@ ดูเหมือนว่ากระแสปฏิรูปให้พื้นที่กับผู้ใหญ่ หรือคนรุ่นพ่อมากกว่าเยาวชนคนรุ่นใหม่ คุณมองแบบนี้ไหม
เราอาจจะมองภาพ 14 ตุลาคม 2516 ว่า เยาวชนสำคัญเหลือเกินในการเป็นพลังบริสุทธิ์ พลังขาวสะอาด ตอนนี้เราไม่ได้มีศัตรูให้ต่อสู้ขนาดนั้นแล้ว แต่ตอนนี้เราต้องสร้างชาติ สร้างสังคมขึ้นมา มี อะไรที่ซับซ้อนกว่าสมัยก่อนมาก เยาวชนเองประสบการณ์ก็ไม่เยอะ ความคิดก็ยังต้องใช้เวลาในการพัฒนา ผมเองก็รู้ว่ายังต้องเรียนรู้อะไรอีก
ความจริงที่พูดแบบนี้ไม่ใช่ว่า เยาวชนไม่ควรจะมาเข้าร่วมหรืออย่างไร แต่เยาวชนก็มีสิ่งที่เขาพยายามทำกันอยู่ อาจจะไม่ได้ออกมาในรูปแบบที่มีสาระมากมาย หรือออกมาในรูปของการปฏิรูปชัดเจน ขณะเดียวกันถ้าเราไม่มีมันเลยสังคมก็ถือว่า อับเฉา ต้องมีเรื่องบันเทิงเริงรมย์ ดนตรี ภาพยนตร์ โฆษณา งานออกแบบ ฯลฯ แล้วมันก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไรมากมายถ้าเยาวชนจะให้ความสนใจกับเรื่องนี้ เพราะยุคนี้ไม่ใช่จุดที่จะต้องบังคับให้เยาวชนเข้ามาสู่จุดนี้ (ปฏิรูปประเทศ) อีกแล้ว
“ไม่ใช่เรื่องที่มีพื้นที่หรือไม่ แต่มันอยู่ที่คุณจะเลือกเข้ามาหรือไม่ ถ้าเข้ามาเพราะใจอยากทำก็เข้ามา แต่ถ้าเข้ามาเพราะโดนด่าว่าต้องเข้ามาทำแต่ใจไม่อยากทำ ก็อย่าเข้ามาเลยจะดีกว่า”
บทบาทภาพของเยาวชนมันผ่านไปแล้ว ครับ มันเปลี่ยนไปแล้วครับ ยุคนี้ไม่มีจอมพลถนอม กิตติขจร หรือจอมพลประภาส จารุเสถียร ไม่มีผู้ร้ายที่ชัดเจน หลายคนอาจบอกว่า คือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แต่เขาก็ยังเป็นนักบุญของคนอีกครึ่งประเทศ เรา จะบอกว่า คนเหล่านั้นโง่ โดนหลอกหรือ เราไม่สามารถพูดแบบนั้นได้เพียงเพราะว่า เราเงินเยอะกว่าเขา ถ้าเราคิดอย่างนั้นแสดงว่า เรามองคนเป็นสองชนชั้นเรียบร้อยแล้ว
ผมเองมาอยู่จุดนี้เพราะโดยทางเลือกว่าทำ อะไรได้ก็ควรจะทำสักอย่าง เราไม่อยากมานั่งด่าว่า ทำไมเยาวชนสมัยนี้ทุเรศทุรัง ไม่สนใจสังคมเลย บางครั้งความโกรธนั้นทำให้เรานั่งวิจารณ์สังคมทั้งวัน กว่าเราจะรู้ตัวก็กลายเป็นนักวิจารณ์ที่แบบว่าอะไรก็ไม่ดีไปหมดทั้งโลก มันมีพื้นที่ครับ แต่ถ้าเขา (เยาวชน) จะไม่เข้ามาก็ไม่เป็นไร ก็เรื่องของเขา
@ การปฏิรูปประเทศเป็นเรื่องอนาคตชาติก็ควรให้คนในอนาคตเข้ามามากๆ ไม่ถูกต้องหรือ ?
