สานเสวนา ‘ตรัง-ปาตานี’ ประชาธิปไตยและระบบการศึกษาไทย #ความรักก็เช่นกัน

สานเสวนา ‘ตรัง-ปาตานี’ ประชาธิปไตยและระบบการศึกษาไทย #ความรักก็เช่นกัน

ปรัชญเกียรติ ว่าโร๊ะ

นักกิจกรรม ‘ตรัง-ปาตานี’ จัดเวทีสานเสวนาประชาธิปไตยใช้ได้กับความรัก หากวางกรอบกติกาและร่วมแบ่งปันกัน  ชี้ระบบการศึกษาไทยถูกครอบงำโดยชนชั้นสูง ย้ำอุดมการณ์ชาตินิยมสะกดประวัติศาสตร์ปาตานี มหาลัยคือคอกขังนักศึกษา ‘โซตัส-ว้าก-เชียร์’ คืออำนาจนิยมอุปถัมภ์ จำกัดชั่วโมงกิจกรรมเป็นโซ่ตรวนล่ามนักศึกษาไม่ให้เรียนรู้ปัญหาสังคม-ชุมชน 

20153103205006.jpg

วันที่ 26 มี.ค. 2558 เครือข่ายส่งเสริมสิทธิชุมชนจังหวัดตรัง (คสช.ตรัง) ร่วมกับปาตานีฟอรั่ม และกลุ่มนักศึกษา Scholar of people ม.อ.ตรัง สานเสวนา “สังคมคู่กับประชาธิปไตย #ความรักก็เช่นกัน” ที่ห้อง L2121 อาคารเรียนรวม 2 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง (ม.อ.ตรัง) โดยมีนักศึกษา และประชาชนเข้าร่วมประมาณ 100 คน

การเสวนาดังกล่าวมีหัวข้อย่อย คือ ความรักใช้กับประชาธิปไตยได้หราา ความเป็นประชาธิปไตยในระบบการศึกษาไทย และบทบาทนักศึกษากับการสร้างสังคมประชาธิปไตย เวทีเริ่มด้วยการขับขานบทเพลงรัก 2-3 บทเพลง โดย ‘ตู่ ลมเถื่อน’ ศิลปินจากกลุ่มแตกหน่อประชาธิปไตยประชาชน ตามด้วยการแนะนำองค์กรผู้ร่วมจัด

ศิลป์เรืองศักดิ์ สุขใส ผู้ประสานงานเครือข่ายส่งเสริมสิทธิชุมชนจังหวัดตรัง แนะนำถึงที่มาว่า ก่อเกิดมาตั้งแต่ปี 2551 โดยนักกิจกรรมในแวดวงภาคประชาสังคมในจังหวัดตรังซึ่งเห็นสภาพการลิดรอนสิทธิในด้านต่างๆ ทั้งสิทธิชุมชน สิทธิมนุษยชน ทั้งทางด้านทรัพยากร แผนพัฒนาของรัฐกับชุมชน มีการดำเนินการจัดกิจกรรมนักศึกษาออกค่ายอาสาตามชนบท ต่อมาเชื่อมร้อยกับนักกิจกรรมทางสังคมรุ่นใหม่และวิวัฒนาการกลายเป็นกลุ่มแตกหน่อประชาธิปไตยประชาชน ขยายแนวคิดเกี่ยวกับประชาธิปไตยโดยพยายามดึงคนเล็กคนน้อยมาเรียนรู้ร่วมกัน

ด้าน นูรีมะห์ บือราเฮง ผู้ประสานงานปาตานีฟอรั่ม ได้เล่าถึงที่มาว่า ปาตานีฟอรั่มกำเนิดขึ้นจากการร่วมมือของนักกิจกรรมทางสังคมรวมตัวกันโดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างพื้นที่สาธารณะแห่งการตื่นรู้ สร้างพื้นที่ปลอดภัยในการพูดคุยเกี่ยวกับปัญหาสาธารณะ เปิดให้แสดงทัศนะคติของตัวเองบนพื้นฐานของหลักการประชาธิปไตย มีเป้าประสงค์ที่ส่งเสริมการสื่อสารเองจากพื้นที่ปาตานี (ปัตตานี ยะลา นราธิวาส) สู่พื้นที่อื่นในประเทศไทย มีการพยายามเชื่อมร้อยสร้างความเข้าใจปัญหาร่วมกันของปาตานี  กับปัญหาสังคมไทยที่เหลื่อมล้ำ และละเมิดสิทธิมนุษยชน

