กระดาษคำตอบเปล่าแผ่นนั้นสะท้อนอะไรการศึกษาไทย

กระดาษคำตอบเปล่าแผ่นนั้นสะท้อนอะไรการศึกษาไทย

01

เรื่อง: สันติสุข กาญจนประกร – สิริกัญญา ชุ่มเย็น / ภาพ: สุดารัตน์ สาโรจน์จิตติ

เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา เราขออนุญาตสื่อสารตรงๆ ถึงเหตุผล 2 ข้อ ที่คุณควรอ่านบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้

หนึ่ง… ในฐานะคนทำสื่อ นี่เป็นบทสัมภาษณ์ที่ดี และมันไม่เกี่ยวกับคำถาม แต่ต้องยกเครดิตทั้งหมดให้แก่การตอบของ ไนซ์ – ณัฐนันท์ วรินทรเวช ล้วนๆ

สอง… หากคุณพอรู้จักเธออยู่บ้าง ไม่ว่าจะรักหรือเกลียด ถึงอย่างไร เราควรยอมรับว่าโลกนั้นย่อมขับเคลื่อนโดยคนรุ่นใหม่ และนี่คือเสียงของสายฝนที่อาจตกผิดฤดู แต่น่าไปชงกาแฟร้อนมาสักแก้ว นั่งนิ่งๆ เพื่อรับฟังเป็นอย่างยิ่ง ส่วนใครที่อาจไม่มีเวลาติดตามข่าวสาร เราจะใช้พื้นที่เพียงเล็กน้อยในการแนะนำเธอ

ณัฐนันท์เป็นนักเรียนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา อยู่ชั้นมัธยม 6 เธอส่งกระดาษคำตอบเปล่าๆ ในวิชา หน้าที่พลเมือง ให้ครู โดยไม่ได้จรดปากกาลงเขียนอย่างอื่นนอกจากชื่อ-นามสกุล และเลขที่ โดยให้เหตุผลว่า ไม่ยอมรับการผูกขาดทางศีลธรรม ที่มีลักษณะยัดเยียดแนวคิดแบบเดียว และปฏิเสธการโต้แย้งแสดงความเห็นต่างตามวิถีประชาธิปไตย

เธอเป็นคนที่ได้รับเชิญให้ไปออกรายการ เจาะประเด็นร้อน ทางโทรทัศน์ช่องหนึ่ง และถูกเชิญตัวออกมาก่อนรายการเริ่ม เพราะไปตั้งคำถามกับ เทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. ถึงความเคลือบแคลงในที่มาของอำนาจ โดยทีมงานถึงกับบอกว่า เชิญมาผิดคน

ณัฐนันท์เริ่มเคลื่อนไหวกิจกรรมทางสังคมมาตั้งเเต่ชั้นมัธยม 4 เป็นอดีตเลขาธิการกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ต้องการปฏิรูปการศึกษา เป็นต่อจาก เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

หลังการสนทนา เธอบอกกับเราว่า ช่วงนี้มีสื่อให้ความสนใจมาพูดคุยกับเธอเป็นพิเศษ ทว่าคำถามที่เธอชอบที่สุดมาจากสื่อต่างประเทศที่ว่า ยังมีความหวังกับประเทศไทยอยู่ไหม คำตอบของเธอคือ ถ้าไม่มี ป่านนี้คงรีบๆ เรียนให้จบแล้วไปอยู่เมืองนอก คงไม่มาแอ็คชั่นอะไรเยอะ

และต่อจากนี้คือทัศนะของเธอ คนรุ่นใหม่ที่ยังมีความหวัง

วิชาหน้าที่พลเมืองในโรงเรียน สอนเกี่ยวกับอะไรบ้าง

ถ้าให้พูด วิชานี้เนื้อหาทั้งหมด ทั้งเล่ม เป็นค่านิยมหลักของคนไทย 12 ประการ ที่ คสช. ได้คิดขึ้นมา คือจะให้ค่านิยมมาทีละข้อแล้วก็อธิบาย มีการยกตัวอย่างเพลง นิทาน หรือยกหลักธรรมมาสนับสนุนค่านิยมแต่ละข้อ ซึ่งมองว่าไม่ค่อยมีประโยชน์เท่าไหร่สำหรับเด็กที่อยู่มัธยมปลายแล้ว ควรเรียนเนื้อหาที่มีสาระ ส่งเสริมการคิด วิเคราะห์ มากกว่านี้หรือเปล่า มากกว่าให้นักเรียนมานั่งจำค่านิยมทีละข้อ

ก่อนหน้าที่แบบเรียนจะถูกเปลี่ยนมาเป็นค่านิยม 12 ประการ เคยเรียนวิชานี้มาก่อนไหม

มีวิชาที่ชื่อเหมือนกัน คือหน้าที่พลเมือง แต่โดยส่วนตัวเรามองว่ามันเป็นคนละวิชากันเลย เพราะว่าหน้าที่พลเมืองที่เคยเรียน เรียนเกี่ยวกับเรื่องกฎหมาย ระบบการปกครอง ซึ่งเป็นแนวรัฐศาสตร์ ไม่ใช่ให้มาเรียนค่านิยมของ คสช. เพิ่งมาเปลี่ยนเมื่อปีที่แล้ว

