สังคมกสิกรรม…ที่กำลังจะถูกลืมเลือนจากเยาวชนรุ่นใหม่

สังคมกสิกรรม…ที่กำลังจะถูกลืมเลือนจากเยาวชนรุ่นใหม่


วิถีชีวิตเกษตรกรชาวนาพะเยา

ข่าววิถีชีวิตของชาวนา (Embedding disabled, limit reached)

          ปัจจุบันจำนวนของชาวนาไทยมีแนวโน้มลดลง  จากการรวบรวมข้อมูลของสำนักงานเกษตรจังหวัดพะเยา  พบว่าพื้นที่ปลูกข้าวของประเทศไทยลดลงประมาณ 2 ล้านไร่  แต่พื้นที่ในการเพาะปลูกยางพารากลับเพิ่มขึ้นกว่า 4 ล้านไร่  โดยพบว่าในปัจจุบันคนรุ่นใหม่ไม่นิยมทำนา กลับเลือกที่จะเดินทางเข้าเมืองแห่งอุตสาหกรรมเพื่อหางานทำ  โดยลืมไปว่ายังมีอีกอาชีพหนึ่งที่ไม่ต้องแข่งขันกับใคร  และยังเป็นอาชีพที่น่านับถือยกย่อง เพราะถือเป็นกระดูกสันหลังของประเทศ
          อาชีพทำนาถือเป็นอาชีพที่มีความสำคัญต่อสังคมไทย  เนื่องจากเป็นอาชีพหลักของคนในประเทศ อีกทั้งข้าวยังถือเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญ  เป็นปัจจัยหลักที่ใช้ในการบริโภคเพื่อดำรงชีวิต นอกจากนั้นยังถือเป็นอาชีพที่สร้างรายได้หลักให้กับเกษตรกร  ข้าวของจังหวัดพะเยาถือได้ว่าเป็นสินค้าคุณภาพ  เพราะเป็นจังหวัดที่ปลูกข้าวเพียงฤดูนาปีเท่านั้น อีกทั้งพื้นที่ที่ใช้ในการปลูกยังเป็นลักษณะของดินเหนียวใกล้เชิงภูเขาไฟ  และเป็นดินภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้ว ทำให้มีรวงข้าวที่แข็งแรง เมล็ดสมบูรณ์
          พันธุ์ข้าวที่นิยมเพาะปลูกของจังหวัดพะเยามี  2 สายพันธุ์ด้วยกัน นั่นก็คือ พันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 และพันธุ์ กข.6 ซึ่งเป็นพันธุ์ข้าวเหนียว ทั้งสองสายพันธุ์มีความทนต่อสภาพแวดล้อม  ให้รวงข้าวที่แข็งแรง และเป็นพันธุ์ข้าวที่สร้างชื่อเสียงให้กับจังหวัดพะเยา
          วิธีการปลูกข้าวนั้นแบ่งออกเป็น  4 วิธีหลักๆ นั่นก็คือ การปักดำ การหว่านข้าวแห้ง การหว่านน้ำตม  และการโยนกล้า ซึ่งแต่ละวิธีก็จะมีข้อดีที่แตกต่างกันออกไป การเลือกใช้ขึ้นอยู่กับระบบนิเวศของแต่ละพื้นที่  โดยจังหวัดพะเยานิยมปลูกข้าวแบบปักดำ เพราะจะให้ผลผลิตที่สูงกว่า เมล็ดใหญ่กว่า
          หลังจากปลูกข้าวแล้วชาวนาจะต้องดูแลแปลงอยู่ตลอดเวลา  เกษตรกรชาวนาพะเยาจะใส่ปุ๋ยบำรุงข้าวถึง 3 ครั้งด้วยกัน  เพื่อบำรุงธาตุอาหารให้ข้าวจนกว่าจะถึงเวลาในการเก็บเกี่ยว  นอกจากจะดูแลเรื่องปุ๋ยแล้ว ชาวนาจะต้องดูแลเรื่องน้ำ และวัชพืชต่างๆในนาข้าว  เพื่อให้ต้นข้าวที่พวกเขารักนั้นให้ผลผลิตที่งอกงาม คุ้มค่ากับความเหน็ดเหนื่อย