ส่วนธิติวัฒน์ เงินสองศรี ตัวแทนกลุ่มนักศึกษา Scholar of people ม.อ.ตรัง กล่าว่า จุดเริ่มต้นมาจากที่ตนค่อนข้างเป็นคนสนใจปัญหาสังคม สนใจเกี่ยวกับแนวคิดประชาธิปไตย อยากเรียนรู้นอกมหาวิทยาลัยโดยเดินทางไปศึกษาปัญหาตามชนบทในจังหวัดตรัง พบว่ามีปัญหาเรื่องความเดือดร้อนของชาวบ้านเกี่ยวกับปัญหาที่อยู่อาศัย และที่ดินทำกิน จึงมีแนวคิดอยากตั้งกลุ่มนักศึกษาใน ม.อ.ตรัง จึงชวนเพื่อนๆ น้องๆ มาร่วมศึกษาเรียนรู้ปัญหาร่วมกันผ่านการออกค่ายอาสาโดยโบกรถ กินข้าว ทำนา เรียนรู้การใช้ชีวิตร่วมกับชาวบ้าน ต่อมาจึงมีการรวมตัวอย่างจริงจัง 6-7 คน ตั้งเป็นกลุ่ม ซึ่งมีความหมายว่า ‘ปัญญาชนเพื่อประชาชน’ ซึ่งเป็นรูปเป็นร่างมาได้ประมาณครึ่งปี และมีการจัดออกค่ายอาสาอิสระอย่างต่อเนื่อง

20153103205033.jpg

ความรักใช้กับประชาธิปไตยได้?

ในช่วงของการเสวนา ‘ความรักใช้กับประชาธิปไตยได้เหรอ?’ พรพิมล รัตนกุล ผู้ประสานงานโครงการพัฒนาศักยภาพนักข่าวภาคพลเมืองภาคใต้ ในฐานผู้ดำเนินรายการกล่าวแนะนำตัวผู้ร่วมสานเสวนา ประกอบด้วย ปริวัต พุฒนวล ตัวแทนจากกลุ่มแตกหน่อประชาธิปไตยประชาชน ปรัชญา โต๊ะอีแต ผู้จัดการปาตานีฟอรั่ม ซัยด์ วาเตะ ตัวแทนกลุ่มนักศึกษา Scholar of people ม.อ.ตรัง ซูการไน รอแม ตัวแทนกลุ่มนักศึกษาตูปะ ม.อ.ปัตตานี และอนวัช จันทร์หงษ์  ตัวแทนกลุ่มนักศึกษาสภาแตออ  ม.อ.ปัตตานี

ปริวัตร ให้นิยามของประชาธิปไตยในทัศนะของตัวเองว่า ถ้าแปลกันตรงตัวประชาธิปไตยก็คือประชาชน บวกกับอธิปไตย นั่นหมายถึงอำนาจเป็นของประชาชน อันประกอบไปด้วยหลักการเสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพ แล้วโยงภาพมายังความรักและครอบครัวว่าในครอบครัวมีความเป็นประชาธิปไตยหรือเปล่า ถ้าไม่มีประชาธิปไตยก็หมายถึงเผด็จการ เช่น ปิตุธิปไตยอันหมายถึงพ่อเป็นใหญ่ หรือมาตุธิปไตยอันหมายถึงแม่เป็นใหญ่ ยกกรณีหากลูกทำจานข้าวแตกพ่อแม่ตีลูก แต่ถ้าพ่อแม่ทำจานข้าวแตกกลับไม่เป็นไร

ปรัชญา แสดงความเห็นว่า ความรักกับประชาธิปไตยมีความคล้ายคลึงและใกล้เคียงกันมาก เพราะเป็นเรื่องของความผูกพันระหว่างคน 2 คน ซึ่งต้องมีลักษณะของการแบ่งปันกัน การยอมรับความเข้าใจของกันและกัน ถ้าใครอีกคนหนึ่งไม่ยอมรับข้อเสนอของคนอีกคนหนึ่งก็จะไม่ก่อเกิดการผูกพัน หรือมองเห็นคุณค่าของกันและกัน