เท่าที่เรียนวิชาหน้าที่พลเมืองก่อนถูกเปลี่ยนเนื้อหา คิดว่ามีส่วนไหนบ้างในวิชานี้ ที่มีประโยชน์และนำมาใช้ในชีวิตจริงได้

มองว่ามีประโยชน์นะ เพราะเราได้เรียนรู้เกี่ยวกับกฎหมาย ระบอบการเมืองประเภทต่างๆ ซึ่งโดยส่วนตัวมันเป็นสิ่งที่เรามีความสนใจอยู่แล้ว ได้รู้ว่าบ้านเมืองมีการจัดสรรอำนาจยังไง ส.ส. หรือ ส.ว.  กระทั่งผู้แทนต่างๆ เลือกกันยังไง อีกอย่าง เราชอบอ่านหนังสือนอกเหนือจากวิชาเรียนด้วย อ่านรัฐศาสตร์ส่วนหนึ่งอยู่แล้ว หรือเรืองการเมือง ชอบหาความรู้นอกห้องเรียน

ค่านิยม 12 ข้อนี้ ไม่มีอะไรดีเลยหรือ

จริงๆ ถ้ามองค่านิยมทีละข้อ มันดีอยู่แล้วล่ะ เพราะมันเป็นลักษณะที่พึงประสงค์ เช่น ซื่อสัตย์ เสียสละ อดทน แต่เราต้องตั้งคำถามว่า การให้นักเรียนมานั่งท่องทีละข้อ มันสามารถปลูกฝังลักษณะอันพึงประสงค์ตรงนั้นได้จริงหรือเปล่า หรือควรใช้วิธีอื่น การท่องจำทีละข้อเป็นการเสียเวลาหรือเปล่า เป็นการลดทอนทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์ของนักเรียนหรือเปล่า

อีกอย่าง การขยายขอบเขตอำนาจทางการเมือง มาเป็นผู้กำหนดศีลธรรมของสังคมด้วย พูดชี้ว่าอันไหนดี อันไหนไม่ดี คนดีต้องเป็น 1 ใน 12 ข้อนี้เท่านั้น ซึ่งการที่เราส่งกระดาษเปล่าก็เป็นการปฏิเสธอำนาจในการกำหนดศีลธรรมของสังคม

“รากของปัญหาสำคัญที่สุดคือคนไทยไม่ค่อยเปิดกว้างกับการถกเถียงเท่าไหร่ เน้นการเชื่อโดยมีที่มาจากอำนาจ”

ยกตัวอย่าง การสอนให้กตัญญูต่อพ่อแม่ ก็เป็นสิ่งที่สังคมโดยรวมยอมรับ แล้วไม่ดีตรงไหน

อย่างที่บอกไปค่ะว่า ไม่ได้คัดค้านค่านิยม 12 ประการเป็นรายข้อ หรือเนื้อหารายละเอียดปลีกย่อยตรงนั้น แต่มันคือการตั้งคำถามว่าคุณเป็นใคร ที่จะมาบอกประชาชนว่าคนดีต้องเป็นแบบไหน ในเมื่อคุณยังไม่มีความชอบธรรมในอำนาจของตนเองเลยด้วยซ้ำ

ที่สำคัญ ข้อสอบมันค่อนข้างมีความลำเอียงทางการเมือง คือเข้าข้างฝั่งใดฝั่งหนึ่งชัดเจน เรามองว่าถ้าเกิดอยากนำประเทศไปสู่การปรองดอง วิชาที่สอนต่างๆ ในโรงเรียนก็ควรมีเนื้อหาเป็นกลาง และเปิดกว้างให้นักเรียนแสดงความคิดเห็นของตัวเอง ว่าจะเห็นด้วยกับฝั่งไหน ฝ่ายใด

เมื่อปฏิเสธบางวิชา แสดงว่าต้องเห็นรากอะไรบางอย่างที่มีปัญหา

รากของปัญหาสำคัญที่สุดคือคนไทยไม่ค่อยเปิดกว้างกับการถกเถียงเท่าไหร่ เน้นการเชื่อโดยมีที่มาจากอำนาจ สมมติว่าผู้มีอำนาจพูดเราก็จะเชื่อ คนดังพูดเราก็จะเชื่อ โดยที่เราไม่ได้มาชั่งใจดูว่าเป็นเรื่องที่น่าเชื่อถือหรือเปล่า ทำให้เราเป็นสังคมที่ไม่เน้นการถกเถียง แต่เน้นว่าใครเป็นคนพูด แล้วก็มีวัฒนธรรมบางอย่างที่เน้นการโจมตีตัวบุคคลมากกว่าเอาไอเดียของเขามาดีเบต มาโต้แย้งกัน

