ผู้หญิงพีมูฟ ยื่น 12 ค่านิยมต่อรัฐฯ ลดความรุนแรง-สร้างพื้นที่ปลอดภัยให้ผู้หญิง

ผู้หญิงพีมูฟ ยื่น 12 ค่านิยมต่อรัฐฯ ลดความรุนแรง-สร้างพื้นที่ปลอดภัยให้ผู้หญิง

เครือข่ายผู้หญิงขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมหรือพีมูฟ จัดกิจกรรมรณรงค์วันสตรีสากล ยื่นรัฐบาลเสนอ “ค่านิยม 12 ประการ ที่รัฐบาลต้องดําเนินการ เพื่อลดความรุนแรง และสร้างพื้นที่ปลอดภัยสําหรับผู้หญิง” จี้ทบทวนแผนแม่บทป่าไม้ฯ แผนพัฒนาต่างๆ-หนุนนโยบายโฉนดชุมชน-เคารพกติกาของชุมชน-เลิกขับไล่ ไล่รื้อ ดำเนินคดีกับชาวบ้าน-เลิก พ.ร.บ.ชุมนุม กฎอัยการศึก

20150903142709.jpg

ภาพโดย: ฮาริ บัณฑิตา

9 มี.ค. 2558 เวลาประมาณ 9.30 น. เครือข่ายผู้หญิงขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือพีมูฟ จัดกิจกรรมรณรงค์วันสตรีสากล เสนอ “ค่านิยม 12 ประการ ที่รัฐบาลต้องดําเนินการ เพื่อลดความรุนแรง และสร้างพื้นที่ปลอดภัยสําหรับผู้หญิง” โดยเดินรณรงค์จากริมคลองข้างสํานักงาน ก.พ. มายังทําเนียบรัฐบาลด้านประตู 4

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริเวณข้างทำเนียบเครือข่ายผู้หญิงขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมได้ทำการแสดงทางวัฒนธรรม 2 ชุด จากชนเผ่าลีซู ภาคเหนือ และลองเง็ง จากภาคใต้ โดยระบุว่าเป็นการแสดงวิถีชีวิตวัฒนธรรมของชุมชนท้องถิ่น เพื่อสื่อสารกันของชุมชนที่ต้องไม่ถูกละเมิด และต้องได้รับสิทธิความเท่าเทียมในฐานะพลเมืองไทย

20150903142750.jpg

จากนั้น มีการยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ผ่าน ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อติดตามการแก้ไขปัญหา โดยเสนอให้รัฐบาลทบทวน ปรับปรุงมาตรการและนโยบายที่กีดกัน ซ้ำเติม สร้างความรุนแรงต่อผู้หญิงและชุมชน และต้องมีมาตรการในการสนับสนุนให้ผู้หญิงมีบทบาทในการกำหนดความต้องการ และกำหนดชีวิตของตนเอง 

20150903142819.jpg

ข้อเสนอของเครือข่ายฯ ต่อรัฐบาล “ค่านิยม 12 ประการ ที่รัฐบาลต้องดำเนินการ เพื่อลดความรุนแรงและสร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับผู้หญิง” และแถลงต่อสาธารณะ มีดังนี้ 1.ต้องเคารพยอมรับวิถีวัฒนธรรม และกลุ่มชาติพันธุ์ ที้มีความหลากหลาย ว่าเป็นคนในชาติอย่างเท่าเทียม 2.ต้องมีเมตตาธรรม และความอดทน ในการรับฟังความเดือดร้อน 3.ต้องไม่ทำลายพื้นที้ทางจิตวิญญาณ 4.ต้องไม่ปิดกั้นการจัดการเรียนรู้ 5.ทบทวนแนวทางพัฒนา ทีส่งผลกระทบต่อวิถีวัฒนธรรมชุมชน

6.ทบทวนแผนแม่บทป่าไม้ฯ แผนพัฒนาต่างๆ 7.ยกเลิก พ.ร.บ.ชุมนุม กฎอัยการศึก 8.เคารพกติกาของชุมชน 9.รับฟัง และสนับสนุนข้อเสนอด้านการพัฒนาของชุมชน 10.สนับสนุนนโยบายโฉนดชุมชนให้เกิดผลเป็นรูปธรรม 11.ยกเลิกมาตรการและนโยบายขับไล่ ไล่รื้อ ดำเนินคดีกับชาวบ้าน และ 12.รับฟังข้อเสนอของภาคประชาชน และไม่ดำเนินนโยบายที่ส่งผลให้เกิดความเดือดร้อนกับประชาชน