ซัยด์ สะท้อนว่า ประชาธิปไตย คือสิทธิเสรีภาพ ความเท่าเทียม ผู้คนที่อยู่ร่วมในสังคมต้องเข้าใจกัน ถ้าไม่ยอมรับความเห็นของคนอื่นสังคมนั้นก็ไม่ใช่ประชาธิปไตย แต่ทั้งนี้การแสดงความเห็นของใครที่จะให้คนอื่นในสังคมยอมรับได้นั้นต้องมีขอบเขตทางศีลธรรม วัฒนธรรมไม่เกินขอบเขตการเคารพสิทธิความเชื่อของผู้อื่นด้วย มุสลิม เชื่อว่าหากใครแสดงความเห็นของตัวเองจนเกินเลยก็ต้องตักเตือนกัน เสนอสิ่งที่ดีต่อกัน ไม่ใช่การประจานกัน

ซูการไน  มองว่า ประชาธิปไตยคือเรื่องความเท่าเทียม และเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน ไม่มีใครเหนือกว่าใคร ไม่มีใครต่ำกว่าใคร ซึ่งมันเกี่ยวโดยตรงกับความรักซึ่งคู่รักต้องมีความเท่าเทียมกัน ถ้าแค่คาดหวังผลประโยชน์เพียงฝ่ายเดียว เอาแต่ใจตัวเอง เป็นเผด็จการหรือเปล่า ความรักที่เป็นประชาธิปไตยนั้นต้องเคารพความคิดเห็นของกันและกัน  เคารพความต่าง  โดยร่วมกันออกแบบครอบครัว หรือเรายอมให้ใครคนๆ เดียวออกแบบครอบครัวแบบเผด็จการ

อนวัช แสดงทัศนะว่า ความรักกับประชาธิปไตยเป็นเรื่องที่สอดคล้องกัน ความรักคือการให้ แต่ประชาธิปไตยไม่ใช่แค่การให้ ซึ่งมันซับซ้อนกว่าความรัก ประชาธิปไตยไม่โรแมนติกเหมือนความรัก ประชาธิปไตยยืนอยู่บนฐานของหลักการคนเท่ากัน อาศัยประชาธิปไตยแบบตัวแทน มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดตรัง เข้าไปเรียกร้องผลประโยชน์ให้คนจังหวัดตรัง อีกทางหนึ่งคืออาศัยประชาธิปไตยทางตรง เช่น ขบวนการชาวบ้านค้านท่าเรือน้ำลึกปากบารา คัดค้านเขื่อนคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน เป็นต้น ซึ่งเรียกร้องสิทธิชุมชนของตัวเองสู้รบกับวาทกรรมต้องเสียสละเพื่อส่วนรวมที่ชาวบ้านคนเล็กคนน้อยถูกบังคับให้เป็นผู้เสียสละอยู่ตลอด รวมถึงการเมืองเสื้อเหลือง เสื้อแดงที่มีสิทธิสู้ตามสิทธิที่มี แต่ไม่ควรเลยกรอบของกฎหมายไปสู่ความรุนแรง 

กฎธรรมชาติ-ความรัก-ประชาธิปไตย อะไรคือความเชื่อมร้อย

ขณะที่ผู้ดำเนินการเสวนามองว่า ความรักเป็นเรื่องของกฎธรรมชาติ กฎธรรมชาติคือสัตว์ใหญ่รังแกสัตว์เล็ก ปลาใหญ่กินปลาน้อย ขณะที่ประชาธิปไตยเป็นเรื่องที่คนร่วมกันสร้างขึ้นในการอยู่ร่วมกันเพื่อสร้างความเท่าเทียมกัน ซึ่งขัดแย้งกันอยู่ในตัวอยู่แล้ว  พร้อมกับตั้งคำถามต่อผู้ร่วมเสวนาซ้ำว่า บรรทัดฐานความรักใช้กับประชาธิปไตยได้ไหม?

