สมศ. ชำแหละ 10 ปัญหาการศึกษาไทย ผุดโครงการ 1 ช่วย 9 หวังอัพเกรดศักยภาพ

สมศ. ชำแหละ 10 ปัญหาการศึกษาไทย ผุดโครงการ 1 ช่วย 9 หวังอัพเกรดศักยภาพ

26 มิ.ย. 2558 สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) (สมศ.) เผยข้อมูลผลการประเมินคุณภาพภายนอก 3 รอบ ระยะเวลา 15 ปี ที่ผ่านมาพบว่ามี 10 ปัญหาหลักที่เป็นตัวฉุดรั้งการศึกษาไทย ได้แก่ 1) ปัญหาการอ่านและการเขียน 2) ผลสัมฤทธิ์การเรียนอยู่ในระดับต่ำ 3) ผู้เรียนขาดทักษะในการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ คิดอย่างมีวิจารณญาณ และคิดสร้างสรรค์ 4)ผู้เรียนขาดทักษะในการแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง และการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง 5) สถานศึกษาขาดแคลนสื่อการเรียนการสอน อุปกรณ์การเรียน

6) ครูไม่ครบชั้น และเพียงพอต่อจำนวนนักเรียน 7) ครูยังไม่สามารถจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่กระตุ้นผู้เรียนให้รู้จักคิดวิเคราะห์ คิดสร้างสรรค์ คิดแก้ปัญหาและตัดสินใจ 8) สถานศึกษาขาดการบริหารข้อมูลสารสนเทศที่มีคุณภาพ 9) สถานศึกษาขาดการกำกับ ติดตาม ตรวจสอบ สนับสนุนที่เข้มแข็งและต่อเนื่องจากหน่วยงานต้นสังกัด 10) ขาดการมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาทั้งระบบ เป็นผลให้ส่วนใหญ่ไม่ได้นำผลการประกันคุณภาพภายในและการประเมินคุณภาพภายนอกมาใช้ปรับปรุงพัฒนาคุณภาพของสถานศึกษา 

20152706195409.jpg

ดังนั้น สมศ.จึงได้ริเริ่มโครงการ “1 ช่วย 9” อันเป็นโครงการที่ผนึกกำลังด้วยการสร้าง “เครือข่ายหมื่นมิตร” โดยสถานศึกษาที่มีผลการประเมินอยู่ในระดับดีมาก และหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน เป็นแกนนำช่วยพัฒนาสถานศึกษาเครือข่ายที่ผลการประเมินต่ำกว่าระดับดีมาก ให้มีพัฒนาการของค่าเฉลี่ยผลการประเมินคุณภาพภายนอกดีขึ้นอย่างน้อย 9 แห่งต่อ 1 หน่วยงาน 

โครงการ “1 ช่วย 9” มีการดำเนินงานมาแล้ว 2 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 มีสถานศึกษาแกนนำจำนวน 207 แห่ง มีสถานศึกษาเครือข่าย 1,863 แห่ง และระยะที่ 2 เริ่มตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2556 มีหน่วยงานแกนนำ 2 รุ่น จำนวนทั้งหมด 58 หน่วยงาน ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการพัฒนาร่วมกับสถานศึกษาเครือข่าย คาดว่าจะมีสถานศึกษาเครือข่ายเข้าร่วมไม่ต่ำกว่า 3,000 แห่ง

สำหรับคณาจารย์ นักเรียน นิสิต นักศึกษา หรือประชาชนทั่วไป สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สํานักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือเข้าไปที่ www.onesqa.or.th 

20152706195335.jpg

ศ.ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ. กล่าวว่า การประเมินคุณภาพภายนอกสถานศึกษาได้ดำเนินการมาแล้วสามรอบ ได้แก่ รอบแรก (พ.ศ. 2544–2548) รอบสอง (พ.ศ. 2549–2553) และรอบสาม (พ.ศ. 2554-2558) จากผลการประเมินคุณภาพภายนอก ในรอบ 15 ปี พบว่ามี 10 ปัญหาหลักที่เป็นตัวฉุดรั้งการศึกษาไทย 

ศ.ดร.ชาญณรงค์ กล่าวต่อว่า สมศ. ในฐานะที่เป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ประเมินผลการจัดการศึกษา เพื่อการตรวจสอบคุณภาพสถานศึกษาและเป็นส่วนหนึ่งของการกระตุ้นให้เกิดการขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพและยกระดับมาตรฐานการศึกษาของประเทศ จากผู้มีหน้าที่โดยตรง สมศ.ตระหนักถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ในการขับเคลื่อนและสนับสนุนให้สถานศึกษานำผลประเมินภายนอกไปใช้พัฒนาคุณภาพสถานศึกษา จึงได้ริเริ่มโครงการ 1 ช่วย 9 อันเป็นโครงการที่ผนึกกำลังตามนโยบาย “เครือข่ายหมื่นมิตร” มาร่วมดำเนินการ

โดยสถานศึกษาที่มีผลการประเมินอยู่ในระดับดีมาก และหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน จำนวน 1 แห่งเป็นแกนนำ อาสาสมัครช่วยในการพัฒนาสถานศึกษาอย่างน้อย 9 แห่ง โดยโครงการ “1 ช่วย 9” มีการดำเนินงานมาแล้ว 2 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 เป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างสถานศึกษาแกนนำกับสถานศึกษาเครือข่าย มีแกนนำ 3 รุ่น จำนวนทั้งหมด 207 แห่ง มีสถานศึกษาเครือข่าย 1,863 แห่ง และระยะที่ 2 เริ่มตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2556 มีหน่วยงานภาคเอกชนแกนนำ 2 รุ่น จำนวนทั้งหมด 58 หน่วยงาน ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการพัฒนาร่วมกับสถานศึกษาเครือข่าย

