12 ส.ค. 2558 ที่ห้องประชุมโรงแรมเรมอนยา มะละแหม่ง รัฐมอญ ประเทศเมียนมา มีการแถลงข่าวของเครือข่ายปกป้องแม่น้ำสาละวิน (Save the Salween Network) ผู้เข้าร่วมประมาณ 60 คน เป็นสื่อมวลชนพม่าทั้งหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ และเว็บไซต์กว่า 10 สำนัก นอกจากนี้ยังมีนักวิชาการ เอ็นจีโอ และประชาชนผู้สนใจ
ซอต่าโพ ผู้ประสานงานกลุ่มปกป้องแม่น้ำกะเหรี่ยง (Karen Rivers Watch) กล่าวว่าช่วงที่ผ่านมาที่เกิดภัยพิบัติน้ำท่วมในแทบทุกพื้นที่ของพม่านั้น ที่เมืองพะอัน บ้านเรือนของประชาชนที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำสาละวินในรัฐกะเหรี่ยงกว่า 1,200 ครัวเรือน ก็ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วมเช่นกัน โดยมีประชาชนอย่างน้อย 6,300 คน ต้องอพยพออกจากบ้านเรือนที่ประสบภัย
“ชาวบ้านกังวลมากว่าหากมีการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำสาละวินทางตอนบน อาจเกิดปัญหาน้ำท่วมรุนแรงมากกว่านี้ และอาจเกิดความเสียหายที่ไม่สามารถประเมินได้ เราจึงเรียกร้องให้ชะลอโครงการเขื่อนทั้ง 5 แห่งที่จะสร้างบนแม่น้ำสาละวิน” นายซอต่าโพกล่าว
ดร.อองนายอู สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ชาวมอญ จากพรรค Mon National Party กล่าวในเวทีว่า ปัจจุบันพม่ากำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านทางการเมือง ยังไม่มีเสถียรภาพ กระบวนการสันติภาพกำลังดำเนินอยู่ จึงไม่เหมาะสมอย่างยิ่งที่จะอนุมัติโครงการเขื่อนขนาดใหญ่
ส.ส.ชาวมอญกล่าวอีกว่าที่ผ่านมาโครงการพลังงาน อาทิ ก๊าซธรรมชาติ ที่ส่งขายประเทศเพื่อนบ้านแต่ผลประโยชน์ไม่เคยตกกับประชาชนเลย และโครงการเขื่อนสาละวินก็คงเป็นเช่นเดียวกัน
ต่อกรณีที่บริษัทที่ปรึกษาออสเตรเลีย SMEC ที่กำลังศึกษาผลกระทบสังคมและสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการเขื่อนเมืองโต๋น ในรัฐฉาน ซึ่งมีภาคประชาชนในรัฐฉานออกมาต่อต้านในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ส.ส.ชาวมอญกล่าวว่าบริษัทก็ได้มาดำเนินการในพื้นที่ปากแม่น้ำสาละวินในรัฐมอญ แต่เป็นเพียงการประชุมแบบปิดกับหน่วยงานรัฐเท่านั้น
“บริษัทเขาไม่ได้สนใจประชาชนชาวมอญ กระบวนการ EIA ก็ไม่ได้มีมาตรฐานใดๆ รัฐบาลควรหยุดการศึกษานี้ทันที ศึกษาไปก็มิได้มีระเบียบใดๆ รับรอง และพวกเราก็มีจุดยืนที่ชัดเจนว่าไม่ต้องการให้มีการสร้างเขื่อน” ดร.อองนายอู กล่าว
ทั้งนี้ โครงการเขื่อนบนลำน้ำสาละวินที่เป็นความร่วมมือระหว่างไทยและพม่า มีความคืบหน้า 2 โครงการ ได้แก่ เขื่อนฮัตจี (กำลังผลิตไฟฟ้า 1,360 เมกกะวัตต์) ในรัฐกะเหรี่ยง ห่างจาก อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน 47 กิโลเมตร และเขื่อนเมืองโต๋น (กำลังผลิตไฟฟ้า 7,000 เมกกะวัตต์) ในรัฐฉาน ทั้ง 2 โครงการเป็นการลงทุนร่วมของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ร่วมกับรัฐบาลพม่าและบริษัทจีน