“เครือข่ายผู้หญิงขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ขอเรียกร้องให้รัฐบาลต้องไม่มีมาตรการ และนโยบายในการกีดกัน คุกคาม จำกัดสิทธิในการเคลื่อนไหวตามกรอบประชาธิปไตย เพื่อปกป้องบ้าน ปกป้องชุมชน ปกป้องวิถีชีวิต ค้ำจุณดำรงวิถีวัฒนธรรม ที่กำลังถูกคุกคาม ทำลาย พวกเราขอพื้นที่ปลอดภัยสำหรับผู้หญิง เพื่อร่วมสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นในสังคม” ตัวแทนเครือข่ายผู้หญิงขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมประกาศ

ทั่งนี้ เครือข่ายผู้หญิงขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ประกอบด้วย กลุ่มผู้หญิงคนจนในเมือง และชนบท จาก 7 เครือข่าย ได้แก่ กลุ่มผู้หญิงเครือข่ายสลัม 4 ภาค กลุ่มผู้หญิงสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ กลุ่มผู้หญิงเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน กลุ่มผู้หญิงสมัชชาคนจนเขื่อนปากมูน กลุ่มผู้หญิงเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด กลุ่มผู้หญิงสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ และกลุ่มผู้หญิงเครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง

แถลงการณ์วันสตรีสากล
“ค่านิยม 12 ประการ ที่รัฐบาลต้องดำเนินการ เพื่อลดความรุนแรงและสร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับผู้หญิง”

เครือข่ายผู้หญิงขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) ประกอบด้วย กลุ่มผู้หญิงคนจนในเมือง และชนบท จาก 7 เครือข่าย ได้แก่ กลุ่มผู้หญิงเครือข่ายสลัม 4 ภาค กลุ่มผู้หญิงสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ กลุ่มผู้หญิงเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน กลุ่มผู้หญิงสมัชชาคนจนเขื่อนปากมูน กลุ่มผู้หญิงเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด กลุ่มผู้หญิงสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ และกลุ่มผู้หญิงเครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง ได้จัดกิจกรรมรณรงค์เนื่องในวันสตรีสากล เพื่อให้ความสำคัญ และเห็นคุณค่าของผู้หญิงที่เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนา และสร้างสันติสุขในสังคม 

ผู้หญิงมีบทบาทสำคัญในการสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมที่ยึดโยงครอบครัว และชุมชนให้อยู่ได้ เป็นผู้นำตัวจริงในการดำเนินชีวิตประจำวันทั้งในระดับครอบครัว และชุมชนทั่วประเทศ นอกจากนั้นผู้หญิงยังมีบทบาทในการคลี่คลายความขัดแย้ง เป็นคนสร้าง และรักษาทุนทางสังคม วัฒนธรรมในชุมชน แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันผู้หญิงกำลังถูกคุกคามและถูกกระทำความรุนแรง อันเนื่องมาจากมาตรการ และนโยบายที่กีดกัน ซ้ำเติม ไม่ให้ผู้หญิงเข้าถึงทรัพยากรที่ดิน เพื่ออยู่อาศัย และทำกิน ทำให้ไม่สามารถกำหนดอนาคตของตัวเองได้

ในขณะที่รัฐบาลประกาศค่านิยม 12 ประการ ให้ประชาชนยึดถือเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต เครือข่ายผู้หญิง ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ยืนยันว่าประชาชนคนยากจน คนชายขอบ ได้ดำเนินการตามค่านิยม 12 ประการมาก่อนหน้านั้นแล้ว พวกเราได้ดำรง รักษา วัฒนธรรม และดำเนินชีวิตตามวิถีประชาธิปไตยอย่างเคร่งครัด แต่ในขณะเดียวกันรัฐบาลกลับดำเนินมาตรการ และประกาศนโยบาย ที่เป็นอุปสรรค และตรงข้ามกับค่านิยม 12 ประการ ที่ประกาศไว้ 

