สัมภาษณ์ ::: “วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล” ขีดเส้นปฏิรูป ทำแค่ในส่วนที่เข้าใจ 1

สัมภาษณ์ ::: “วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล” ขีดเส้นปฏิรูป ทำแค่ในส่วนที่เข้าใจ 1


เอ่ยชื่อ“ร.ต.ท ชาติ วุฒิไกร” นายตำรวจหนุ่มขาลุยที่เชื่อว่าโลกนี้มีแต่ขาวกับดำ เห็นอาชญากรทุกคนเป็นศัตรู  บุคลิกไม่กล้วใคร ดื้อรั้น ทรนงในเกียรติของความเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ หลายคนงง อาจไม่รู้จัก เพราะนั่นเป็นบทบาทกับภาพยนตร์เรื่องแรกในชีวิต “อินทรีแดง”  ที่กำลังจะเข้าฉายต้นเดือนหน้า แต่ถ้าบอก ผู้รับบทผู้หมวดชาติ คือ ลูกชายคนเล็กของ “เสกสรรค์ ประเสริฐกุล”- “จีระนันท์ พิตรปรีชา” เชื่อว่าหลายคนร้องอ๋อ….

“วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล” คลื่นลูกใหม่ที่ศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฏิรูปประเทศไทย จับมาชวนคุยให้ได้รู้จักตนที่มีพ่อเป็นหนึ่งในกรรมการปฏิรูป สำหรับเขาแล้ว กำหนด “พื้นที่”  (เล็กๆ) ปฏิรูป แบบ “ทำแค่ในส่วนที่เข้าใจ”….

 

@ ตอนนี้ทำงานอะไรบ้างที่เกี่ยวข้องกับการร่วม “ปฏิรูปประเทศไทย”

สิ่งที่ผมทำหลักๆ คือ เรื่องของโครงการไอเดียประเทศไทย เรื่องอื่นๆ ก็ไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องอะไรเท่าไร

@ อะไร คือ เป้าหมายจริงๆ ของ “ไอเดียประเทศไทย”

โครงการไอเดียประเทศไทยเกิดจากคุณสุนิตย์ เชษฐา กรรมการผู้จัดการ Change Fusion (บริษัทที่ทำงานอยู่) ได้ไปดูงานไอเดียแฟคทอร์รี่ของสวิสเซอร์แลนด์ ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในบ้านเมืองจึงเกิดแรงบันดาลใจ ว่า การ พัฒนาประเทศจะทำให้เกิดกระบวนการแบบนี้ได้หรือไม่ แทนที่จะมีคนกลางมาคอยบอก แต่ให้มีคนทุกคนมาช่วยกันคิดแล้วกรองไอเดียที่ดีที่สุดออกมาให้เกิดเป็น เรื่องจริงให้ได้

อีกส่วน คือ เดิมเคยทำโครงการไอเดียแบ็งก๊อก  แต่เฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ ร่วมกับคุณอภิรักษ์ โกษะโยธิน ในขณะนั้นเป็นผู้ว่าฯ กทม. แต่ก็มีเหตุทำให้โครงการนั้นถูกยุบไป มาตอนนี้จึงเกิดเป็นโครงการไอเดียประเทศไทยทำในระดับประเทศแทน

@ ในฐานะที่ก็เป็นคนรุ่นใหม่ มีกลุ่มเครือข่ายเยาวชนมาชวนให้ไปร่วมกันปฏิรูปบ้างหรือไม่

ทางทีมเยาวชนของคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป (คสป.) ชุดนพ.ประเวศ วะสีก็มาเชิญให้ไปร่วม แต่ผมก็ไม่เห็นจะได้ทำอะไรกันเท่าใดนัก

@ ขณะนี้เห็นอะไรบ้างจากกระแสการปฏิรูปประเทศไทย

(หัวเราะ) สิ่งแรกที่เห็น คือ กระแสต่อต้าน (หัวเราะ..อีกครั้ง) เอาเป็นว่า กระแสนี้ผมไม่ขอพูดถึงก็แล้วกัน

@ ความคิดของวรรณสิงห์ เกี่ยวกับการปฏิรูป

(นิ่งคิด) ความคิดการปฏิรูปนี้ 1. คือ ควรฟังความเห็นใครบ้าง 2. คือ กฎหมายควรแก้ตรงไหนบ้าง สองสิ่งที่ผมเคยเห็นมา แต่ไม่รู้ด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม ผมไม่ค่อยรู้สึกอินตามด้วยเท่าใด เพราะเรื่องของคนในการฟังความเห็นใคร เราก็เคยจัดสัมมนาให้คนมาออกความเห็นกันมากแล้ว ถึงรัฐมาฟัง บางครั้งนายกฯ มาฟังเองด้วยซ้ำ แล้วก็ให้คนมาออกความเห็นกันว่า อยากให้เรื่องนี้เป็นแบบนี้ เราจะเห็นว่า วันหนึ่งๆ มีคนมาบอกรัฐให้ต้องทำอะไรเป็นร้อยเป็นพันอย่าง แล้วรัฐจะทำได้สักกี่อย่างกัน

