13 ธ.ค. 2559 สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) ออกแถลงการณ์ “ในวาระครบรอบ 6 ปี ที่ความยุติธรรมหายไป การต่อสู้เรียกร้องเพื่อสิทธิในที่ดินทำการเกษตร และสิทธิในการก่อตั้งชุมชน ของสมาชิกสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.)” รำลึกถึงการเสียชีวิตของสามัญชนนักต่อสู้เพื่อสิทธิในที่ดินทำกิน
ทั้งนี้ สมาชิก สกต. จำนวน 4 ราย ที่เสียชีวิตในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา มีลำดับเหตุการณ์ ดังนี้
11 ม.ค. 2553 เวลา 19.00 น. นายสมพร พัฒนภูมิ สมาชิกชุมชนบ้านคลองไทรพัฒนา เสียชีวิตจากการถูกกลุ่มคนร้ายใช้อาวุธปืนลูกซองและปืนเอ็ม.16 ยิงเข้าใส่วงสนทนาและรับประทานอาหารค่ำที่นอกชานหน้ากระท่อมที่พักของนายฟอง ขุนฤทธิ์ เพื่อนบ้าน
19 พ.ย. 2555 เวลา 07.00 น. นางมณฑา ชูแก้ว อายุ 50 ปีเศษ และนางปราณี บุญรักษ์ อายุ 52 ปี สมาชิกของสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ ที่อาศัยอยู่ในชุมชนคลองไทรพัฒนา ต.ไทรทอง อ.ชัยบุรี จ.สุราษฎร์ธานี มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 ขี่รถจักรยานยนต์เดินทางออกจากชุมชนเพื่อไปขายผักที่ตลาดตามกิจวัตรประจำวัน ถูกซุ่มยิงด้วยอาวุธสงครามจากคนร้ายไม่ทราบจำนวนจนเสียชีวิตในที่เกิดเหตุทั้งสองคน หลังออกจากชุมชนได้ประมาณ 800 เมตร ก็ในที่เกิดเหตุพบปลอกกระสุนปืน เอส.เค. และเอ็ม.16 จำนวน 19 ปลอกตกอยู่
11 ก.พ. 2558 นายใช่ บุญทองเล็ก อายุ 61 ปี เป็นสมาชิกของสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) และแกนนำผู้ก่อตั้งชุมชนคลองไทรพัฒนา อ.ชัยบุรี จ.สุราษฎร์ธานี ถูกคนร้าย 2 คน อาศัยรถจักยานยนต์เป็นพาหนะมาจอดที่หน้าบ้านซึ่งเป็นร้านขายของชำและกระหน่ำยิง ทำให้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ
แถลงการณ์มีรายละเอียด ดังนี้
แถลงการณ์ ปฏิบัติการปฏิรูปที่ดินโดยพลังขับเคลื่อนของขบวนการแรงงานไร้ที่ดินในพื้นที่ภาคใต้ตอนบนของประเทศไทยได้เริ่มต้นเมื่อปี พ.ศ.2545 และยังคงสืบเนื่องมากระทั่งปัจจุบันนี้ ข้อเรียกร้องหลักของเราในปี 2546 คือ 1. ต้องการให้รัฐบาลยุติการต่ออายุการสัมปทานที่ดินซึ่งประมาณ 30 ปี ที่ผ่านมาที่ดินของของรัฐที่มีสถานะตามกฏหมายเป็นป่าสงวนแห่งชาติ แต่ในความเป็นจริงโดยนโยบายของรัฐบาลในอดีตได้ทำให้ที่ดินที่เหมาะสมในการทำการเกษตรจำนวนมากซึ่งเป็นสิทธิร่วมกันของคนทั้งประเทศต้องตกอยู่ภายใต้การครอบครองของนายทุนสวนปาล์มน้ำมันรายใหญ่รวมพื้นที่เฉพาะในภาคใต้ของไทยไม่น้อยกว่า 300,000 