สชป.ชี้ ‘ร่าง รธน.’ ริบคืนสิทธิเสรีภาพประชาชน-เพิ่มอำนาจรัฐ ท้า กรธ.ดีเบตสาธารณะ

สชป.ชี้ ‘ร่าง รธน.’ ริบคืนสิทธิเสรีภาพประชาชน-เพิ่มอำนาจรัฐ ท้า กรธ.ดีเบตสาธารณะ

สภาประชาชนเพื่อการปฏิรูปชำแหละร่างรัฐธรรมนูญ ชี้เป็นฉบับ “เพิ่มอำนาจรัฐ ริบคืนสิทธิเสรีภาพประชาชน” เสนอให้เกิดเวทีดีเบตสาธารณะกับ กรธ. หวังให้เกิดการปรับแก้เพื่อมีรัฐธรรมนูญที่ลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มอำนาจประชาชน

20160102164037.jpg

เรื่องและภาพ: รุ่งโรจน์ เพชระบูรณิน

วันนี้ (1 ก.พ. 2559) สภาประชาชนเพื่อการปฏิรูป (สชป.) เปิดเวทีวิเคราะห์เนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญฉบับคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่มีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธานฯ พร้อมเสนอรัฐธรรมนูญฉบับสภาประชาชนเพื่อการปฏิรูป ให้ปรับเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญ ที่ห้องประชุมสุจิตตรา ชั้น 4 อาคารมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม กรุงเทพฯ โดยมีผู้เข้าร่วมประมาณ 40 คน จากองค์กรภาคี เครือข่าย และสื่อมวลชน

ร่าง รธน. ‘มีชัยกับพวก’ ฉบับลดทอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน กระชับอำนาจรัฐ

ไพโรจน์ พลเพชร อดีตคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ระบุว่า ร่างรัฐธรรมนูญของมีชัยและพวก ภาพรวมนั้น 1) เป็นการเพิ่มอำนาจรัฐ ลดอำนาจและสิทธิประชาชน ไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิมนุษยชน 2) ไม่กำหนดหลักประกันที่รัฐต้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ไม่มีบทบัญญัติที่ชัดเจน 3) ลดทอนสิทธิเสรีภาพที่เคยกำหนดไว้ ไปกำหนดให้ขึ้นต่อกับหน้าที่ของรัฐ เช่น สิทธิการพัฒนา สิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากร เป็นต้น 4) รัฐธรรมนูญ ปี 2540 และ2550 กำหนดสิทธิการตรวจสอบ การมีส่วนร่วมจัดการทรัพยากรของชุมชนไว้ชัดเจน แต่ร่างนี้ไม่กำหนดไว้ 

5) การกระจายอำนาจ เจตนารมณ์เดิมรัฐต้องมีการกระจายการปกครองเต็มพื้นที่ แต่ก็ถูกตัดทอน การกำหนดสัดส่วนรายได้ที่ชัดเจนไม่มี ลดทอนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการลงประชามติในกิจการที่สำคัญของท้องถิ่น 6) การตรวจสอบอำนาจรัฐ กระบวนการได้มาองค์กรอิสระ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ให้ความสำคัญกับศาลในการเป็นคณะกรรมการสรรหา เป็นการขัดกับหลักการที่สถาบันศาลไม่ควรเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมือง 

ส่วนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) มีการลดทอนอำนาจด้อยกว่ารัฐธรรมนูญเดิมที่ผ่านมา ที่สามารถเชื่อมโยงกับศาลได้ ฉบับร่างก็ไม่มี ที่น่าตกใจและเกิดคำถามถึงความอิสระ เพราะถูกกำหนดให้มีหน้าที่ชี้แจง แถลงข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง เมื่อมีการรายงานเกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิในประเทศไทย แท้จริงต้องเป็นหน้าที่ของรัฐบาล เจตนาที่แท้จริงคือกรรมการสิทธิฯ มีหน้าที่ตรวจสอบการละเมิดสิทธิของรัฐ

นอกจากนี้ การกำหนดภาระกิจการปฏิรูปประเทศไทย ที่ยกให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศอาจทำให้การปฏิรูปมีปัญหาเพราะคนที่เข้ามาส่วนใหญ่เป็นข้าราชการ 

ไพโรจน์ มองว่า โครงสร้างของร่างรัฐธรรมนูญไม่ให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชน แต่กลับพบว่าฉบับร่างนี้ไม่มีระบุเรื่องสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอยู่เลย วิธีคิดเรื่องสิทธิเสรีภาพ เดิมรัฐธรรมนูญ ปี 2540 และ2550 กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ครอบคลุมหลักสากล สิทธิพลเมือง เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น สิทธิทางเศรษฐกิจสังคมวัฒนธรรม ไม่ปรากฏในหลักสิทธิการพัฒนา ซึ่งฉบับนี้มีเบาบางมาก 

อย่างไรก็ตามหน้าที่ของรัฐ เกือบทุกเรื่องเป็นหน้าที่ของรัฐ ถึงจะบรรลุผลได้ ถ้าประชาชนจะมีสิทธิ รัฐต้องให้ รัฐมาก่อน สิทธิประชาชนมาที่หลัง เดิมสิทธิมาก่อนรัฐมาทีหลัง หลักคิดนี้เป็นร่องรอยของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ซึ่งขัดกับการลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน เพราะเนื้อหาที่เห็นนั้นเป็นฉบับที่เพิ่มอำนาจรัฐ หลักการมีส่วนร่วมของประชาชนหายไป 