ไม่ได้เกลียดความเป็นไทยนะ แต่เราเกลียดการผูกขาดความเป็นไทย เพราะคนไทยตั้งแต่สมัยโบราณ ทางเหนือก็พูดภาษาหนึ่ง ภาคใต้ก็มีอีกภาษา อีกวัฒนธรรมหนึ่ง อีสานและภาคกลางก็เหมือนกัน เราอยู่กันแบบมีความหลากหลายอยู่แล้ว แต่พอเริ่มมีเรื่องชาติ มีความเป็นชาตินิยม ก็พยายามสร้างลักษณะใดลักษณะหนึ่งขึ้นมา แล้วก็แปะป้ายว่าอันนี้คือความเป็นไทย ทำให้เราลืมอัตลักษณ์ที่มันหลากหลายของคนไทยในรูปแบบอื่นๆ เราลืมไปว่าจริงๆ แล้ว ความเป็นไทยมันหลากหลายได้เหมือนกัน

ทำให้เกิดปัญหาการแบ่งเขาแบ่งเรา อย่างนี้เป็นคนไทย อย่างนี้ไม่ใช่คนไทย สุดท้ายก็อยู่ร่วมกันไม่ได้ ทีนี้เราควรตั้งคำถามหรือเปล่าว่า จริงๆ แล้วความเป็นไทยคือความเป็นอย่างเดียวหรือว่าความหลากหลายที่อยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข

กับสิ่งที่เราไม่เชื่อในสังคมไทย มีจุดประนีประนอมได้บ้างไหม

จริงๆ ถ้าพูดถึงความประนีประนอม เราประนีประนอมค่อนข้างมากอยู่แล้วนะคะ คือถ้าเกิดว่าเป็นสิ่งที่ยังเป็นกฎอยู่ เช่น ไม่ทำข้อสอบแล้วถูกปรับคะแนนเป็นศูนย์ เราก็ทำตามกฎเกณฑ์ของสังคม เราไม่ได้เรียกร้องว่าไม่ทำข้อสอบแล้วยังจะขอคะแนนเต็ม

แต่เรื่องเดียวที่ไม่ประนีประนอมคือ พื้นที่ในการแสดงความคิดเห็น แค่นั้นเอง เรามีความเชื่อว่าสังคมจะพัฒนา จะก้าวไปข้างหน้าได้ มันต้องมีการแสดงความคิดเห็น ต้องมีการเปิดกว้าง ต้องมีพื้นที่ให้คนไอเดียต่างกันสามารถมาคุย มาดีเบตกันได้ว่า สุดท้ายแล้วจะเอายังไงกับสังคมนี้ดี เพราะถ้าเกิดพยายามปิดปากคนทุกคนในสังคม ไม่มีไอเดียใหม่ๆ สังคมจะโดนแช่แข็งไปเลยหรือเปล่า เราจะคาดหวังกับสังคมที่มันไม่มีความเคลื่อนไหวได้ยังไง

ไม่เห็นด้วยหรือกับคำพูดที่ว่า เป็นเด็กต้องเรียนรู้การอดกลั้น คล้ายๆ สำนวน ต้องอยู่ในกรงก่อน ถึงจะรู้จักคำว่าเสรีภาพ

เรามองว่าความเป็นระเบียบกับการลิดรอนสิทธิ์ในการแสดงความคิดเห็นมันต่างกันนะคะ การอยู่ในระเบียบ แน่นอนว่าเราปฏิบัติตามกฎหมาย ไม่ได้ไปทำร้ายใคร อยู่แบบสงบสุขของเราเอง ไม่ไปลิดรอนสิทธิของใคร แต่ว่าในขณะเดียวกัน คนอื่นก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะมาลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของเราเช่นเดียวกัน

คุณบอกให้เราอดทน อดกลั้น ไม่แสดงความคิดเห็น ในขณะเดียวกันมันก็แสดงให้เห็นว่าคุณไม่มีความอดทนอดกลั้นในการรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง เราไม่ได้ไปตะโกนใส่หูคุณ ไม่ได้บังคับให้คุณฟัง คุณแค่บังเอิญได้ยินสิ่งที่เราพูด แต่คุณรับไม่ได้ แทนที่คุณจะฝึกความอดทนอดกลั้นให้ตัวเอง ถ้าคุณไม่เห็นด้วย ก็ถกเถียงอย่างอารยะ คือไม่หยาบคาย และมีเหตุผล คุณกลับไม่ทำ กลับบอกให้เราเงียบ

ระหว่างการส่งกระดาษคำตอบเปล่า กับการเขียนแนวคิดของตัวเองลงไป ทำไมถึงไม่เลือกอย่างหลัง

ปีที่แล้วไม่ได้ส่งกระดาษเปล่า เพราะคำถามคือ บุคคลใดเป็นบุคคลที่นักเรียนคิดว่าส่งเสริมค่านิยมของความเป็นไทย มันเปิดให้เราแสดงความคิดเห็น และเขียนเหตุผลสนับสนุน แต่ปีนี้ข้อสอบไม่ใช่แบบนั้น ถามแค่ว่า นักเรียนจะเชื่อฟัง และปฏิบัติตามค่านิยม 12 ประการได้อย่างไร ซึ่งถ้าเขียนตอบไปก็เท่ากับว่าเรายอมรับการกำหนดศีลธรรมของสังคมแบบนี้ ว่าเป็นอะไรที่ถูกต้อง ดีงาม ซึ่งเรามองว่าไม่ค่อยสมเหตุสมผล

เป็นแค่นักเรียนมัธยมปลาย ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ต้องโดนอบรมแน่ๆ ว่า ควรเอาเวลาไปเรียนหนังสือจะดีกว่า