ปริวัตร มองความรักแบบสัญชาติญาณมนุษย์ ซึ่งเป็นสัญชาตญาณการแสดงออกเพื่อประสงค์ดำรงเผ่าพันธุ์มนุษย์ เป็นแค่กระบวนการหนึ่งในการสืบพันธุ์ของมนุษย์ แล้วต่อมาก็ก่อเกิดเป็นความผูกพัน และความรัก การสืบพันธุ์ของมนุษย์สืบพันธุ์โดยลำพังไม่ได้ต้องมีคู่ เมื่อจำเป็นต้องมีคู่มีความสัมพันธ์กันตั้งแต่คน 2 คนก็เริ่มมีการเมือง ข้อตกลงในการอยู่ร่วมกัน การออกแบบข้อตกลงในการอยู่ร่วมกันต้องดูว่าใครเป็นผู้มีอำนาจออกแบบ ซึ่งผู้มีอำนาจออกแบบย่อมออกแบบเข้าข้างตัวเองอยู่แล้ว ถ้ากระบวนการออกแบบการอยู่ร่วมกันของคน 2 คนเป็นประชาธิปไตยก็จะรักกันยืนยาว หากอีกฝ่ายหนึ่งไม่มีส่วนร่วมในการกำหนดก็เป็นเผด็จการ เป็นแค่การฝืนจำอยู่  ผู้หญิงก็เป็นแค่วัตถุทางเพศ ไม่มีความเท่าเทียมผู้ชาย 

“คุณมองแฟนคุณเป็นคนเท่ากันกับคุณไหมล่ะ อย่างผมนี่เข้าหาแฟนไม่จำเป็นต้องคุกเข่าเข้าหา ให้เกียรติกัน ผมมองว่าเป็นประชาธิปไตยแล้ว” ปริวัตร ทั้งถามทั้งสรุปยกตัวอย่างรูปธรรมของตัวเอง

ปรัชญา ยังย้ำว่า ความรักคือความผูกพัน ซึ่งเริ่มจากการผูกพันทางใจ ไม่ใช่ผูกพันทางความคิด ผูกพันทางร่างกาย เรารักสิ่งแวดล้อมได้ เรารักทะเล รักสัตว์ รักเพื่อนมนุษย์ รักเพื่อน รักสังคมด้วยการผูกพันทางใจ  มนุษย์ไม่สามารถอยู่โดดเดี่ยวลำพังได้ และโหยหาใครอีกคนมาเติมเต็มกลบฝังความโดดเดี่ยวด้วยความผูกพัน คนต้องมีสังคม ต่างคนต่างอยู่ไม่ได้ ต้องมีการปฏิสัมพันธ์กันมีกรอบกฎกำหนด ศีลธรรมกำหนด ไม่ว่าศาสนาพุทธ คริสต์ อิสลาม หรือลัทธิ ศาสนา ก็เชื่อว่าต้องมีศีลธรรมมากำหนด

“ธรรมชาติของมนุษย์สนใจเพศตรงข้าม มีภาพอุดมคติในเพศตรงข้ามที่สามารถดึงดูดเสน่ห์ ดึงดูดให้มีความผูกพันทางใจ นำไปสู่การผูกพันทางความคิด การอยู่ร่วมกันต้องให้คุณค่า ประชาธิปไตยคือการกำหนดสิ่งต่างๆ เท่ากันด้วยการให้คุณค่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้เท่ากัน”ปรัชญา จำกัดความความรักโยงกับประชาธิปไตย

ประชาธิปไตย กับ ศาสนาอิสลามในมุมมองสังคมชายเป็นใหญ่ 

ซัยด์ ให้นิยามประชาธิปไตยเชื่อมกับความรักว่าคือการให้ เมื่อรู้จักการการก็รู้จักการรัก ขณะที่ประชาธิปไตยคือสิทธิและความเท่าเทียมกัน แม้มีวัฒนธรรมและศีลธรรมที่แตกต่างกันก็ต้องเคารพกัน ยอมรับความเห็นของคนอื่น ไม่ว่าความคิดเชื่อของเสื้อเหลือง เสื้อแดง หรือความเชื่อของต่างศาสนิก จะไม่มีความขัดแย้งกันหากรู้จักการให้  กรณีเดียวกับการออกนโยบายต่างๆ ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ หากรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ หรือกฎต่างๆ ขัดแย้งกับศีลธรรมความเชื่อของคน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ไม่ยอมรับความแตกต่างของท้องถิ่นก็เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความแตกแยก 