แน่นอนว่าในคณะปฏิรูปมีแต่คนแก่ๆ บางคนก็บอกว่าเป็นยาสามัญประจำบ้านขนานเดิม ผมรู้สึกว่าทุกท่านก็เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ และในคณะเหล่านั้นก็มีเยาวชนอยู่ในนั้นด้วย เพียงแค่ชื่อไม่ได้ออกปรากฎในสื่อแต่อย่างใด เยาวชนในคณะนั้นก็คงจะดูแลในเรื่องที่ต่างออกไป จะให้ไปทำเรื่องแก้กฎหมายความรู้และประสบการณ์คงยังไม่พอ
สมัยก่อนเราเข้าใจว่าเยาวชนต้องเป็นคนผลัก ดันสังคม แต่เราต้องยอมรับว่ายุคสมัยเปลี่ยนไปแล้ว คนไทยโตช้ามาก อายุ 30 ปีบางครั้งยังถือว่าเด็กอยู่เลย เราก็อย่าไปด่า ว่าสังคมแย่ ต้องยอมรับว่า เดี๋ยวนี้เป็นแบบนี้ ควรมองว่าสามารถหาจุดและปัจจัยใดบ้างมาช่วยแก้ไขได้บ้างจะดีกว่าการมานั่ง บอกว่าจะทำอย่างไงให้เยาวชนโตขึ้น เป็นผู้ใหญ่เร็วขึ้น
@ หรือว่าเรื่อง “ปฏิรูป” ยังไกลตัวเยาวชน คนรุ่นใหม่ ?
มันไม่ไกลตัวใครแล้ว ทุกคนคงรู้ว่า ใกล้ตัวมากๆ อยู่แล้ว ตอนนี้ผู้ใหญ่ก็อยากทำกันจะตายอยู่แล้ว ถึงแม้เด็กเยาวชนจะไม่มาทำ ผู้ใหญ่ก็ยังมีแรงเหลือกันมากมายในการทำ และถ้าจะห่วงเยาวชนไทยสักเรื่อง ก็คือ กลัวการเป็นสังคมแห่งการวิจารณ์ที่ไม่ค่อยมีการกระทำมารองรับเท่าไร วิจารณ์โดยไม่เคยเข้าไปดูและสัมผัสในจุดนั้นว่าเป็นอย่างไร
เรื่องปฏิรูปประเทศเยาวชนไทยอาจไม่ต้องมีส่วนร่วมก็ได้ แต่คุณต้องไม่วิจารณ์ทั้งวันโดยที่ไม่ได้ทำ คุณอาจไม่ต้องเป็นรัฐบาลก็ได้ แต่คุณเคยมีส่วนการเข้าร่วมออกแบบนโยบายประเทศไหม ถ้าจะวิจารณ์รัฐบาลนะ เราไม่ได้บอกว่า คุณวิจารณ์รัฐบาลไม่ได้ แต่ถ้าคุณวิจารณ์อะไรก็ไม่ดีไปหมด สุดท้ายมันก็ไม่ได้ช่วยเหลือให้ดีขึ้น
ฉะนั้นถ้าสิ่งใดที่พอรับได้ก็ขอให้หยุดคิด สักนิด อย่าเพิ่งวิจารณ์ออกมา สิ่งใดที่ดีก็ควรจะชมบ้างให้มีกำลังใจ ส่วนอะไรที่ไม่ดีจริงๆ ก็วิจารณ์ได้ สักหมัดสองหมัดก็ว่ากันไป อย่าลืมว่าถ้าเราไปทำเองตรงนั้น เราจะทำได้ไหม มีทางเลือกให้หรือเปล่า ไม่เช่นนั้นเราก็วิจารณ์กันอยู่อย่างนี้ อย่างน้อยเมื่อสิบปีก่อนมาถึงวันนี้ ทุกอย่างก็ได้เปลี่ยนไปเยอะแล้ว ก็กลัวว่าอีกสิบปีข้างอนาคตจะกลายเป็นอีกประเทศหนึ่งที่เราจะไม่รู้จักเลย หรือไม่ ยุคนี้ทุกคนด่ากันได้ออกนอกหน้าโดยที่ไม่ต้องแคร์
@ คุณมองอนาคตประเทศไทยไว้อย่างไรบ้าง
(คิด…) ประเทศไทยในอนาคตผมก็ไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไร เพราะผมไม่ใช่คนไทยที่เข้าถึงสังคมไทยได้มากขนาดนั้น เราไม่รู้ว่า สังคมไทยจะเป็นอย่างไร แต่สังคมที่อยากเห็นคือ สังคมไทยที่รัฐบาลลดความสำคัญลง