“ดูเหมือนเราใส่ใจกับความคิด ที่ว่าเราควรจะฟังความเห็นใครมากเกินไปหรือไม่ เมื่อเทียบกับควรจะออกความเห็นอย่างไร หรือเนื้อหาสาระของความเห็นเหล่านั้นคืออะไร แต่อย่างน้อยผมว่า เราควรจะก้าวผ่านแค่ที่มาของประชาธิปไตยให้ได้ ให้ไปสู่เนื้อหาของประชาธิปไตย เรื่องการปฏิรูปผมจึงไม่สนใจตรงนั้นเท่าใด”

@ ความสนใจในช่วงนี้

ในช่วงนี้ สนใจอยากเรียนรู้ทุกแง่มุมของสังคม ถ้าจะไปช่วยก็ไม่ได้หวังผลทางสังคม แต่ไปเพราะอยากรู้เองมากกว่า เพราะว่าหลังเกิดเหตุการณ์ช่วงพฤษภาที่ผ่านมา ทำให้เราได้รู้ว่า เรายังมีความเข้าใจในสังคมที่ยังจำกัดอยู่ ผมก็อยากรู้มากกว่านี้ อยากเข้าใจมากกว่านี้ เพื่อให้อย่างน้อยก็จะได้มีส่วนร่วมป้องกันไม่ให้เกิดสิ่งเหล่านี้ (เหตุการณ์รุนแรง) ขึ้นอีก

@ แล้วทางแก้ที่ว่าคืออะไร

การสร้างวัฒนธรรมแบบใหม่ ในการที่ทุกคนในสังคมจะแก้ปัญหากันเอง โดยที่เราไม่ต้องไปออกความเห็นให้ใครฟัง บอกมาอยากทำอะไรก็ทำเลย แล้วก็มีคนช่วยสร้างพื้นที่ให้ทำด้วย อย่างน้อยพวกเราก็ได้สร้างพื้นที่ (ไอเดียประเทศไทย) ให้คนที่อยากทำอะไรด้วยตัวเองได้ทำเลย โดยไม่จำเป็นต้องออกความเห็นว่า รัฐบาลต้องทำแบบนี้ หรือรัฐมนตรีกระทรวงนี้ต้องเป็นคนนี้ หรืออะไรก็ตาม เพราะเรารู้สึกว่า ถ้าไม่ก้าวผ่านตรงนี้ เราก็จะไม่สามารถไปต่อข้างหน้าได้

รัฐบาลที่ดี ทุกคนก็อยากมีกัน แต่ว่าเรารอรัฐบาลที่ดีมากี่ปีแล้ว ตอนนี้ก็ 78 ปีแล้ว ก็อาจจะมีรัฐบาลที่โดนด่าน้อย กับโดนด่ามาก ก็ว่ากันไป แต่รัฐบาลที่ดีสุดๆ ก็ยัง

คำว่า “ดี” คือ ประเด็นหลักๆ ของการโต้เถียงกันทางการเมือง หลายๆ คนก็บอกว่าศีลธรรมคืออันนี้ ขณะที่อีกคนก็บอกว่าศีลธรรมคืออีกแบบ บางคนบอกว่าคนนี้คือฮีโร่ ขณะที่อีกคนก็อาจจะบอกว่าคนๆ นี้คือจอมมาร สลับกันไป (ตอบแบบเหนื่อยๆ) เราอยากก้าวผ่านความดีให้ได้ เพราะความดีเป็นเรื่องส่วนตัว

คุณอยากจะให้เงินขอทานก็ได้ ให้แล้วรู้สึกดีกับตัวเองก็ทำไป แต่อีกคนอาจจะบอกว่า เป็นการสนับสนุนอาชญากรก็ได้ ดังนั้นมันเป็นเรื่องส่วนตัวมากๆ การมาบอกว่า ทั้งสังคมควรมองเห็นความดีที่เหมือนกัน พร้อมกันนั้นว่าจะไปถึงจุดไหน ผมก็มองไม่เห็นอนาคตว่า มันคือจุดไหนที่เราต้องการตรงนั้นกัน ความดีนั้นก็ดี แต่คุณอย่าเก็บมันไว้กับตัว อย่าอ้างมันเพื่อผลประโยชนทางสังคม ถามตัวเองว่าทำดีที่ว่าแล้วจะเกิดประโยชน์ต่อสังคมแค่ไหน