เนื้อหาในฉบับร่าง มาตรา 25 จะใช้สิทธิได้ต้องไม่กระทบความมั่นคงของรัฐ อาจเป็นข้อจำกัดในการใช้สิทธิของประชาชน ต่างจากรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้าที่กำหนดเรื่องสิทธิชุมชนไว้ในรัฐธรรมนูญชัดเจน ประชาชนสามารถนำมาอ้างอิงได้เลย เพราะเรื่องสิทธิประชาชนมีมาก่อนรัฐ รัฐชาตินั้นเกิดขึ้นภายหลัง รัฐจึงมีหน้าที่ปกป้องคุ้มครองสิทธิของประชาชน 

20160102163226.jpg

แช่แข็งการเมืองภาคประชาชน รวบอำนาจรัฐ

บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ อดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) แสดงความเห็นว่า เรื่องสิทธิและเสรีภาพ ที่ร่างรัฐธรรมนูญกำหนดไว้แบบนี้ มีเจตนาต้องการให้คว่ำหรืออย่างไร การที่ ร่างรัฐธรรมนูญตัดสิทธิ์ประชาชนนั้นต้องการอะไร เป็นร่าง “ฉบับแช่แข็ง” ที่คนร่างไม่มองการเปลี่ยนแปลงของโลกและสังคม ในขณะที่เรากำลังเข้าสู่ประชาคมอาเซียน มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นหลายด้าน กฎหมายกลับกำหนดแคบลง โดยไม่ได้ถ่วงดุลให้ประชาชนได้กำกับ

รัฐธรรมนูญ ปี 2540 และ 2550 เขียนรับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชน มีพัฒนาการให้ภาคประชาชนเติบโต แต่ร่างฉบับนี้ไม่เปิดพื้นที่ทางการเมืองภาคพลเมือง หายไปทุกมติ ไม่คิดการต่อยอด แต่ตัดโอกาสปฏิเสธสิ่งเหล่านี้ อาจเพราะสมมุติฐานของผู้ร่างวิเคราะห์ปัญหามุ่งเน้นการทุจริตคอร์รัปชั่น ไปมุ่งตอบโจทย์การเมืองในเชิงสถาบัน ทำให้ละเลยการมองการใช้อำนาจที่ไม่เป็นธรรม ความเหลื่อมล้ำ

บัณฑูร กล่าวด้วยว่า เห็นได้ว่าร่างฉบับนี้เป็นการรวมศูนย์อำนาจ แต่ไม่ตอบโจทย์ปัญหา เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากการเมืองรวมศูนย์อำนาจ เรื่องการกระจายอำนาจเลยถูกแช่แข็ง และไม่เห็นความสำคัญของการเมืองภาคประชาชน สิทธิและเสรีภาพ ตามที่ระบุใน มาตรา 25 ถ้าเป็นสิทธิที่มีอยู่ในฉบับปี 2540 และ 2550 อยู่ครบถ้วน ถือว่าเป็นนวัตกรรมใหม่ แต่ในความเป็นจริงมันหายไป แม้ที่ผ่านมามีการเขียนไว้แต่รัฐยังไม่ทำตามเลย และในอนาคตรัฐสามารถออกกฎหมายที่ละเมิดได้ง่ายเมื่อไม่มีหลักประกันในรัฐธรรมนูญ

เรื่องสิทธิชุมชนในรัฐธรรมนูญ อดีตเป็นการต่อสู้เพื่อคืนสิทธิที่ถูกรัฐริบไป วันนี้รัฐกำลังริบสิทธินั้นกลับคืน การแสดงความคิดเห็น การชุมนุมจะหยุดไป เมื่อเจอการอ้างเรื่องความมั่นคง ที่มีความลื่นไหล ว่าความมั่นคงนิยามคืออะไร คนที่เป็นทหารในหลายวงก็ยังตอบไม่ได้เลย และอีกเรื่องที่น่าเป็นห่วงก็คือเรื่ององค์กรอิสระซึ่งที่มา อำนาจหน้าที่ การกำกับองค์กรอิสระ ยังไม่ชัดเจน โอกาสที่จะถูกแทรกแซงอย่างที่ผ่านมา ในอนาคตก็อาจเกิดขึ้นได้อีก

ทั้งนี้ ภาคประชาสังคมจะขับเคลื่อน เปิดเวทีวิเคราะห์ร่างรัฐธรรมนูญ รับฟังจากพี่น้องเครือข่าย เพื่อสร้างการเรียนรู้ สร้างความตื่นตัวเพื่อให้เกิดการปรับแก้รัฐธรรมนูญ เรียกร้องให้มีการเดินหน้าจัดเวทีดีเบตสาธารณะ กับ กรธ.ในประเด็นสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญเรื่องสิทธิเสรีภาพ การมีส่วนร่วมของประชาชน การกระจายอำนาจ องค์กรอิสระ เป็นต้น และจะทำการประเมินผลให้คะแนนร่างรัฐธรรมนูญต่อไป และถ้าไม่มีการทบทวนแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ประชาชนก็ขอสงวนสิทธิ์เรื่องการลงประชามติ ‘รับหรือไม่รับ’ 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