ในต่างประเทศ เขาส่งเสริมให้นักเรียนมี Critical Mind นั่นคือทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ สามารถที่จะแสดงความคิดเห็นของตัวเองได้อย่างชัดเจน และสามารถที่จะแลกเปลี่ยน ถกเถียงกันได้อย่างเป็นระบบ การที่เราออกมาพูดความคิดเห็นของตัวเองถือเป็นก้าวแรกของการพัฒนาความคิดไปสู่ Critical Mind ซึ่งถ้าสังคมไทยไม่สนับสนุนตรงนี้ ก็ต้องมานั่งบ่นกันเวลาที่มีผลวิจัยออกมาว่านักเรียนไทยมีทักษะการคิดวิเคราะห์ต่ำ เพราะพวกคุณไม่ได้สนับสนุนมันตั้งแต่แรกอยู่แล้ว

“จริงๆ มองว่าคนเราต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต ไม่มีทางพูดได้หรอกว่าคนเราถึงอายุขนาดไหนความคิดถึงจะตกผลึกร้อยเปอร์เซ็นต์ ชีวิตของเราต้องเติบโตขึ้นไปเรื่อยๆ ดังนั้น ความคิด ยิ่งใช้มากเท่าไหร่ ยิ่งตกผลึกมาก”

ถ้ามีคนพูดว่าเป็นเด็ก ไม่กลัวหรือว่าความรู้ยังไม่ตกผลึกมากพอ โดยเฉพาะการออกความคิดความเห็นในเรื่องยากๆ อย่างเรื่องการเมือง

จริงๆ มองว่าคนเราต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต ไม่มีทางพูดได้หรอกว่าคนเราถึงอายุขนาดไหนความคิดถึงจะตกผลึกร้อยเปอร์เซ็นต์ ชีวิตของเราต้องเติบโตขึ้นไปเรื่อยๆ ดังนั้น ความคิด ยิ่งใช้มากเท่าไหร่ ยิ่งตกผลึกมากขึ้นเรื่อยๆ เราจะเห็นภาพรวมของไอเดียที่พยายามสื่อ ทีนี้ถ้าเกิดมาบอกว่า รอให้ความคิดตกผลึกก่อนแล้วค่อยแสดงความคิดเห็น แล้วเมื่อไหร่ล่ะ จะถึงเวลานั้น เมื่อไหร่เราจะได้แสดงความคิดเห็น การถกเถียง แลกเปลี่ยน ถือเป็นขั้นตอนหนึ่งในการทำให้ความคิดเติบโต งอกงามขึ้นมา

กลัวผิดไหม สมมติว่าอีกสัก 1-2 ปี ย้อนกลับมามองแล้วพบว่าสิ่งที่เราเคยคิดมันผิด

จริงๆ เป็นคนที่ค่อนข้างชอบแสดงความคิดเห็น เท่าที่สำรวจตัวเองมา ความคิดมันไม่คงที่หรอกค่ะ มันต้องมีการเติบโต มีการเปลี่ยนหรือพัฒนาในทางใดทางหนึ่ง ช่วง 1-2 ปี มองว่าไม่ใช่สิ่งที่แย่นะ ถ้าเกิดว่าสามารถยอมรับความผิดพลาดของตัวเองได้ ที่ผ่านมาคิดผิด แต่เราก็ได้เติบโตขึ้น มันเป็นมุมมองที่แย่ที่สังคมตัดสินความผิดพลาดตรงนั้น ว่าเป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่ในชีวิต เรามองว่าเป็นส่วนหนึ่งในการเติบโตของตัวเองมากกว่า

 

02

เมื่อสักครู่พูดถึงความรู้นอกห้องเรียน อะไรบ้างที่เป็นความรู้นอกห้องเรียนสำหรับเรา

จริงๆ สนใจหลายเรื่องค่ะ สนใจเรื่องการเมือง สังคมศาสตร์ ปรัชญา เศรษฐศาสตร์ แล้วก็สนใจศิลปะด้วย แต่ศิลปะนี่ไม่ได้ทำผลงานจริงจัง แค่มีความสนใจเฉยๆ ชอบไปพวกงานเสวนาการเมือง ไปแกลเลอรี่ หรือนิทรรศการศิลปะ ไปดู performance art คือเป็นความชอบส่วนตัว แล้วก็เป็นการใช้เวลาว่างในแบบของเรา

ไม่คิดว่าแก่เร็วเกินไป?

