สรุปข่าวเด่นรัฐฉาน – ไทใหญ่ รอบปี 2554
มกราคม 2554
สำนักพิมพ์สยามรัฐตีพิมพ์เผยแพร่หนังสือเกี่ยวกับรัฐฉาน และ คนไทใหญ่ ในชื่อ "จดหมายจากรัฐฉาน" เป็นหนังสือคลี่คลายคำถามคาใจเกี่ยวกับรัฐฉานและคนไทใหญ่เป็นอย่างดี ในหนังสือเล่มนี้มีบันทึกประวัติศาสตร์รัฐฉาน การปกครองสมัยเจ้าฟ้า การต่อสู้กู้ชาติของไทใหญ่ ความสัมพันธ์ไทย-ไทใหญ่ ตลอดจนเรื่องราวเมืองเชียงตุง ที่ครั้งหนึ่งเคยอยู่ภายใต้การปกครองของไทยสมัยญี่ปุ่นบุกพม่า หนังสือแต่งและแปลโดย ภราดร ศักดา ผู้มีประสบการณ์ค้นคว้าเรื่องราวเกี่ยวกับไทใหญ่ รัฐฉาน กว่า 30 ปี
นายโจวคุน วัย 35 ปี ชาวจีนสิบสองปันนา เจ้าของบริษัท Yunnan Hai Cheng Industrial Group Stock Co.ltd ผู้สนใจเรื่องราวเกี่ยวกับชาวไตรวมถึงเรื่องราวขุนส่า ยอมควักเงินนับสิบล้านบาทเตรียมก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ชาวไตสิบสองปันนาและพิพิธภัณฑ์เจ้าขุนส่า อดีตผู้นำกองทัพเมืองไต (MTA) ที่เมืองเชียงรุ้ง เขตปกครองตนเองสิบสองปันนา ประเทศจีน
กุมภาพันธ์ 2554
(2 ก.พ.) ทหารพม่า 6 นาย จากฐานส่วนแยกตั้งอยู่บนเส้นทางระหว่างบ้านน้ำหม่อเงิน-ท่าก้อ สังกัดกองพันทหารราบเบาที่ 574 ประจำเมืองเชียงตอง รัฐฉานภาคใต้ ก่อเหตุรุมข่มขืนหญิงสาวชาวปะหล่อง วัย 16 ปี ชาวบ้านหลอยฮาง ตำบลผางลาง เหตุเกิดขณะเธอเดินทางจากหมู่บ้านไปยังหมู่บ้านน้ำหม่อเงิน
มีนาคม 2554
(13 มี.ค.) กองทัพพม่าเปิดฉากโจมตีกองกำลังไทใหญ่ "เหนือ" SSA 'North' ภายใต้การนำของพ.ต.ป่างฟ้า ในพื้นที่รัฐฉานภาคเหนือ เหตุเนื่องจาก SSA 'Notrh' ไม่ยอมรับข้อเสนอเปลี่ยนสถานะกองกำลังเป็นหน่วยพิทักษ์ชายแดน BGF (Border Guard Force) เป็นเหตุให้สัญญาหยุดยิงสองฝ่ายที่มีมานานกว่า 20 ปี สิ้นสุด โดยกองทัพพม่าใช้กำลังนับสิบกองพันเข้าโจมตีอย่างหนัก ส่งผลให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบและพากันอพยพนับหมื่นราย ขณะที่ SSA 'Norht' สูญเสียฐานที่มั่นสำคัญหลายแห่ง
(24 มี.ค.) เกิดแผ่นดินไหวอย่างรุนแรง ขนาด 6.8 ริคเตอร์ มีจุดศูนย์กลางลึกลงไปใต้ดินราว 10 กิโลเมตร ในเขตอำเภอท่าเดื่อ จังหวัดท่าขี้เหล็ก รัฐฉานภาคตะวันออก สร้างความเสียหายแก่อาคารบ้านเรือน วัดวาอาราม โรงเรียน ถนน เป็นจำนวนมากและมีผู้บาดเจ็บเสียชีวิตนับร้อยคน นับเป็นเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่สุดของรัฐฉาน