อย่างไรก็ตาม จากผลการดำเนินงานของโครงการ “1 ช่วย 9” ในระยะแรก พบว่า สถานศึกษาเครือข่ายมีพัฒนาการของค่าเฉลี่ยผลการประเมินคุณภาพภายนอกดีขึ้น คิดเป็นร้อยละ 93.10 สถานศึกษาแกนนำและสถานศึกษาเครือข่ายมีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในรูปแบบเครือข่าย คิดเป็นร้อยละ 92.10 ผู้บริหาร ครู/อาจารย์และบุคลากรเห็นคุณค่าของการช่วยเหลือร่วมกันพัฒนาคุณภาพและยกระดับมาตรฐานการศึกษา คิดเป็นร้อยละ 90.30

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพของสถานศึกษามากขึ้น คิดเป็นร้อยละ 88.90 และสถานศึกษาเกิดวัฒนธรรมคุณภาพ และนำผลการประเมินคุณภาพภายนอกมาใช้ในการขับเคลื่อนคุณภาพอย่างต่อเนื่อง คิดเป็นร้อยละ 88.90 ตามลำดับ

20152706195433.jpg

ดร.สิรินันท์ ศรีวีระสกุล ผู้อำนวยการโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ในส่วนของโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย รู้สึกภูมิใจที่ได้เข้าร่วมโครงการ 1 ช่วย 9 กับ สมศ. มาตั้งแต่ปี 2554 จนถึงปัจจุบัน ที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาและยกระดับการศึกษา และเป็นแรงบันดาลใจว่าการศึกษาควรต้องได้รับการพัฒนาอย่างทั่วถึง ด้วยการสนับสนุนอุปกรณ์การเรียนการสอน พัฒนาพื้นที่การเรียนรู้ และจัดอบรมครูในโรงเรียนเครือข่ายให้เกิดความรู้ความเข้าใจ และยังจัดกิจกรรมเพื่อนสอนเพื่อน นำตัวแทนนักเรียนชั้น ม.ปลาย ไปสอนพิเศษให้กับโรงเรียนเครือข่าย สอดคล้องกับอัตลักษณ์ของโรงเรียนที่ว่า ให้ผู้เรียนมีความรัก เอื้ออาทรต่อผู้อื่นและสังคม 

ปัจจุบันมีโรงเรียนในเครือข่ายที่ทางโรงเรียนปรินส์ฯ ให้ความช่วยเหลือแล้วกว่า 16 แห่ง ซึ่งล้วนได้รับความร่วมมือจากโรงเรียนเครือข่ายเป็นอย่างดี โดยการประเมินคุณภาพภายนอกรอบที่ 3 ที่ผ่านมา (พ.ศ.2554-พ.ศ.2558) พบว่าโรงเรียนส่วนมากที่ทางโรงเรียนปรินส์ฯ ให้ความช่วยเหลือ มีเกณฑ์การพัฒนาที่ดีขึ้น บางโรงเรียนผ่านเกณฑ์การประเมินในระดับดีมาก หรือบางโรงเรียนจากที่เคยได้พอใช้ ก็ผ่านในระดับดี เป็นต้น

ดร.กัลยรัตน์ เมืองสง ผู้อำนวยการโรงเรียนสิทธิพยากรณ์ จ.พระนครศรีอยุธยา สถานศึกษาเครือข่ายในหน่วยงานภาคเอกชนของ “บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เนื่องจากโรงเรียนสิทธิพยากรณ์ เป็นสถานศึกษาขนาดเล็ก ทำให้ไม่มีงบประมาณเพียงพอต่อการพัฒนาด้านต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม ประกอบกับครูในโรงเรียน ส่วนมากเป็นครูที่เพิ่งได้รับการบรรจุและย้ายมาสอนที่โรงเรียนชั่วคราว ก่อนที่จะย้ายไปประจำต่อที่โรงเรียนอื่น ส่งผลให้แผนการเรียนการสอนไม่ต่อเนื่อง ประกอบกับทางโรงเรียนได้รับความเสียหายอย่างหนักจากเหตุการณ์ มหาอุทกภัยเมื่อปี พ.ศ.2554 โรงเรียนสิทธิพยากรณ์จึงเข้าโครงการ 1 ช่วย 9 

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาทางโรงเรียนได้รับความช่วยเหลือจากโครงการ 1 ช่วย 9 ในรูปแบบที่หลากหลาย อาทิเช่น การปรับปรุงภูมิทัศน์โรงเรียน หลังได้รับการเสียหายหนักจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ และกิจกรรมอบรมให้ความรู้ต่างๆ เช่น สอนศิลปะ พัฒนาภาษาอังกฤษโดยให้ครูเจ้าของภาษามาสอนภาษาอังกฤษให้กับนักเรียนที่โรงเรียน การให้ทุนการศึกษาและสนับสนุนอุปกรณ์การศึกษา และอุปกรณ์กีฬา 

ตลอดจนการเข้าร่วมโครงการอบรมการบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ เพื่อให้การวางแผนการสรรหาคัดเลือกบุคคลเข้าทำงานสามารถดำเนินการได้ตรงตามความต้องการอย่างแท้จริง รวมทั้งช่วยในการจัดวางตัวบุคคลให้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ตามความรู้ความสามารถได้อย่างเหมาะสม ซึ่งจะทำให้บุคคลได้มีโอกาสทำงานตามบทบาทหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