สถานการณ์พื้นที่โครงการเหมืองแร่โปแตชอุดรธานี ก่อนการประชาคม 2 ตำบล พรุ่งนี้!

สถานการณ์พื้นที่โครงการเหมืองแร่โปแตชอุดรธานี ก่อนการประชาคม 2 ตำบล พรุ่งนี้!

20152505205000.png

รายงานโดย: ศูนย์สื่อชุมชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ศสธ.)

เนื่องจากในวันที่ 26 พ.ค.58 (พรุ่งนี้) กำนัน ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่โครงการเหมืองแร่โปแตช จังหวัดอุดรธานี จะจัดให้มีการประชุมประชาคมเพื่อชี้แจง รับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ตั้งคำขอประทานบัตร ใน 2 พื้นที่ ของอำเภอประจักษ์ศิลปาคม ได้แก่ ตำบลห้วยสามพาด และตำบลนาม่วง โดยทั้ง 2 เวทีจะเริ่มขึ้นพร้อมกันในเวลา 09.00 น.-12.00 น. 

ตามขั้นตอนคู่มือวิธีปฏิบัติงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เรื่องการให้ความเห็นในการพิจารณาอนุญาตประทานบัตรเหมืองแร่ พ.ศ.2545 สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดจะเป็นผู้ส่งเรื่องมายังองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อบต.) เมื่ออบต.ได้รับเรื่องแล้วต้องแจ้งให้ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ตั้งคำขอประทานบัตรดำเนินการจัดทำประชุมประชาคม พร้อมส่งรายงานคืนมาอบต.ภายใน 15 วัน ซึ่งหลังจาก อบต.ได้รับรายงานผลการประชาคมจากผู้ใหญ่บ้านแล้ว ขั้นตอนต่อไปสภาอบต.ก็จะต้องเปิดประชุมเพื่อพิจารณาและมีมติต่อโครงการฯ

ทั้งนี้ การประชุมประชาคมโครงการเหมืองแร่โปแตช จังหวัดอุดรธานี และการให้ความเห็นชอบของ อบต.ต่อโครงการฯ เป็นกระบวนการหนึ่งในขั้นตอนการขอประทานบัตร ซึ่งเหมืองแร่โปแตชอุดรธานีกินพื้นที่กว่า 26,000 ไร่ ครอบคลุม 5 ตำบล นอกจาก 2 ตำบลที่กล่าวไปแล้ว ยังมีตำบลหนองขอนกว้าง ตำบลโนนสูง และตำบลหนองไผ่ ซึ่งอยู่ในเขตอำเภอเมืองอุดรธานี โดย 3 ตำบลนี้ได้ดำเนินการทั้งในส่วนของการทำประชาคมและประชุม อบต.เพื่อให้ความเห็นเสร็จแล้ว

อย่างไรก็ดี พื้นที่เหมืองมีจำนวน 26,000 กว่าไร่ ปรากฏว่าเนื้อที่ส่วนใหญ่ คือ 3 ใน 4 จะขุดเจาะทำเหมืองใต้ดินผ่านชุมชนและพื้นที่เกษตรกรรมของชาวบ้านใน 2 ตำบล ของอำเภอประจักษ์ศิลปาคม คือตำบลห้วยสามพาด และตำบลนาม่วง ขณะเดียวกันก็เป็นพื้นที่ส่วนใหญ่ของชาวบ้านที่ออกมาคัดค้านโครงการฯ ในนาม “กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี” ซึ่งเริ่มคัดค้านมาตั้งแต่การออก พ.ร.บ.แร่ ปีพ.ศ. 2545 ที่เป็นการเอื้อประโยชน์ต่อนายทุนให้มาขุดเอาแร่ใต้ถุนบ้านตัวเอง ค้านตั้งแต่เจ้าของโครงการสัญชาติแคนาดาจนปัจจุบันขายหุ้นให้บริษัทอิตาเลียนไทย 