(27 มี.ค.) พ.อ.ต้าตึ้กเมือง วัย 59 ปี ผู้นำกองทัพแห่งชาติว้า (Wa National Army – WNA) ประธานองค์การแห่งชาติว้า (Wa National Organization – WNO) ถึงแก่กรรมที่บ้านพักส่วนตัวที่หมู่บ้านแม่ออน้อย ตรงข้ามบ้านรักไทย ต.หมอกจ่ำแป่ อ.เมืองแม่ฮ่องสอน จากเหตุป่วยเป็นโรคมะเร็งในลำคอ พ.อ.ต้าตึ้กเมือง ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้นำกองทัพแห่งชาติว้า WNA / WNO ต่อจากพ.อ.มหาซาง ที่เสียชีวิตไปเมื่อปี 2550
เมษายน 2554
(19 เม.ย.) ทหารพม่าสังกัดกองพันทหารราบที่ 43 ประจำเมืองเป็ง อยู่ทางทิศตะวันตกเมืองเชียงตุง ในภาคตะวันออกของรัฐฉาน ก่อเหตุเผาทำลายหมู่บ้านชาวลาหู่ และหมู่บ้านชาวปะหล่อง วอดเสียหาย 7 หมู่บ้าน เหตุสงสัยชาวบ้านให้การสนับสนุนทหารกองกำลังไทใหญ่ SSA ขณะเดียวกันทหารพม่าได้จับกุมชาวบ้านหลายคนไปทำการทารุณสอบสวนได้รับบาดเจ็บสาหัส
พฤษภาคม 2554
(21 พ.ค.) กองทัพรัฐฉาน "ใต้" (SSA 'South') ภายใต้การนำของพล.ท.ยอดศึก และ กองทัพรัฐฉาน "เหนือ" (SSA 'North') ภายใต้การนำพล.ต.ป่างฟ้า ประกาศเป็นพันธมิตรทั้งด้านการเมืองและการทหารระหว่างงาน “วันปฏิวัติประชาชนรัฐฉาน" ครบรอบปีที่ 53 ที่ฐานที่มั่นดอยไตแลง รัฐฉาน ตรงข้าม อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน ขณะที่ประชาชนชาวรัฐฉานต่างแสดงความยินดีกับการรวมตัวของสองกองทัพรัฐฉาน ที่ประกาศร่วมกันต่อต้านกองทัพพม่าอย่างเป็นทางการ
(17 พ.ค.) เกิดเหตุชาวจีน 3 คน เชื่อว่าเป็นเจ้าหน้าที่ดูแลโครงการก่อสร้างเขื่อนท่าซาง บนแม่น้ำสาละวิน ในรัฐฉานตอนใต้ ถูกกองกำลังไม่ทราบฝ่ายจับตัวไปขณะนั่งเรือจากศูนย์ที่พักที่บริเวณใกล้กับต้างป่าเลา ตอนเหนือของสะพานท่าซาง ขึ้นสำรวจตามลำน้ำสาละวิน ทหารพม่าเชื่อถูกกองกำลังไทใหญ่ SSA กลุ่มพล.ท.เจ้ายอดศึกจับตัวไป ด้านพล.ท.เจ้ายอดศึก ปฏิเสธในพื้นที่เกิดเหตุไม่มีกองกำลังไทใหญ่ SSA เคลื่อนไหว อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดได้รับการปล่อยตัวเมื่อช่วงเดือนสิงหาคม
มิถุนายน 2554
