องมีหนังสือพิมพ์หลักอย่างน้อย 1 ฉบับให้คนได้อ่านกัน…

แต่แล้วความถดถอยก็มาเยือน และส่งผลสะเทือนอย่างรวดเร็วด้วย รอน ซีลี่ นักหนังสือพิมพ์จาก วิสคอนซิน สเตท เจอร์นัล (Wisconsin State Journal) และอาจารย์พิเศษของ Life Sciences Communication มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน ซึ่งสาขาวิชาหนังสือพิมพ์ติดอันดับท็อปเท็นของสหรัฐ เล่าให้ฟังว่า เดิมในแมดิสัน เมืองหลวงของรัฐวิสคอนซิน มีหนังสือพิมพ์ราย วันอยู่ 2 ฉบับ คือ วิสคอนซิน สเตท เจอร์นัล กับ เดอะ แคปปิตอล ไทม์ส (The Capital Times) แต่ปัจจุบันฉบับหลังเรียกได้ว่าปิดตัวไปแล้ว เหลือเพียงหนังสือพิมพ์ที่เขาทำงานอยู่เพียงฉบับเดียว ทว่ายอดพิมพ์ก็ตกลงอย่างต่อเนื่อง

"ยอดขายของเราฉบับวันอาทิตย์อยู่ที่ 195,000 ฉบับ ส่วนวันธรรมดา 190,000 ฉบับ ถือว่าลดลงพอสมควร"

• "กระดาษ" พ่าย "ไซเบอร์"

รอน เห็นว่า ต้นเหตุที่ทำให้หนังสือพิมพ์ยอดตกคือการขยายตัวของอินเทอร์เน็ต เพราะคนอ่านสามารถหาข้อมูลได้มากกว่า หาความเห็นของผู้คนได้มากกว่า ทำให้หนังสือพิมพ์ต้องเลย์ออฟพนักงาน ลดขนาด และลดจำนวนนักข่าวลง โดยหนังสือพิมพ์ที่ เขาทำงานอยู่ก็เลย์ออฟพนักงานไปแล้วถึง 3 รอบ (ในอเมริกาถึงขั้นมีการเปิดเว็บไซต์ paper cuts หรือ newspaperlayoff.com กันเลยทีเดียว)

"หนังสือพิมพ์กระทบ หนักเพราะเมื่อคนหันไปอ่านข่าวทางอินเทอร์เน็ต ทำให้โฆษณาไหลไปสู่โลกออนไลน์และหน้าเว็บเพจต่างๆ สมัยก่อนคุณจะหาซื้อรถสักคัน คุณต้องไปดูในหน้าโฆษณาหรือซัพพลิเมนต์ของหนังสือพิมพ์ แต่ทุกวันนี้คุณดูในอินเทอร์เน็ตดีกว่า มีเว็บมากมายที่ลงโฆษณาขายรถ แม้แต่คนที่อยากขายรถก็โพสต์ขายในอินเทอร์เน็ตได้ฟรี”

อย่างไรก็ดี ในความเห็นของ "คนหนังสือพิมพ์" อย่างรอน เขายังเชื่อมั่นอยู่ลึกๆ ว่าหนังสือพิมพ์จะไม่ย่ำแย่ถึงขั้นตายไปจากโลก เพราะพวก "สื่อใหม่" ต่างๆ ก็มีจุดอ่อนไม่น้อยเหมือนกัน

"คนจำนวนมากยังมีความจำเป็นต้องอ่านหนังสือพิมพ์ เพราะไม่มีคอมพิวเตอร์ที่บ้าน ไม่มีโน้ตบุ๊ค ผมไม่เคยคิดว่าหนังสือพิมพ์จะ ตาย โดยเฉพาะในเมืองเล็กๆ อย่างแมดิสัน เพราะกระแสของนิวมีเดียทำให้คนอ่านแต่หัวข่าว ไม่อ่านรายละเอียด เช่นเดียวกับการรับข่าวสั้นทางโทรศัพท์มือถือ ซึ่งมีความผิดพลาดและก่อความเข้าใจผิดเยอะมาก ผิดกับหนังสือพิมพ์ที่ในกองบรรณาธิการมีขั้นตอนการบรรณาธิกรณ์ถึง 5 ขั้น จึงมีความผิดพลาดน้อยกว่า"

แต่กระนั้น รอน ยอมรับว่าได้เวลาที่ "คนข่าว" และหนังสือพิมพ์แต่ละฉบับต้องปรับตัวอย่างจริงจัง

