3 พ.ค. 2559 นายวันชัย วงศ์มีชัย นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยพร้อมด้วยคณะกรรมการบริหารสมาคมฯ เข้าพบนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เพื่อมอบเสื้อที่ระลึก “ถูกต้อง รอบด้าน หลักประกันเสรีภาพ” และข้อเรียกร้องเนื่องในโอกาสวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก (World Press Freedom Day) ซึ่งตรงกับวันที่ 3 พฤษภาคม ของทุกปี ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)
มติชนออนไลน์และไทยรัฐออนไลน์ รายงานตรงกันว่า นายวันชัยระบุว่า วันที่ 3 พ.ค. เป็นวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก เพื่อให้ตระหนักถึงความสำคัญ จึงอยากให้ยกเลิกกฎหมายบางฉบับที่ยังเป็นข้อจำกัดของสื่อมวลชน โดยเฉพาะ คำสั่ง คสช. ที่ 97/2557 (คลิกอ่าน) และ คำสั่ง คสช. ที่ 103/2557 (คลิกอ่าน)
ขณะที่นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เสรีภาพเท่าที่มีอยู่ยังไม่พออีกหรือ ซึ่งนายวันชัย อธิบายว่า ไม่ใช่ว่าไม่พอ แต่เป็นการรณรงค์ในวันเสรีภาพสื่อมวลชน ไม่ได้หมายถึงจะขอให้นายกฯ มอบเสรีภาพให้มากขึ้น แต่มีกฎหมายบางข้อที่อยากขอร้องให้นายกฯ ยกเลิก โดย พล.อ.ประยุทธ์ ตอบกลับว่า เราไปยุ่งอะไรกับพวกท่าน วันที่ระลึกก็เข้าใจ และจะดูให้ แต่ถ้ายกเลิกบางข้อก็ต้องเพิ่มในบางข้อ ถึงอย่างไรขอให้ทุกคนมีความสุข ขอให้ทำเพื่อบ้านเมือง
จากนั้น นางยุวดี ธัญศิริ ผู้สื่อข่าวอาวุโส ได้กล่าวขึ้นหลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ ออกไปแล้วว่า เสรีภาพสื่อคือเสรีภาพประชาชน ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ กลับมาและถามว่า “ใครพูด” จากนั้นเมื่อทราบว่าเป็นผู้สื่อข่าวอาวุโส นายกรัฐมนตรี จึงกล่าวว่า ระวังตัวด้วย ซึ่งนางยุวดี กล่าวว่า ไม่เป็นไรค่ะ ระวังอยู่แล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทางนายกสมาคมฯ และคณะได้เตรียมเอกสารแถลงการณ์วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก 3 พ.ค. 2559 “ถูกต้อง รอบด้าน หลักประกันเสรีภาพ” เพื่อส่งมอบให้นายกรัฐมนตรี แต่ทีมงานนายกฯ ขอไม่ให้ยื่นเอกสารแถลงการณ์ดังกล่าว เนื่องจากเกรงว่าจะเป็นตัวอย่างในการยื่นเอกสารถึงนายกรัฐมนตรี ขณะที่สีหน้าของนายกรัฐมนตรีเรียบเฉย ไม่ยิ้มแย้มแจ่มใสอย่างเช่นปกติ โดยใช้เวลาไม่ถึง 5 นาทีในการพูดคุยกับคณะสื่อมวลชน
สำหรับ แถลงการณ์สมาคมนักข่าวฯ เนื่องในวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก ระบุข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลและผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนจำนวน 4 ข้อ มีรายละเอียด ดังนี้
แถลงการณ์วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก 3 พฤษภาคม 2559 “ถูกต้อง รอบด้าน หลักประกันเสรีภาพ” สถานการณ์สื่อมวลชนไทยนับตั้งแต่เกิดรัฐประหารเมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 แม้รัฐบาลภายใต้การนำของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้กำหนดในมาตรา 4 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ให้ความคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพประชาชนตามประเพณีการปกครองประเทศไทย ในระบอบประชาธิปไตยฯ และตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่มีอยู่ แต่ในทางปฏิบัติกลับมีการออกคำสั่งคสช.หลายฉบับ ที่มีเนื้อหาจำกัดสิทธิเสรีภาพ ควบคุมสื่อมวลชนในการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร อาทิ ประกาศ คสช.ฉบับที่ 97/2557 ประกาศ คสช.ฉบับที่ 103/2557 และ คำสั่ง คสช.ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 5 รวมถึงล่าสุดประกาศ คสช. ฉบับที่ 13/2559 ที่ขยายอำนาจให้ทหารเป็นพนักงานสอบสวน รวมทั้งความพยายามออกชุดกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัลโดยเฉพาะ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เพิ่มอำนาจให้เจ้าหน้าที่ ซึ่งล้วนสุ่มเสี่ยงต่อการลิดรอนเสรีภาพประชาชนมากยิ่งขึ้น นอกจากนั้น รัฐบาล คสช.