การพยายามออกไปหาประสบการณ์นอกห้องเรียน ไปหาสิ่งที่เราสนใจ คิดว่าเป็นส่วนหนึ่งในการทำให้เติบโตขึ้น เพราะการที่ขังตัวเองอยู่แค่ในห้องเรียน เมื่อเราจบไปทำงาน ตอนนั้น อาจไม่มีโอกาสได้ไปแสวงหาสิ่งที่เราชอบจริงๆ ก็ได้ เลยมองว่าช่วงเวลาที่เป็นนักเรียนหรือเป็นนักศึกษาเป็นช่วงเวลาที่ดี ที่จะได้ออกไปหาประสบการณ์ใหม่ๆ ไม่ได้มองว่าเป็นการแก่เร็วเกินไป เพราะถ้าคุณไม่เริ่มตอนนี้ ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะเริ่มตอนไหน

ไปกับเพื่อนในโรงเรียนหรือว่าไปกับใคร

มีชวนเพื่อนในโรงเรียนไปบ้าง หรือบางงานถ้าเพื่อนไม่อยากไป แล้วเราเดินทางสะดวก ก็ไปคนเดียวค่ะ บางทีก็ไปกับเพื่อนที่ไม่ใช่เพื่อนในโรงเรียน เพราะทำกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไทอยู่ ซึ่งเป็นกลุ่มทำกิจกรรม เลยได้รู้จักกับเพื่อนต่างโรงเรียน ซึ่งมีความสนใจที่ตรงกับเรา ก็ชวนคนที่รู้จักจากตรงนั้นไป

คิดว่าวิธีการจัดการเรียนการสอนในห้องเรียนทุกวันนี้ ปัญหาใหญ่ของมันอยู่ตรงไหน ถ้าเปิดโอกาสให้เสนอวิธีแก้ มีไอเดียไหม

เรามองว่าการเรียนการสอนไทย อยู่บนพื้นฐานของปรัชญาที่มองว่า การเรียนรู้คือการเอาข้อมูลใส่เข้าไปในสมองของนักเรียน  ซึ่งวิธีคิดแบบนี้ทำให้เราลืมขั้นตอนที่สำคัญมากๆ ไป นั่นคือการถกเถียง แลกเปลี่ยน การวิเคราะห์ วิจารณ์ จะเห็นได้ว่าโรงเรียนไทยมีคาบเรียนที่ค่อนข้างเยอะมาก แต่เวลาเรียนพอดูจริงๆ ก็ยังไม่พออยู่ดี เพราะมีเนื้อหาในแต่ละเทอม ในแต่ละรายวิชาเยอะ

เนื้อหาในห้องเรียนมันเยอะจนบีบบังคับให้อาจารย์ต้องสอนอย่างเดียว แล้วเด็กก็ต้องฟัง และพยายามเข้าใจเนื้อหาอย่างเดียว สุดท้ายไม่เหลือเวลาให้มีการถกเถียงท้ายคาบเลย ไม่อย่างนั้นก็จะกลายเป็นว่าสอนไม่ทัน เด็กก็ไม่มีความรู้พอไปสอบอีก

วิธีแก้ปัญหาคือ เราเคยไปสอบข้อสอบที่ใช้ในต่างประเทศ เช่น พวกข้อสอบ SAT ซึ่งเนื้อหาของเขาไม่ได้ลึกมากเมื่อเทียบกับข้อสอบของไทย แต่ว่าใช้ทักษะการคิด วิเคราะห์ ที่ลึกซึ้งกว่า เราต้องเข้าใจในตัวข้อสอบจริงๆ ถึงจะทำได้ มองว่าการศึกษาไทย ถ้าลดหลักสูตรที่เป็นข้อมูลแบบละเอียดเกินไป และเปิดโอกาสให้นักเรียนมีคาบหรือบางช่วงเวลาในคาบ ที่สามารถถกเถียงแลกเปลี่ยนกันได้ก็น่าสนใจ

เคยอ่านบทความหนึ่งเขียนเกี่ยวกับการศึกษาวิชาปรัชญาของเด็กประถมในต่างประเทศ เขาให้นักเรียนเข้ามานั่งกันในคาบ แล้วยกประเด็นขึ้นมา อาจเป็นประเด็นทางสังคม หรือประเด็นที่เป็น moral dilemma (ประเด็นทางเลือกทางศีลธรรม) จากนั้นก็ให้นักเรียนถกเถียงกันทั้งคาบเลยว่า ถ้าเป็นคุณจะทำยังไง

สุดท้าย นักเรียนวิเคราะห์ได้มากขึ้น คือมันไม่ได้มีข้อดีที่ได้วิเคราะห์เรื่องนั้นๆ อย่างเดียว แต่ว่าคะแนนวิชาคณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษของนักเรียนก็เพิ่มมากขึ้นด้วย ดังนั้น เรามองว่าการเปิดโอกาสให้นักเรียนได้เถียงกัน ได้ดีเบตกันในคาบมีประโยชน์กว่าที่นักการศึกษาไทยคิด จึงอยากให้เห็นความสำคัญของตรงนั้นมากขึ้น

จากตัวอย่างที่ยกมา คิดว่ามีโอกาสเป็นไปได้กับการศึกษาไทยมากน้อยแค่ไหน

ทุกอย่างเป็นไปได้ค่ะ ถ้าเราเริ่มที่จะตระหนักถึงความสำคัญของมัน และพยายามปรับมาใช้ มองว่าถ้ามีความพยายามที่จะทำ ไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้หรอก