(3 มิ.ย.) เจ้าฟ้าดัง หรือ เจ้าฟ้าลั่น หรือ จางซูเฉียน วัย 84 ปี อดีตเสนาธิการกองทัพเมืองไตย Mong Tai Army (MTA) ภายใต้การนำของขุนส่า ถึงแก่กรรมด้วยโรคประจำตัวขณะพำนักอยู่ที่บ้านพักส่วนตัวในกรุงย่างกุ้ง สหภาพพม่า เจ้าฟ้าดัง เป็นอดีตนายทหารกองกำลังจีนก๊กมินตั๋ง หรือ "จีนขาว" จบโรงเรียนนายทหารจากใต้หวัน เข้าร่วมกองกำลังขุนส่าราวปี พ.ศ. 2503 เจ้าฟ้าดัง ถือเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการกำกับกองกำลังภายใต้การนำของ ขุนส่า และเป็นผู้ได้รับความไว้วางใจจากขุนส่าเป็นพิเศษ
(28 มิ.ย.) เกิดเหตุเพลิงไหม้ขึ้นที่ตลาดหลวง หรือ ตลาดหมายเลข 1 ซึ่งเป็นตลาดใหญ่สุดของเมืองหมู่แจ้ รัฐฉานภาคเหนือ อยู่ติดชายแดนจีน โดยเพลิงลุกไหม้จากโกดังเก็บผ้าของร้านขายผ้าแห่งหนึ่งและได้ลุกลามไปอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ร้านค้าได้รับความเสียหายจำนวนมากรวมมูลค่าความเสียหายกว่า 100 ล้านจั๊ต
กรกฎาคม 2554
(11 ก.ค.) ชาวไทใหญ่อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ จัดพิธีรำลึกครบรอบ 20 ปี การถึงแก่อสัญกรรมของนายพลกอนเจิง หรือ เจ้าโมเฮง อดีตผู้นำกู้ชาติไทใหญ่ ที่บ้านเปียงหลวงและบ้านหลักแต่ง ที่ตั้งอดีตบ้านพักและที่ตั้งสุสานของเจ้ากอนเจิง โดยเจ้ากอนเจิง ถือเป็นผู้นำไทใหญ่ที่ต่อสู้กู้ชาติจากการรุกรานของทหารพม่าอย่างอาจหาญและมีอุดมการณ์ เป็นศูนย์รวมจิตรใจของชาวไทใหญ่กระทั่งถึงแก่อสัญกรรมด้วยโรคมะเร็ง ณ หอศีลปฏิบัติธรรมส่วนตัวบนวัดฟ้าเวียงอินทร์ เมื่อวันที่ 11 ก.ค. 2534 สิริรวมอายุ 65 ปี
(14 ก.ค.) เครือข่ายปฏิบัติงานผู้หญิงไทใหญ่ (SWAN – Shan Women Action’s Network) และ มูลนิธิสิทธิมนุษยชนรัฐฉาน (Shan Human Rights Foundation – SHRF) ซึ่งได้เข้าไปเก็บข้อมูลในรัฐฉานจัดแถลงการณ์เผยทหารพม่าใช้วิธีการข่มขืนตอบโต้กองทัพรัฐฉานภาคเหนือ SSA 'North' ทั้งการทารุณต่อชาวบ้านในพื้นที่อย่างกว้างขวาง รวมถึงมีการใช้ความรุนแรงทางเพศ เป็นเหตุให้ชาวบ้านหลายพันคนต้องอพยพทิ้งถิ่นฐาน โดยเหยื่อมีทั้งเด็กอายุ 12 ปี และหญิงมีครรภ์รวมอยู่ด้วย
สิงหาคม 2554
(23 ส.ค.) ทหารกองทัพพม่า ฐานประจำการบ้านหนองเขียว เขตเมืองเกซี บุกเผาทำลายบ้านเรือนชาวบ้านในหมู่บ้านนาปืน ตำบลบ้านพุย อยู่ห่างจากเมืองเกซีไปทางทิศตะวันออกประมาณ 7 ไมล์ ส่งผลให้บ้านเรือนชาวบ้านเสียหายวอด 6 หลัง ยุ้งข้าวและคอกสัตว์เลี้ยงในหมู่บ้านถูกเผาเสียหายทั้งหมด ชาวบ้านเผยสาเหตุมาจากทหารพม่าสงสัยชาวบ้านสนับสนุนกองกำลังไทใหญ่ และไม่พอใจที่ผู้บังคับบัญชาเสียชีวิตจากการสู้รบกับทหารกองกำลังไทใหญ่ SSA/SSPP
กันยายน 2554
