สิ้นสุดกระบวนการยุติธรรม ‘ศาลฎีกา’ ยกฟ้อง 3 จำเลย คดีจ้างวานฆ่า ‘เจริญ วัดอักษร’

สิ้นสุดกระบวนการยุติธรรม ‘ศาลฎีกา’ ยกฟ้อง 3 จำเลย คดีจ้างวานฆ่า ‘เจริญ วัดอักษร’

ไม่เห็นด้วย แต่ต้องยอมรับคำตัดสิน – ชาวบ้านประจวบฯ ร่วมฟังคำพิพากษาศาลฎีกา คดีจ้างวานฆ่า ‘เจริญ วัดอักษร ศาลฎีกายืนตามศาลอุทธรณ์ ยกฟ้องจำเลยทั้ง 3 คน ทั้งให้ถอนหมายจับทนายธนู หินแก้ว 

20151310150158.jpg

13 ต.ค. 2558 ศาลอาญา รัชดา ชาวบ้านบ่อนอก จ.ประจวบคีรีขันธ์ กว่า 150 คน นำโดยกรณ์อุมา พงษ์น้อย ภรรยาเจริญ วัดอักษร และประธานกลุ่มรักท้องถิ่นบ่อนอก เดินมาทางร่วมฟังคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีจ้างวานฆ่าเจริญ วัดอักษร แกนนำคัดค้านการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าบ่อนอกและการรุกล้ำพื้นที่สาธารณะคลองชายธง เมื่อปี 2547 ขณะที่ฝั่งจำเลยมีเพียงนายธนู หินแก้ว จำเลยที่ถูกออกหมายจับ ไม่ได้เดินทางมาศาล

การนัดฟังคำพิพากษาดังกล่าวเป็นครั้งที่ 2 เนื่องจากการนัดครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 ก.ย.2558 มีเพียงมาโนช หินแก้ว อดีต ส.จ.ประจวบคีรีขันธ์ จำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นจำเลย 1 ใน 3 คน เดินทางมารับฟังคำตัดสิน โดยนายมาโนชรับมอบอำนาจจากเจือ หินแก้ว อดีตกำนัน ต.บ่อบอก จำเลยที่ 5 นำใบรับรองแพทย์มายื่นต่อศาลเพื่อยืนยันว่าไม่สามารถเดินทางมาศาลได้ ส่วนธนู หินแก้ว จำเลยที่ 3 ไม่เดินทางมาศาลโดยไม่แจ้งเหตุ ศาลจึงมีคำสั่งให้ออกหมายจับติดตามตัว

ในวันนี้ (13 ต.ค. 2558)  ศาลอ่านคำพิพากฎีกาสรุปความได้ว่า ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าคำให้การของจำเลยที่ 1 และ 2 กลุ่มมือปืน ซึ่งเสียชีวิตเมื่อ ส.ค.2549 ขณะถูกคุมขังในเรือนจำระหว่างการพิจารณาคดีในศาลชั้นต้น  จึงมีเพียงปากคำในชั้นสอบสวน ซึ่งบางส่วนก็ให้การขัดแย้งกัน จึงไม่มีน้ำหนักหลักฐานเพียงพอว่าจำเลยที่ 3-5 เกี่ยวข้องในฐานะผู้จ้างวานฆ่า

อีกทั้งมูลเหตุเรื่องการคัดค้านโรงไฟฟ้าและกรณีที่สาธารณะคลองชายธงนั้น ความเห็นต่างสามารถเกิดขึ้นได้ แม้จำเลยที่ 5 จะมีตำแหน่งเป็นประธานในกองทุนประกันผลกระทบจากการก่อสร้างโรงไฟฟ้า แต่เงินดังกล่าวให้กับชุมชน ไม่ชัดเจนว่าจำเลยได้รับผลประโยชน์ส่วนตัวอย่างไร ส่วนกรณีที่สาธารณะประโยชน์นั้นการกระทำของผู้เสียชีวิตอาจทำให้ผู้บุกรุกหลายเจ้า รวมทั้งจำเลยไม่พอใจ แต่ไม่เพียงพอที่ทำให้จะต้องลงมือฆ่า

โจทก์ไม่สามารถนำสืบได้ว่าจำเลยทั้ง 3 เป็นผู้จ้างวานฆ่า และมีส่วนในผลประโยชน์จากโครงการโรงไฟฟ้าบ่อนอก ศาลฎีกาเห็นว่าไม่มีหลักฐานหนักแน่นพอ จึงพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ ให้ยกฟ้อง และให้ถอนหมายจับทนายธนู หินแก้ว จำเลยที่ 3 ด้วย