รัฐบาลทำในเรื่องที่รัฐบาลทำได้เท่านั้น หลายเรื่องรัฐบาลไม่ต้องทำ ก็ปล่อยให้เอกชนทำกันเมื่อ รัฐบาลมีความสำคัญน้อยลง คนก็จะมีสติเกี่ยวกับเรื่องรัฐบาลมากขึ้น อาจจะมีชอบบ้างไม่ชอบบ้าง แต่คงไม่ถึงขั้นอย่างที่แล้วๆ มา แน่นอนว่าก็ต้องเรียนรู้กันไปเรื่อยๆ
@ หมายความว่า ทุกคนต้องหยุดวิจารณ์-เรียนรู้ร่วมกัน-โตไปพร้อมกับสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลง
(ตอบด้วยน้ำเสียงจริงจัง) ก่อนหน้าเสื้อเหลืองบุกสนามบินสุวรรณภูมิผมก็คิดอีกแบบหนึ่ง ก่อนหน้าเสื้อแดงบุกยึกกรุงเทพฯ ผมก็คิดอีกแบบหนึ่ง ความคิดก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ช่วงนี้อย่าพยายามมีจุดยืนเลย พยายามมีเส้นทางความคิดดีกว่า
ถ้ามีจุดยืนเราก็จะยืนอยู่ตรงนั้นแล้วก็ไม่ไปไหนแล้ว แต่ถ้าคิดจะเปิดหัวตัวเองเพื่อ ที่จะเรียนรู้ไปเรื่อยๆ กับประเทศที่กำลังเปลี่ยนแปลง คิดว่าเราโตไปพร้อมกับสังคมเราก็จะกลายเป็นบุคคลที่มีคุณค่าต่อสังคมมากขึ้น เรื่อยๆ เพราะว่าเราไม่ได้หยุดแค่จุดเดิม เหมือนที่เป็นอยู่ที่ต้องคิดเสมอว่า นักศึกษาต้องออกมาต่อสู้เรียกร้อง ต่อต้านเผด็จการ รัฐบาลต้องชั่วร้ายเสมอ เราจะเรียนรู้ได้ไหม
อย่าคิดว่าถ้าเราหยุดวิจารณ์ แล้วจะกลายเป็นคนไม่ฉลาดนะ หยุดวิจารณ์แล้วจะกลายเป็นคนไม่มีความหนักแน่น จริงๆ คนส่วนใหญ่เขาก็ไม่ได้วิจารณ์อะไรกันมากมาย ลองมองดูว่าเราเป็นคนส่วนน้อยหรือเปล่า ถ้าเห็นดังนั้นแล้วก็ลองปรับปรุงตัวเองดูเรื่อยๆ ก็อาจจะทำให้สังคมดีขึ้นได้บ้าง
แต่ก่อนผมก็มีจุดยืน แต่ตอนนี้คิดว่าจะยืนไปทำไม ถ้าจุดที่ยืนอยู่นั้นไม่ฉลาดเท่าไหร่ ก็จะยังไม่ฉลาดอยู่อย่างนั้น ก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ดีกว่า ก็ต้องเรียนรู้กันไป ก็อย่าปลิวไปตามลม ใครบอกอะไรก็ไปตามนั้น ขณะเดียวกันก็อย่าหนักเป็นหินยังไงก็จะเอาแบบนี้ ไม่เชื่ออะไรแล้วทั้งนั้น ซึ่งมันต่างมีความพอดีของมันอยู่
@ คิดว่ากระแสปฏิรูปจุดติดกับเยาวชนคนรุ่นใหม่หรือยัง
(คิด) ผมว่าปฏิรูป “จุด” ตอนแรกก็แค่ “ติด” กับคนที่ไม่ใช่เยาวชนอยู่แล้ว อาจจะมีเยาวชนบ้าง กลุ่มคนที่รู้สึกว่าต้องทำอะไรสักอย่าง แต่ก็ยังเป็นส่วนน้อยของสังคม คนวงกว้างออกไปหน่อยก็อาจจะมองว่า เขาทำอะไรที่จะปฏิรูปกันบ้าง ต้องทำอะไรกันบ้าง จากนั้นก็มีเหตุการณ์เทศกาลบอลโลกเข้ามาเป็นกระแส พอบอลโลกจบคนก็ลืมหมดแล้วว่าจะต้องทำอะไร ก็เหลือแค่กลุ่มฮาร์ดคอร์จริงๆ ที่อยากจะทำอะไรกันอยู่