เคยคิดไหมว่า ทำไมคนอื่นๆ ถึงไม่มองว่ามันเป็นปัญหาแบบที่เรามอง

ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะคิดแตกต่างกัน อย่างเรื่องประเด็นทางสังคม โดยเฉพาะประเด็นวิชาหน้าที่พลเมือง ไม่ใช่เราคนเดียวหรอกที่คิดว่าวิชานี้มีปัญหา หลังจากทำข้อสอบเสร็จก็ได้ไปคุยกับเพื่อนในห้อง เพื่อนต่างห้อง ในโรงเรียน เขาก็บ่นๆ กันว่าข้อสอบมันค่อนข้างไร้สาระ อะไรก็ไม่รู้ แต่ส่วนใหญ่รู้สึกเป็นห่วงคะแนนมากกว่า เลยไม่ตัดสินใจทำอะไรแบบเรา ซึ่งนั่นไม่ได้หมายความว่า เขาไม่เห็นว่ามันเป็นปัญหา

“ไม่ได้หวังอะไรนอกจากการสามารถยืนยันกับตัวเองได้ว่า เรายังมีสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น”

ถ้าโดนวิจารณ์ว่าอยากดังหรือรีบมีตัวตน รู้สึกอย่างไร

ตอนแรกไม่ได้คิดนะคะว่าเรื่องมันจะใหญ่โตไปขนาดนี้ จริงๆ เราเป็นคนชอบเขียน ชอบวิจารณ์อะไรในเฟซบุ๊คของตัวเองอยู่แล้ว เหมือนเป็นนิสัย อ่านเยอะแล้วก็ชอบเขียนเยอะ ตอนที่ทำจดหมายเขียนลงเฟซบุ๊ค แค่อยากให้เพื่อนรู้เท่านั้นเองว่ามีความคิดอย่างไรกับวิชานี้ เป็นการแสดงจุดยืนของตัวเอง ไม่ได้หวังอะไรนอกจากการสามารถยืนยันกับตัวเองได้ว่า เรายังมีสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ยังสามารถแสดงการขัดขืนเล็กๆ น้อยๆ ในสังคมที่มันค่อนข้างเป็นเผด็จการในตอนนี้เท่านั้นเอง

แต่พอเรื่องมันใหญ่ขึ้นก็ค่อนข้างตกใจ การแสดงความคิดเห็นของเราไม่ใช่แค่อยากดัง และไม่จำเป็นต้องมาเสี่ยงว่าพรุ่งนี้จะยังปลอดภัยหรือเปล่า จะโดนข้อหาอะไรไหม มันไม่ใช่วิธีที่ฉลาด ถ้าคุณแค่อยากดังเฉยๆ

ไม่กลัวหรือ?

ค่อนข้างกลัวค่ะ แต่อย่างที่บอก ไม่ได้คาดการณ์ว่าเรื่องมันจะใหญ่ขนาดนี้ เราคิดว่าเป็นสิทธิ์อันชอบธรรมที่จะลุกขึ้นมาแสดงความคิดเห็น แสดงจุดยืน ไม่ได้ทำผิดกฎหมายข้อไหน ไม่ได้แหกกฎข้อไหนของสังคม เพราะว่าการส่งกระดาษเปล่า เราก็แค่สอบตก แล้วเราก็สอบซ่อมแค่นั้นเอง พูดกันตามตรง นักเรียนไทยหลายคนก็เคยส่งกระดาษเปล่าเป็นเรื่องปกติ แค่ไม่ปกติตรงที่การส่งกระดาษเปล่าของเรามันมีเจตนารมณ์ทางการเมืองเท่านั้นเอง

จริงๆ ก็จำกัดตัวเองเหมือนกัน ว่าจะพูดได้แค่ไหนที่ค่อนข้างรัดกุม ไม่เป็นการทำร้ายตัวเอง เช่น สมมติพูดกับเพื่อนที่มีความคิดไม่เหมือนกับเรา เราต้องพูดให้นุ่มนวลลง เพื่อที่จะสามารถเข้าไปแลกเปลี่ยนกับเขาได้ หรือบางทีมีคนมาด่าเรา แต่ยังพูดบางอย่างที่มีเหตุผลและน่าสนใจ เราก็ต้องลดความรุนแรงในการใช้คำของเราลง เพื่อสามารถถกเถียงกับเขาได้ก่อนที่เขาจะบล็อกเราไป (หัวเราะ) แน่นอนว่ามันมีเพดานอยู่แล้วเวลาเราจะพูดกับใคร มันก็ต้องกำหนด ไม่ว่าจะเป็นสังคมแบบไหน เราก็ต้องคิด ต้องจำกัดตัวเองว่าการพูดออกไปมันจะทำร้ายความรู้สึกของใครหรือเปล่า มันทำให้เราเดือดร้อนหรือเปล่า

ดูจากสำนวนการเขียนสเตตัสบนเฟซบุ๊ค และมุมมองที่มีต่อสังคม เข้าใจว่าคงอ่านหนังสือเยอะ อยากรู้ว่าชอบอ่านเกี่ยวกับอะไร และมีวิธีเลือกหนังสืออย่างไร

อ่านหลายแนวค่ะ อ่านนวนิยาย วรรณกรรมคลาสสิก หรือไม่ก็อ่าน non-fiction เกี่ยวกับการเมือง ปรัชญา เศรษฐศาสตร์ โดยรวมๆ อ่านแนวประมาณนี้ ส่วนวิธีการเลือกหนังสือ ส่วนใหญ่แล้วแต่สถานการณ์ สมมติว่าไปงานสัปดาห์ฯ ก็เลือกที่อยากได้ไว้ก่อนแล้ว ไปถึงงานก็หยิบๆๆ แล้วจ่ายเงินออกมาเลย เพราะคนเยอะ ไม่ชอบเท่าไหร่