          ทั้งนี้  การปลูกข้าวนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่ใช่ว่าใครๆก็สามารถทำได้ คนที่จะทำได้ต้องมีใจรัก  ดูแลเอาใจใส่แปลงข้าวเป็นอย่างดี ไม่ใช่แค่ปลูกแล้วจะรอเก็บเกี่ยวเลย  จะต้องดูแลจัดการแปลงอยู่เป็นระยะระยะ อีกทั้งยังต้องเผชิญกับปัญหาและอุปสรรคต่างๆ  เช่น ต้นทุนการผลิตข้าวที่ปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากการเพิ่มราคาของปุ๋ย  ยาปราบศัตรูพืช น้ำมันเชื้อเพลิง และอุปกรณ์การเกษตร  ทำให้เกษตรกรชาวนาต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น  อีกทั้งยังต้องเผชิญกับปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่นที่ผ่านมา เกษตรกรชาวนาพะเยาต้องเผชิญกับปัญหาน้ำท่วม  และปัญหาโรคของข้าวที่ส่งผลให้ได้ปริมาณผลผลิตที่น้อยลง ซึ่งปัญหาและอุปสรรคต่างๆล้วนบั่นทอนกำลังใจของชาวนาพะเยายิ่งนัก  แต่พวกเขาเหล่านั้นก็ยังคงยืนกรานที่จะทำอาชีพนี้ต่อไม่ใช่เพราะว่าไม่รู้จะประกอบอาชีพอะไร  แต่เป็นเพราะความผูกพันกับอาชีพนี้มาช้านาน จนกรายเป็นความรักในอาชีพทำนา  ที่คนรุ่นใหม่เมินเฉย
          จากการสัมภาษณ์คุณสวัสดิ์  ภิญโญ ชายอายุ 52 ปี ที่ทำนามากว่า 30 ปี ฝากถึงคนรุ่นหลังเกี่ยวกับอาชีพชาวนา อีกหน่อยก็จะไม่มีที่นาแล้ว  คนรุ่นหลังก็จะขายหมด หรือไม่ก็สร้างเป็นอย่างอื่น นาก็จะไม่มีทำ ข้าวก็จะไม่มีกิน  ต้องไปซื้อจากที่อื่น อยากจะฝากให้คนรุ่นหลังอนุรักษ์นาไว้
          อย่างไรก็ตาม อาชีพทำนาถือเป็นสังคมกสิกรรมที่อยู่อาศัยกันแบบพี่น้อง  เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ซึ่งกันและกัน ใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย มีความสุขกับการอยู่กับสิ่งที่พวกเขารัก  นั่นก็คือการทำนา สิ่งที่เกษตรกรชาวนาพะเยาต้องการจากรัฐบาลชุดนี้ก็คือการจัดทำนโยบายข้าวที่ทำให้พวกเขาสามารถขายข้าวได้ในราคาที่เหมาะสม  ไม่ขาดทุน เพราะหากไม่มีอาชีพทำนา ไม่มีชาวนา ก็จะไม่มีข้าว  ถึงแม้จะมีข้าวก็เป็นข้าวที่สั่งเข้าจากต่างประเทศ ดั้งนั้น  หากเยาวชนรุ่นใหม่ไม่สนใจที่จะสืบทอดอาชีพที่หล่อเลี้ยง  และอยู่คู่กับคนในสังคมไทยมาช้านานอย่างเช่นอาชีพทำนา  ก็เป็นที่น่าเสียดายว่าประเทศไทยคงจะมีการทำนาเพียงเพื่อการท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว  การสั่งสมความรู้เกี่ยวกับการทำนาของบรรพบุรุษไทย วิวัฒนาการและพัฒนาการการทำนาต่างๆคงจะมีจัดโชว์อยู่ในแค่พิพิธภัณฑ์เพียงอย่างเดียว

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