ด้าน กรณ์อุมา พงษ์น้อย กล่าวภายหลังการพิพากษาศาลฎีกาคดีว่า ไม่เห็นด้วยกับคำตัดสินของศาลฎีกา แต่ในฐานะประชาชนเราก็จำต้องยอมรับคำตัดสินนั้น 

“11 ปี เราคิดว่าเราจบแล้วกับการเรียนรู้ ต่อไปชาวบ้านต้องพูดคุยกันเพื่อหาแนวทางในการปกป้องประชาชนด้วยกันเอง จบสิ้นกระบวนการเรียนรู้กระบวนการยุติธรรมแล้ว” กรณ์อุมากล่าว

ประธานกลุ่มรักท้องถิ่นบ่อนอกในข้อมูลด้วยว่า ชาวบ้านในพื้นที่ขณะนี้กำลังเผชิญหาการต่อสู้ครั้งใหม่เพื่อปกป้องที่ดินสาธารณะคลองชายธงจากกลุ่มทุนและข้าราชการในพื้นที่ที่ต้องการนำที่ดินดังกล่าวไปสร้างมหาวิทยาลัย โดยมีการข่มขู่ชาวบ้านว่าจะต้องเหมือนกันที่เคยต้องสูญเสียเจริญ 

อย่างไรก็ตามกลุ่มชาวบ้านเห็นว่าการมีมหาวิทยาลัยในจังหวัดประจวบฯ เป็นเรื่องดี ไม่ได้ต่อต้าน แต่เห็นว่ามหาวิทยาลัยจะสร้างตรงไหนก็ได้ ไม่ควรมาสร้างในพื้นที่ชุมน้ำที่ควรอนุรักษ์ไว้เพื่อความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ 

 

วันนี้ (13 ต.ค.58) “หมดหวังในกระบวนการยุติธรรม… แต่ยังไงวันนี้ยังต้องสู้…“ กรณ์อุมา พงษ์น้อย และชาวบ้านบ่อนอก ให้สัมภาษณ์หลังศาลฎีกาตัดสินยกฟ้อง คดีจ้างวานฆ่าเจริญ วัดอักษร

Posted by นักข่าวพลเมือง (ThaiPBS) on Monday, October 12, 2015

 

คดีดังกล่าวพนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ฟ้อง เสน่ห์ เหล็กล้วน จำเลยที่ 1, ประจวบ หินแก้ว จำเลยที่ 2, ธนูหินแก้ว อาชีพ จำเลยที่ 3, มาโนช หินแก้ว จำเลยที่ 4 และเจือ หินแก้ว จำเลยที่ 5 ในความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาและไตร่ตรองไว้ก่อน ร่วมกันจ้างวานฆ่าผู้อื่นและ พ.ร.บ.อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนฯ พ.ศ.2490 เมื่อวันที่ 9 ก.ย.47 

ทั้งนี้ คดีฟ้องว่า ระหว่างต้นปี 2547 – 21 มิ.ย. 2547 จำเลยที่ 3-5 ร่วมกันจ้างวานให้จำเลยที่ 1-2 ฆ่าเจริญ ประธานกลุ่มรักษ์ท้องถิ่นบ่อนอก จ.ประจวบคีรีขันธ์ แกนนำคัดค้านโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าบ่อนอก ซึ่งใช้ปืนขนาด 9 มม. ยิงเจริญรวม 9 นัด จนเสียชีวิต ขณะที่เจริญกำลังลงจากรถทัวร์สายกรุงเทพ-บางสะพาน หลังจากเดินทางไปให้ปากคำ กับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เรื่องการบุกรุกที่ดินสาธารณะคลองชายธงในเขต อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ เหตุเกิดที่สี่แยกบ่อนอก อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ แต่จำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธ

ต่อมาศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 2551 ว่าธนู หินแก้ว จำเลยที่ 3 มีความผิดฐานจ้างฆ่าผู้อื่นฯ ให้ประหารชีวิต ส่วนมาโนช และเจือ จำเลยที่ 4 – 5 ให้ยกฟ้อง เนื่องจากพยานหลักฐานไม่มีน้ำหนักเพียงพอ 

จากนั้น เมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2556 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนยกฟ้องมาโนชและเจือ และพิพากษากลับให้ยกฟ้องจำเลยที่ 3 ด้วย เพราะพยานหลักฐานไม่เพียงพอเช่นกัน ซึ่งระหว่างฎีกาจำเลยที่ 3-5 ได้รับการปล่อยตัว ต่อมาอัยการโจทก์ได้ยื่นฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ 3-5 

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