คัดค้าน พ.ร.บ.จีเอ็มโอกับหนังสือ ‘ระบบการรับรองอย่างมีส่วนร่วม’

คัดค้าน พ.ร.บ.จีเอ็มโอกับหนังสือ ‘ระบบการรับรองอย่างมีส่วนร่วม’

gmo

คอลัมน์: read to shake          เรื่องและภาพ: อัจฉริยะ ใยสูง

 

เมื่อไม่นานมานี้ที่หน้าสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) มีมวลชนจำนวนมากออกมาคัดค้าน พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพหรือ พ.ร.บ.จีเอ็มโอ ส่งเสียงให้รัฐบาลให้รับรู้ว่าพวกเขาไม่ต้องการพืชตัดต่อพันธุกรรม เพราะขบคิดทั้งขึ้นทั้งล่องแล้ว เกษตรกรไทยที่ต้องตรากตรำอาบเหงื่อแทนน้ำจะตกมาเป็นเบี้ยล่างของบรรษัทยักษ์ใหญ่ที่ผูกขาดสิทธิบัตรเมล็ดพันธุ์จีเอ็มโอไม่ได้ ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีเมล็ดพันธุ์พืชหลากหลายให้เลือกอยู่แล้ว จะมาเสี่ยงให้โดนฟ้องร้องจาก พ.ร.บ.ฉบับนี้ได้อย่างไร ถ้าวันหนึ่งพบพืชตัดต่อพันธุกรรมปนเปื้อนในสวนของเขาขึ้นมาด้วยความไม่ตั้งใจ อย่างที่เกิดขึ้นในหลายๆ ประเทศที่ประกาศบังคับใช้ พ.ร.บ.นี้

ตั้งแต่กลางปี’58 จนถึงปีหน้า เกษตรกรหลายรายต้องเผชิญกับวิกฤตภัยแล้งอย่างหนักหน่วง ภัยจีเอ็มโอก็กำลังเข้ามาคุกคามอีก พ.ร.บ.ฉบับนี้เอื้อประโยชน์ให้ใคร และจะทำอย่างไรเพื่อให้ประโยชน์เหล่านี้ถึงมือเกษตรกรและประชาชนอย่างแท้จริง ขอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องช่วยกันคิดให้รอบคอบและเห็นสมควรว่าทิศทางของการเกษตรไทยควรก้าวไปสู่จุดไหน เพื่อตอบโจทย์รูปแบบเกษตรกรรมอย่างยั่งยืนในอนาคต ช่วยกันจับตาดูเรื่อง พ.ร.บ.จีเอ็มโออย่างใกล้ชิด

แต่ตอนนี้ผู้เขียนอยากแนะนำหนังสือเล่มหนึ่งให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการเกี่ยวกับผลผลิตทางการเกษตรให้ได้อ่านกัน หรือเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดนโยบายทางการเกษตรของประเทศยิ่งดี หนังสือ ‘ระบบการรับรองอย่างมีส่วนร่วม: กรณีศึกษาจากบราซิล อินเดีย นิวซีแลนด์ อเมริกา ฝรั่งเศส’ เขียนโดยสมาพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์สวนเงินมีมา คือหนังสือที่อยากแนะนำระบบการรับรองอย่างมีส่วนร่วมมีชื่อภาษาอังกฤษว่า Participatory Guarantee Systems หรือชื่อย่อว่า PGS

โดยในหนังสือได้พูดถึงปรัชญาของระบบการรับรองอย่างมีส่วนร่วมที่เติบโตจากปรัชญาเกษตรอินทรีย์เอาไว้ดังนี้ “ระบบการรับรองอย่างมีส่วนร่วมตั้งอยู่บนแนวความคิดเดียวกับที่เคยชี้นำเกษตรกรอินทรีย์ยุคบุกเบิกในอดีต โครงการที่อยู่ในระบบนี้ ต้องใช้แนวทางเชิงนิเวศวิทยาเป็นหลัก นั่นคือ การทำเกษตรกรรมที่ไม่ใช้สารเคมีสังเคราะห์ในการผลิตยาฆ่าแมลงและปุ๋ย หรือไม่ใช้พืชดัดแปลงพันธุกรรม และต้องส่งเสริมให้เกษตรกรและคนงานมีความยั่งยืนทางเศรษฐกิจในระยะยาว และได้รับความเป็นธรรมในสังคม การที่โครงการในระบบการรับรองอย่างมีส่วนร่วม เน้นตลาดท้องถิ่นระบบขายตรงเป็นลำดับแรกนั้น เป็นการส่งเสริมการสร้างชุมชน การคุ้มครองสิ่งแวดล้อม และการสนับสนุนเศรษฐกิจท้องถิ่น”

จะเห็นได้ว่าข้อความที่ยกมาข้างต้นสะท้อนถึงรูปแบบระบบการรับรองอย่างมีส่วนร่วมได้เป็นอย่างดี โดยเน้นเรื่องของเกษตรอินทรีย์เป็นหลัก ในระดับนานาชาติมี “สมาพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ” หรือ IFOAM (International Federation of Organic Agriculture Movements) ที่ได้พัฒนาให้แวดวงเกษตรอินทรีย์เติบโตขยายตัวออกไปทั่วโลกบนพื้นฐานสี่ประการคือ 1.วิถีการผลิตแบบเกษตรอินทรีย์นั้นนอกจากจะกอบกู้การบริโภคที่ดีต่อสุขภาพแล้ว 2.ที่สำคัญยังช่วยฟื้นฟูคุณภาพของผืนดินและระบบนิเวศ 3.สร้างความเป็นธรรม และ 4.ความใส่ใจระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภค และความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีกิจกรรมการทำงานด้านการสร้างมาตรฐานและการดูแลคุณภาพควบคู่ไปกับกิจกรรมด้านการเรียนรู้และการเสริมสร้างศักยภาพ

