ศูนวิจัยกสิกรไทย สรุปตัวเลขศก.มกราคม55 ฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่มีประเด็นเสี่ยง

ศูนวิจัยกสิกรไทย สรุปตัวเลขศก.มกราคม55 ฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่มีประเด็นเสี่ยง

ตัวเลขเศรษฐกิจไทยเดือนมกราคม 2555 ฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่ยังมีประเด็นเสี่ยงต้องติดตาม

29ก.พ.55- ศูนย์วิจัย กสิกรไทย เปิดเผยผลวิจัยเกี่ยวกับการไล่ระดับการฟื้นตัวของเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยในเดือนมกราคม 2555 เป็นภาพในเชิงบวกที่สนับสนุนมุมมองว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากอุทกภัยในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2554 นั้น จะเริ่มกลับมามีภาพที่ดีขึ้นตามสภาพแวดล้อมการฟื้นฟู-ซ่อมแซมความสูญเสียของทั้งภาคเอกชนและรัฐบาล โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ผลกระตุ้นจากกิจกรรมที่เกี่ยวโยงกับปัญหาอุทกภัยดังกล่าวนี้ จะมีส่วนหนุนให้เศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อยร้อยละ 1.0 ของจีดีพี และมีโอกาสสูงไปกว่านั้น ถ้ารัฐบาลสามารถผลักดันโครงการลงทุนต่างๆ ให้มีความคืบหน้าได้รวดเร็ว

และสำหรับภาพรวมของเศรษฐกิจไทยในปี 2555 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่า อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2555 น่าจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 5.0 โดยมีกรอบประมาณการอยู่ในช่วงร้อยละ 4.5-6.0 สูงขึ้นเมื่อเทียบกับเศรษฐกิจปี 2554 ที่ขยายตัวในระดับต่ำเพียงร้อยละ 0.1
 
จับสัญญาณการฟื้นตัวจากภาวะอุทกภัยจากเครื่องชี้เศรษฐกิจไทย

การผลิตภาคอุตสาหกรรมสำคัญของไทย…ฟื้นตัวต่อเนื่อง     
เครื่องชี้การผลิตภาคอุตสาหกรรมสะท้อนภาพการฟื้นตัวขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่สองในเดือนมกราคม 2555 โดยการผลิตภาคอุตสาหกรรมโดยรวมหดตัวในอัตราที่น้อยลงมาที่ร้อยละ 15.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) จากที่หดตัวร้อยละ 25.3 ในเดือนธันวาคม 2554 ซึ่งภาพด้านบวกของภาคการผลิตนี้ สอดคล้องกับช่วงเวลาการฟื้นฟูกิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยในหลายภาคส่วนภายหลังจากน้ำท่วมลดระดับลง อย่างไรก็ดี การกอบกู้โรงงานอุตสาหกรรมบางส่วนที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างหนักจากอุทกภัย ยังคงต้องการเวลาอีกระยะในการกลับสู่สภาวะปกติก่อนน้ำท่วม
 
อุตสาหกรรมยานยนต์/ส่วนประกอบ (มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 10 ของการผลิตภาคอุตสาหกรรมและภาคการส่งออกโดยรวม)
มีสัญญาณการฟื้นตัวที่แข็งแกร่งมากขึ้นในช่วงต้นปี 2555 โดยอัตราการใช้กำลังการผลิตของอุตสาหกรรมยานยนต์ ทยอยเพิ่มสูงขึ้นจากระดับเฉลี่ยในช่วงน้ำท่วมเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2554 ที่ประมาณร้อยละ 20.9 มาที่ร้อยละ 81.9 ในเดือนมกราคม 2555 ซึ่งนับว่าการฟื้นกำลังการผลิตสามารถกลับไปยืนที่ระดับใกล้เคียงกับระดับก่อนผลกระทบน้ำท่วมแล้ว
 
ขณะที่ การผลิตใน  หมวดยานยนต์ หดตัวในอัตราที่น้อยลงสะท้อนภาพด้านบวกเช่นกัน โดยล่าสุดในเดือนมกราคม 2555 การผลิตยานยนต์หดตัวลงเพียงร้อยละ 2.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) ดีขึ้นเมื่อเทียบกับที่หดตัวถึงร้อยละ 66.1 และร้อยละ 84.0 ในช่วงน้ำท่วมเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2554 ตามลำดับ

อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์/เครื่องใช้ไฟฟ้า (มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 27 ของการผลิตภาคอุตสาหกรรมและภาคการส่งออกโดยรวม)
เริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวที่มั่นคงมากขึ้น หลังจากที่มีโรงงานบางส่วนที่เผชิญน้ำท่วมสามารถกลับมาเดินสายการผลิตได้บางส่วน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าที่อัตราการใช้กำลังการผลิตในเดือนมกราคม 2555 ที่ร้อยละ 62.0 นั้น ขยับเข้าใกล้ระดับก่อนน้ำท่วมได้เร็วกว่าอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งได้รับความเสียหายค่อนข้างหนัก และยังต้องใช้เวลาอีกระยะในการฟื้นอัตราการใช้กำลังการผลิตกลับไปสู่ระดับปกติก่อนน้ำท่วม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มฮาร์ดดิสก์ และหลอดอิเล็กทรอนิกส์/ส่วนประกอบ ที่แม้ว่าอัตราการใช้กำลังการผลิตเริ่มขยับขึ้นจากประมาณร้อยละ 17.0 ในเดือนพฤศจิกายน 2554 มาอยู่ที่ร้อยละ 47.5 และร้อยละ 61.8 ตามลำดับ ในเดือนมกราคม 2555 แต่ก็นับว่ายังคงต่ำกว่าช่วงก่อนน้ำท่วมที่ระดับอัตราการใช้กำลังการผลิตของอุตสาหกรรม 2 กลุ่มนี้อยู่สูงกว่าร้อยละ 80.0

และเนื่องจากปัญหาน้ำท่วมส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่การผลิตของกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ในวงกว้าง ดังนั้นแม้ว่า การผลิตกลุ่มฮาร์ดดิสก์ และหลอดอิเล็กทรอนิกส์/ส่วนประกอบ จะหดตัวในอัตราที่ลดลงมาที่ร้อยละ 32.0 และร้อยละ 46.4 ในเดือนมกราคม 2555 (จากที่หดตัวมากกว่าร้อยละ 75.0 ในเดือนพฤศจิกายน 2554) แต่ก็ยังสะท้อนว่า อุตสาหกรรมกลุ่มนี้ยังคงต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งในการกลับสู่ภาวะปกติ

การใช้จ่ายในประเทศ…ทยอยกลับสู่ภาวะปกติ
เครื่องชี้การใช้จ่ายในประเทศในด้านการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ปรับตัวดีขึ้นสอดรับกับสภาวะเศรษฐกิจที่กำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัวหลังจากสถานการณ์น้ำท่วม อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีข้อสังเกตว่า ความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่มีความอ่อนไหวต่อระดับราคาน้ำมัน-ราคาสินค้า และภาวะค่าครองชีพ อาจทำให้เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนบางรายการสะดุดลงในระยะข้างหน้า แม้ว่าระดับดัชนีการบริโภคภาคเอกชนในเดือนมกราคม 2555 จะฟื้นตัวไล่ขึ้นไปอยู่ในระดับใกล้เคียงกับก่อนน้ำท่วมแล้วก็ตาม
       

การบริโภคภาคเอกชนเดือนมกราคม 2555 ขยายตัวทั้งเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนต่อเนื่องเป็นเดือนที่สอง อีกร้อยละ 0.4 (MoM) และร้อยละ 2.6 (YoY) หลังจากที่ขยายตัวร้อยละ 3.1 (YoY) ในเดือนธันวาคม 2554
 