ดังนั้นรัฐบาลต้องทบทวน ปรับปรุง มาตรการ และนโยบาย ที่กีดกัน ซ้ำเติม สร้างความรุนแรงต่อผู้หญิง และชุมชน และต้องมีมาตรการในการสนับสนุนให้ผู้หญิงมีบทบาทในการกำหนดความต้องการ และกำหนดชีวิตของตนเอง โดย เครือข่ายผู้หญิงขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม มีข้อเสนอ ดังนี้

1.    ความเป็นชาติของรัฐบาล ยังจำกัดเฉพาะบางกลุ่ม รัฐบาลต้องเคารพยอมรับวิถีวัฒนธรรม และกลุ่มชาติพันธุ์ ที่มีความหลากหลาย ว่าเป็นคนในชาติอย่างเท่าเทียมกัน และพัฒนาให้เป็นเอกลักษณ์ของชาติ 
2.    รัฐบาลต้องมีเมตตาธรรม และความอดทน ในการรับฟังความเดือดร้อนของผู้หญิง ที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่เปราะบาง ไม่มีมาตรการมาจำกัดสิทธิในการร้องเรียนเมื่อมีปัญหา 
3.    ผู้หญิง ขปส. ยึดถือเรื่องความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ สืบทอดประเพณีไหว้บรรพบุรุษ รัฐบาลต้องไม่ทำลายพื้นที่ทางจิตวิญญาณ และมีมาตรการในการป้องกันการขยายตัวของเศรษฐกิจทุนนิยมในการแทรกแซงพื้นที่ดังกล่าว 
4.    ผู้หญิง ขปส. จัดการศึกษา และเรียนรู้จากชีวิตจริงนอกห้องเรียน ดังนั้นรัฐบาลต้องไม่ปิดกั้น การจัดกระบวนการเรียนรู้ของชุมชน โดยยกเลิกคำสั่งห้ามการจัดเวทีเรียนรู้ต่าง ๆ ที่จะนำไปสู่การยกระดับการพัฒนาคุณภาพชีวิต 
5.    ผู้หญิง ขปส. ดำรงวิถีชุมชนที่มีการสืบทอดประเพณี วัฒนธรรม อย่างต่อเนื่อง ดังนั้นรัฐบาลต้องทบทวนแนวทางการพัฒนา ที่ส่งผลกระทบต่อวิถีวัฒนธรรมชุมชน
6.    รัฐบาลต้องไม่ทำลายวิถีชุมชนที่อยู่อย่างเอื้อเฟื้อ แบ่งปันกัน ดังนั้นรัฐบาลต้องทบทวนแผนแม่บทป่าไม้-ที่ดิน และแผนพัฒนาต่าง ๆ ซึ่งก่อให้เกิดการไล่รื้อชุมชน เช่น โครงการคมนาคมขนส่งระบบราง แผนพัฒนาภาคใต้ ภาคเหนือ ภาคอีสาน เขตเศรษฐกิจพิเศษ เป็นต้น
7.    รัฐบาลต้องไม่ปิดกั้นการออกมาใช้สิทธิตามระบอบประชาธิปไตย ในการเรียกร้องให้แก้ปัญหาปากท้อง และการปกป้องชุมชน ต้องยกเลิก พ.ร.บ.ชุมนุม และกฎอัยการศึก และต้องไม่ควบรวมกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กับผู้ตรวจการแผ่นดินเข้าด้วยกัน ซึ่งเป็นการลดความสำคัญของการคุ้มครองการละเมิดสิทธิประชาชน
8.    ผู้หญิง ขปส. เคารพบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ และสร้างกติกาชุมชน เพื่อเป็นกรอบในการอยู่ร่วมกัน ซึ่งรัฐบาลต้องเคารพกติกาของชุมชนที่เป็นภูมิปัญญาของแต่ละท้องถิ่น 
9.    ผู้หญิง ขปส. ดำเนินชีวิต อย่างมีสติ รู้ตัว รู้คิด รู้ทำ รวมกลุ่มทำงานสร้างพื้นที่ต้นแบบในการพัฒนา ดังนั้นรัฐต้องรับฟัง และลงมือสนับสนุนข้อเสนอด้านการพัฒนาของชุมชน ในการสร้างกิจกรรมต้นแบบการพัฒนาที่หลากหลาย
10.     ผู้หญิง ขปส. นำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำเนินชีวิต เช่น การบริหารจัดการพื้นที่ในรูปแบบโฉนดชุมชน ดังนั้นรัฐบาลควรนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาประเทศอย่างเคร่งครัด ต้องสนับสนุนนโยบายโฉนดชุมชน ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม และส่งเสริมการผลิตในรูปแบบเกษตรกรรมยั่งยืน เป็นต้น
11.    ผู้หญิง ขปส. ยืนหยัดต่อสู้แก้ไขปัญหาอย่างเข้มแข็ง ไม่ยอมจำนน ดังนั้นรัฐบาลต้องยกเลิกมาตรการและนโยบายในการขับไล่ ไล่รื้อ ดำเนินคดีกับชาวบ้าน ซึ่งจะเป็นการสร้างความอ่อนแอให้ชุมชน และต้องขจัดเงื่อนไขที่ทำลายความเข้มแข็งของชุมชน เช่น การขยายตัวของธุรกิจขนาดใหญ่ ที่กระทบกับชุมชน
12.    ผู้หญิง ขปส. คิดถึงประโยชน์ส่วนรวม มากกว่าประโยชน์ส่วนตน ผลักดันให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดิน ให้ทุกคนเข้าถึงที่ดินอย่างเป็นธรรม โดยนำเสนอกฎหมายที่ดิน 4 ฉบับ คือร่างพ.ร.บ.ธนาคารที่ดิน, ร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า, ร่างพ.ร.บ.สิทธิชุมชนในการบริหารจัดการที่ดิน และร่างพ.ร.บ.กองทุนยุติธรรม ดังนั้นรัฐบาลต้องรับฟังข้อเสนอของภาคประชาชน และต้องไม่ดำเนินนโยบายที่ส่งผลให้เกิดความเดือดร้อนกับประชาชน