ส่วนในมุมทัศนะที่ถูกศาสนิกอื่นมองว่าในอิสลามคือสังคมชายเป็นใหญ่นั้น ซัยด์ อธิบายว่า พระเจ้าสร้างให้ผู้ชายคุณลักษณะทางร่างกายแข็งแกร่งมีความอดทนกว่าจึงเหมาะกับการเป็นผู้นำครอบครัว ขณะที่พระเจ้าสร้างให้ผู้หญิงอ่อนโยนมีบทบาทหลักในการทะนุถนอมเลี้ยงดูลูกซึ่งเป็นประชากรของสังคม

ปรัชญา ช่วยขยายความประเด็นที่ถูกศาสนิกอื่นมองว่าในอิสลามคือสังคมชายเป็นใหญ่ว่า อิสลามไม่ได้มีปัญหาเรื่องสิทธิผู้หญิง แต่องค์ประกอบทางร่างกายที่พระเจ้าสร้างเป็นตัวกำหนดทางกายภาพที่แตกต่าง ศาสนาอิสลามจึงวางบทบาทชายกับหญิงที่แตกต่างกัน ความเป็นประชาธิปไตยอยู่ในแนวคิดอิสลาม คือ พื้นทางทางความเชื่อต้องถูกหลอมให้เหมือนกันก่อน โดยอิสลามพยายามสลายกรอบความเชื่อให้เป็นความเชื่อเดียวกันก่อนใช้ชีวิตคู่กัน ถ้าสังเกตจะเห็นว่าหากใครอยากใช้ชีวิตคู่กับมุสลิมต้องรับศาสนาอิสลามก่อนเป็นลำดับแรก เพื่อปรับความเชื่อให้อยู่บนพื้นฐานเดียวกัน

“สำหรับการให้อิสรภาพ เสรีภาพ ในการปรึกษาหารือร่วมของทั้งชายและหญิง ซึ่งนำมาซึ่งมีผู้หญิงมุสลิมหลายต่อหลายคนทำงานนอกบ้าน มีการออกแบบร่วมกันว่าอาจให้ฝ่ายชายช่วยงานบ้านบ้าง” นายปรัชญา แจง

ซูการไน  พยายามอธิบายเชื่อมโยงความรักกับประชาธิปไตยอีกครั้งว่า ความรักคือความจริงใจต่อกัน ไม่ใช่แค่การให้อย่างเดียว ประชาธิปไตยก็เช่นกันไม่ใช่แค่การที่ผู้ใหญ่ซึ่งอยู่เหนือกว่าให้ลงมาอย่างเดียว บังคับให้คนข้างล้างต้องรับอย่างเดียวโดยไม่มีความจริงใจ ทั้งที่ควรมีความจริงใจด้วย

ประชาธิปไตย กับ ประวัติศาสตร์ไทย-ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น

อนวัช มองว่า ทั้งนิยามของประชาธิปไตย และความรักสามารถให้คำจำกัดความได้หลายนิยาม แล้วแต่ใครเป็นผู้กำหนด จากที่ตนศึกษาประวัติศาสตร์ประชาธิปไตย การก่อเกิดเริ่มจากแรกมีผู้เป็นใหญ่คือชนชั้นนำ ต่อมามีพัฒนาการให้ขุนนางเข้ามาต่อรองอำนาจ ต่อมาก็ประชาชนเข้ามาต่อรองอำนาจ เมื่อมีการต่อรองอำนาจย่อมมีความขัดแย้งเป็นธรรมดา มีการต่อสู้ อย่างเมื่อก่อนลักษณะในสังคมไทยในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ กษัตริย์มีอำนาจ ครั้นเมื่อมีการปฏิวัติเมื่อปี 2475 โดยคณะราษฎร ซึ่งไม่มีการนองเลือด แต่ขณะเดียวกันก็มีขบวนการโต้กลับของเครือข่ายชนชั้นนำ และค่อยวิวัฒนาการมาสู่การลุกขึ้นต่อรองอำนาจโดยชนชั้นกลางในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516