   การลงทุนภาคเอกชนเดือนมกราคม 2555 พลิกกลับมาขยายตัวสูงถึงร้อยละ 8.0 (MoM) หลังจากที่หดตัวตลอดในช่วง 4 เดือนสุดท้ายของปี 2554 ขณะที่ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน การลงทุนเพื่อฟื้นสภาพแวดล้อมและเตรียมกลับมาผลิตของภาคธุรกิจหลังจากน้ำลด ช่วยทำให้การลงทุนในภาพรวมหดตัวในอัตราที่ลดลงมาที่ร้อยละ 0.4 (YoY) ในเดือนมกราคม 2555 เทียบกับที่หดตัวร้อยละ 3.9 (YoY) ในเดือนธันวาคม 2554
   ความเชื่อมั่นภาคเอกชนเดือนมกราคม 2555 ขยับขึ้นพร้อมเพรียงกันในทุกมิติ โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ และดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ขยับขึ้นมาที่ระดับ 74.2 ระดับ 50.8 และระดับ 99.6 ในเดือนมกราคม จากระดับ 73.1 ระดับ 48.5 และระดับ 93.7 ในช่วงปลายปี 2554 ตามลำดับ
อนึ่ง เครื่องชี้การใช้จ่ายในประเทศที่สะท้อนการฟื้นกลับสู่ภาวะปกติของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ อาทิ การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ปริมาณการใช้ไฟฟ้า ยอดจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ และยอดจำหน่ายปูนซีเมนต์ ยังคงรักษาทิศทางการขยายตัวไว้ได้อย่างต่อเนื่องในเดือนมกราคม 2555

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงประเมินในภาพเดิมว่า กิจกรรมการซ่อมแซม-ฟื้นฟูสภาพแวดล้อมทั้งในระดับภาคครัวเรือน-ธุรกิจ และระดับภาพรวมของประเทศหลังน้ำลด จะยังคงเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยสามารถกลับมาบันทึกอัตราการเติบโตได้อีกครั้งในช่วงต้นปี 2555 โดยคาดว่า อัตราการเติบโตของจีดีพีประจำไตรมาสที่ 1/2555 จะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 12.5-13.5 เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/2554 (QoQ, s.a.) หรือขยายตัวร้อยละ 1.0-1.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) ซึ่งดีขึ้นจากที่หดตัวรุนแรงในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2554

และสำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจในระยะถัดๆ ไปนั้น คาดว่า การลงทุน-การผลิตในภาคอุตสาหกรรม การบริโภคภาคเอกชน ที่น่าจะเร่งตัวกลับมาเพื่อชดเชยในช่วงน้ำท่วม ตลอดจนการใช้จ่ายและนโยบายสนับสนุนเศรษฐกิจของภาครัฐ ซึ่งอาจเร่งดำเนินการได้เต็มที่มากขึ้นตั้งแต่ในช่วงต้นไตรมาสที่ 2/2555 อาจช่วยให้เศรษฐกิจไทยในช่วงเวลาส่วนใหญ่ของปี 2555 ได้รับแรงหนุนสำคัญจากการขยายตัวของกิจกรรมของหลายๆ ภาคส่วนในประเทศ โดยผลกระตุ้นจากกิจกรรมที่เกี่ยวโยงกับปัญหาอุทกภัยทั้งในส่วนของภาครัฐและเอกชน จะมีส่วนหนุนให้เศรษฐกิจปีนี้ขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อยร้อยละ 1.0 ของจีดีพี และมีโอกาสสูงไปกว่านั้น ถ้ารัฐบาลสามารถผลักดันโครงการลงทุนต่างๆ ให้มีความคืบหน้าได้รวดเร็ว

ดังนั้น เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับฐานมูลค่าเศรษฐกิจปี 2554 ที่อยู่ในระดับต่ำ ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่า อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2555 น่าจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 5.0 โดยมีกรอบประมาณการอยู่ในช่วงร้อยละ 4.5-6.0 อย่างไรก็ตาม อัตราการขยายตัวในระดับสูงร้อยละ 5.0 นี้ ตั้งอยู่ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงรอบด้านทั้งจากตัวแปรนอกประเทศ อาทิ ความเปราะบางของแนวโน้มเศรษฐกิจโลก และทิศทางราคาน้ำมันที่มีโอกาสทรงตัวในระดับสูงยาวนานหากปัญหาความตึงเครียดระหว่างอิหร่านกับชาติตะวันตกยืดเยื้อ ขณะที่ สถานการณ์การเมือง การเตรียมการเพื่อรับมือกับอุทกภัยที่อาจเกิดขึ้นรอบใหม่ ตลอดจนแรงกดดันของต้นทุนการผลิต (จากการเพิ่มขึ้นของราคาพลังงานหลายประเภทและการปรับขึ้นแบบก้าวกระโดดของค่าจ้างในภาคเอกชน) และราคาสินค้า ก็จะมีผลในการกำหนดบรรยากาศการลงทุน-การบริโภคของภาคเอกชนด้วยเช่นกัน 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