สุดท้ายนี้ เครือข่ายผู้หญิงขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธารรม ขอเรียกร้องให้รัฐบาลต้องไม่มีมาตรการ และนโยบายในการกีดกัน คุกคาม จำกัดสิทธิในการเคลื่อนไหวตามกรอบประชาธิปไตย จงปล่อยเราให้เป็นอิสระจากพันธนาการ ให้เราได้ส่งเสียงเรียกร้อง เคลื่อนไหวอย่างอิสระ เพื่อปกป้องบ้าน ปกป้องชุมชน ปกป้องวิถีชีวิต ค้ำจุณดำรงวิถีวัฒนธรรม ที่กำลังถูกคุกคาม ทำลาย พวกเราขอพื้นที่ปลอดภัยสำหรับผู้หญิง เพื่อร่วมสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นในสังคม 

เครือข่ายผู้หญิงขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม
9 มีนาคม 2558

 

“ค่านิยม 12 ประการ ที่รัฐบาลต้องดำเนินการ

เพื่อลดความรุนแรง และสร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับผู้หญิง”

โดยเครือข่ายผู้หญิง ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม

ค่านิยม 12 ประการ

 

ประชาชนปฏิบัติอย่างเคร่งครัด

รัฐบาลไม่ปฏิบัติตามค่านิยม 12ประการ

รัฐบาลต้องดำเนินการปรับปรุง แก้ไข

1. รักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

ผู้หญิง ขปส. รักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์เท่ากับประชาชนทั่วไป โดยประพฤติปฏิบัติตนตามหลักศาสนา และถวายความจงรักภักดีในวันสำคัญอย่างต่อเนื่อง

ความเป็นชาติของรัฐบาล ยังจำกัดเฉพาะบางกลุ่ม ไม่ยอมรับกลุ่มชาติพันธุ์ว่าเป็นคนในชาติอย่างเท่าเทียมกัน โดยไม่ให้สิทธิ และการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างเท่าเทียม