“สังคมภาคใต้ เป็นชนชั้นกลางนิยมพรรคประชาธิปัตย์ ขณะเดียวกันสังคมเหนือ อีสาน ซึ่งส่วนใหญ่คือคนเสื้อแดงเป็นชนชั้นกลางใหม่ ที่ได้ประโยชน์จากนโยบายของพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ผมไม่ได้บอกว่าทักษิณเป็นคนดี แต่ทักษิณคือตัวเลือกที่ดีที่สุดแล้วในการเข้าถึงทรัพยากรของชนชั้นกลางใหม่ หากประเทศไทยมีตัวเลือกนักการเมืองที่ดีกว่านี้คนเสื้อแดงก็คงจะไม่เลือกทักษิณ ประชาธิปไตยมันไม่ได้โรแมนติคแบบเอื้ออาทร” อนวัช พยายามขยับประเด็นความรักกับประชาธิปไตยมาเชื่อมโยงกับสถานการณ์ความขัดแย้งทางเมืองไทยในปัจจุบัน

พรพิมล ผู้ดำเนินการเสวนาเปิดประเด็นใหม่เกี่ยวกับความเป็นประชาธิปไตยในระบบการศึกษาไทย รวมถึงบทบาทนักศึกษากับการสร้างสังคมประชาธิปไตย

อนวัช เห็นว่า วิชาประวัติศาสตร์ไทยในระบบการศึกษาไทย ยัดเยียดเอกลักษณ์ชาติผ่านภาพรัฐชาติ โดยตนมองเป็น 2 ส่วนคือ รัฐเหมือนร่างกาย ชาติหมายถึงจิตวิญญาณ เอกลักษณ์ชาติไทยไม่ได้เป็นจริงโดยตัวเอง แต่ถูกนิยามขึ้นมา และตั้งคำถามว่าใครเป็นคนนิยามขึ้นมา มีลักษณะการช่วงชิงการนิยามโดยโครงสร้างส่วนบนของสังคมไทย ฝังไปในความคิดนักศึกษามีอิทธิพลส่งผลต่อระบบคิดนักศึกษาในการมองคนในชาติว่าใครคือคนไทย ซึ่งหากคำนิยามว่าชาติถูกนิยามมาในหลักสูตรการศึกษาแบบนั้นหากเราไม่เชื่อก็จะถูกมองว่าไม่ใช่คนชาติไทย

“นอกจากเอกลักษณ์ชาติแล้ว ยังมีเอกลักษณ์ทางพื้นที่ชุมชนความทรงจำ นั่นคือท้องถิ่น ซึ่งต่างเป็นส่วนหนึ่งของชาติไทย แต่ประวัติศาสตร์ชุมชนไม่ได้ถูกพูดถึงและให้ค่า จึงไม่แปลกที่ประวัติศาสตร์ปาตานีขัดแย้งกับความเป็นชาติไทย ประวัติศาสตร์ชาติไทยถูกสร้างขึ้นมาจากหลักการมองคนไม่เท่ากัน ไม่มีความเป็นประชาธิปไตย แม้แต่วันชาติดั้งเดิม คือ 24 มิถุนายน อันเป็นวันปฏิวัติการปกครองของคณะราษฎรจากระบบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สู่ประชาธิปไตย ก็ถูกยกเลิกในรัฐบาลเผด็จการทหารยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นการลบเลือนความทรงจำประชาธิปไตยจึงไม่แปลกที่เด็กไทย นักศึกษาไทยไม่ให้ความสำคัญกับประชาธิปไตย มันเป็นการถูกทำให้ลืม” อนวัช จี้จุดปัญหาระบบการศึกษาไทยที่ประวัติศาสตร์

ประชาธิปไตย กับระบบการศึกษาไทยและบทบาทนักศึกษา
 
ซัยด์ ย้ำว่าระบบการศึกษาไทยมีปัญหาเช่นกัน ซึ่งหลักสูตรถูกกำหนดโดยรัฐอย่างไม่เป็นประชาธิปไตย คือ เลือกที่จะซ่อนเนื้อหาความเป็นจริงบางอย่าง พยายามรักษาความจริงนั้นไว้โดยไม่ใส่ในหลักสูตร หลักสูตรถูกกำหนดโดยปิดกั้นคำตอบของเรา ถ้าเราตอบออกจากกรอบที่เขาวางไว้ก็จะผิด สอนแบบไม่ให้นักศึกษาแสดงความเห็นของตัวเอง

