จากข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ เมื่อวันที่ 16 พ.ค. 55 ที่มีการระบุว่า พื้นที่คำขอประทานบัตรทำเหมืองใต้ดิน กรณีโครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี ได้รุกล้ำเข้าไปในเขตทหาร พื้นที่กองพันทหารปืนใหญ่ที่ 13 ค่ายยุทธศิลป์ประสิทธิ์ นอกจากจะเป็นที่ตั้งหน่วย และส่วนการฝึกทหารแล้ว ยังเป็นคลังแสงใต้ดิน และคลังแสงปืนใหญ่ สำหรับเก็บอาวุธกระสุน และระเบิดต่างๆ ที่ค่อนข้างสำคัญมาก ซึ่งจะกระทบต่อความปลอดภัยทางทหาร แต่ทหารไม่รู้ข้อมูล ทั้งนี้ มณฑลทหารบกที่ 24 เตรียมจะทำหนังสือด่วนถึง ผบ.ทบ. ตามขั้นตอน (ดู : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 16 พฤษภาคม 2555 เหมืองโผล่คลังแสงกองทัพ มทบ.24 หวั่นอันตรายขุดโปแตชจุดเก็บกระสุนปืนใหญ่)
ด้านนายสุวิทย์ กุหลาบวงษ์ ผู้ประสานงานศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ (ศสส.) อีสาน ได้เปิดเผยต่อผู้สื่อข่าว เมื่อเวลาประมาณ 13.00 น. ของวันนี้ (19 พ.ค.) ว่า ตามข้อมูลการรังวัดขอบเขตเหมืองแร่โปแตชอุดรฯ ของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ซึ่งได้ทำการปิดประกาศไปเมื่อวันที่ 25 พ.ย. 54 พบว่าขอบเขตการทำเหมืองที่ลึกลงไปจากผิวดินเกินกว่า 100 เมตร ตามกฎหมายแร่ ของบริษัท เอเชีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือบริษัทเอพีพีซี คำขอที่ 1/2547 ได้รุกล้ำเข้าไปในเขตทหาร ได้แก่ พื้นที่เหมืองครอบคลุมค่ายพระยาสุนทรธรรมธาดา ซึ่งมีหน่วยงานที่สำคัญ ได้แก่ กองกำลังสุรศักดิ์มนตรี และกอ.รมน.ภาค 2, ค่ายยุทธศิลป์ประสิทธิ์ มีกองพันทหารปืนใหญ่ที่ 13 ซึ่งเป็นคลังแสงใต้ดิน สังกัดกองทัพบก และสำนักงานพัฒนา ภาค 2 หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา สังกัดกองบัญชาการทหารสูงสุด
“ทหารเองก็มีพ.ร.บ.ว่าด้วยเขตปลอดภัยในราชการทหาร พ.ศ.2478 ซึ่งการจะทำกิจกรรมใดๆ ในพื้นที่ทหารไม่ว่าบนดินหรือใต้ดินจะต้องได้รับอนุญาตเสียก่อน อย่างไรก็ดี ทหารถือเป็นองค์กรที่มีความสำคัญต่อความมั่นคงของรัฐ ดังนั้น การที่เอกชนจะทำเหมืองโดยรุกล้ำเข้าไปในเขตทหาร จึงไม่สมควรยิ่ง เพราะจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ และประเทศชาติอย่างแน่นอน” นายสุวิทย์กล่าว
นายสุวิทย์กล่าวต่อว่า ในช่วงที่มีการปิดประกาศเขตเหมืองชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี เคยไปยื่นหนังสือ ที่ค่ายทหาร เพื่อให้ข้อมูลว่าจะมีการทำเหมืองในเขตทหาร พร้อมขอให้ทหารช่วยติดตามตรวจสอบประทานบัตรโครงการฯ แต่ก็เงียบ จนกระทั่งเมื่อวันที่ 15 พ.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้เชิญไปให้ข้อมูล ทหารจึงรู้ข้อเท็จจริง
“ที่ผ่านมาบริษัทเอพีพีซี เข้าไปทำกิจกรรมเพื่อสร้างความสัมพันธ์ในค่ายทหารอยู่บ่อยครั้ง แต่พอฝ่ายชาวบ้านไปยื่นหนังสือเพื่อขอให้ทหารได้ติดตามตรวจสอบข้อมูล ซึ่งเป็นข้อเท็จจริง ที่จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ กลับเพิกเฉย”
นายสุวิทย์ ยังเผยอีกว่า เนื่องจากการทำเหมืองในเขตทหารเป็นเรื่องที่อ่อนไหวต่ออธิปไตย และความมั่นคงของรัฐ แต่ทว่าเมื่อเร็วๆ นี้มีข่าวว่าบริษัทอิตาเลี่ยนไทย ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของบริษัทเอพีพีซี มีแผนที่กำลังจะขายหุ้นโครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี เพื่อระดมทุนไปลงทุนโครงการท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวายในพม่า โดยตนเชื่อว่า นายทุนจีนจะเข้ามาซื้อหุ้นเพื่อดำเนินการต่อ ซึ่งหากต่างชาติเข้ามาแล้วขุดเหมืองใต้เขตทหาร เมื่อนั้นความปลอดภัย และความมั่นคงของชาติก็คงไม่มีอีกแล้ว นายสุวิทย์กล่าว
/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/
นายเดชา คำเบ้าเมือง ศูนย์สื่อชุมชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ศสธ.)
ตู้ปณ. 14 อ.เมือง จ.อุดรธานี 41000
โทรศัพท์ : 081-3696266
อีเมล์ : decha_61@yahoo.com ; huktin.ud@gmail.com