รัฐบาลต้องเคารพยอมรับวิถีวัฒนธรรม และกลุ่มชาติพันธุ์ ที่มีความหลากหลาย ว่าเป็นคนในชาติอย่างเท่าเทียมกัน  และพัฒนาให้เป็นเอกลักษณ์ของชาติ                 

2. ซื่อสัตย์ เสียสละ อดทน

ผู้หญิง ขปส. ยึดถือการทำมาหากินอย่างซื่อสัตย์ สุจริต อดทน เพื่อดำรงความเป็นครอบครัว และชุมชนให้อยู่รอด ภายใต้ความกดดันในสถานการณ์ที่มีความเหลื่อมล้ำสูง

รัฐบาลยังไม่มีความอดทนเพียงพอในการรับฟังความเดือดร้อนของผู้หญิง ที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่เปราะบาง  ไม่มีมาตรการมาสนับสนุน  แต่ยังมีมาตรการมาจำกัดสิทธิในการร้องเรียนเมื่อมีปัญหา

รัฐบาลต้องมีเมตตาธรรม และความอดทน ในการรับฟังความเดือดร้อนของผู้หญิง ที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่เปราะบาง ต้องมีมาตรการมาสนับสนุน และไม่มีมาตรการมาจำกัดสิทธิในการร้องเรียนเมื่อมีปัญหา

3. กตัญญูต่อพ่อแม่ ผู้ปกครอง ครูบาอาจารย์

ผู้หญิง ขปส. ยึดถือเรื่องความกตัญญูต่อพ่อแม่ ผู้ปกครอง ครูบาอาจารย์ โดยเลี้ยงดูพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย และมีประเพณีของทุกกลุ่มชาติพันธุ์อย่างเหนียวแน่น เช่น ชาวเลมีพิธีไหว้บรรพบุรุษ คนอีสานได้ยึดถือฮีต 12 คอง 14  

รัฐบาลยังไม่มีมาตรการในการคุ้มครอง พื้นที่ทางจิตวิญญาณที่เป็นพื้นที่ในการทำพิธีกรรมเคารพบรรพบุรุษ พื้นที่ทำพิธีกรรมทางศาสนา โดยปล่อยให้ภาครัฐ และนายทุนไล่รื้อสุสาน พื้นที่นอนหาด ที่ดอนปู่ตา ศาสนสถานต่างๆ

ให้มีการประกาศนโยบายการคุ้มครองพื้นที่ที่อยู่อาศัย พื้นที่ทางจิตวิญญาณ ที่เป็นพื้นที่ในการทำพิธีกรรมเคารพบรรพบุรุษ พื้นที่ทำพิธีกรรมทางศาสนา และให้มีมาตรการป้องกันการขยายตัวของเศรษฐกิจทุนนิยมในการแทรกแซงพื้นที่ดังกล่าว

 

4. ใฝ่หาความรู้ หมั่นศึกษาเล่าเรียน

ผู้หญิง ขปส. มีการศึกษา เรียนรู้จากชีวิตจริงนอกห้องเรียน และการจัดเวทีศึกษา ในพื้นที่ทั้งประวัติชุมชน วิถีการดำรงชีวิต อย่างยั่งยืน

รัฐยังไม่ได้สนับสนุนหรือส่งเสริมการศึกษาทางเลือกที่หลากหลายเหมาะสมกับวิถีชุมชน  ทำให้ชุมชนขาดโอกาสในการเข้าถึง การเรียนรู้เพื่อนำมาใช้ในการดำเนินชีวิตนอกจากนั้นรัฐยังขัดขวางกระบวนการใฝ่หาความรู้ ของประชาชน โดยห้ามไม่ให้มีการจัดเวทีเรียนรู้หลายเวที เช่น  เวทีเรียนรู้เรื่องจังหวัดจัดการตนเอง เวทีสัมมนาเรื่องการจัดการที่ดินโดยชุมชนฯลฯ

รัฐต้องไม่ปิดกั้นกระบวนการเรียนรู้ของประชาชน ต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เรียนรู้ ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม ที่จะนำไปสู่การยกระดับพัฒนาคุณภาพชีวิต เช่น การเรียนรู้เรื่องการปฏิรูปที่ดิน เรียนรู้เรื่องการร่างกฎหมาย การเรียนรู้เรื่องการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจและสังคม เป็นต้น