ยังใช้อำนาจที่กระทบต่อสิทธิของประชาชน เข้าควบคุมการทำหน้าที่สื่อมวลชนในหลายรูปแบบ อาทิ การเรียกสื่อมวลชนไปปรับทัศนคติเรียกประชุมตัวแทนสื่อมวลชนแขนงต่างๆ หลายครั้ง เพื่อให้ปฏิบัติตามคำสั่งคสช.อย่างเคร่งครัด หากฝ่าฝืนจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย เป็นต้น ส่งผลให้สถานการณ์เสรีภาพสื่อฯ ในปี 2558 ที่ผ่านมาถดถอยลงอย่างต่อเนื่อง สะท้อนได้จากการที่องค์กรนักข่าวไร้พรมแดนลดอันดับเสรีภาพสื่อมวลชนไทยจากอันดับ 130 ในปี 2557 ไปสู่อันดับที่ 134 ในปี 2558 และอันดับที่ 136 ในปี 2559 ขณะที่การปฏิรูปสื่อมวลชนที่เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามปฏิรูปประเทศในทุกด้าน ในเบื้องต้นสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้จัดทำแผนปฏิรูปสื่อมวลชน 3 ด้าน ได้แก่ “เสรีภาพสื่อมวลชนบนความรับผิดชอบ การกำกับดูแลสื่อมวลชนที่มีประสิทธิภาพและการป้องกันการแทรกแซงสื่อ” แต่เมื่อส่งมอบให้สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ดำเนินการต่อ กลับไร้การสานต่อ ไม่มีความคืบหน้าที่ชัดเจนอย่างเป็นรูปธรรม ท่ามกลางบรรยากาศการปฏิรูปประเทศด้วยความคาดหวังให้เปลี่ยนผ่านการปกครองในระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทยดีขึ้น แต่เสรีภาพของสื่อมวลชนไทยกลับถูกลดทอนลงอย่างมีนัยสำคัญ จนตกอยู่ในภาวะที่เรียกได้ว่า “มืดมน” สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยและสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย มีความห่วงใยต่อสถานการณ์ดังกล่าวอย่างมาก ในโอกาสวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก จึงขอเสนอข้อเรียกร้องต่อผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนดังต่อไปนี้ พร้อมกันนี้ขอให้สร้างหลักประกันเสรีภาพในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารได้อย่างถูกต้อง รอบด้าน ให้สื่อมวลชนได้เปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่ายได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อแสวงหาทางออกร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ ด้วยเชื่อว่าข่าวสารที่มีข้อมูลถูกต้อง รอบด้านจะเป็นทางออกของประเทศให้ก้าวข้ามพ้นวิกฤติความขัดแย้งไปได้ รัฐจึงไม่ควรผูกขาดการนำเสนอข่าวด้านเดียว หรือควบคุม แทรกแซงให้สื่อฯ เกิดความหวาดกลัวต่อการนำเสนอข่าวสาร 2. ขอให้สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศที่จะพิจารณาเรื่องการปฏิรูปสื่อ ได้คำนึงถึงกรอบที่ สปช.ได้ทำไว้ โดยสมควรมีแนวทางสนับสนุนให้เกิดนโยบายและกฎหมายที่ส่งเสริมให้เกิดระบบกลไกในการกำกับดูแลกันเองของสื่อมวลชนที่ดีและมีประสิทธิภาพ เพื่อสนับสนุนให้สื่อมวลชนสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีเสรีภาพบนความรับผิดชอบ และต้องสนับสนุนนโยบายให้เกิดการจัดทำกฎหมายเพื่อป้องกันการแทรกแซงสื่อไม่ว่าจะโดยอำนาจรัฐหรืออำนาจทุน ไปพร้อมกับการให้ความสำคัญและสนับสนุนให้ประชาชนรู้เท่าทันสื่อมวลชนอย่างทั่วถึงด้วย ส่วนการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสื่อมวลชน ซึ่งอยู่ในชั้นการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ อันอาจส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน เช่น ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ หนึ่งในชุดกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัล ที่กำลังแก้ไขเพิ่มเติมอำนาจให้เจ้าหน้าที่จับกุมผู้กระทำความผิดบนโลกออนไลน์นั้น พบว่า ตลอด 9 ปีที่ผ่านมา กฎหมายฉบับนี้ส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์อย่างมาก สนช.จึงควรพิจารณาด้วยความรอบคอบ เพื่อไม่ให้กฎหมายดังกล่าวยิ่งส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนมากจนเกินสมควร นอกจากนั้น ในส่วนของร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) ที่กำลังมีการเสนอแก้ไขกฎหมายอยู่ใน สนช.