ถ้าเกิดได้ไปร้านหนังสือ ตอนแรกจะดูสำนักพิมพ์ก่อน เพราะมีสำนักพิมพ์โปรดอยู่ แนวหนังสือแต่ละแห่งไม่เหมือนกัน ชอบอ่านของ ฟ้าเดียวกัน โอเพ่นบุ๊คส์ เวย์ หลังจากนั้นก็ดูปก ดูชื่อนักเขียน ส่วนใหญ่ที่เราเลือกอ่านก็เคยได้ยินมาจากการรีวิวในอินเทอร์เน็ต หรือมีเพื่อนที่เคยอ่านแล้วแนะนำมา

นักเขียนที่ชอบ ถ้าเป็นนวนิยายชอบนักเขียนญี่ปุ่นค่ะ ฮารูกิ มูราคามิ เป็นแนวที่บางคนอาจมองว่าแปลกๆ หน่อย เพราะเป็นโทนที่เน้นอารมณ์ หรืออะไรที่เป็นนามธรรม แต่พออ่านแล้วรู้สึกว่าเป็นสไตล์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวเลยชอบ ถ้าเป็นงานคลาสสิกก็อ่านทั่วๆ ไป ของอังกฤษบ้าง อเมริกาบ้าง

งานวิชาการมีนักเขียนคนโปรดไหม

ชอบ อาจารย์ฉัตรทิพย์ นาถสุภา เพราะเขียนหนังสือที่ค่อนข้างอ่านง่าย เช่น เศรษฐกิจหมู่บ้านไทยในอดีต อ่านแล้วรู้สึกเห็นสภาพสังคมไทยในยุคก่อน

เคยเตือนตัวเองไหมว่า การอ่านหนังสือของสำนักพิมพ์ใดสำนักพิมพ์หนึ่งมากๆ เราจะทิ้งน้ำหนักความคิดความเชื่อไปด้านนั้นๆ จนเกินไป

จริงๆ เราอ่านเยอะนะคะ ไม่ได้อ่านเฉพาะอย่างที่ว่า ของสำนักพิมพ์อื่นๆ คนมองว่าเสนอความคิดอีกแบบก็อ่าน แล้วเอามาชั่งน้ำหนักดูว่าอันไหนน่าเชื่อถือ อันไหนเป็น hate speech หรืออันไหนเป็นข้อความที่มีน้ำหนัก เป็นการชั่งเอง ไม่ใช่ว่าอ่านแล้วเชื่อทั้งหมด หนังสือแต่ละเล่มที่อ่าน ไม่ได้ฟันธงซะทีเดียวว่าข้อมูลถูกต้อง สุดท้ายเราต้องเก็บไว้พิจารณา

“คุณพ่อคุณแม่ชอบให้อ่านหนังสืออยู่แล้ว ตั้งแต่ตอนเป็นเด็กตัวเล็กๆ เริ่มจำความได้ พ่อแม่ซื้อสารานุกรมเป็นเซ็ตมาไว้ที่บ้าน”

ที่ผู้ใหญ่ชอบพูดๆ กันว่าเด็กยังไม่มีวิจารณญาณก็ไม่จริง?

มองว่าวิจารณญาณมันไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าคนไหนเป็นเด็ก คนไหนเป็นผู้ใหญ่ อันนี้จากประสบการณ์ส่วนตัวเลย เพราะผู้ใหญ่บางคนอายุมากแล้ว แต่สุดท้าย ไม่ได้ใช้เหตุผลในการถกเถียงด้วยซ้ำ วิจารณญาณคือทักษะการใช้เหตุผล ในเมื่อผู้ใหญ่บางคนยังไม่ใช้เหตุผลในการถกเถียง ยังใช้ hate speech ยังใช้คำหยาบคายในการถกเถียง เราจะสามารถฟันธง สามารถมั่นใจได้ยังไงว่า ทักษะการใช้เหตุผลหรือวิจารณญาณ ขึ้นอยู่กับอายุ ถ้าคิดว่านักเรียนหรือเด็กยังไม่มีวิจารณญาณ ทำไมไม่สอนให้เขามีวิจารณญาณโดยการรู้จักพูด วิเคราะห์ แทนที่จะบอกให้หยุดพูด เลิกวิจารณ์ แล้วใช้ชีวิตเงียบๆ ไปตามประสาเด็ก

เริ่มอ่านหนังสือเพราะอะไร

คุณพ่อคุณแม่ชอบให้อ่านหนังสืออยู่แล้ว ตั้งแต่ตอนเป็นเด็กตัวเล็กๆ เริ่มจำความได้ พ่อแม่ซื้อสารานุกรมเป็นเซ็ตมาไว้ที่บ้าน สมัยเด็กอยู่สังคมต่างจังหวัดก็จริง แต่เป็นสังคมในเมือง เพื่อนบ้านไม่เยอะ ไม่ค่อยมีโมเมนต์แบบไปเล่นกับเพื่อนข้างบ้านเท่าไหร่ ส่วนมากนั่งอ่านหนังสืออยู่ในบ้าน แล้วเรารู้สึกสนุกด้วย เพราะพี่สาวชอบอ่านหนังสือเหมือนกัน นอกจากสารานุกรม ก็จะซื้อนิทานให้อ่าน โตขึ้นมาอีกนิด เขาก็พาไปร้านหนังสือ พาไปเลือกซื้อนิยาย วรรณกรรม เป็นนิสัยที่พ่อแม่ปลูกฝังมาให้