"ทางออกของหนังสือพิมพ์คือ ต้องมีฉบับออนไลน์ มีเว็บเพจของตัวเอง เพราะมีข้อน่าสังเกตคือ ข่าวหลักๆ ที่นำมาโพสต์กันในอินเทอร์เน็ต จริงๆ แล้วมาจากสื่อกระแสหลักหรือหนังสือพิมพ์ฉบับใหญ่ๆ ทั้งนั้น ฉะนั้นการทำข่าวให้น่าเชื่อถือแล้วนำไปเสนอผ่านเว็บเพจของหนังสือพิมพ์ แล้วเก็บเงินผู้ที่ต้องการเข้าชม จะเป็นทางออกหนึ่งที่ทำให้หนังสือพิมพ์อยู่ได้ แล้วก็หาโฆษณาทางออนไลน์แทน ขณะนี้หลายฉบับก็ทำแบบนี้และเริ่มประสบความสำเร็จแล้ว อย่างเช่น วอลล์สตรีทเจอร์นัล"

"ขณะเดียวกันนักข่าวก็ต้องปรับตัวด้วย ต้องหันไปใช้โซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือในการประชาสัมพันธ์งานเขียนหรือบท ความของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ค หรือบล็อก ต้องไปลงทะเบียน และมีแอคเคาท์ของตนเองเพื่อขยายฐานคนอ่านออกไป" รอน บอก

• อีก 10 ปีอวสาน?

ความเห็นของ รอน ซึ่งมาจากหนังสือพิมพ์ฉบับหลักที่ยังตีพิมพ์อยู่ทุกวัน อาจจะแตกต่างจาก คริส เมอร์ฟีย์ บรรณาธิการเดอะแคปปิตอล ไทม์ส ซึ่งหยุดพิมพ์ฉบับรายวันไปแล้ว โดย คริส ใช้คำว่า "could be" เมื่อถูกถามถึงแนวโน้มที่หนังสือพิมพ์จะถึงกาลอวสาน

"เราต้องเจอกับปัญหาเศรษฐกิจ ต้นทุนสูง โฆษณาในเว็บไซต์โตเร็ว ทำให้ปัจจุบันแคปปิตอล ไทม์ส หยุดออกรายวัน แต่ออกเป็นแท็บลอยด์ทุกวันพุธกับพฤหัสฯแทน และเป็นฟรี ก๊อปปี้ (หนังสือพิมพ์แจก ฟรี) โดยวางตามจุดแจกของเราเองและแทรกในวิสคอนซิน สเตท เจอร์นัล มียอดแจก 25,000 ฉบับต่อสัปดาห์ เราปรับเปลี่ยนมาใช้ระบบนี้นาน 3 ปีแล้ว และหันไปทำออนไลน์ด้วย ซึ่งปัจจุบันคนดูเริ่มมากขึ้น"

เดอะแคปปิตอล ไทม์ส เป็นหนังสือพิมพ์ที่ มีเส้นทางอันน่าภาคภูมิไม่น้อย คือเปิดตัวตั้งแต่ปี ค.ศ.1917 ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 และออก 6 วันต่อสัปดาห์ หยุดวันอาทิตย์วันเดียว ต่อมาปี ค.ศ.1948 มีการรวมกันทางธุรกิจกับวิสคอนซิน สเตท เจอร์นัล แต่ก็ยังมีอิสระในกองบรรณาธิการที่แยกจากกันเด็ดขาด

กระทั่งปี ค.ศ.2008 จึงหยุดพิมพ์ฉบับรายวัน และออกเป็นแท็บลอยด์รายสัปดาห์แทน คริส เล่าว่า นอกจากตัวหนังสือพิมพ์จะปรับไปตามภาวะเศรษฐกิจแล้ว นักข่าวในกองบรรณาธิการเองก็ต้องปรับตัวด้วยเช่นกัน

"นักข่าวของเราทุกคนต้องมีบล็อกสำหรับเขียนงานทั้งที่นำเสนอในหนังสือพิมพ์และในออนไลน์ โดยเรามีนักข่าวที่ทำงานควบคู่กันทั้งออนไลน์และหนังสือพิมพ์รวม 20 คน แต่มีกองบรรณาธิการของออนไลน์แยกไปต่างหาก มีนักข่าวเฉพาะออนไลน์อีก 6 คน"

เมื่อถามย้ำถึงอนาคตของหนังสือพิมพ์ คริส ให้คำตอบที่ชัดขึ้นกว่าเดิมว่า

"อีกไม่เกิน 10 ปี หนังสือพิมพ์น่าจะหมดไปหรือเหลือน้อยมาก" และว่า "สื่อกระดาษเป็นเพียงความเคยชินของคนรุ่นเก่า ส่วนคนรุ่นใหม่นั้นไม่ได้มีวัฒนธรรมการอ่านหนังสือพิมพ์อีกแล้ว ในช่วง 3-4 ปีมานี้มีนักข่าวมากกว่า 10,000 คนถูกเลย์ออฟ"