5. รักษาวัฒนธรรม ประเพณี

ผู้หญิง ขปส. ดำรงวิถีชีวิตในชุมชนที่เคารพประเพณี วัฒนธรรม และมีการจัดพิธีกรรมเพื่อสืบสานต่ออย่าง  ข้อเท็จจริงในสังคมไทย ชุมชนเป็นแหล่งในการดำรงรักษารากเหง้าทาง ประเพณี วัฒนาธรรมไว้ เช่น กลุ่มสตรีหมอลำ รองแง็ง  การแสดงของปกาเกอญอ  เป็นต้น

รัฐบาลมีนโยบายการส่งเสริม เปิดโอกาสให้กลุ่มทุนขนาดใหญ่ขยายพื้นที่อุตสาหกรรมเกษตร  นิคมอุตสาหกรรม และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอย่างไร้ขอบเขต ทำให้วิถีวัฒนธรรมชุมชนล่มสลาย เช่น การห้ามไม่ให้ชาวเลหาปลาในพื้นที่ท่องเที่ยว  กฎหมายป่าไม้ทำให้วัฒนธรรมการผลิตของชุมชนล่มสลาย

ให้รัฐบาลทบทวนแนวทางการพัฒนา โดยให้มีแนวทางการพัฒนาที่ไม่ส่งผลกระทบต่อวิถีวัฒนธรรมชุมชน

6. มีศีลธรรม มีน้ำใจ และแบ่งปัน

ชุมชนมีความเกื้อกูลช่วยเหลือแบ่งปันกัน  เห็นได้ชัด เช่น  บุญกุ้มข้าวใหญ่  การเลี้ยงน้ำชาของภาคใต้  บุญเดือนสิบ  และในสถานการณ์ภัยพิบัติ ชุมชนจากทั่วประเทศ ได้ระดมการช่วยเหลือในพื้นที่ภัยพิบัติ สึนามิ และในช่วงน้ำท่วม แผ่นดินไหว  ด้วยพลังของชุมชนที่ถึงแม้จะยากจน รวมทั้งการแบ่งปันการใช้ประโยชน์ในที่ดิน แบ่งปันเมล็ดพันธุ์ และผลผลิต ในชุมชน เป็นต้น

รัฐไม่ได้มีนโยบายในการแบ่งปันที่ดิน แต่กลับบังคับใช้กฎหมายโดยไร้น้ำใจ ไร้มนุษยธรรม เช่น การไล่รื้อชุมชนริมคลองที่กทม. การไล่รื้อชุมชนในเขตป่าทั่วประเทศ  รัฐไม่ได้นำพื้นที่หมดอายุสัมปทานมาจัดสรรให้คนจน มีน้ำใจกับนายทุนแต่ไร้น้ำใจกับคนจน

รัฐต้องดำเนินการตามนโยบายลดความเหลื่อมล้ำอย่างจริงจัง โดยการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม เพื่อให้ชุมชนดำรงชีวิตอยู่ได้ อย่างเอื้อเฟื้อ เกื้อกูล และสงบสุข โดยการทบทวนแผนแม่บทป่าไม้-ที่ดิน ซึ่งได้ก่อให้เกิดการไล่รื้อชุมชนอยู่ในปัจจุบัน  รวมทั้งแผนพัฒนาต่างๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อวิถีชุมชน เช่น เส้นทางการคมนาคม ระบบราง  แผนพัฒนาภาคใต้ ภาคเหนือ ภาคอีสาน เขตเศรษฐกิจพิเศษ เป็นต้น

7. เข้าใจ เรียนรู้ การเป็นประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

ผู้หญิง ขปส. ได้เรียนรู้วิถีประชาธิปไตย และนำมาใช้ในการบริหารจัดการชุมชนอย่างต่อเนื่อง ใช้วิถีประชาธิปไตย ในการจัดทำข้อเสนอ ต่อการพัฒนาแก้ปัญหาสังคม เช่น การเสนอมติ ครม.ชาวเล และกะเหรี่ยง  พรบ.คืนสัญชาติไทยพลัดถิ่น  และการใช้สิทธิตามระบอบประชาธิปไตยในการเรียกร้อง  บอกกล่าวเพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่อง