ทั้งนี้ เมื่อปีพ.ศ.2554 ชาวบ้านในพื้นที่ได้ร่วมกันลงลายชื่อเกือบ 6,000 ราย พร้อมแนบสำเนากรรมสิทธิ์ในที่ดินกว่า 1,500 แปลง ยื่นคัดค้านต่อกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ และหน่วยงานเกี่ยวข้องเพื่อคัดค้านโครงการฯ ในขั้นตอนการปิดประกาศเขตเหมือง ตามมาตรา 49 แห่ง พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2510 

จนมาถึงทุกวันนี้โครงการแร่โปแตชอุดรธานี ยังไม่ได้ดำเนินการทำเหมืองเพราะยังอยู่ในขั้นตอนการขออนุญาตประทานบัตร และมีการคัดค้านของชาวบ้านในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง แต่ทว่าเจ้าของโครงการก็มีความคาดหวังสูงว่าจะต้องผ่านให้ได้ภายในรัฐบาลนี้ ที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จในมือ เหมือนโครงการเหมืองแร่โปแตชอาเซียน อำเภอบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ ที่ได้รับใบประทานบัตรไปแล้วเมื่อต้นปี ดังนั้นจึงรีบเร่งผลักดันในทุกขั้นตอน ใช้อำนาจเงิน อำนาจรัฐ กำลังทหาร ตำรวจเข้าประเดประดังหักหาญต่อชาวบ้านในพื้นที่ 

ด้านชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี เรียกร้องมาโดยตลอด เพื่อให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ แก้ไขปัญหาข้อร้องเรียนที่เคยยื่นคัดค้านตามขั้นตอนของกฎหมายแร่ และให้ผู้ว่าราชการจังหวัดตรวจสอบการจัดทำประชาคมหมู่บ้านและการให้ความเห็นของสภาอบต.ในพื้นที่ที่ได้ดำเนินการไปแล้ว โดยเห็นว่ามีหลายประเด็นที่ไม่ถูกต้องตามคู่มือวิธีปฏิบัติฯ ปี พ.ศ.2545 และหลักการของการทำประชาคมหมู่บ้าน 

ลำดับเหตุการณ์

ช่วงเดือนก.พ.58  จังหวัดอุดรธานี มีหนังสือแจ้งให้องค์การบริหารส่วนตำบลห้วยสามพาดและองค์การบริหารส่วนตำบลนาม่วง ดำเนินการจัดประชุมเพื่อรับฟังการชี้แจงโครงการของหมู่บ้านที่ตั้งคำขอประทานบัตร และนำเข้าประชุมสภาพิจารณาตามคู่มือวิธีปฏิบัติงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นปี 2545

ช่วงเดือนมี.ค.-เม.ย.58 กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการ อุตสาหกรรมจังหวัด และนายอำเภอ เพื่อให้ตรวจสอบการจัดทำประชาคมหมู่บ้านและการประชุมสภาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ที่ได้ดำเนินการไปแล้วว่าถูกต้องหรือไม่ และในระหว่างนี้ให้ชะลอการจัดประชุมประชาคมหมู่บ้านในพื้นที่ตำบลห้วยสามพาด และตำบลนาม่วงออกไปก่อน

วันที่ 18 พ.ค.58  ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ เข้าพบนายอำเภอประจักษ์ศิลปาคม เพื่อติดตามความคืบหน้ากรณีการจัดทำประชาคมหมู่บ้าน ตามที่ได้ยื่นหนังสือข้อเรียกร้องไปเมื่อช่วงเดือนมี.ค.-เม.ย.ที่ผ่านมา

วันที่ 19 พ.ค.58  สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี และอำเภอประจักษ์ศิลปาคม มีหนังสือแจ้งให้องค์การบริหารส่วนตำบลห้วยสามพาด และตำบลนาม่วง ดำเนินการตามคู่มือวิธีปฏิบัติงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นปี 2545
โดยแจ้งให้ผู้ใหญ่บ้านจัดประชุมประชาคมหมู่บ้านในพื้นที่คำขอประทานบัตร

วันที่ 21 พ.ค.58  ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่คำขอประทานบัตร ประชุมหารือร่วมกันและตกลงว่าจะจัดประชุมประชาคมในวันที่ 26 พ.ค. เวลาตั้งแต่ 09.00 น.-12.00 น. ที่หอประชุมอบต.ของแต่ละตำบล (จัด 2 เวทีในวันและเวลาเดียวกัน)