• "แอลเอ ไทม์ส" ยังสู้ไหว

ไม่ใช่เฉพาะหนังสือพิมพ์ระดับเมืองหรือระดับรัฐเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ แต่หนังสือพิมพ์ระดับประเทศก็ต้องเผชิญชะตากรรมไม่ต่างกัน แม้มูลค่าทางธุรกิจจะมากกว่าอย่างมหาศาลก็ตาม และหนึ่งในนั้นคือ แอลเอ ไทม์ส หนังสือพิมพ์ใหญ่ที่สุดในเขตเวสต์โคสต์ ซึ่งมีฐานบัญชาการอยู่ที่ลอสแอนเจลิส

บรูซ วอลเลซ (Bruce Wallace) บรรณาธิการข่าวต่างประเทศ เล่าว่า หนังสือพิมพ์ทุกฉบับในประเทศนี้ต้องต่อสู้อย่างหนักกับความเปลี่ยนแปลง แม้จะเป็นหนังสือพิมพ์ชั้น นำอย่าง นิวยอร์ค ไทม์ส หรือวอชิงตัน โพสต์ สำหรับสายงานที่เขารับผิดชอบก็ต้องปรับตัว สมัยก่อนเคยมีนักข่าวในสังกัดกระจายอยู่ตามประเทศต่างๆ ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นอัฟกานิสถาน ปากีสถาน ปักกิ่ง (สาธารณรัฐประชาชนจีน) หรือแม้กระทั่งไทย แต่ปัจจุบันต้องเลิกเกือบหมด

"อย่างที่กรุงเทพฯ ก็ไม่มีนักข่าวของแอลเอ ไทม์ส แล้ว เพราะการส่งนักข่าวไปประจำตามเมืองต่างๆ มีค่าใช้จ่ายสูงมาก ต้องมีเรื่องใหญ่จริงๆ จึงจะส่งคนไป" บรูซ บอก

การปรับตัวของ แอลเอ ไทม์ส นับว่าน่าสนใจ โดยเฉพาะฝ่ายข่าวต่างประเทศที่ทำหน้าที่คล้ายๆ "ฮับข่าว" ด้วยการส่งข่าวจากทั่วโลกให้หนังสือพิมพ์ฉบับต่างๆ ในอเมริกาที่ทำข้อตกลงร่วมกัน ขณะเดียวกัน แอลเอ ไทม์ส ยังเปิดเว็บไซต์ซึ่งติดอันดับเป็นเว็บข่าวยอดนิยมในอเมริกา

โดยเว็บไซต์ของ แอลเอ ไทม์ส จะนำเสนอข่าวเหมือนกับในหนังสือพิมพ์ ต่างกันที่ภาพกับคลิปวิดีโอ และมีบรรณาธิการแยกกันต่างหาก แต่ยังมีบรรณาธิการข่าวคนเดียวกัน แม้จะเปิดเว็บไซต์แต่ บรูซ ยืนยันว่าคนอ่านหนังสือพิมพ์ยัง ไม่ลดลงมากนัก โดยเฉพาะฉบับวันอาทิตย์ที่คนอ่านยังหนาแน่น ยอดไม่ตก และโฆษณายังเยอะอยู่ ที่สำคัญรายได้จากสิ่งพิมพ์ยังมากกว่าออนไลน์

"ผมคิดว่าหนังสือพิมพ์ยัง อยู่ได้ เพราะออนไลน์แม้จะมีคนดูเยอะจริง แต่ยังไม่ตอบสนองความต้องการของผู้อ่านได้ทั้งหมด เพราะคนยังต้องการคำอธิบายและการวิเคราะห์ ไม่ใช่แค่ความเห็น ความต่างของนักข่าวคือการทำให้คนทั่วไปสามารถเข้าใจในสิ่งที่ถูกต้องได้ ไม่ใช่แค่แสดงความเห็นว่าคุณคิดอะไร"

เมื่อถามถึงสื่อออนไลน์ โดยเฉพาะโซเชียลเน็ตเวิร์คที่สามารถกระจายข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว บรูซ บอกว่า "ยิ่งเร็วยิ่งผิดเยอะ"

การสื่อสารลักษณะนี้เป็นคนละอย่างกับนักหนังสือพิมพ์ที่ต้องสามารถอธิบายเรื่องราวต่างๆ ให้ผู้รับสารได้เข้าใจ

"การเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ เป็นสิ่งจำเป็น แต่คุณต้องเข้าใจสถานการณ์ (issue) และเนื้อหาที่ต้องการจะสื่อด้วย ข้อสำคัญคือเขียนอย่างไร (How to write?) ผมคิดว่านักข่าวสมัยใหม่ต้องรู้ทั้งสองอย่าง"

และนั่นน่าจะเป็น "ทางเลือก-ทางรอด" ของทั้ง "คนข่าว" และ "หนังสือพิมพ์"

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ วันที่ 11 มกราคม 2555

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