ประเทศไทยก็ทั้งบุญทั้งบาปลืมง่าย สบายใจง่ายดี แต่สำหรับคนที่เขายังเจ็บอยู่ล่ะ เราลืมเขาแล้วหรือ ผม เองคงไม่สามารถบอกได้ว่า กระแสนี้กับเยาวชนมันจุดติดหรือไม่ และก็ไม่อยากวิจารณ์ด้วยว่า จุดกระแสติดหรือไม่ติดนั้นดีอย่างไร เพียงแค่เราก็รู้สึกเหมือนกันว่า คนเริ่มลืมๆ เหตุการณ์ที่ผ่านมา อาจจะต้องเกิดอีกรอบสองรอบหรือเปล่าให้คนไม่ลืม ไม่ได้อยากให้เกิดขึ้นแต่มันอาจจำเป็นต้องเกิดเพื่อให้เราหันกลับมามองต้น เหตุของความขัดแย้งครั้งนี้ให้ได้ ว่า ไม่ได้อยู่ที่ทางการเมืองอย่างเดียว มีปัจจัยหลายอย่างร่วมอยู่ด้วย
เหตุการณ์ที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นว่า สังคมเมืองก็ไม่ได้เข้าใจสังคมชนบท สังคมชนบทก็ไม่เข้าใจสังคมเมืองเช่นเดียวกัน ถ้าเราบอกให้คนรวยไปเข้าใจคนจนก็อาจฟังดูยุติธรรมในบางมาตรฐาน แต่มันไม่ใช่ทั้งหมด ก็หวังว่าเหตุการณ์ที่ผ่านมาคนเมืองจะได้เรียนรู้จากคนชนบท ส่วนคนชนบทก็จะเข้าใจคนเมืองมากขึ้นด้วยว่า พวกเราไม่ได้เห็นแก่ตัวอย่างเดียว ไม่ใส่ใจ ไม่ใช่ว่าวันๆ เอาแต่ช้อปปิ้ง ซึ่งยังมีคนที่ใส่ใจตรงนี้อยู่เพียงแค่อาจจะไม่ใช่ทุกคนเท่านั้นเอง
ผมอยากให้คนชนบทเห็นภาพที่แตกต่างกัน ของคนในเมืองสมัยก่อนกับในปัจจุบันบ้าง ส่วนคนเมืองเองก็ต้องมองคนชนบทให้ต่างไปจากเดิมบ้าง เมื่อทั้งสองฝ่ายเข้าหากันเรื่อยๆ ปัญหาก็อาจจะลดลงเรื่อยๆ
@ มองการ “ปฏิรูป” เป็นเรื่องของการ “ปรองดอง” หรือไม่
ก็ต้องถอยกลับไปถามว่า การปรองดองคืออะไร อยู่ดีๆ มากอดคอรักกันเถอะ หรือว่าปรองดอง คือ ไม่ใช่แค่การเลิกทะเลาะกัน มันก็เหมือนกับความสุขคืออะไร ความสุขจริงๆ คืออะไร มันเป็นก้อนจับได้หรือไม่ หรือแค่ไม่ทุกข์ก็มีความสุขแล้ว ผมก็เคยถามท่านนายกฯ (นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) ว่าปรองดองคืออะไร ท่านก็ตอบว่า เป็นการทำให้คนอิ่มท้อง ไม่ต้องมาทะเลาะกันเพื่อแย่งเรื่องต่างๆ ก็ถือว่า ปรองดองกันไปเองแล้ว
ถ้าผมตอบคำถามนี้ไปก็ไม่รู้ว่าจะจริงหรือ ไม่ ก็เป็นแค่ความเห็นหนึ่งไม่ได้สำคัญอะไรมากมาย เพราะยังมีความเห็นอื่นอีกเป็นร้อย (ยิ้มมุมปาก) แต่ถ้าจะให้ผมลองออกความเห็นดู……ก็ได้นะ (หัวเราะ) “ปรองดองก็เป็นผลลัพธ์จากการปฏิรูปที่สำเร็จมากกว่า แต่ไม่ใช่ปฏิรูปเพื่อความปรองดองอย่างเดียว”
ทั้งนี้ทั้งนั้นถ้าคนมันจะฆ่ากันบางทีก็อาจ จะไม่มีใครช่วยได้ก็ได้ อาจจะดีถ้าทุกคนอิ่มท้อง มีข้าวกินแล้ว แต่ว่าอยู่ดีๆ ก็มีอุดมการณ์ทางศาสนา ทางการเมืองเข้ามาบอกว่า คนอีกพวกเป็นน้อยกว่ามนุษย์ มาบอกว่าตัวเองเป็นชนชั้นที่สูงกว่า โดยที่อีกพวกหนึ่งเป็นพวกไร้ความยุติธรรมสิ้นดี มันเลวไปหมด ก็อาจจะฆ่ากันอยู่ดีก็ได้…ใครจะไปรู้