สหประชาชาติห่วงปัญหาที่ดินไทย เสนอชะลอแผนแม่บทป่าไม้-ยกร่าง รธน. คงสิทธิชุมชน

สหประชาชาติห่วงปัญหาที่ดินไทย เสนอชะลอแผนแม่บทป่าไม้-ยกร่าง รธน. คงสิทธิชุมชน

แถลงการณ์สำนักข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ กังวลสถานการณ์สิทธิมนุษยชนเกี่ยวกับที่ดินในประเทศไทย ยกกรณีสังหารและอุ้มหายนักต่อสู้เพื่อสิทธิที่ดิน การลิดรอนเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุม การไล่รื้อชุมชน และการดำเนินคดีผู้ถูกกล่าวหาบุกรุกที่ดิน เสนอชะลอแผนแม่บทป่าไม้ พร้อมเรียกร้องสร้างความเข้มแข็ง กสม. 

20151203013214.jpg

11 มี.ค.2558 สำนักข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (OHCHR) ออกแถลงการณ์แสดงความกังวลต่อสถานการณ์สิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับที่ดินในประเทศไทย 

รายละเอียด ดังนี้

แถลงการณ์สำนักข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ

แสดงความกังวลต่อสถานการณ์สิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับที่ดินในประเทศไทย

สำนักข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (OHCHR) มีความกังวลที่สิทธิของชุมชนยากจนในการเข้าถึงที่ดินและวิถีการดำรงชีวิตไม่ได้รับการคุ้มครองและเรียกร้องให้รัฐบาลไทยปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนในการดำเนินนโยบายเกี่ยวกับที่ดิน

สำนักข้าหลวงใหญ่ฯ มีความกังวลอย่างยิ่งต่อความพยายามของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในการผลักดันเพื่อหาทางออกอย่างรีบเร่งต่อประเด็นปัญหาที่ดินจนนำไปสู่การละเมิดมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ รวมถึงความล้มเหลวของรัฐในการประกันว่าชุมชนจะมีสิทธิในการยินยอมที่มีการบอกแจ้ง เข้าใจล่วงหน้า และเป็นอิสระ (free, prior and informed consent) ความรุนแรง การถูกข่มขู่ และคุกคามต่อบุคคลที่พยายามปกป้องสิทธิชุมชนและหลายๆ ครั้งปกป้องชุมชนจากการถูกบังคับไล่รื้อ รัฐบาลไทยมีความรับผิดชอบภายใต้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศในการคุ้มครองสิทธิของชุมชนท้องถิ่นเมื่อรัฐพยายามจะจำกัดสิทธิการเข้าถึงที่ดินของชุมชน

สำนักข้าหลวงใหญ่ฯ มีความกังวลอย่างมากต่อการสังหารนักต่อสู้เพื่อสิทธิที่ดินสี่คนและการอุ้มหายนักต่อสู้เพื่อสิทธิที่ดินอีกหนึ่งคนในระยะเวลาสิบเดือนที่ผ่านมา รวมถึงกรณีการสังหารนายใช่ บุญทองเล็กเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ที่จังหวัดสุราษฏร์ธานี สำนักข้าหลวงใหญ่ฯ เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐเพิ่มมาตรการที่จะรับรองความปลอดภัยให้กับนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนในประเทศและโดยเฉพาะกับนักต่อสู้เพื่อสิทธิที่ดินเนื่องจากพวกเขามีความเสี่ยงมากที่สุด ประเทศไทยมีพันธกรณีในการสืบสวนสอบสวนอย่างทันท่วงทีและนำบุคคลที่อยู่เบื้องหลังการสังหาร การอุ้มหาย และความรุนแรงหรือภัยคุกคามอื่นๆ ต่อนักต่อสู้เพื่อสิทธิที่ดินสู่กระบวนการยุติธรรมในทันที 

การลิดรอนเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุม รวมถึงการคำสั่งห้ามไม่ให้มีการชุมนุมทางการเมืองที่มีจำนวนมากกว่า 5 คน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2557 ส่งผลกระทบเพิ่มเติมต่อสิทธิของชุมชนและนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนในการมีส่วนร่วมในกิจการสาธารณะ นโยบายนี้ได้จำกัดไม่ให้ชุมชนพูดคุยเกี่ยวกับสถานการณ์ของเขาและทำให้พวกเขามีความเสี่ยงมากขึ้น ภายใต้นโยบายนี้เจ้าหน้าที่รัฐได้ยกเลิกกิจกรรมและเวทีสัมมนาที่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติหลายครั้ง ในขณะเดียวกัน

สำนักข้าหลวงใหญ่ฯ มีความกังวลว่าการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตามนโยบายที่ดินครั้งล่าสุดได้นำไปสู่การดำเนินคดีต่อเกษตรกรและชาวบ้านที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้บุกรุกที่ดิน

การปฏิบัติตามคำสั่ง คสช. ที่ 64/2557 และ 66/2557 นำไปสู่การตัดฟันทำลายพืชผลของชาวบ้านในพื้นที่ที่มีข้อพิพาท โดยในบางชุมชนซึ่งรวมถึงหมู่บ้านหกแห่งในจังหวัดบุรีรัมย์ได้ตกเป็นเหยื่อของการบังคับไล่รื้อโดยที่พวกเขาไม่มีที่ดินทางเลือกอื่นรองรับ การดำเนินการเหล่านี้มีผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชนหลายประการ รวมถึงสิทธิในที่อยู่อาศัยและสิทธิการเข้าถึงมาตรฐานการดำรงชีวิตอย่างเพียงพอ และดูเหมือนว่าการดำเนินการเช่นนี้ไม่ได้เป็นทางออกที่ยั่งยืนในการแก้ไขปัญหา

สำนักข้าหลวงใหญ่ฯ เสนอให้รัฐบาลไทยยุติหรือชะลอการปฏิบัติการตามคำสั่งที่ 64/2557 และ 66/2557 รวมถึงชะลอการปฏิบัติงานตาม “แผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ การบุกรุกที่ดินของรัฐ และการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน” จนกว่าจะมีการปรึกษาหารืออย่างมีประสิทธิภาพกับชุมชนที่ได้รับผลกระทบและภาคประชาสังคม คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้ให้ข้อเสนอแนะดังกล่าวต่อรัฐบาลไทยเช่นกัน นอกจากนี้สำนักข้าหลวงใหญ่ฯ เสนอให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญคงข้อบัญญัติตามมาตรา 57, 58, 66 และ 67 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ซึ่งให้การคุ้มครองสิทธิชุมชนที่สำคัญหลายประการ เช่น สิทธิที่จะมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจที่มีผลกระทบต่อชุมชน

สุดท้ายนี้ สำนักข้าหลวงใหญ่ฯ เรียกร้องให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเสริมสร้างความเข้มแข็งให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการจัดการประเด็นที่เกี่ยวข้องกับที่ดินตามแนวทางสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระบวนการสรรหาคณะกรรมการสิทธิฯ ต้องรับประกันว่าผู้ถูกคัดเลือกจะความเป็นอิสระ ความเป็นกลาง และ ต้องมีความเชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นที่ประจักษ์

ต้นเดือนมิถุนายนปีนี้ ประเทศไทยจะเข้ารับการประเมินการปฏิบัติตามพันธกรณีของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม สิทธิมนุษยชนหลายประการที่ได้รับการรับรองภายใต้กติกาฯดังกล่าว เช่น สิทธิในอาหาร สิทธิการมีอาศัยที่เพียงพอ สิทธิที่จะกำหนดชะตาตนเองต่างได้รับผลกระทบจากนโยบายด้านที่ดินและการปฏิบัติงานของรัฐในปัจจุบัน ประเด็นเหล่านี้มีแนวโน้มว่าจะถูกหยิบยกขึ้นมาพูดคุยในระหว่างการประเมิน

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