(6-7 ก.ย.) กองกำลังว้า UWSA และกองกำลังเมืองลา NDAA ลงนามข้อสัญญาสันติภาพกับรัฐบาลทหารพม่าอีกครั้ง หลังพบหารือกับคณะเจรจาของรัฐบาลตามคำเชิญ ทำหลายฝ่ายสับสนงุนงงเนื่องจากก่อนหน้านั้นรัฐบาลประกาศทั้งสองกลุ่มเป็นกลุ่มนอกกฎหมาย หลังปฏิเสธตั้งหน่วยพิทักษ์ชายแดน BGF (Border Guard Force)
(15 ก.ย.) จายแสงจื้น (ซะคะฮะ) รองบรรณาธิการสำนักข่าวฉาน SHAN "กอนขอ" นักเคลื่อนไหวเพื่ออิสระภาพรัฐฉานอย่างมีอุดมการณ์ เคยร่วมงานกู้ชาติทั้งเป็นทหาร นักการเมือง ตลอดจนเป็นนักแต่งเพลง นักร้อง ได้เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งที่ตับ ที่โรงพยาบาลศูนย์ศรีพัฒน์ (สวนดอก) เมืองเชียงใหม่ สิริอายุ 59 ปี การเสียชีวิตของ ซะคะฮะ สร้างความเศร้าโศกเสียใจให้กับครอบครัวและผู้ร่วมอุดมการณ์กู้ชาติรัฐฉานเป็นอย่างยิ่ง
ตุลาคม 2554
กลุ่มเครือข่ายเพื่อประชาธิปไตยและการพัฒนา (Network for Democracy and Development – NDD) ซึ่งเป็นกลุ่มต่อต้านรัฐบาลทหารพม่า เผยแพร่หนังสือรายงานผลการวิจัยเกี่ยวกับการทหารกองทัพพม่า ชื่อ “การบริหารด้านพลเรือนและกำลังทหารในพม่า” (Civil and Military Administrative Echelon) มีความหนา 450 หน้า ให้รายละเอียดเกี่ยวกับที่ตั้งกองทัพภาค ที่ตั้งกองพล และกองพัน รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกองทัพพม่า ระบุในรัฐฉาน ที่มีพรมแดนติดกับประเทศจีน ไทย และลาว มีกำลังทหารพม่าประจำการมากกว่า 200 กองพัน และเป็นที่ตั้งกองบัญชาการกองทัพภาคถึง 4 กองทัพภาค
(28-30 ต.ค.) เครือข่ายพี่น้องชาวไทใหญ่ในจังหวัดเชียงใหม่จากหลายกลุ่มองค์กรรวมตัวกันจัดงานระดมทุนและรับบริจาคสิ่งของช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในประเทศไทย ใช้ชื่องาน “งานคอนเสิร์ต: พี่น้องไทยใหญ่รวมใจ ช่วยภัยน้ำท่วม” ที่วัดป่าเป้า ถ.มณีนพรัตน์ ต.ศรีภูมิ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ มีศิลปินนักร้องชื่อดังจากรัฐฉานหลายคนมาร่วมแสดง ได้เงินบริจาครวมกว่า 2 แสนบาท
พฤศจิกายน 2554
(16 พ.ย.) กลุ่มจับตายาเสพติดในรัฐฉาน (Shan Drug Watch) โครงการสำนักข่าวฉาน (SHAN) แถลงเปิดตัวรายงานสถานการณ์ยาเสพติดในรัฐฉานประจำปี 2554 ในชื่อ “เจ้าพ่อยาเสพติดในสภา” (Druglords in Parliament) ร่วมกับองค์กรสตรีปะหล่อง PWO ซึ่งแถลงรายงานในชื่อ "ยังมีพิษ" (Still Poisoned) เป็นรายงานเปิดเผยตัวเลขการปลูกฝิ่นที่เพิ่มขึ้นในรัฐฉาน และการพัวพันยาเสพติดของผู้นำกองกำลังอาสาสมัครหลายกลุ่มที่มีตำแหน่งเป็นสมาชิกในสภารัฐบาลใหม่ของพม่า