กลับมาที่ พ.ร.บ.จีเอ็มโอ ซึ่งรัฐบาลพยายามผลักดันให้ผ่านและประกาศบังคับใช้ ถ้าเกิดการบังคับใช้จริงจะส่งผลให้การรุกรานของพืชจีเอ็มโอส่งผลกระทบต่อแหล่งอาหารอันอุดมสมบูรณ์ภายในประเทศปนเปื้อนไปด้วยพืชที่ไม่มีความชัดเจนเรื่องความปลอดภัยต่อสุขภาพของผู้บริโภคในระยะยาว เกษตรกรไทยจะกลายเป็นเบี้ยล่างของบรรษัทรายใหญ่ทั้งในและต่างประเทศ ผูกขาดเมล็ดพันธุ์ เพราะเหตุว่าเมล็ดพันธุ์จีเอ็มโอนั้นมีเจ้าของและถูกจดสิทธิบัตรไว้แล้วทั้งสิ้น เราจะยอมให้เกษตรกรไทยตกอยู่ในสภาวะแบบนี้หรือ?

ฉะนั้นระบบการรับรองอย่างมีส่วนร่วมจึงช่วยได้มากทีเดียวสำหรับเกษตรกรที่สนใจทำเกษตรอินทรีย์ และไม่ต้องการปลูกพืชจีเอ็มโอ ขอยกข้อความในหนังสือมาอีกส่วนหนึ่งเพื่อกล่าวถึงคุณค่าขั้นพื้นฐานของระบบการรับรองอย่างมีส่วนร่วม

“ระบบการรับรองอย่างมีส่วนร่วมมีจุดมุ่งหมายร่วมเช่นเดียวกับระบบการรับรองโดยบุคคลที่สาม (องค์กรที่ให้การรับรอง) ในแง่ให้การรับรองที่น่าเชื่อถือแก่ผู้บริโภคที่แสวงหาผลผลิตอินทรีย์ ความแตกต่างอยู่ที่วิธีการ โดยเกษตรกรและผู้บริโภคในกระบวนการรับรองต้องเข้ามามีส่วนร่วมโดยตรง ซึ่งเหมาะสมอย่างยิ่งในบริบทของฟาร์มขนาดเล็กและตลาดระบบขายตรง การมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ส่งผลให้เกิดการเสริมอำนาจมากขึ้น รวมทั้งความรับผิดชอบที่สูงขึ้นด้วย โดยระบบการรับรองอย่างมีส่วนร่วม ต้องให้ความสำคัญกับองค์ความรู้และการสร้างขีดความสามารถเป็นลำดับแรก ทั้งในส่วนของผู้ผลิตและผู้บริโภค การมีส่วนร่วมโดยตรงทำให้ระบบการรับรองอย่างมีส่วนร่วมยุ่งยากน้อยลง ในแง่ของงานเอกสารและความจำเป็นในการจดบันทึก ซึ่งถือเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ เนื่องจากระบบการรับรองอย่างมีส่วนร่วมต้องเป็นระบบบูรณาการอย่างสมบูรณ์ ที่รวบรวมเกษตรกรรายย่อยเข้าสู่ระบบการผลิตของเกษตรอินทรีย์ ซึ่งตรงข้ามกับระบบการตรวจสอบรับรองที่มีอยู่เดิม ที่เริ่มต้นด้วยแนวคิดที่ว่า เกษตรกรต้องพิสูจน์ว่าพวกเขาปฏิบัติตามข้อปฏิบัติแล้วจึงได้รับการรับรอง แต่ระบบการรับรองอย่างมีส่วนร่วม ใช้แนวทางเชิงบูรณาการที่เริ่มต้นจากรากฐานของความไว้วางใจ ซึ่งนำไปสู่ความโปร่งใสและการเปิดกว้างอย่างหาที่เปรียบไม่ได้ และนำมาซึ่งสภาพแวดล้อมที่ลดการควบคุมตามลำดับชั้น และลดขั้นตอนการบริหารจัดการลงเหลือน้อยที่สุด”

หากรัฐบาลคสช.อยากปฏิรูปเพื่อประเทศ ปฏิรูประบบธุรกิจการเกษตรในประเทศจริง รัฐบาลคสช.ต้องสนใจและใส่ใจเรื่องสิทธิของชาวไร่ ชาวนาด้วย พ.ร.บ.จีเอ็มโอถ้าประกาศบังคับใช้จะเกิดผลกระทบตามมาอย่างหนักหน่วงแน่นอน ขอรัฐบาลศึกษาให้ดี หรือขอให้ผู้เกี่ยวข้องลองอ่านหนังสือ “ระบบการรับรองอย่างมีส่วนร่วมฯ” ก็ดีนะครับ อย่างน้อยย่อมได้แนวคิดสร้างคุณมากกว่าโทษแน่นอน.

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