“หน้าที่ของนักศึกษาต้องกล้าเรียกร้องสิทธิของตัวเอง กล้าแสดงออก ทุกวันนี้มีพื้นที่สาธารณะที่ปลอดภัยขึ้นมาโดยการจัดขององค์กรเอ็นจีโอสายสิทธิมนุษยชนสานเสวนาบ้างเล็กน้อยให้ประชาชนและนักศึกษาได้พูดในสิ่งที่อยากพูด แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นบรรยากาศในมหาวิทยาลัยมันน่าจะมีเวทีมากกว่านี้เสียด้วยซ้ำ เพื่อสะท้อนและรับฟังความคิดเห็นหลากหลาย เป็นกระบอกเสียงแทนประชาชนบ้าง สังคมเราอยู่ในระบอบประชาธิปไตย แต่ทุกวันนี้เพียงก็แค่ชื่อ แต่จริงๆ ไม่ใช่ประชาธิปไตย” ซัยด์ สะท้อนออกมาเหมือนกับมีความอัดอั้นอะไรบางอย่างอยู่ข้างใน

ซูการไน  มองว่า การออกแบบหลักสูตรโดยรัฐเลือกที่จะใส่ชุดความคิดไหนให้นักศึกษา และซ่อนอำพรางอีกชุดความคิดที่ไม่ต้องการให้นักศึกษารู้ เขายกตัวอย่างกรณีความเป็นประชาธิปไตยใน ม.อ. ปัตตานี มหาวิทยาลัยพยายามสกัดการรณรงค์คัดค้านออกนอกระบบของนักศึกษา โดยพยายามออกมาอธิบายกับนักศึกษาว่านักศึกษายังเป็นเด็กขอเข้าร่วมกำหนดแนวทางว่าจะออกนอกระบบ หรืออยู่ในระบบร่วมกับมหาวิทยาลัยไม่ได้ โดยพยายามจี้กับนักศึกษาว่าหากเกิดผิดพลาดขึ้นมานักศึกษาจะรับผิดชอบไหวหรือเปล่า

กิจกรรมใน ม.อ.มีการจำกัดนักศึกษาไม่ให้ออกไปเรียนรู้กับกิจกรรมนอกมหาวิทยาลัยด้วยการกำหนดชั่วโมงกิจกรรม ซึ่งปิดกั้นการเรียนรู้ปัญหาสังคม ปัญหาชุมชนภายนอก การกำหนดชั่วโมงกิจกรรมของมหาวิทยาลัยเป็นโซ่ตรวนล่ามนักศึกษาเอาไว้ การกำหนดบังคับให้ทำกิจกรรมเฉพาะแค่ในมหาวิทยาลัยโดยไม่ให้ทำกิจกรรมในชุมชน เรียนรู้ปัญหาของพื้นที่ปาตานี ทั้งที่นักศึกษาเป็นคนพื้นที่ปาตานีเองถึง 80 เปอร์เซ็นต์ จะไม่ให้พวกเขาเรียนรู้ปัญหาบ้านของพวกเขาเองได้อย่างไร

“ผมก็ยังมองเห็นเป็นประชาธิปไตยอยู่บ้างนะในมหาวิทยาลัย ที่อาจารย์บางคนไม่ได้บังคับให้ผมต้องใส่นักศึกษาเข้าเรียน ผมไม่ใส่ชุดนักศึกษาเข้าเรียนอาจารย์ไม่ได้มีปัญหา ผมมองว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่ชุดนักศึกษาแต่อยู่ที่ความรู้” ซูการไน  ชี้ให้เห็นว่าในมหาวิทยาลัยยังมีมุมประชาธิปไตยเล็กๆ อยู่บ้าง

ปรัชญา พยามยามโยงปัญหาระบบการศึกษาไทยที่ไม่เป็นประชาธิปไตย โดยอธิบายผ่านข้อสะกิดของสังคมผ่านทอล์คโชว์ของโน้ต อุดม แต้พานิช เขายกตัวอย่างเช่น การให้ร้องเพลงลูกเสือ การผูกเงื่อนเชือกต่างๆ ที่ไม่ได้ใช้ในชีวิตจริง รวมไปตั้งคำถามว่าทำไมต้องท่องจำสูตรคูณ ทั้งที่รู้ว่าในที่สุดแล้วก็ใช้เครื่องคิดเลขในการคำนวณ ปรัชญารู้สึกว่าระบบการศึกษาไร้สาระพอสมควร เขายกตัวอย่างการเรียนวิชาภาษาอังกฤษของคนไทยตั้งแต่ชั้นประถมปลาย จนถึงมหาวิทยาลัย แต่กลับพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ ทว่าชี้ไปที่ข้อดีอย่างหนึ่งของการศึกษาไทย คือ ทำให้เขาตั้งคำถาม