วันที่ 23 พ.ค.58  จังหวัดอุดรธานี มีหนังสือเชิญตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ให้เข้าหารือที่ค่ายทหาร มทบ.24 อุดรธานี ในวันที่ 25 พ.ค.ตั้งแต่เวลา 14.00 น.เป็นต้นไป โดยอ้างว่าเพื่อหาแนวทางออกร่วมกันกรณีการจัดประชุมประชาคมโครงการเหมืองแร่โปแตช จังหวัดอุดรธานี

20152505205706.jpg

ประเด็นปัญหาของการทำประชาคมหมู่บ้านในโครงการเหมืองแร่โปแตช จังหวัดอุดรธานี

๑. ผู้เข้าร่วมประชุมประชาคมมีสัดส่วนไม่ถึงร้อยละ ๕๐ ซึ่งปรากฏในทุกหมู่บ้าน และบางหมู่บ้านมีหลายร้อยหลังคาแต่มีผู้เข้าร่วมเพียง ๓๐-๔๐ คน

๒. ไม่มีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบล่วงหน้าก่อนในเวลาอันสมควร ส่วนมากผู้ใหญ่บ้านจะประกาศทางหอกระจายข่าวก่อนเวลาประชุมไม่กี่ชั่วโมง ซึ่งเป็นเหมือนลักษณะของการประกาศเรียกประชุมมากกว่า

๓. การประชาคมมีเพียงตัวแทนบริษัทฯ มาพูดให้ข้อมูลฝ่ายเดียว ดังเช่นที่ตำบลหนองไผ่ ซึ่งไม่มีเจ้าพนักงานอุตสาหกรรมแร่ประจำท้องที่มาร่วมให้ข้อมูลด้วย (ตามคู่มือวิธีปฏิบัติฯ พ.ศ.๒๕๔๕ ต้องมีอุตสาหกรรมร่วมด้วย)

๔. การชี้แจงให้ข้อมูลโครงการฯ ไม่รอบด้าน เพราะเป็นการให้ข้อมูลเพียงด้านเดียวจากตัวแทนบริษัทฯ ร่วมกับอุตสาหกรรม เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมมีความเห็นคล้อยตาม และสนับสนุนโครงการฯ มากกว่า

๕. การประชุมประชาคมมีรูปแบบการดำเนินการที่ไม่เป็นไปในแนวทางเดียวกัน กล่าวคือ ตำบลหนองไผ่ จัดประชุมแยกรายหมู่บ้าน แต่ตำบลหนองขอนกว้าง ตำบลโนนสูง และเขตเทศบาลเมืองโนนสูง-น้ำคำ จัดประชุมรวม นอกจากนี้ในเวทีประชุมใดที่บริษัทฯ และอุตสาหกรรม เห็นว่ามีคนเห็นด้วยเป็นส่วนใหญ่ (ทั้งหมดเห็นด้วยเพราะได้รับข้อมูลแต่ด้านดี) ก็จะขอเสียงผู้เข้าร่วมประชุมโดยการให้ยกมือสนับสนุนโครงการฯ 

ในเวทีประชาคมและเวทีประชุมอบต./เทศบาล ตำบลหนองขอนกว้าง ตำบลโนนสูง และเทศบาลเมองโนนสูง-น้ำคำ มีมติเห็นชอบ แต่ตำบลหนองไผ่มีเพียงการประชุมให้ข้อมูลแต่ไม่มีการขอมติ หรือให้ยกมือ ทั้งในเวทีประชาคมหมู่บ้านและเวทีประชุมสภาเทศบาล ทั้งนี้ ตามคู่มือวิธีปฏิบัติฯ พ.ศ.๒๕๔๕ การจะมีมติเห็นชอบ-ไม่เห็นชอบกับโครงการฯ จะอยู่ในขั้นตอนการประชุมสภาอบต./เทศบาล แต่ในการประชุมประชาคมหมู่บ้านไม่มีการขอมติจากที่ประชุม

  

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