รัฐบาลใช้อำนาจ ขาดการมีส่วนร่วม จำกัดสิทธิในการแสดงความคิดเห็นตามแนวทางระบอบประชาธิปไตยและหลักสิทธิมนุษยชนสากล

รัฐบาลต้องไม่มองผู้ที่ออกมาเคลื่อนไหวชุมนุมเรียกร้อง การปกป้องสิทธิชุมชน ความเดือดร้อนเรื่องปากท้อง ความเป็นอยู่  สิทธิมนุษยชน ว่าเป็นการบั่นทอนอำนาจรัฐ แต่เป็นการใช้สิทธิตามระบอบประชาธิปไตย    รัฐบาลต้องยกเลิกกฎอัยการศึก  พรบ.ชุมนุม   และต้องไม่ควบรวมกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กับผู้ตรวจการแผ่นดินเข้าด้วยกัน ซึ่งจะเป็นการลดทอนความสำคัญของการปกป้องสิทธิของประชาชน

 

8. มีระเบียบวินัย เคารพกฎหมาย เคารพผู้ใหญ่

ผู้หญิง ขปส. มีการเคารพบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ และได้สร้างกติกาชุมชน หรือธรรมนูญชุมชน เพื่อเป็นกรอบในการอยู่ร่วมกัน และพัฒนาสังคมส่วนรวม

ปัจจุบันรัฐบังคับใช้กฎหมาย กับคนยากจนและผู้ด้อยโอกาส ในขณะที่ปัญหาหลัก ที่เกิดขึ้นในสังคมไทย คือการคอรัปชั่นในระบบรัฐและการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยผู้มีอำนาจในรัฐ แต่รัฐกลับปล่อยปละละเลย

รัฐบาลต้องเคารพสิทธิขั้นพื้นฐานของชุมชน เคารพธรรมนูญชุมชนซึ่งเป็นภูมิปัญญาที่หลากหลายของแต่ละท้องถิ่น รวมทั้งรัฐต้องมีมาตรการในการวางระบบตรวจสอบ การคอรัปชั่น และมีระบบการตรวจสอบผู้มีอำนาจอย่างเข้มข้น

9. มีสติรู้ตัว รู้คิด รู้ทำ

ผู้หญิง ขปส. มีการดำเนินชีวิต และเลี้ยงครอบครัวอย่างมีสติ รู้ตัว รู้คิด รู้ทำ มีการ รวมกลุ่มพัฒนาชุมชน เช่น กลุ่มออมทรัพย์ สวัสดิการชุมชน ดูแลสภาพแวดล้อมในชุมชน ร่วมกันคิดค้นหาแนวทางแก้ปัญหาอย่างจริงจัง

รัฐบาลไม่มีความเข้าใจการพัฒนาโดยฐานรากของชุมชนที่มีความหลากหลายในทุกมิติ เช่น มิติด้านการพัฒนาด้านเศรษฐกิจสังคม และสิ่งแวดล้อม ที่พร้อมจะต่อยอดในการพัฒนาเพื่อนำไปสู่ความยั่งยืน

รัฐต้องรับฟัง และมีมาตรการสนับสนุนข้อเสนอด้านการพัฒนาของชุมชน และภาคประชาสังคม ในการสร้างกิจกรรมต้นแบบ การพัฒนาที่หลากหลาย

10. รู้จักใช้หลักปรัชญา เศรษฐกิจพอเพียง

ผู้หญิง ขปส. นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการประกอบอาชีพ การรวมกลุ่มพัฒนาชุมชน เช่น โฉนดชุมชน กองทุนธนาคารที่ดิน สวนสมรม ไร่หมุนเวียน ธนาคารเมล็ดพันธุ์ การดูแลป่าชุมชนเพื่อเป็นแหล่งอาหาร

