สำรวจความเห็น ‘ความมั่นคงของชีวิต’ ปชช.ชี้ ‘เบี้ยยังชีพ’ คือความหวังเมื่อสูงวัย

สำรวจความเห็น ‘ความมั่นคงของชีวิต’ ปชช.ชี้ ‘เบี้ยยังชีพ’ คือความหวังเมื่อสูงวัย

20152009194328.jpg

20 ก.ย. 2558 เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อความมั่นคงในชีวิตเมื่อสูงวัย โดยเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 953 คน ใน 4 ภูมิภาค ประกอบด้วย ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และกรุงเทพฯ พบประชาชนร้อยละ 65 ระบุว่ามีการวางแผนด้านรายได้เมื่ออายุ 60 ปี ในขณะที่ร้อยละ 35 ไม่ได้วางแผน ทั้งนี้คนที่วางแผนส่วนใหญ่มองว่าจะมีรายได้จากการทำงานแม้จะอายุ 60 ปีแล้ว

การสำรวจดังกล่าว สืบเนื่องจากข้อมูลที่ว่าสังคมไทยได้เข้าสู่สังคมสูงวัยแล้วโดยภายในปี 2566 จะมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นถึง 20 ล้านคน และข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้คาดประมาณว่าในอีก 30 ปีจากนี้ไปจำนวนผู้สูงอายุจะเพิ่มจากร้อยละ 14 เป็นร้อยละ 30 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ และสัดส่วนผู้สูงอายุจะสูงกว่าสัดส่วนประชากร เด็ก (0-14 ปี) เป็นครั้งแรกภายใน 10 ปีนี้ ในขณะที่ประเทศไทยยังไม่ได้มีการเตรียมตัวให้พร้อมในการก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยทั้งในด้านสังคมและเศรษฐกิจ 

20152009194339.jpg

แบบสำรวจยังได้สอบถามเรื่องความกังวลใจที่สุดตอนอายุ 60 พบว่าร้อยละ 25 กังวลเรื่องสุขภาพมากที่สุด ร้อยละ 21 กังวลเรื่องรายได้ ร้อยละ 19 กังวลเรื่องคนดูแล ร้อยละ 18 กังวลเรื่องที่อยู่อาศัย ร้อยละ 17 เรื่องหนี้สิน ทั้งนี้ปัญหาสุขภาพเกี่ยวโยงกับเรื่องรายได้จากการทำงาน หากเจ็บป่วยอาจทำงานไม่ได้ทำให้ขาดรายได้

เมื่อถามถึงรายได้ที่คาดว่าจะได้รับเมื่ออายุ 60 ปี ร้อยละ 25 ตอบว่าเบี้ยยังชีพ รองลงมาร้อยละ 21 จากลูกหลาน ร้อยละ 16 จากเงินเก็บ ร้อยละ 15 จากการทำงาน ส่วนบำเหน็จบำนาญทั้งส่วนข้าราชการและประกันสังคมคิดเป็นร้อยละ 4 เท่ากัน ในขณะที่ประชาชนเพียงร้อยละ 3 ที่คิดเรื่องการออมเพื่อบำนาญ เช่น กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) อาจด้วยว่า กอช.เพิ่งเริ่มต้นดำเนินการและไม่เป็นที่รู้จัก รัฐจึงควรเร่งรณรงค์สร้างความเข้าใจในหมู่คนวัยทำงานให้มากขึ้น

ทั้งนี้คนส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 67 คาดหวังให้รัฐมีระบบบำนาญพื้นฐานที่ครอบคลุมทุกคน โดยเปลี่ยนเบี้ยยังชีพ ให้เป็นบำนาญพื้นฐาน เมื่อถามว่าค่าใช้จ่ายต่อเดือนที่จำเป็นและเหมาะสมต่อการดำรงชีวิตเมื่ออายุ 60 ปีเป็นเท่าไหร่ กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 32 ตอบว่า 3,000 -6,000 บาท  ร้อยละ 34 ตอบว่า 6,000-10,000 บาท 

ผลสำรวจดังกล่าวพบว่า คนส่วนใหญ่มีการวางแผนเรื่องรายได้เมื่อสูงวัย ทั้งนี้คาดว่าจะมีรายได้จากเบี้ยยังชีพผู้สูงวัย รวมกับส่วนที่ได้จากลูกหลาน และจากการทำงานต่อเนื่องหลังจากอายุ 60 ปี  โดยคาดหวังอัตรารายได้ขั้นต่ำต่อเดือนที่ 6,000 บาทขึ้นไป ทั้งนี้หวังให้รัฐปรับเบี้ยยังชีพเป็นบำนาญพื้นฐานในอัตราที่สูงกว่าในปัจจุบัน หรืออย่างน้อยก็ใกล้เคียงกับ 3,000 บาทต่อเดือน 

สำหรับเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ ระบุเป้าหมายว่า ต้องการขับเคลื่อนให้รัฐ มีการจัดระบบบำนาญแห่งชาติที่ครอบคลุมประชากรทุกคน ตั้งอยู่บนหลักการเสมอภาคถ้วนหน้า ไม่เหลื่อมล้ำ มีความเป็นธรรมระหว่างกลุ่มอาชีพและวัยต่างๆ โดยมีข้อเสนอให้มีการออกกฎหมายบำนาญแห่งชาติ เพื่อสร้างหลักประกันทางรายได้ที่เหมาะสมเพียงพอต่อการดำรงชีวิต โดยระบบบำนาญแห่งชาติควรมีชั้นความมั่นคงรองรับ 3 ชั้น คือ

1.ชั้นความปลอดภัย คือการจัดบำนาญพื้นฐานถ้วนหน้าให้ทุกคน ในอัตรารายเดือนที่สูงว่าเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในปัจจุบัน อย่างน้อยเท่าเส้นความยากจน ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 2,400 บาท/เดือน 

2.ชั้นเพิ่มคุณภาพชีวิต คือการออมเพื่อบำนาญของแต่ละคน โดยมีการบังคับให้ออม หรือสร้างแรงจูงใจให้สมัครใจออม โดยรัฐสมทบการออมให้ประชาชนโดยเสมอภาคกัน เช่น การสมทบให้ข้าราชการในกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ การสมทบให้ประชาชนในกองทุนการออมแห่งชาติ และการสมทบให้ผู้ประกันตนในกองทุนประกันสังคม ในอัตราและสัดส่วนที่ไม่แตกต่างกัน

3.ขั้นเพิ่มความมั่งคั่งให้ชีวิต คือ การออมผ่านระบบการลงทุนสำหรับประชากรที่มีรายได้มากเพียงพอ เช่นการลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 

20152009194402.png

เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ ระบุด้วยว่า รัฐต้องมีการกำกับให้ระบบบำนาญทั้งหมดเอื้อต่อประชากรทุกกลุ่มอาชีพ ทุกกลุ่มวัย โดยมีคณะกรรมการกำกับให้แต่ละชั้นของระบบบำนาญมีความคล่องตัว มีความเป็นธรรม และมีการติดตามตรวจสอบกองทุนอย่างมีประสิทธิภาพ ป้องกันการล้มละลายที่อาจเกิดขึ้นในการบริหารจัดการ

20152009194434.jpg

หนูเกน อินทจันทร์ เครือข่ายสลัมสี่ภาค กล่าวว่า “หากเปรียบระบบบำนาญเหมือนกับชั้นปิ่นโต ที่มีข้าวเป็นชั้นพื้นฐานที่รัฐจัดหาให้  ส่วนชั้นกับข้าว และชั้นของหวานประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการออมเพื่อจัดหาให้กับตนเอง มีรัฐกำกับให้ทุกชั้นของปิ่นโตของแต่ละกลุ่มอาชีพ ไม่ให้มีความแตกต่างกันสูงเกินไป และที่สำคัญต้องไม่ทำให้ระบบบำนาญพื้นฐานเป็นระบบสงเคราะห์”

20152009194509.jpg

ส่วน จุฑาเนตร สาสดี เยาวชนจากเครือข่ายแรงงานนอกระบบ กล่าวว่า “การที่จะสร้างความมั่นคงเมื่อสูงวัยได้นั้น ต้องเริ่มต้นตั้งแต่วัยหนุ่มสาว มีการวางแผนออมเงินสะสมเพื่อวันข้างหน้า แต่รัฐก็ควรที่จะจัดระบบบำนาญพื้นฐานไว้เป็นฐานรองรับสำหรับทุกคน โดยเปลี่ยนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และปรับอัตราเงินรายเดือนให้เพียงพอต่อการใช้ชีวิต วันเยาวชนปีนี้จึงอยากบอกให้กลุ่มคนรุ่นใหม่ ควรเริ่มมีการเตรียมพร้อมและร่วมกันใส่ใจสังคมไทยที่เป็นสังคมสูงวัยแล้ว ให้มีการจัดระบบบำนาญแห่งชาติสำหรับทุกคน เพื่อผู้สูงวัยในวันนี้และคนสูงวัยในอนาคตด้วย” 

20152009194526.jpg

ทั้งนี้ เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการประกอบไปด้วย เครือข่ายสลัมสี่ภาค เครือข่ายสภาองค์กรชุมชน เครือข่ายผู้สูงอายุ เครือข่ายแรงงานนอกระบบ และกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ได้จัดกิจกรรมรณรงค์ “สังคมไทยสูงวัยไปด้วยกัน ตอนคนรุ่นใหม่สูงวัยอย่างมีคุณภาพ ด้วยบันาญแห่งชาติ” ขึ้นในวันที่ 20 ก.ย. 2558 ซึ่งเป็นวันเยาวชนแห่งชาติ 

การจัดกิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นพร้อมกันใน 2 ภูมิภาค คือ ภาคเหนือที่ จ. เชียงใหม่ จัด ณ ลานกิจกรรมพิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา ตรงข้ามอนุสาวรีย์สามกษัตริย์  ส่วนในกรุงเทพฯจัดที่ เกาะพญาไท อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ทั้งนี้มีการจัดกิจกรรมดังกล่าวไปแล้วในภาคใต้ จ.นครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 13 ก.ย.ที่ผ่านมา

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