สมาคมพม่าโรฮิงยาประเทศไทย(BRAT)ยื่นหนังสือขอให้ยุติความรุนแรงในรัฐอารกัน

สมาคมพม่าโรฮิงยาประเทศไทย(BRAT)ยื่นหนังสือขอให้ยุติความรุนแรงในรัฐอารกัน

          สมาคมพม่าโรฮิงยาประเทศไทย Burmese Rohingya Association Thailand (BRAT) ยื่นหนังสือต่อองค์การสหประชาชาติ (UN) ขอให้ช่วยยุติความรุนแรงในรัฐอารกัน ประเทศพม่าโดยทันที
          จากสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในรัฐอารกัน ประเทศพม่า ตั้งแต่กลางสัปดาห์ที่ผ่านมาระหว่างชาวมุสลิมโรฮิงยาและชาวพุทธในรัฐยะไข่ ซึ่งส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก  จนรัฐบาลต้องประกาศเคอร์ฟิวเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (8 มิ.ย.55)

           วันนี้ (11 มิ.ย.55) สมาคมพม่าโรฮิงยาประเทศไทย Burmese Rohingya Association Thailand (BRAT) นำโดยนายหม่อง จอ และสมาคมพม่าโรฮิงยาประเทศไทย และมูลนิธิศักยภาพชุมชน กว่า 70 คน รวมตัวกันเพื่อยื่นหนังสือต่อนายบันคีมูน เลขาธิการสหประชาชาติ ที่หน้าองค์การสหประชาชาติประจำประเทศไทย ขอให้ช่วยยุติความรุนแรงในรัฐอารกันประเทศพม่าโดยทันที

           โดยเนื้อหาในจดหมายอ้างถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ที่เชื่อว่าเป็นสาเหตุของความวุ่นวาย พร้อมกับเรียกร้องขอความช่วยเหลือจากสหประชาชาติและตัวแทนเอกอัครราชฑูตประเทศในกลุ่มอาซียน 7 ข้อดังนี้

        1.ให้มีการปฏิบัติการหยุดยั้งสถานการณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โดยทันที ด้วยการส่งกองกำลังรักษาสันติภาพ สหประชาชาติเข้าไปในรัฐอารกันเพื่อคุ้มครองผู้บริสุทธิ์
        2.ขอให้สหประชาชาติส่งหน่วยปฏิบัติการสหประชาชาติเข้าควบคุมสถานการณ์ที่เลวร้ายในรัฐอารกันอย่างเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นได้
        3.ขอให้อาเซียนและประชาคมโลกเข้าแทรกแซงสถานการณ์โดยทันทีเพื่อรักษาชีวิตของประชาชนอารกันมุสลิม
        4.ขอให้นักข่าวนานาชาติ เฝ้าติดตามสถานการณ์ที่เลวร้ายในรัฐอารกันอย่างใกล้ชิด
        5.ขอให้องค์กรด้านมนุษยธรรมเข้าให้ความช่วยเหลือโดยเร่งด่วน
        6.ขอให้รัฐบาลพม่าอธิบายต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
        7.ขอให้สหประชาชาติตั้งคณะกรรมการสอบสวนอิสระเพื่อพิจารณาการกระทำที่เป็นอันตรายต่อมนุษยชาติและนำผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการศาล

          พร้อมกันนี้ ตัวแทนสมาคมพม่าโรฮิงยา ประเทศไทย ยังได้เข้ายื่นจดหมายกับผู้นำประเทศในกลุ่มอาซียนผ่านสถานฑูตประจำประเทศไทย ได้แก่ สถานเอกอัครราชทูตบรูไนดารุสสาราม  และสถานเอกอัครราชทูตอินโดนีเซีย ประจำประเทศไทย

          นายอัลดุล การัม ชาวโรฮิงยา หนึ่งในตัวแทน กล่าวว่า “เรามาขอความเห็นใจ และเรียกร้องให้ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์โดยเร่งด่วน และขอให้หาคนผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมาย แต่ไม่ใช่การเข่นฆ่ากันแบบไร้เหตุผลเช่นนี้ เพราะหลักการศาสนาทุกศาสนาสอนให้คนทุกคนเป็นคนดี ที่มาวันนี้เพราะเรามาขอความเห็นใจ และขอให้สื่อมวลชนช่วยติดตามข่าวคราวที่เกิดขึ้น และนำความจริงมาสู่โลกภายนอกด้วย…

                                                                                                                                         วลัยลักษณ์  ชมโนนสูง

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