ในยุคที่มีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม และมีแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อนำมาแก้วิกฤตการณ์ในสังคมไทยแล้ว แต่ รัฐบาลกลับผลักดันโครงการขนาดใหญ่ที่ใช้งบประมาณมหาศาล นำไปสู่ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมเศรษฐกิจเสรี โดยไม่ได้ ทบทวน หรือ มีท่าทีที่ตระหนักต่อปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ให้รัฐทบทวนแผนพัฒนาประเทศทั้งหมดโดยทันที เพื่อนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้เป็นแนวทางหลักในการพัฒนาประเทศ โดยสนับสนุนกิจกรรมต้นแบบที่ชุมชนได้คิดค้นและปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งให้ผลักดันสนับสนุนนโยบายโฉนดชุมชน ที่ปัจจุบันได้มีการจัดตั้งสำนักงานโฉนดชุมชน , ธนาคารที่ดิน ขึ้นที่สำนักนายกรัฐมนตรี แล้ว และส่งเสริมการผลิตในรูปแบบเกษตรกรรมยั่งยืน เป็นต้น

11. เข้มแข็งทั้งกาย และใจ ไม่ยอมแพ้ต่ออำนาจฝ่ายต่ำ

 

ผู้หญิง ขปส. ยืนหยัดต่อสู้แก้ไขปัญหาอย่างเข้มแข็ง ไม่ยอมจำนน

มีการรวมกลุ่มแก้ปัญหาเศรษฐกิจ และสังคม เช่น กลุ่มออมทรัพย์ กองทุนธนาคารคนจน เพื่อแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ และรักษาที่ดิน

รัฐไม่สนับสนุนความเข้มแข็งของกลุ่มชุมชนและสถาบันชุมชนอย่างจริงจังไม่มีการพัฒนาศักยภาพในด้านการบริหารจัดการ ไม่มีการพัฒนาและหนุนเสริมให้มีการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจชุมชนและไม่ได้ส่งเสริมให้มีระบบกลุ่มที่ความเข้มแข็งและพึ่งตนเองได้

รัฐต้องมีเป้าหมาย แนวทางในการสนับสนุน เพื่อให้เกิดความเข้มแข้งของสถาบันชุมชน กลุ่มองค์กรชุมชนทุกมิติ และรัฐต้องขจัดปัจจัยอื่นๆ ที่จะมาทำลายความเข้มแข็งของชุมชน  เช่น การขยายตัวของธุรกิจขนาดใหญ่ ที่กระทบกับชุมชน

12. คิดถึงประโยชน์ส่วนรวม มากกว่าประโยชน์ส่วนตน

ผู้หญิง ขปส. ได้มีการรวมกลุ่มเพื่อแก้ไขปัญหาในชุมชน และพัฒนาเป็นข้อเสนอระดับนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม เช่น

1.ผลักดันการจัดการที่ดินและทรัพยากรในรูปแบบโฉนดชุมชน และสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน ให้มีสำนักงานขึ้นกับสำนักนายกรัฐมนตรี

2.ผลักดันให้เกิดกองทุนที่อยู่อาศัย จัดตั้งเป็นสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน

3.พื้นที่อาหาร มีการยกระดับเกษตรอินทรีย์ เป็นนโยบายเกษตรทางเลือก

4.สวัสดิการชุมชนวันละบาท ได้รับการยอมรับเป็นแนวคิดในการสร้างสวัสดิการสังคม

รัฐบาลยังไม่เห็นความสำคัญของข้อเสนอทางนโยบายของภาคประชาชนซึ่งผ่านการแลกเปลี่ยนจากทุกภาคส่วนมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายเพื่อแก้ไขปัญหาของสังคมมาโดยตลอดแต่รัฐกลับ มองเห็นเหมือนเป็นฝ่ายตรงข้าม อย่างไม่รู้คุณค่า

ให้รัฐรับฟังและรวบรวมข้อเสนอต่างๆ ของภาคประชาชนเพื่อนำไปเป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายร่วมกับภาคส่วนอื่นๆ เช่น แนวทางการกระจายการถือครองที่ดินที่เป็นธรรม โดยใช้มาตรการการจัดเก็บภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า, แนวทางการจัดการที่ดินและทรัพยากรในรูปแบบโฉนดชุมชน , ธนาคารที่ดิน , แนวทางการจัดการทรัพยากรใต้ดิน เช่นเหมืองแร่ และพลังงาน รวมทั้ง พลังงานทางเลือก ตามข้อเสนอของภาคประชาชน ฯลฯ

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