ระบบการศึกษาไทยเป็นกลยุทธ์ควบคุมคนในชาติ ให้เป็นไปในทิศทางของรัฐฝังใส่หัวตั้งแต่เด็ก ปัญหาที่เขาค่อนข้างข้องใจคือ ประวัติศาสตร์ปาตานี ที่ไม่ได้มีอยู่ในหลักสูตรของระบบการศึกษาไทยไม่ว่าระดับชั้นไหนๆ ทั้งๆ ที่มีประวัติศาสตร์อาณาจักรล้านนา ล้านช้าง ทว่าปาตานีกลับหามีไม่ ทั้งๆ ที่ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้เกิดขึ้นทับถมมาหลายสิบปี มีคนตายไป 5-6 พันคน แต่ไม่มีใครรู้ว่ามีที่มามาจากอะไร

เห็นค่อนข้างชัดว่าผลของระบบการศึกษาไทยที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ฉายภาพผ่านการขาดวุฒิภาวะของคนในสังคมไทย ขาดวุฒิภาวะทางการเมือง ขาดการยอมรับความเห็นต่าง 

“โลกนี้มีแค่ผิดกับถูกเท่านั้นเหรอ ทำไมคนไทยมองว่าคนที่ไม่ใช่เสื้อเหลืองก็ต้องเป็นเสื้อแดง ถ้าไม่เอารัฐประหารมึงมีปัญหา มองปัญหาขาวดำ ไม่มีสีเทาเลยเหรอ การไม่ตั้งคำถามกับระบบการศึกษาไทย ผู้คนในสังคมไทยส่วนใหญ่จึงไม่เห็นโครงสร้างปัญหาที่แท้จริงของสังคมไทย” ปรัชญา ตั้งคำถามกะเทาะแก่นสังคมไทย

ปริวัตร จี้จุดไปที่ปัญหาหลักสูตรการศึกษาถูกกำหนดโดยชนชั้นสูง มหาวิทยาลัยจึงเป็นแค่คอกขังนักศึกษาไม่ให้ออกไปแสวงหาความจริงในสังคม ปริวัตรยกรูปธรรมหลักสูตรวิชาประวัติศาสตร์ที่เรียนแค่การชนช้างยุทธหัตถี บอกว่าทำสงครามห้ำหั่นกับพม่า ทว่างานศึกษาของสุจิตต์ วงศ์เทศ ระบุว่า พม่าไม่เคยรบกับไทย

รูปธรรมใกล้ตัวในมหาวิทยาลัยที่มีลักษณะเป็นเผด็จการ คือระบบโซตัส เขาคิดว่ามหาวิทยาลัยเป็นผู้อยู่เบื้องหลังและให้การสนับสนุนระบบโซตัสอยู่ การต้องปฏิบัติตามคำสั่งตามระบบอาวุโสโดยไร้เหตุผลสิ้นเชิงเป็นการสืบทอดแนวคิดอำนาจนิยม และระบบอุปถัมภ์

ปริวัตร ยืนยันว่า การปฏิบัติตามคำสั่ง ยึดมั่นในประเพณี ระบบว๊าก ระบบเชียร์ ระบบโซตัส เป็นปฏิปักษ์กับประชาธิปไตยโดยตรง ซึ่งรุ่นพี่ไม่เห็นว่ารุ่นน้องเป็นคนเท่ากัน ใช้ความเป็นรุ่นพี่กดขี่ข่มเหงรุ่นน้อง สั่งการโดยไม่มีเหตุผล เหยียดความศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของรุ่นน้อง มหาวิทยาลัย และอาจารย์มหาวิทยาลัยมีผลประโยชน์กับระบบโซตัสที่ถูกสะกดให้เคารพรุ่นพี่ แล้วมันง่ายที่จะสะกดให้เคารพอาจารย์อีกทอดหนึ่ง

“แต่ถ้าพวกเรา พวกคุณ นักศึกษาไม่เห็นว่าเป็นปัญหาก็ไม่เป็นไรนะ” ปริวัตร ท้าทายนักศึกษา

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