ไร่ 2. แรงงานไร้ที่ดินทั้งมวลเรียกร้องให้นำที่ดินเหล่านั้นเข้าสู่กระบวนการ “ ปฏิรูปที่ดิน” เพื่อกระจายสิทธิการถือครองและรับรองสิทธิในการทำประโยชน์ทางการเกษตรอย่างเท่าเทียม และเป็นธรรม 3. พวกเราทวงถามถึงสิทธิของชุมชนในการร่วมกันบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรอื่น ๆ อย่างเท่าเทียม และเป็นธรรม บนเส้นทางแห่งการแสวงหาความเป็นธรรมนักต่อสู้สามัญชนกว่า 10 ชีวิตได้ถูกสังหารโหดโดยกลุ่มมือปืนซึ่งเป็นสมุนรับใช้พวกนายทุนเจ้าของที่ดินซึ่งมีอิทธิพลตั้งแต่ระดับท้องถิ่นโยงใยไปถึงการครองอำนาจในพื้นที่ทางการเมืองของสังคมไทยในระดับชาติ นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ในทุกกรณีของนักต่อสู้เพื่อสิทธิในที่ดินทำกินที่ถูกฆาตกรรมทั้งที่เป็นสมาชิกของ สกต. และสมาชิกของกลุ่มอื่นๆ เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่สามารถจับกุมคนร้ายผู้กระทำความผิดเพื่อเอาตัวมาลงโทษตามกระบวนการยุติธรรมได้แม้แต่รายเดียว (ยกเว้นคดีนายใช่ บุญทองเล็ก ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการทำงานของกระบวนการยุติธรรม) ส่วนในด้านการช่วยเหลือจากภาครัฐ มีเพียงสมาชิก สกต. จำนวน 4 ราย เท่านั้น ที่ญาติหรือครอบครัวได้รับเงินค่าชดเชยเยียวยาจากกระทรวงยุติธรรม การต่อสู้ของแรงงานไร้ที่ดินยังคงดำเนินต่อไป ดังนั้น การเผชิญหน้ากับเครือข่ายอิทธิพลและอำนาจเหนือกฏหมายที่โยงใยอยู่กับกลไกอำนาจรัฐย่อมเป็นสิ่งที่ยากจะหลีกเลี่ยงเพราะความขัดแย้งในประเด็นที่ดินมีลักษณะเป็นปฏิปักษ์ระหว่างชนชั้นอย่างแหลมคมในขณะเดียวกันนโยบายของรัฐด้านการปฏิรูปที่ดินและการปราบปราบอิทธิพลมืดที่คุกคามเข่นฆ่านักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนในสังคมไทยก็กล่าวได้ว่าไร้ประสิทธิภาพโดยสิ้นเชิง ข้อเรียกร้อง 2. ให้รัฐบาลยอมรับสิทธิชุมชน สิทธิของกลุ่มเกษตรกร สิทธิของสถาบันเกษตรกรในการร่วมกันบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ ตลอดถึงทรัพยากรทางสังคมประการอื่นๆ 3. ให้รัฐบาลเร่งดำเนินการจัดตั้งธนาคารที่ดินเพื่อนำไปสู่การปฏิรูปที่ดินเอกชน ที่ดินเอกชนทิ้งร้างและเพื่อกระจายการถือครองที่ดินให้เกษตรกร 4. ให้เร่งหาตัวฆาตกรและผู้บงการจ้างวานที่ร่วมกันสังหารสมาชิก สกต. ในทุกกรณีมาพิจารณาลงโทษตามกระบวนการยุติธรรม 5. ให้เร่งปฏิรูปที่ดินตามแนวทางโฉนดชุมชนหรือสิทธิร่วมของชุมชน หรือสถาบันเกษตรกรในการบริหารจัดการที่ดินให้แก่ชุมชนต่างๆ เหล่านี้อย่างเร่งด่วน แถลง ณ วันที่ 13 มกราคม 2559 |