ธันวาคม 2554
ต้นเดือนธันวาคม กองกำลังเมืองลา (NDAA) ภายใต้การนำของเจ้าจายลืน มีพื้นที่ครอบครองในรัฐฉานภาคตะวันออก ติดชายแดนจีน ร่วมกับตำรวจปราบปรามยาเสพติดจีน สกัดจับผู้กระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติดที่ท่าเรือสบหลวย (ตรงแม่น้ำหลวยไหลลงสู่แม่น้ำโขง) ซึ่งเดินทางออกจากแถบพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ สามารถตรวจยึดสารตั้งต้นสำหรับใช้ผลิตยาเสพติดหลายรายการรวมน้ำหนักกว่า 12 ตัน
(10 ธ.ค.) กองทัพรัฐฉาน (Shan State Army – SSA) ภายใต้การนำของพล.ท.ยอดศึก แถลงชี้แจงกองทัพและประชาชน กรณีลงนามหยุดยิงกับรัฐบาลพม่าภายใต้การนำของ ประธานาธิบดี เต็ง เส่ง อย่างเป็นทางการเมื่อ 2 ธ.ค. ที่เมืองตองจี เมืองหลวง ของรัฐฉาน พล.ท.เจ้ายอดศึก กล่าวหวังว่า หลังการสงบศึกประชาชนในรัฐฉานที่อพยพเพราะสงครามจะได้กลับบ้าน ประชาชนทุกคนในรัฐฉานจะได้รับการพัฒนาเฉกเช่นประชาชนในประเทศอื่น ขณะเดียวกันยังกล่าวต่อหน้ากำลังพลว่าแม้จะหยุดยิงแล้วแต่ทหารของกองทัพรัฐ ฉานยังคงติดอาวุธและยังอยู่ภายใต้วินัยของกองทัพ
(16 ธ.ค.) ทางการพม่าส่งข้าราชการพลเรือน 3 หน่วยงาน ได้แก่ ข้าราชการครู 26 คน ข้าราชการสาธารณสุข 19 คน และฝ่ายการสื่อสาร 4 คน กลับเข้าไปประจำในเขตพื้นที่ครอบครองกองกำลังเมืองลา NDAA เพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามเดิมตามที่สองฝ่ายได้ตกลงกันไว้ก่อนหน้า ก่อนนั้นในพื้นที่ NDAA มีข้าราชการพลเรือนพม่าประจำอยู่ 10 หน่วยงาน ทั้งหมดถูกเรียกกลับหลังเกิดความตึงเครียดระหว่างรัฐบาลพม่าและกองกำลังเมืองลา NDAA
(26 ธ.ค.) เยาวชนไทใหญ่หลายสาขาอาชีพจากหลากหลายองค์กรทั้งในและต่างประเทศ รวม 98 คน จาก 35 เมืองของรัฐฉาน รวมตัวเขียนจดหมายแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับอนาคตการเมืองของรัฐฉานถึงสภากอบกู้รัฐฉาน (RCSS) องค์กรการเมืองกองทัพรัฐฉาน SSA (ใต้) และ พรรคก้าวหน้ารัฐฉาน (SSPP) องค์กรการเมืองกองทัพรัฐฉาน SSA (เหนือ) เรียกร้องให้กองทัพรัฐฉาน SSA เหนือและใต้ สร้างความเป็นเอกภาพ สร้างความเชื่อมั่นแก่ชนในชาติ