ก็ขอให้คำนึงถึงหลักการที่ให้ประชาชนมีหลักประกันว่าการจัดสรรคลื่นความถี่จะต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะ กสทช. จะต้องเป็นองค์กรอิสระทางปกครอง มิใช่เป็นอิสระเฉพาะในการปฏิบัติหน้าที่ ส่วนกระบวนการสรรหาคณะกรรมการ กสทช. ต้องมาจากผู้มีความรู้ความเข้าใจในการประกอบกิจการและเกิดจากการมีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายอย่างโปร่งใส เป็นธรรม คุณสมบัติของกรรมการ กสทช.จะต้องมีตัวแทนกลุ่มผู้เกี่ยวข้องต่างๆ ที่หลากหลาย รวมถึงองค์กรคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค องค์กรผู้ประกอบวิชาชีพสื่อฯ และนักวิชาการ มิใช่มีเพียงตัวแทนหน่วยงานรัฐเท่านั้น 3. ขอให้ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนและผู้ประกอบธุรกิจสื่อมวลชนทุกแขนงตระหนักถึงการให้ความสำคัญในการทำหน้าที่เสนอข้อมูลข่าวสารอย่างถูกต้อง ครบถ้วน รอบด้าน ซึ่งจะเป็นหลักประกันต่อเสรีภาพ ทั้งขอให้เพิ่มพูนความรู้บุคคลากรสื่อเพื่อสนับสนุนความสามารถในการทำหน้าที่อย่างมืออาชีพ เคารพต่อหลักจริยธรรม ไม่นำเสนอข่าวหรือภาพข่าวที่เป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รวมทั้งควรสนับสนุนให้เกิดระบบและกลไกกำกับดูแลกันเองที่มีประสิทธิภาพ ด้วยการให้ความร่วมมือและยอมรับคำวินิจฉัยขององค์กรวิชาชีพสื่อ ทั้งหมดนี้เพื่อสร้างให้สังคมเชื่อมั่นและเชื่อถือตัวสื่อเอง 4. ขอให้ประชาชนคิดก่อนแชร์ ก่อนโพสต์ภาพข่าวหรือข่าวสารใดๆ โดยยึดหลักความจริง ถูกต้อง หากไม่ตรวจสอบข้อมูลที่ถูกต้องก่อนแชร์ ก่อนโพสต์ อาจเข้าข่ายกระทำผิดกฎหมายมีโทษรุนแรงและสร้างความเสียหายต่อผู้ตกเป็นข่าว ทั้งขอให้ติดตามข่าวสารและช่วยกันเฝ้าระวังตรวจสอบสื่อมวลชน ไม่ละเลยเพิกเฉยและยินยอมตกเป็นผู้รับสารเพียงฝ่ายเดียว ควรร่วมปฏิสัมพันธ์และแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวางเมื่อพบสื่อมวลชนที่ไม่ทำตามหลักจริยธรรม เพื่อเป็นกระจกสะท้อนให้สื่อฯ ต้องทบทวนบทบาทหน้าที่และทำในสิ่งที่ถูกต้อง คือการยึดมั่นอยู่ในอุดมการณ์และจริยธรรมให้ได้ในที่สุด สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ในวาระวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลกปีนี้ จะเป็นนิมิตรหมายที่ดีที่สื่อมวลชนไทยจะได้รับการสนับสนุนให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ด้วยความ “ถูกต้อง รอบด้าน และได้รับหลักประกันเสรีภาพ” เพื่อร่วมกันผลักดันการปฏิรูปประเทศไทยไปในทิศทางที่ถูกต้อง สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย 3 พฤษภาคม 2559 |
นายกรัฐมนตรีวอนสื่อนำเสนอข้อเท็จจริง และไม่บิดเบือนข้อมูล
ด้านเว็บไซต์รัฐบาลไทย รายงานว่าวันนี้ (3 พ.ค. 2559) เวลา 14.30 น. ณ บริเวณห้องโถง ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีถึงกรณีข้อเสนอขององค์กรสื่อมวลชนว่า รัฐบาลจะนำข้อเสนอดังกล่าวไปพิจารณา สำหรับความรู้สึกต่อการทำงานของสื่อมวลชนนั้น รู้สึกพอใจ และไม่พอใจบ้างต่อการทำงานของสื่อมวลชน แต่ต้องอดทน เพราะถือว่าสื่อเป็น ผู้ที่ต้องสร้างการรับรู้ให้สังคมและประชาชนโดยรวม
แต่การนำเสนอของสื่อมวลชนจะต้องไม่มีการบิดเบือน และต้องเข้าใจถึงบริบทของกฎหมาย วิธีการ และเข้าใจถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในอดีตที่ผ่านมา และต้องการให้นำเสนอข้อเท็จจริง ส่วนการวิพากวิจารณ์ต้องเป็นไปอย่างสุจริต และมีข้อมูลที่ชัดเจน
ที่มาภาพ: สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
ทั้งนี้ สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UN) ประกาศให้วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก (World Press Freedom Day) ตรงกับวันที่ 3 พ.ค.ของทุกปี เพื่อสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของเสรีภาพสื่อและย้ำเตือนรัฐบาลถึงหน้าที่เคารพและสนับสนุนเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งได้รับการคุ้มครองตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 19 ที่บัญญัติเรื่องเสรีภาพของสื่อมวลชน และเป็นเครื่องหมายวันครบรอบปฏิญญาวินด์ฮุก อันเป็นคำแถลงหลักสื่อมวลชนเสรีซึ่งนักหนังสือพิมพ์ชาวแอฟริการวบรวมไว้ในปี 2534