ผมเชื่อว่าศีลธรรมและความดีควร มีไว้นำทางชีวิตส่วนตัวของคุณเอง แต่ไม่ควรนำความคิดของคุณในเรื่องความดีที่คุณคิดมากำหนดชีวิตของคนอื่น ถ้าเรามองผ่านตรงนี้ไปได้ ก็จะมองที่คำว่าพัฒนาสังคมมากขึ้น มองที่ผลลัพธ์มากขึ้น มองว่าวัดอย่างไรมากขึ้น มากกว่ามองว่าสิ่งที่ทำนั้นดีหรือไม่

และการวัดผลในที่นี้ คือ ต้องพูดออกมาเป็นตัวเลขง่ายๆ เลย ลดการปล่อยแก๊สคาร์บอนได้เท่าไร สร้างเงินและงานให้คนจน คนว่างงานได้เท่าใด ขั้นต่ำต่อเดือนได้จำนวนเท่าไร สามารถหมุนเวียนและลดการใช้ทรัพยากรได้เท่าไร เป็นต้น เรื่องเหล่านี้เราเคยเถียงกันบ้างไหม ผมไม่ค่อยเห็นคนเถียงกันเรื่องนี้

@ ปฏิรูปประเทศต่อจากนี้ควรพูดถึงเรื่องอะไร

เรื่องปฏิรูปประเทศต่อจากนี้ต้องพูดถึงตัว เนื้อหาสาระ คอนเท้นท์ เพราะถ้าเรายังคากันอยู่ว่า ใครพูดอะไร ช่วงที่เกิดเหตุการณ์หนักๆ ก่อนที่จะมีเรื่องการปฏิรูปก็จะเห็นว่า คนๆ หนึ่งพูดอะไรขึ้นมาจะผิดเสมอในสายตาของคนบางกลุ่ม ขณะที่คนบางกลุ่มเป็นเรื่องถูก (ต้อง) เสมอ แต่เราไม่ค่อยสนใจว่าพูดอะไรกันเท่าไร

แต่ก่อนคนไทยอาจจะโหยหายุคที่คนสามารถออก ความเห็นต่างๆ ได้เต็มที่ เพราะว่าเรามีข้อปิดกั้นค่อนข้างเยอะ แต่พอมาถึงยุคนี้แล้วก็ไม่ใช่  ไม่ใช่ยุคที่ปัญญาชนเบ่งบาน ทุกคนเป็นปัญญาชนสามารถวิเคราะห์  อะไรได้เอง

ตอนนี้เป็นยุคของความเห็นล้น ตลาด ไม่ใช่ความเห็นของใครสำคัญหรือไม่สำคัญ ตอนนี้แค่คุณเห็นอะไร คนก็ไม่สนใจอีกต่อไปแล้ว เพราะก็เห็นกันทุกคน ตอนนี้ผมรู้สึกว่าความเห็นมันเยอะมากจนไร้ราคา ความเห็นกระจายอยู่ทุกที่ ทุกคนมีความเห็นหมด ฉะนั้นคำถามต่อไป คือ คุณทำอะไรได้มากกว่าล่ะ

@  โจทย์สำคัญปฏิรูปประเทศ

ทำอย่างไรให้คนสามารถโชว์ว่า ตนเองสามารถทำอะไรได้บ้าง ไม่ได้โชว์ว่า อยากให้ใครทำอะไรให้ หรือว่าจะทำอะไร แต่ว่าโชว์ให้เห็นเลยว่า พูดแล้วทำได้หรือไม่

ผมเป็นเด็กเมืองผมก็เข้าใจแค่นี้กับสังคม ผมก็เลยทำแค่ในส่วนที่ผมเข้าใจ ผมไม่ไปอยู่ในส่วนที่ผมไม่รู้เรื่องอะไรแล้วก็ทำมั่วๆ ไป แน่นอนว่า สังคมชนบทคงต้องการโจทย์อีกแบบ สังคมคนรวยและนักการเมืองก็ต้องมีสถาบันอื่นๆ มาปกครองให้อยู่ในร่องในรอยมากกว่านี้ ผมมองว่า คนชั้นกลางยังมีพลังเหลือเยอะ ทำอย่างไรให้พลังเหล่านั้นเปลี่ยนมาเป็นพลังก้อนใหญ่ทำให้สังคมดีขึ้นให้ได้

ไอเดียประเทศไทยก็เป็นพื้นที่หนึ่ง ก็หวังว่าจะเติบโตต่อไปในอนาคตซึ่งเยาวชนก็เข้ามาได้ ผมไม่ได้บอกว่า การปฏิรูปประเทศไทยแค่นี้เพียงพอแล้ว แต่ถ้าเลือกได้ผมก็อยู่แค่ตรงนี้แล้วกัน ความจริงไม่ใช่หน้าที่ผมที่ต้องมาทำไอเดียประเทศไทยด้วยซ้ำ แต่ผมอยากจะทำ ฉะนั้นถ้าผมเลือกว่า อยากจะทำ ผมก็จะทำในสิ่งที่ผมอยากทำ

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