ถ้าได้เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย อยากสอนวิชาอะไร

อยากสอนปรัชญา เพราะว่าชอบวิชาปรัชญามากๆ อยู่แล้ว ตอนเด็กๆ ไม่รู้หรอกว่าปรัชญาคืออะไร เวลาไปร้านหนังสือของไทย จะเจอหมวดหมู่ปรัชญาเป็นหนังสือดูดวง ธรรมะ หนังสือทำยังไงให้โชคดี ฯลฯ เลยสงสัยมาตลอดว่าจริงๆ แล้วปรัชญาคืออะไร พอเริ่มอ่านหนังสือภาษาอังกฤษได้ก็ไปร้านหนังสือต่างประเทศ

เพิ่งมารู้ว่าปรัชญาจริงๆ มันคือการตั้งคำถาม และการแสวงหาคำตอบของชีวิต หลายๆ อย่าง หลายๆ มุม จึงมองว่าเป็นศาสตร์ที่น่าสนใจมาก เพราะมันอยู่บนพื้นฐานของการตั้งคำถามและท้าทายความคิดใหม่ๆ ตลอดเวลา เป็นศาสตร์ที่คนไทยยังไม่ค่อยสนใจเท่าไหร่ด้วย เลยมองว่ามันน่าจะดีถ้าสามารถขยายความเข้าใจ ความตระหนักในเรื่องวิชาปรัชญ ให้แก่สังคมทั่วไปได้

03

แล้วจริงๆ อยากทำอาชีพอะไร

อยากทำเกี่ยวกับพวกเศรษฐศาสตร์ค่ะ เช่น เป็นนักเศรษฐศาสตร์ อยู่กับเรื่องการเงิน การบริหาร มองว่าเป็นเรื่องที่เราสนใจอีกเรื่อง ชอบปรัชญาก็จริง แต่ไม่ได้ชอบเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย

มีวิธีการจัดการกับอารมณ์ความรู้สึกตัวเองอย่างไร อย่างเวลาโดนกล่าวหาว่า มีอาการป่วย

ตามปกตินะ เราก็โกรธเหมือนกัน เหมือนคนทั่วไป แต่เรามองว่าตัวเองจัดการอารมณ์ได้ดีในระดับหนึ่ง อาจเป็นเพราะอ่านหนังสือเยอะ อ่านวรรณกรรมเยอะ มันทำให้เราได้ไปสำรวจโลกของตัวละครนั้นๆ ด้วย ว่าเวลาตัวละครเจออารมณ์แบบนี้ขึ้นมา เขาจัดการยังไง แล้วผลลัพธ์มันออกมายังไง เหมือนเราได้ลองอยู่ในโซนที่มันปลอดภัย พอเรื่องเกิดขึ้นกับเราเอง ทำให้ตั้งสติได้มากขึ้น ก็ช่วยได้มากเลย อันนี้ให้เครดิตส่วนใหญ่กับนิยายที่อ่านเลยค่ะ

หนักเกินไปไหมสำหรับเด็กนักเรียนมัธยมที่ต้องมาเจอภาวะหรือกระแสสังคมแบบนี้

มองว่าหนักเกินไปไม่ได้ เพราะเป็นคนที่ตัดสินใจแสดงความคิดเห็นเอง เป็นนักกิจกรรมเอง จึงเป็นภาระหน้าที่ที่ต้องแบกรับ เราไม่สามารถห้ามใครวิพากษ์วิจารณ์ได้ ไม่สามารถห้ามใครมาด่าเราได้อยู่แล้ว ดังนั้น มันเป็นหน้าที่ของเราเองที่ต้องเติบโตขึ้น แล้วเรียนรู้ในการจัดการกับอารมณ์ของตัวเอง

รู้สึกเสียสุขภาพจิตบ้างไหมเวลาพูดเรื่องการเมือง

เราอ่านข้อมูลมาเยอะ เลยมีความคิดเห็นที่อยากแชร์ให้คนอื่นๆ ทราบ เวลามีคนมาถกเถียง โต้แย้ง ไม่ได้มีความรู้สึกว่าเสียหน้าเวลาโดนใครมาหักล้างข้อมูล คือตอนแรกรู้สึกเหมือนกัน แต่พอทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ รู้สึกมีภูมิคุ้มกันระดับหนึ่ง เราเคยชิน และมองว่าเป็นโอกาสที่ดีมากกว่า ที่เราจะสามารถมีใครมาบอกเราได้ว่า ที่คุณคิดมันผิด สุดท้ายเราย้อนกลับไปดูแล้วเราพบว่าเราคิดผิดจริงๆ มันเหมือนการตรวจสอบตัวเองได้ตลอดเวลา มองว่ามันเป็นอะไรที่ท้าทาย

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